รับปริญญาที จ่ายตังเกือบหมื่น! ชวนส่องค่าใช้จ่ายบัณฑิต พร้อมแนวทางประหยัด

     สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความสำเร็จของบรรดานิสิตนักศึกษา คือ ใบปริญญาบัตร เชื่อว่าน้องๆ หลายคนจินตนาการภาพตัวเองที่กำลังใส่ชุดครุย ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเท้าเข้ามาเป็นนิสิตนักศึกษา หรือแม้แต่ครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ของน้องๆ เอง ก็หวังจะได้เห็นภาพลูกหลานประสบความสำเร็จในการศึกษา
 

 
     ในวันรับปริญญา เราก็จะได้เห็น "รอยยิ้ม" ของทุกๆ คนรอบตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รอยยิ้มของบัณฑิต และครอบครัว ที่เป็นรอยยิ้มแห่งความปิติยินดี รอยยิ้มแห่งความประทับใจ  รอยยิ้มแห่งความสำเร็จ แต่กว่าจะได้เห็นรอยยิ้มเหล่านั้น น้องๆ แต่ละคนต้องผ่านอะไรมามากมาย ใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงเงินในการนำทางสู่ความสำเร็จ
     แม้แต่ในวันที่เรายินดีกับความสำเร็จ ยังต้องใช้แรงกาย แรงใจ และแรงเงินอีกมากมาย หลายคนบอกว่า แรงกาย แรงใจไม่เท่าไหร่ แต่แรงเงินนี่สิ ถึงกับปาดเหงื่อ หมดกันทีเกือบหมื่น! เพราะค่าใช้จ่ายเยอะ นู่นก็สำคัญ นี่ก็จำเป็น เงินแทบไม่พอกันทีเดียว
     วันนี้พี่แนนนี่จะชวนน้องๆ มาส่อง "ค่าใช้จ่ายในวันรับปริญญา" พร้อมแนวทางการประหยัด ตัดทุกสิ่งที่ไม่จำเป็นมาฝากกันค่ะ
 
  ค่าใช้จ่ายกลุ่มจำเป็น
  • ค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต (ประมาณ 200 - 4,000 บาท)
     ไม่ว่าจะจบจากมหาวิทยาลัยไหน ก็หนีค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิตไม่พ้นค่ะ เพราะเป็นธรรมเนียมในการดำเนินการ (บางมหาวิทยาลัยรวมค่าชุดครุยฯ ไปด้วย) โดยแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะเรียกเก็บต่างกัน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ ก็อาจจะมีค่าธรรมเนียมถูกกว่า และถ้าน้องๆ คนไหนที่ไม่เข้าร่วมพิธีรับปริญญาบัตร ก็จะยิ่งถูกลงไปอีกค่ะ
 
  • ค่าชุดครุยวิทยฐานะ (ประมาณ 500 - 4,000 บาท)
     งานรับปริญญา กับชุดครุยฯ เป็นของคู่กัน หรือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งก็จะมีราคาที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เนื้อผ้าชนิดต่างๆ และวิธีการ จะเช่า เช่าตัด หรือตัดใหม่ ก็ทำให้มีราคาแตกต่างกัน เรียกได้ว่า ราคาตามคุณภาพเลย
     สำหรับบัณฑิตชายทั้งหลาย ก็จะต้องมีเสื้อสูท ราคาก็เพิ่มขึ้นไปอีก และก็มีหลายราคาเช่นกัน (ตามเนื้อผ้า และวิธีการ) บางร้านราคาอาจจะรวมกับชุดครุยฯ แล้ว แต่บางร้านต้องไปเช่าเพิ่ม ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคนที่ต้องใส่ชุดข้าราชการ หรือชุดราชปะแตน ก็อาจจะต้องมีการซื้อ หรือเช่าชุดเพิ่มอีก แต่ถ้าน้องๆ ไม่อยากให้ค่าชุดครุยฯ นี้บานปลาย ลองไปเช็กราคาตามร้านต่างๆ เองก่อน ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ร้านที่มหาวิทยาลัยจัดหามาให้ หรือลองไปขอยืมรุ่นพี่ที่จบที่เดียวกันและขนาดตัวใกล้เคียงกัน หรือวางแผนตัดชุดคู่กับรุ่นพี่รุ่นน้องในสาขาที่มีขนาดตัวใกล้กัน แล้วหารค่าใช้จ่ายกันก็ได้ค่ะ
 
  ค่าใช้จ่ายกลุ่ม(พอ)หลีกเลี่ยงได้
  • ค่าเสื้อผ้ารองเท้า (ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล)
     งานรับปริญญาส่วนใหญ่ จะมีขึ้นหลังจากที่บัณฑิตจบไปแล้วหลายเดือน บางมหาวิทยาลัยใช้เวลาเป็นปี ทำให้บางคนต้องซื้อชุดนิสิตนักศึกษา ทั้งเสื้อ กระโปรง กางเกง รองเท้า หรือเข็มขัดกันใหม่ยกชุด หรือบางคนอาจจะซื้อใหม่แค่บางชิ้น ด้วยเหตุผลนานาประการ เช่น ชุดที่มีอยู่ไม่ถูกระเบียบ ขนาดตัวเปลี่ยน เสื้อสีหมองคล้ำ กระโปรงกางเกงไม่ถูกระเบียบ ไม่มีรองเท้าพิธีการ เข็มขัดหาย เป็นต้น (สาวๆ อาจจะมีค่าถุงน่องเพิ่มด้วย)
     ถ้าอยากจะประหยัดในส่วนนี้ น้องๆ จะต้องมองภาพยาวๆ คือต้องรักษาชุดตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ให้มีสภาพดี ถูกระเบียบ และพร้อมใช้งานในวันรับปริญญา (อาจจะสอบถามจากรุ่นพี่ หรืออาจารย์) หรือหลังจากที่เรียนจบแล้ว หากล่องที่สามารถเก็บทุกอย่างไว้ด้วยกันได้
 
  • ค่าแต่งหน้า-ทำผม (0 - 3,500 บาท/ครั้ง โดยประมาณ)
     สำหรับบัณฑิตชายอาจจะไม่ได้เจอปัญหานี้เท่าไหร่ อย่างมากก็ตัดผม หรือย้อมสีผมให้สุภาพตามกฎระเบียบ วันงานบางคนอาจจะไม่แต่งหน้าทำผมเลย หรือบางคนแค่แต่งหน้าบางๆ ลงลองพื้นนิดหน่อย ก็สามารถให้คุณแม่ หรือญาติพี่น้องผู้หญิงช่วยเล็กน้อย ส่วนทรงผม ก็ใช้เจล หรือสเปรย์ที่มีอยู่จัดทรงก็โอเคแล้วค่ะ
     สำหรับบัณฑิตหญิง น่าจะเป็นปัญหาใหญ่อยู่ไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่ก็อยากให้ตัวเองดูดีที่สุดในวันสำคัญ บางคนจ้างช่างแต่งหน้าทำผม หรือนัดร้านไว้ ทั้งวันซ้อม และวันจริง ก็ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ทุกวันนี้เริ่มต้นที่คนละ 500 บาท ถ้าร้านมีชื่อหน่อยก็จะราคาสูงขึ้นไปอีก แต่ถ้าน้องๆ ลองหันมาแต่งหน้าทำผมด้วยตัวเอง โดยศึกษาจาก Youtube หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ใช้เครื่องสำอางที่มีอยู่ก็ช่วยประหยัดได้เยอะเลย หรือถ้าใครแต่งหน้าไม่เป็น หรือเครื่องสำอางน้อย อาจจะรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนๆ ให้เพื่อนช่วย หรือผลัดกันแต่งหน้าทำผมกันก็อบอุ่นดีนะคะ แถมยังได้เมาท์มอยกันด้วย
 
  • ค่ารูปถ่าย+กรอบ (ประมาณ 500 - 5,000 บาท)
     รูปถ่ายขณะที่รับปริญญา เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แทบทุกบ้านจะต้องมี โดยเฉพาะบรรดานิสิตนักศึกษาที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากเชื้อพระวงศ์ มักจะสั่งรูปถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยน้องๆ จะไม่สามารถเลือกร้านถ่าย และเลือกรูปที่อยากได้อีกด้วย (หลายคนได้ภาพหลับตา แต่บางมหาวิทยาลัยมีถ่ายซ่อมให้) เพราะทางมหาวิทยาลัยจะเป็นคนจัดแจงในส่วนนี้ น้องๆ จะสามารถทำได้แค่เลือกขนาดรูป และกรอบรูปได้ตามต้องการ ซึ่งก็จะหลากหลายราคา ตามขนาดและกรอบรูป ถ้าน้องคนไหนต้องการประหยัด อาจจะสั่งแค่กรอบธรรมดาทั่วไป ไม่ต้อง Full Option ก็ได้ค่ะ
 
  • ค่าช่างภาพ (2,000 - 8,000 บาท)
     หลายคนต้องการเบันทึกภาพความประทับใจให้ได้มากที่สุด ก็จ้างช่างถ่ายภาพมาช่วยเก็บภาพกับครอบครัว เพื่อนๆ หรือญาติพี่น้องในวันรับปริญญา (บางคนทั้งวันซ้อม วันจริง) บางคนอยากได้ภาพที่เป็นส่วนตัวตามสถานที่ต่างๆ เช่น กับครอบครัวตามสถานที่ต่างๆ กับกลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัย กับกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน ก็จ้างช่างถ่ายภาพเพิ่มอีก หรือที่เราเรียกกันว่า "นอกรอบ" นัดวันนัดสถานที่กันไป ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือของช่าง และเวลาที่นัด เช่น ครึ่งวัน 2,500 เต็มวัน 3,000 หรือ ครึ่งวัน 3,500 เต็มวัน 4,000 เป็นต้น
     สำหรับวิธีประหยัดในเรื่องนี้ไม่ยากเลยค่ะ ถ้าใครไม่ซีเรียสมาก ก็ใช้กล้องที่มีอยู่ หรือถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ ผลัดกันถ่ายกับเพื่อนๆ หรือครอบครัวก็ได้ค่ะ แต่ถ้าใครอยากจ้างช่างถ่ายภาพ ก็ลองจับคู่ จับกลุ่มกับเพื่อนๆ นัดกันไปถ่าย เพราะถ้ายิ่งคนเยอะ ก็จะยิ่งถูกลงไปเรื่อยๆ ค่ะ
 
  • ค่าบูม (ตามศรัทธา)
     เป็นกิจกรรมเล็กๆ จากรุ่นน้องในวันรับปริญญา โดยน้องๆ จะมาล้อมวง ร้องเพลง เต้น หรือบูมให้กับพี่ๆ บัณฑิต และขอสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ จากพี่ๆ เพื่อนำไปสมทบกิจกรรมค่าย หรือชมรมต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะบอก หรือขออนุญาตพี่บัณฑิตก่อนที่จะทำกิจกรรมแล้ว ซึ่งก็แล้วแต่บัณฑิตเลยค่ะ ถ้าไม่พร้อมก็สามารถบอกหลีกเลี่ยงน้องๆ ได้ อาจจะบอกว่า ตอนนี้พี่ไม่สะดวกนะ หรือพี่ต้องรีบไปแล้ว เป็นต้น หรือรวมกลุ่มกับเพื่อนหลายๆ คน ให้น้องล้อมวงพร้อมกัน ก็สามารถช่วยกันแชร์ได้ค่ะ
 
  • ค่าอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากินเลี้ยง (ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล)
     นับเป็นรายจ่ายเพิ่มเติมที่หนักเอาเรื่องสำหรับบางคนเลยค่ะ โดยเฉพาะน้องๆ บัณฑิตที่เรียนคนละจังหวัดกับบ้าน หรือมหาวิทยาลัยที่รับปริญญาตามสถานที่ต่างๆ ที่ไกลจากบ้าน ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ไหนจะค่าเดินทาง ค่าที่พัก บางคนมีค่ากินเลี้ยงเพิ่มเติมอีก หรือบางคนมีค่าสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้เพิ่มอีก เช่น เข็มกลัด กิ๊บดำ พัด ทิชชู่ คอนแทคเลนส์ เป็นต้น สำหรับส่วนนี้น้องๆ จะต้องสำรวจราคาในหลายๆ ที่ แล้วเลือกสิ่งที่เหมาะสมและประหยัดที่สุด
 
      ลองคำนวณค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างรวมกันแบบ Full Option เรียกได้ว่าต้องจ่ายไม่น้อยเลยนะคะ บางคนอาจจะร่วมๆ หมื่นกันเลย บางคนทยอยจ่ายทีละรายการ อาจจะเห็นภาพรวมไม่ชัด ลองจดรายการที่ต้องจ่ายดู จะช่วยให้เราบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น สิ่งไหนที่พอจะลดได้ก็ลองลดดูค่ะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

มัณทนา Member 6 ก.ย. 61 14:52 น. 1

ไม่ต้องไปซ้อมและไม่ต้องไปรับดีกว่าค่ะ

เราใช้เงินแค่จ่ายค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิตอย่างเดียวค่ะ

ถ่ายรูปสวมชุดครุย ไปขอแจ้งจบที่คณะ

นอกนั้นก็เขียนใบคำร้องไม่ประสงค์เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

รอให้ทางมหาวิทยาลัยส่งใบปริญญาบัตรมาที่บ้านตามที่อยู่ที่ได้แจ้งเอาไว้ในใบเขียนคำร้อง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด