ทำเซียนเหมือนเรียนมา! กับ "ทฤษฎีเป่ายิ้งฉุบ" ที่จะทำให้คุณชนะทุกแมตช์

 Spoil

  • ถ้าตานี้เราเป่ายิ้งฉุบ “ชนะ” ตาต่อไปให้ออก เลียนแบบคู่แข่งในตานี้
  • การสวิงข้อศอกไปมาเกิน 2 ครั้ง สิ่งที่ตามมาคือผู้เล่นจะออก “กระดาษ”
  • ผู้ชายมักจะชอบเปิดเกมการเล่นด้วย "ค้อน"

เป่ายิ้งฉุบ คงเป็นเกมที่หลายคนคุ้นเคยกันมาเป็นอย่างดีตั้งแต่เด็ก หลายครั้งเราใช้วิธีเป่ายิ้งฉุบในการเดิมพันและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิต แล้วน้องๆ เคยรู้กันไหมว่า ถึงแม้การเป่ายิ้งฉุบจะเป็นเกมที่เหมือนจะไม่ต้องใช้ทักษะอะไรเลย แค่อาศัยดวงในการออกอาวุธเพียงเท่านั้น แต่ความจริงแล้วการเป่ายิ้งฉุบยังมีทฤษฎีที่จะทำให้เรามีโอกาสในการชนะมากที่สุด แต่ว่าทฤษฎีแบบนี้มันจะใช้ได้ผลจริงแค่ไหนกันล่ะ?

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

กรรไกร ค้อน กระดาษ สัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม

               กรรไกร ค้อน กระดาษ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมเพราะสามารถเป็นได้ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ

                 ค้อน : ชนะกรรไกร แต่แพ้กระดาษ                                                                                                                                                                                     

 กระดาษ : ชนะค้อน แต่แพ้กรรไกร

กรรไกร : ชนะกระดาษ แต่แพ้ค้อน

เชื่อกันว่าเกมนี้เริ่มต้นในอาณาจักรจีนสมัยราชวงฮั่น เมื่อ 206 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังหลายดินแดน จนกระทั่งในปี 1924 มีการถูกส่งต่อไปสหราชอณาจักร ทำให้การเป่ายิ้งฉุบกลายเป็นที่เข้าใจตรงกันทั่วโลก ด้วยความเป็นเกมที่ง่ายและเที่ยงตรง ไม่ต้องใช้สถานที่ ไม่ต้องมีอุปกรณ์ แถมไม่ต้องฝึกซ้อม จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่อดีตจนมาถึงทุกวันนี้

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

ทฤษฎีเป่ายิ้งฉุบ : ทริคเป่ายิ้งฉุบยังไงให้ชนะ

             ถ้าอยากเป่ายิ้งฉุบให้มีโอกาสชนะมากที่สุดนั้น สิ่งที่นักคณิตศาสตร์และ Chris Wang นักวิจัยชาวจีนค้นพบมี 2 หลักการด้วยกัน เราเรียก 2 หลักการนี้ว่า ทฤษฎีเกมแบบคลาสสิก (Classical game theory)

ทฤษฎี "ชนะให้ลอก"

    ทฤษฎีแรก กล่าวไว้ว่า ถ้าเราเป่ายิ้งฉุบ “ชนะ” ในรอบนี้ มีโอกาสสูงที่เราจะ “ออกแบบเดิม” ในรอบหน้า (Winners Repeat) เพราะมั่นใจว่าตาต่อไปก็จะชนะอีก  แต่จริงๆ แล้วถ้าอยากชนะเราควรออกเลียนแบบสิ่งที่คู่แข่งเพิ่งออกไป

ตัวอย่าง

รอบนี้ เพื่อนออกค้อน เราออกกระดาษ = เราชนะ

รอบต่อไป ให้ออกตามเพื่อนรอบที่แล้ว คือ “ค้อน”

เหตุผล เมื่อเพื่อนแพ้ มีโอกาสที่เพื่อนจะไม่ออกแบบเดิม แต่เปลี่ยนไปออก “กรรไกร” หรือ “กระดาษ” ซึ่งโอกาสที่เพื่อนจะออก “กรรไกร” มีมากกว่า ดังนั้นถ้าเราอยากชนะ ให้ออก “ค้อน” นั่นเอง

ทฤษฏี "แพ้ให้แหวก"

ทฤษฏีที่สอง ถ้าเป่ายิ้งฉุบ “แพ้” ในรอบนี้ มีโอกาสสูงที่เราจะ "เปลี่ยนไปออกแบบใหม่" ในรอบต่อไป (Losers Change) เพราะคิดว่าออกแบบเดิมเดี๋ยวจะแพ้อีก ดังนั้น ถ้าตานี้เรา “แพ้” ตาต่อไปให้เลือกออก อะไรก็ได้ที่ไม่มีใครออกในตานี้

ตัวอย่าง 

รอบนี้ เพื่อนออกค้อน เราออกกรรไกร = เราแพ้

รอบต่อไป ให้เราออกสิ่งที่ไม่มีในรอบที่แล้ว คือ “กระดาษ” 

เหตุผล เพราะมีโอกาสมากที่เพื่อนจะออก “ค้อน” ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

ทฤษฎี "เดาทางมือใหม่"

           ถัดจากทฤษฎีของ Chris Wong ก็ยังมีทฤษฎีที่ชื่อว่า  "The Roshambollah Trap" หรือการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างนักเป่ายิ้งฉุบมือโปรกับมือใหม่ นั่นคือถ้าคุณกำลังเล่นเป่ายิ้งฉุบกับมือใหม่แล้วล่ะก็ให้คุณสังเกตให้ดี ถ้ามือใหม่เลือกออกค้อนในตาแรก รอบต่อไปให้คุณเตรียมตัวออกกรรไกรไว้ได้เลย เนื่องจากพวกเขามักจะเลือดออกไม่กรรไกรก็กระดาษในตาต่อไป

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

 ทฤษฎี "จับความเคลื่อนไหว"

             ทุกคนมีการแสดงออกทางกายภาพที่จะเผลอแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว หากลองสังเกตดีๆ อาจทำให้เราชนะเป่ายิ้งฉุบได้ เช่น การสวิงข้อศอกไปมาเกิน 2 ครั้ง หมายความว่าผู้เล่นคนนั้นกำลังจะออก “กระดาษ” หรือ หากผู้เล่นกำมือและเขย่าขึ้นลงก่อน หมายความว่ากำลังจะออก “ค้อน” เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้เล่นมือใหม่อาจรู้สึกสับสน ของแบบนี้ต้องใช้ประสบการณ์และไหวพริบที่ดีด้วยนะ

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

ทฤษฎี "ผู้ชายออกค้อน"

   จากสถิติการเล่นเกมเป่ายิ้งฉุบของสมาคมเป่ายิ้งฉุบโลก  (World Rock Paper Scissor Society)  พบว่า ผู้ชายมักจะชอบเปิดเกมการเล่นด้วย "ค้อน" เสมอ  เพราะการออกค้อนเปรียบเสมือนการแสดงสัญลักษณ์ของ “ความแข็งแกร่ง” และ “ความมีพลัง” ดังนั้น ผู้ชายส่วนมากจะออกค้อนกัน ถ้าเกิดกำลังเล่นเกมเป่ายิ้งฉุบกับผู้ชายให้เริ่มเกมด้วยการออกกระดาษ  จะเป็นการเปิดเกมการเล่นที่มีสถิติชนะสูงที่สุด

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

ทฤษฎี "กรรไกรไว้ก่อน"

               การเล่นเป่ายิ้งฉุบนั้นจะเริ่มต้นด้วยการกำมือ แล้วค่อยแบเปลี่ยนเป็นรูปร่างต่างๆ ตามหลักจิตวิทยา ผู้เล่นส่วนมากมักจะออกกรรไกรหรือกระดาษในตาแรกเนื่องจากการออกค้อนนั้นยังคงสภาพกำมือไว้แบบเดิม ตามความรู้สึกผู้เล่นจึงมักจะไม่ออกค้อนในตาแรก ดังนั้นในตาแรกควรออกกรรไกรไว้ก่อน เมื่อปะทะกับกรรไกรหรือกระดาษของฝ่ายตรงข้าม ก็จะมีโอกาสชนะหรือเสมอมากกว่าแพ้

รูปภาพจาก @worldrps
รูปภาพจาก @worldrps

เป่ายิ้งฉุบ ไม่ใช่แค่ดวงแต่เป็น "ฝีมือ"

               รู้ไหมว่าเกมบ้านๆ อย่างเป่ายิ้งฉุบ ก็มีการแข่งขันระดับโลกด้วยนะ   เพื่อทดลองและพิสูจน์ว่าการเป่ายิ้งฉุบไม่ใช่แค่ดวงดีเท่านั้นแต่ต้องอาศัยทฤษฎีและแผนการเล่นที่ดีถึงจะทำให้เป็นผู้ชนะได้ จึงถือกำเนิดการแข่งขันเป่ายิ้งฉุบชิงแชมป์โลกขึ้นในปี ค.ศ. 2002 ภายใต้การจัดของ World Rock Paper Scissors Society หรือ สมาคมเป่ายิ้งฉุบโลก  เพื่อจัดงานแข่งขันแบบมืออาชีพ แถมยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเทคนิคการเอาชนะในเกมเป่ายิ้งฉุบระหว่างสมาชิกด้วยนะ

             เกรแฮม วอล์คเกอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมเป่ายิ้งฉุบกล่าวว่า "สำหรับการเป่ายิ้งฉุบ ทุกคนมีโอกาสเป็นแชมป์โลกได้ทั้งนั้น  ทำให้ดึงดูดผู้เข้าแข่งขันทั่วโลก ทั้งที่ตั้งใจมาแข่งโดยเฉพาะ และนักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสมาลองวัดดวงกัน เพื่อให้ตัวเองได้มีชื่อว่า เป็นแชมป์โลกในการเป่ายิ้งฉุบ" กระแสตอบรับการแข่งขันเป่ายิ้งฉุบชิงแชมป์โลกเป็นไปอย่างล้นหลาม จนสามารถจัดงานได้อย่างต่อเนื่องมาถึง 11 ปี

รูปภาพจาก @worldrps
รูปภาพจาก @worldrps

               ถึงแม้จะมีทั้งการทดลองและทฤษฎีที่มากมายเกี่ยวกับการเป่ายิ้งฉุบให้เราได้นำไปลองใช้กัน แต่อันที่จริงยังไม่มีวิธีไหนช่วยให้เราเป็นผู้ชนะได้แบบ 100% เต็ม แค่ทำให้เป็นคนที่ดูฉลาดและเป็นนักเล่นมือโปรในเกมนี้ รวมถึงทำให้มั่นใจในการออกอาวุธมากขึ้น แต่สุดท้ายนอกจาก ค้อน กรรไกร และกระดาษ  อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ “เซนส์” ของคุณนั่นเอง

               พี่เบเบสเชื่อว่าหลังจากที่ทุกคนอ่านบทความนี้จบแล้วจะต้องเล่นเป่ายิ้งฉุบเก่งขึ้นแน่นอนเลย ยังไงก็ลองศึกษาและนำวิธีที่พี่เบเบสนำมาบอกไปลองใช้กันดูนะ ถ้าผลออกมาชนะหรือไม่ชนะยังไง อย่าลืมคอมเมนต์มาพูดคุยกันได้น้า พี่เบเบสรออ่านอยู่นะคะ

  

แหล่งที่มาhttps://priceonomics.com/the-world-of-competitive-rock-paper-scissors/https://bgr.com/2015/11/13/rock-paper-scissors-strategy/https://www.foxnews.com/story/rock-paper-scissors-the-sport

 

 

 

พี่เบเบส
พี่เบเบส - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น