เริ่มเรียนคาบแรกเช้าเกินไป ส่งผลเสียต่อนักเรียน?

ทุกวันนี้ เราตื่นไปโรงเรียนตอนกี่โมงกัน?

หากย้อนเวลากลับไปในช่วงก่อนที่โรคระบาด COVID-19 จะส่งผลกระทบผู้คนทั้งโลก หลายคนต้องเคยผ่านประสบการณ์ตื่นนอนแต่เช้าตรู่ เพื่อเร่งไปให้ทันเข้าแถว และทันเรียนคาบแรก

การจะตื่นให้ทันไปเรียนก่อน 8 โมงเพียงอย่างเดียว นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายแล้ว ยิ่งถ้ามีปัจจัยบ้านไกล รถติด มาบีบเวลาและกิจวัตรประจำวันให้เร็วขึ้นอีก ก็อาจส่งผลให้ใครหลายคนเกิดอาการง่วงหงาวหาวนอน ตั้งแต่คาบแรกยังไม่เริ่มเสียด้วยซ้ำ

นั่นอาจทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาได้ว่า การให้เด็กตื่นเช้าไปโรงเรียนนี้ ส่งผลดีหรือไม่กันแน่?

นอนหลับในห้องเรียน
นอนหลับในห้องเรียน

การนอนนั้นสำคัญไฉน

การนอนหลับที่เพียงพอนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับวัยรุ่น ที่ต้องการเวลานอนต่อวันมากถึง 8 ถึง 10 ชั่วโมงเลยทีเดียว

หากคำนวณในกรณีที่เด็กต้องตื่นนอนไม่เกิน 7 โมงเช้า เพื่อไปให้ทันเข้าแถวก่อนเริ่มเรียนคาบแรกในเวลา 8 โมง นั่นแปลว่าพวกเขาต้องเข้านอนก่อน 5 ทุ่ม เพื่อจะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม นาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian Rhythm ของวัยรุ่นนั้น ก็แตกต่างไปจากเด็กวัยก่อนเข้าเรียน หรือผู้ใหญ่ในวัยทำงาน โดยพวกเขาจะเข้านอนดึกกว่าปกติราว 2 ชั่วโมง

นอกเหนือจากนั้น ภาระงาน การบ้าน โครงงาน เรียนพิเศษ กิจกรรมต่าง ๆ หรือการใช้งานสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็มีส่วนที่ทำให้เวลานอนของเด็กในวัยเรียน ยิ่งดึกขึ้นไปอีก จนแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะเข้านอนทันเวลา 5 ทุ่มได้ทุกวัน

หน่ำซ้ำ เด็กหลายคนจำต้องตื่นนอนแต่เช้าตรู่ เพื่อเดินทางไปให้ทันคาบแรก บ้างต้องเลี่ยงรถติดหรือผู้คนจำนวนมากที่ร่วมใช้รถสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน บ้างอาจต้องขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง หรือต้องตื่นมาให้ทันรถรับส่งนักเรียน แน่นอนว่ายิ่งพวกเขาต้องตื่นเช้ามากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งจำต้องเข้านอนเร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งด้วยปัจจัยข้างต้น ก็แทบเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

หากเทียบให้เห็นภาพ Circadian Rhythm ของวัยรุ่นกับเวลาเข้าเรียนแบบง่าย ๆ คือการที่ผู้ใหญ่ต้องตื่นนอนตอน 3:30 น. (หรือเช้ากว่า) เป็นเวลามากกว่า 180 วันต่อปี เพื่อไปให้ทันเวลาเข้าเรียนของวัยรุ่น แน่นอนว่านั่นย่อมไม่ใช่การตื่นที่อภิรมย์เท่าไหร่นัก

นอนไม่พอส่งผลอย่างไร

การพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถส่งผลกระทบต่อเป็นทอด ๆ ได้อย่างน่าใจหายนัก

เมื่อพูดถึงมื้อเช้าในเวลาเร่งรีบ บางคนเลือกที่จะงดกินอาหารเช้าไปเลย หรือาจหาอะไรมารองท้องก่อน ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่ามื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด และในที่นี้ มันมีผลต่อการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลตรงกับการเรียนรู้ของเด็กเลย

มีงานวิจัยที่ลองแยกเด็กออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มที่รับประทานอาหารเช้าทุกวัน ได้ผลการเรียน มีความจำ และสมาธิที่ดีกว่ากลุ่มที่กินแบบวันเว้นวัน กับไม่รับประทานมื้อเช้าเลยแบบเห็นได้ชัด

นอกเหนือจากนั้น การนอนน้อยสามารถส่งผลต่อความล้าของสมอง เกิดความเครียดและหงุดหงิดได้ง่าย เรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ไม่กระปรี้กระเปร่า มีโอกาสน้ำหนักเกินเกณฑ์ และอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งนี่ยังไม่นับการที่อาจารย์ไม่พอใจ จากการแอบหลับหรือไม่ใส่ใจกับการเรียนในห้องเท่าที่ควร

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทยเพียงที่เดียว โดยทางสหราชอาณาจักรเคยมีการลงนามมากกว่า 179,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้ทางสภาพิจารณาเวลาเริ่มเรียนให้ช้าลง และทางสหรัฐอเมริกา ก็มีการรณรงค์เพื่อให้เวลาเรียนคาบแรก ถูกเลื่อนออกไปให้ช้าลงกว่าเดิม

เริ่มเรียนช้าลงช่วยได้จริงไหม?

หากเด็ก ๆ เริ่มเรียนคาบแรกช้าลงสัก 1 ชั่วโมง พวกเขาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่?

มีการวิจัยกับโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศอังกฤษ โดยให้เด็กในช่วงวัย 13-16 ปี กลุ่มที่ปกติเริ่มเรียน 8:50 น. มาลองสลับเวลาเริ่มเข้าเรียนเป็น 10:00 น. นานสองปี ผลที่ได้ในช่วงนี้คือ นักเรียนมีอาการเจ็บป่วยลดลงมากกว่า 50% และมากกว่า 12% สามารถทำผลการเรียนได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ทีนี้พอสลับเวลาให้กลุ่มเด็กดังกล่าว ย้อนกลับไปเริ่มเรียนตอน 8:50 น. เหมือนเดิม ผลที่ได้คือเด็กมีการลาป่วยเพิ่มขึ้น 30% และผลการเรียนมีการลดลงจากช่วงเริ่มเรียนตอนสิบโมงอย่างเห็นได้ชัด

สุดท้ายแล้ว การที่เด็กนักเรียนไปหลับในห้อง ก็อาจไม่ใช่สัญญาณว่าพวกเขาขี้เกียจ หรือไม่ใส่ใจในการเรียนเสมอไปก็เป็นได้

แน่นอนแหละว่า การตื่นเช้านั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่เด็กในช่วงวัยรุ่นได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับวัยที่นาฬิกาชีวภาพของพวกเขา ไม่ได้สัมพันธ์กับกลุ่มวัยอื่น ๆ

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น