พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ง่าย ๆ แค่นอนฝัน

ฝัน สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเรากำลังนอนหลับ โดยจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า ทำไมมนุษย์ถึงต้องฝัน และเรายังคงทำความเข้าใจกับกลไกทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเห็นภาพฝันอยู่

แต่จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ที่ถูกค้นคว้ามากว่าหนึ่งศตวรรษ ทำให้เราเริ่มรู้จักวิธีที่จะควบคุมความฝัน เพื่อนำมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์กับทักษะต่าง ๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์กับชีวิตประจำวันได้แล้ว

มาดูกันว่า การหลับฝันที่ดูเหมือนจะไม่สามารถทำอะไรได้ สามารถช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เราได้อย่างไรกัน

ฝึกควบคุมความฝันและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ฝึกควบคุมความฝันและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ความฝันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

นับตั้งแต่ที่มนุษย์ได้เริ่มจดบันทึกความฝันเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ 5,000 ปีที่แล้ว จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทำไมเราต้องฝัน และความฝันนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน

อย่างไรก็ตาม มีทฤษฎีที่น่าสนใจอยู่มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น การฝันเพื่อเติมเต็มความปรารถนาของเรา ซึ่งถูกเสนอโดย Sigmund Freud แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

Freud ระบุว่าทุกความฝัน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เป็นการแสดงออกถึงความต้องการที่ถูกซ่อนเร้นไว้ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ผู้ฝันนั้นต้องการ แต่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง เช่น เรื่องความรุนแรง และเรื่องทางเพศ ที่มักถูกจำกัดในโลกแห่งความจริง ด้วยหลักจริยธรรมและบริบททางสังคมบางอย่าง

อีกทฤษฎีของการฝัน คือเป็นการลบและถ่ายโอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากสมองของเรา กล่าวคือในระหว่างที่เรากำลังฝัน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างช่วงภาวะหลับแบบ REM หรือ Rapid Eye Movement สมองส่วน Neocortex ที่ควบคุมความรู้สึกนึกคิด จะทำการ Reverse Learning เพื่อทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่ในสมองของเรา

เมื่อพบส่วนที่มันคิดว่าไม่มีความจำเป็นแล้ว ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำออกไป โดยอาศัยในช่วงการฝันเป็นจุดถ่ายโอนข้อมูลดังกล่าวออกมา ซึ่งนั่นช่วยให้สมองของเราไม่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่จำเป็นนั่นเอง

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีทฤษฎีอีกมากมายที่พูดถึงเกี่ยวกับการฝัน เช่น เพื่อจดจำ เพื่อให้สมองทำงานต่อไปได้ หรือเพื่อเยียวยาตัวเองก็ตาม ซึ่งในส่วนนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงพยายามค้นคว้าลึกลงไปในสมองของมนุษย์ เพื่อไขหาคำตอบที่ชัดเจน ว่าทำไมคนเราถึงต้องฝันกันอยู่

ควบคุมฝันได้อย่างไร?

สำหรับหลายคน ความฝัน อาจเป็นสิ่งที่เหมือนกับเรากำลังชมภาพยนตร์ในโลกเสมือนจริง ที่สามารถเห็นและสัมผัสได้ทุกอย่าง แต่ไม่สามารถควบคุมเรื่องราวใด ๆ ได้ ไปจนถึงขั้นที่ลืมเลือนมันไป เพียงไม่นานหลังจากที่ตื่นขึ้นจากฝัน

อย่างไรก็ตาม การฝันแบบ Lucid Dream นั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง นั่นเพราะเราสามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในฝัน สร้างฉากต่าง ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างอิสระเลย

ปรากฎการณ์ดังกล่าวถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรก โดย Frederik van Eeden นักเขียนและจิตแพทย์ ผู้ศึกษาการฝันแบบ Lucid Dream อย่างจริงจังเป็นคนแรก และหลังจากผ่านการศึกษามาอย่างต่อเนื่องกว่า 1 ศตวรรษ นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบวิธีแบบคร่าว ๆ ที่คนเราสามารถพาตัวเองเข้าไปสู่การฝันแบบดังกล่าวได้ ดังต่อไปนี้...

วิธีแรก คือการทำ Reality Testing หรือคือการคอยเช็คว่าเราฝันอยู่หรือไม่ เช่น ลองดึงนิ้วตัวเอง (หากฝันอยู่ มันจะยืดได้แบบยาว ๆ เลย) ลองกระโดดขึ้นลง (ในฝัน เราอาจลอยไปอย่างต่อเนื่อง หรืออาจค่อย ๆ ลดระดับลงมาอย่างนุ่มนวล) และอาจลองหาพวกตัวอักษรหรือตัวเลขดู ซึ่งถ้าเรากำลังฝันอยู่ มันจะเปลี่ยนไปแทบทุกครั้งที่หันไปมองเลย

การทำ Reality Testing ควรทำอย่างต่อเนื่อง แม้ในขณะที่เรายังตื่นอยู่ เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินไป และสามารถนำไปทดสอบต่อระหว่างฝันได้

นอกเหนือจากการทำ Reality Testing ยังมีอีก 2 วิธี ที่ทางผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ควรทำควบคู่กันไป นั่นคือ Wake back to bed หรือ WBTB ซึ่งเป็นการตื่นขึ้นมา หลังจากนอนไปได้ประมาณ 3-5 ชั่วโมง ก่อนจะกลับไปนอนต่อ พร้อมกับนำเทคนิค Mnemonic induction of lucid dreams หรือ MILD มาใช้ ซึ่งเป็นการย้ำเตือนตัวเองว่า เราจะควบคุมฝันได้ เรากำลังจะฝันว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น

Robert Waggoner นักเขียนหนังสือ ผู้ได้ฝันแบบ Lucid Dream มาตั้งแต่ปี 1975 ได้แนะนำว่าสำหรับวิธีอย่างหลังนั้น เขาจะใช้หลักการแบบ ตั้งปลุกให้ตัวเองตื่นขึ้นมาในตอนตีสี่ และเมื่อจะนอนต่อ ให้นับเลขแบบนี้ “หนึ่ง นี่คือความฝัน, สอง นี่คือความฝัน, สาม นี่คือความฝัน…” ไปเรื่อย ๆ จนพบว่าฉากรอบตัวเริ่มเปลี่ยนไป ก่อนจะพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในฝันแล้ว

อย่างไรก็ตาม วิธีข้างต้นนี้ ไม่ได้การันตีว่าทุกคนจะฝันแบบ Lucid Dream ได้ในทันทีเลย โดยแต่ละคนอาจมีเทคนิค และระยะเวลาก่อนจะเข้าฝันที่แตกต่างกันไป ซึ่งสิ่งที่จำเป็น คือการฝึกฝนร่างกายและจิตของเรา ให้สามารถรู้ตื่นระหว่างฝันแบบดังกล่าวได้นั่นเอง

เมื่อเริ่มฝันได้แล้ว ก็จำเป็นที่เราจะต้องอยู่ในฝันดังกล่าวให้ได้นานที่สุด ไม่หลุดตื่นขึ้นมาก่อน ซึ่งทาง Waggoner ได้ให้คำแนะนำไว้ 3 อย่าง ที่ควรทำเมื่อคุณทราบว่า ตัวเองได้อยู่ในฝันแล้ว

  1. อย่าตื่นเต้นมากเกินไป ไม่อย่างนั้นเราจะตื่นได้
  2. พยายามอยู่ในฝันนั้นให้ได้ เช่น พยายามจับสิ่งของในฝัน หรือถูมือตัวเอง
  3. โฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่โลกแห่งความจริง รู้ตื่นว่าเรากำลังฝันอยู่

ความคิดสร้างสรรค์ดีขึ้นตรงไหน?

มีงานวิจัยพบว่า ผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง หรือทำงานในด้านครีเอทีฟ จะมีโอกาสได้ฝันแบบ Lucid Dream สูงกว่า ซึ่งอาจมาจากความสามารถในการทำให้เห็นภาพของเหตุการณ์ต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการจดจำฝันดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

และในทางกลับกัน งานวิจัยนี้ยังได้พบว่า ผู้ที่สามารถฝันแบบ Lucid Dream ได้นั้น ก็สามารถเพิ่มทักษะความคิดสร้างสรรค์ กับจินตนาการของตนเองได้

ในระหว่างที่กำลังเกิด Lucid Dream ส่วนหน้าของสมองกลีบหน้าผาก หรือ Prefrontal Cortex ที่ควบคุมพฤติกรรม อารมณ์ การวางแผนและแก้ปัญหาของมนุษย์ รวมทั้งมีความเชื่อมโยงไปสู่ด้านความคิดสร้างสรรค์ของคนเรา จะมีการทำงานขึ้นมา ซึ่งแตกต่างไปจากช่วงของการหลับฝันแบบปกติ ที่แทบไม่ตรวจพบการทำงานของ Prefrontal Cortex เลย

นั่นเพราะในระหว่างการฝันแบบ Lucid Dream ผู้ที่ฝันสามารถกำหนดได้ตั้งแต่เริ่ม ว่าความฝันที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นเช่นไร การดำเนินเรื่องระหว่างนั้นจะไปในทิศทางไหน โดยที่เราเองรู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่

ในระหว่างการฝัน ร่างกายของเราจะเข้าสู่การหลับแบบภาวะ REM ที่แม้ตัวเราจะนอนหลับไปแล้ว แต่หลายส่วนของสมองจะยังคงทำงานต่อไปอยู่ ดังนั้น เมื่อมีการครีเอทสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาระหว่างเกิด Lucid Dream จะทำให้สมองซีกขวา ที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และความจำ ได้ถูกใช้งานและพัฒนาไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุเช่นนี้ จึงมีคนเคยใช้การฝัน Lucid Dream มาทำประโยชน์ให้กับร่างกายตนเอง เช่น นักกีฬา ที่ใช้ Lucid Dream มาช่วยระหว่างการฝึกซ้อมที่อาจยังไม่คุ้นเคย ให้ชำนาญขึ้นได้ก่อนแข่งขันจริง รวมทั้งยังอาจจำลองสถานการณ์สนามแข่ง เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นสนาม และคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมก่อนหน้าได้อีกด้วย

หรือกับคนที่มีความกลัวบางอย่างข้างในจิตใจ เช่น กลัวความสูง สิ่งลี้ลับ ความมืด ก็สามารถนำเคสดังกล่าวมาทำให้เกิดความคุ้นชินระหว่างเกิด Lucid Dream เพื่อค่อย ๆ ล้างความกลัวที่มีอยู่ออกไป และพร้อมรับกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ หากต้องเผชิญหน้าอีกครั้งในชีวิตจริง

น่าเสียดายว่าในปัจจุบัน ยังมีเรื่องราวอีกมากที่เรายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับสมองของมนุษย์ ซึ่งหากวันหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์สามารถไขความลับการหลับฝัน จนถึงขั้นที่สามารถหาวิธีตายตัวในการทำ Lucid Dream ได้แบบ 100% ได้เมื่อไหร่ การนอนหลับยามค่ำคืนของเรา อาจเป็นหนึ่งในช่วงเวลาเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งเลยก็เป็นได้

แต่อย่างน้อย เราก็ยังสามารถลองนำทักษะการทำ Lucid Dream ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ไปลองทำดูได้ และอย่าลืมมาแชร์ประสบการณ์ที่ได้รับกันด้วยนะ

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น