เทคนิคอ่านหนังสือของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล

เคยสงสัยกันไหม ว่าบุคคลที่ถูกยกย่องว่าเป็น “อัจฉริยะ” หรือคิดค้นและอยู่เบื้องหลังการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในศาสตร์อย่างฟิสิกส์ ที่ซับซ้อนและดูยากที่จะเข้าถึงนี้ เขามีวิธีในการเรียนรู้สิ่งใหม่ และอ่านหนังสือให้ดีได้อย่างไรกัน

ลองถอดบทเรียนจากคุณ Richard Feynman นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลในปี 1965 ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุค ควบคู่ไปกับการเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านการประมวลผลแบบควอนตัมและนาโนเทคโนโลยี ว่าเขามีวิธีอย่างไรกันบ้าง?

คนธรรมดาที่ชอบศึกษา

คุณ Feynman เป็นที่รู้จักจากการพัฒนาทฤษฎี Quantum Electrodynamics หรือ QED, ของไหลยวดยิ่ง หรือ Superfluidity, แผนภาพ Feynman Diagram ที่แสดงให้เห็นภาพของพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างอนุภาคย่อยของอะตอม และอีกหลากหลายผลงานในช่วงเวลาที่เจ้าตัวยังมีชีวิตอยู่

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากถึงเพียงนี้ ก็มาจากความฉลาดในวัยเด็กของเจ้าตัว ที่สามารถทำความเข้าใจ ตรีโกณมิติ, พีชคณิตขั้นสูง, อนุกรมอนันต์, และแคลคูลัส ด้วยตนเองได้ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 15 ปี และยังถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ซับซ้อน อย่างทฤษฎีพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัม ให้กับเด็กนักเรียนในระดับมัธยมปลายเข้าใจได้อีกด้วย

ด้วยความสามารถที่หลากหลายเช่นนี้ ย่อมไม่แปลกที่เจ้าตัวจะถูกถามว่า เขาเป็นคนที่พิเศษกว่าคนอื่นไหม มีสมองที่ดีกว่าคนอื่นหรือเปล่า ทำไมถึงเรียนรู้และศึกษาในขั้นที่สูงได้มากถึงเพียงนี้

Richard Feynman เคยให้คำตอบถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณถามผม ว่าคนธรรมดาจะสามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ไหม? พวกเขาทำได้แน่นอน เพราะผมก็เป็นคนธรรมดาที่ตั้งใจศึกษาอย่างหนัก”

“มันไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ เลย แค่เพราะพวกเขาสนใจในสิ่งนี้ ก็เลยตัดสินใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง พวกเขาก็ยังเป็นเพียงคนธรรมดา ที่ไม่มีความสามารถหรืออภินิหารพิเศษกว่ามนุษย์ทั่วไป”

“ไม่มีปาฏิหาริย์ใด เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือกลศาสตร์ควอนตัม โดยไม่อาศัยการฝึกฝน อ่าน เรียนรู้ และทำความเข้าใจ ดังนั้นถ้าคุณนำคนธรรมดาที่พร้อมจะทุ่มเวลาชีวิตของตนเพื่อศึกษาอย่างหนักได้ เขาก็สามารถกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน”

ดังนั้นแล้ว การจะทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้นั้น ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่คำถามสำคัญก็คือ นักฟิสิกส์ระดับรางวัลโนเบลอย่างคุณ Feynman มีวิธีในการศึกษาและอ่านหนังสืออย่างไร ถึงได้เข้าใจเรื่องราวที่เจาะลึกและซับซ้อนระดับนี้ได้

เทคนิคของนักฟิสิกส์

Richard Feynman เปิดเผยผ่านอัตชีวประวัติของตน ว่าเขาไม่เห็นด้วยที่เด็กควรเรียนรู้ผ่านการท่องจำเพียงอย่างเดียว และควรที่จะเป็นการลองผิดลองถูก ออกค้นคว้า พร้อมกับตั้งข้อสงสัยกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเสรี โดยสิ่งสำคัญที่สุดจากการเรียนรู้แบบนี้ คือเราต้องสามารถอธิบายสิ่งที่เราเข้าใจได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ไม่เช่นนั้น ก็แปลว่าเรายังเข้าใจมันได้ไม่ดีมากพอ

โดยเทคนิค “Feynman Technique” ที่เจ้าตัวใช้ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 4 หัวข้อหลักดังต่อไปนี้

  1. เลือกประเด็นที่ต้องการศึกษา - เมื่อเลือกได้แล้ว ให้จดหัวข้อดังกล่าวไว้ที่หัวกระดาษของสมุดโน้ตในทันที
  2. สอนตัวเอง หรือไปสอนใครก็ได้ - หลังจากได้ศึกษาเรื่องราวดังกล่าวแล้ว ลองนำสิ่งที่ได้ไปไปสอนคนอื่น หรือเขียนข้อมูลที่มีดังกล่าวลงในหน้ากระดาษ เหมือนกับว่าเรากำลังอธิบายและสอนตนเองอยู่
  3. กลับไปอ่านอีกครั้งเมื่อลืม - หากสรุปออกมาแล้ว ดันเกิดลืมบางสิ่งที่คุณเรียนรู้หรือได้อ่านมา ให้กลับไปยังแหล่งข้อมูลดังกล่าว และเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์
  4. ทำให้เข้าใจง่ายที่สุด - ไม่ว่าจะเป็นการสอนผู้อื่น หรือจดลงสมุดโน้ตของตนเอง ให้ลองปรับรูปแบบภาษามาอยู่ในระดับที่เข้าใจง่ายกว่าเดิม อาจหาตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพมาประกอบดูได้

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราก็สามารถนำเทคนิคของคุณ Feynman ไปลองใช้ในการสอบครั้งถัดไปดูก็ได้ แต่ในทีนี้ ก็ได้มีคำเตือนจากเจ้าตัว ที่ฝากไว้ว่าอย่าประมาทเวลาอ่านหนังสือใด ๆ ก็ตามด้วย

เริ่มแรกเลย “เราต้องไม่หลอกตัวเอง และตัวเราเองนี่แหละที่ถูกหลอกได้ง่ายที่สุด” การไม่หลอกตัวเองตามที่คุณ Feynman หมายถึง คือการรู้ว่าเรายังไม่เข้าใจในวิชาอะไรบ้าง เนื้อหาส่วนไหนที่เรายังเข้าใจไม่ถ่องแท้ เพื่อที่จะได้เริ่มเก็บหาข้อมูลมาได้อย่างครอบถ้วนและครอบคลุมที่สุด

ลำดับถัดไป คือประเด็นการหวงความรู้กันไว้ เพราะกลัวว่าอีกคนจะทำได้ดีกว่า ซึ่งจริงอยู่ที่เทคนิคของ Feynman สามารถใช้เป็นการสรุปให้ตัวเองได้  แต่การได้ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น จะช่วยให้เราเองทบทวนประเด็นที่เรียนรู้มา พร้อมกับเป็นการหาช่องโหว่ของข้อมูลที่เราหลงหลืม หรือยังไม่เข้าใจได้ดีพอ เปรียบเสมือนเป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างกันและกันไปในตัว

นอกจากนี้ การอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เราลืมเนื้อหาบางส่วนไปได้ ดังนั้นแล้ว การได้สอนคนอื่นเพิ่มเติม ซึ่งมีกระบวนการที่เราได้เรียบเรียงองค์ความรู้ต่าง ๆ จากการอ่าน มาถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้ และทำให้เราได้ทบทวนเนื้อหา ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญให้เราจดจำประเด็นทั้งหมดได้ดีขึ้น

เพราะองค์ความรู้และความสำเร็จเหล่านี้ ไม่มีทางลัดใด ๆ ให้ไปถึงได้ นอกเหนือจากการทุ่มเทและมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ เช่นกันกับคุณ Richard Feynman ที่สามารถแปรเปลี่ยนจากคนธรรมดาคนหนึ่ง ให้เติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ได้รับการยอมรับที่สุดแห่งยุคได้

สุดท้ายนี้ ถ้าได้ลองใช้วิธีดังกล่าวกันแล้ว อย่าลืมมาแชร์กันดูว่าได้ผลดีหรือไม่อย่างไร และหากใครมีเทคนิคน่าสนใจอื่น ๆ ก็สามารถมาแบ่งปันกันได้ในช่องคอมเมนต์ด้านล่างนี้เลย

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด