ก่อนเริ่มขออนุญาตติด trigger warning ก่อนอ่านดังนี้นะครับ เพื่อลดความเสี่ยงการที่บทความอาจไปกระตุ้นผู้อ่านได้ ด้วยเนื้อหาดังต่อไปนี้ : โรคซึมเศร้า / การฆ่าตัวตาย 

Spoil

  • "โรคซึมเศร้า" เป็นหนึ่งในโรคที่มีผู้ป่วยในช่วงวัยรุ่นสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี
  • การเข้าหาอย่างเป็นมิตร รับฟังและอยู่ข้างๆ พวกเขา เป็นวิธีเปิดที่ดีในการช่วยเหลือ
  • การโน้มน้าวให้พบแพทย์ เป็นเป้าหมายสูงสุด เพื่อเข้าสู่การรักษาอย่างจริงจังต่อไป

พี่เชื่อว่า “ซึมเศร้า” คงเป็นคำที่น้องๆ หลายคนน่าจะเคยได้ยินกันจนชินหูไปแล้ว เพราะนี่นับเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิต ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นโรคที่มีความพิเศษและน่ากลัวตรงที่บางครั้ง “เราไม่สามารถรู้ได้เลย ว่าคนนี้กำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่” แบบที่ภายนอกดูนิ่งสงบ เรียบเฉย เราก็ไม่อาจรู้เบื้องลึกภายในใจได้เลย

อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้านั้นสามารถทำให้ความรุนแรงลดลงได้ ด้วยความช่วยเหลือสำคัญอย่าง "แรงสนับสนุนจากสังคม" ที่จะมาในรูปแบบของเพื่อน เครือญาติ ครอบครัว ฯลฯ ซึ่งจะต้องใช้ทักษะบางอย่าง เพื่อทำความเข้าใจพวกเขา และค่อยๆ ผ่านเรื่องราวไปพร้อมกัน ซึ่งในฐานะที่เราเป็น "คนที่อยากช่วยเหลือ" เราจะทำอย่างไรได้บ้าง? วันนี้พี่แทนนี่เลยจะมาชวนสรุปความเข้าใจใน “โรคซึมเศร้า” กันอีกครั้ง เพื่อจะได้รู้ถึงที่มา ความเป็นไป รวมไปถึงวิธีการที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนรอบตัว ในแบบที่วัยเรียนแบบเราก็ทำได้กันครับ

นิยาม “โรคซึมเศร้า” 

 “ภาวะซึมเศร้า” หรือ Depression (Major depressive disorder : MDD) มีผลทำให้สารสื่อประสาทในสมองให้ทำงานไม่ปกติ โดยสารสื่อประสาทในที่นี้จะมีบทบาททั้งในการปรับอารมณ์และความสุข การนอนหลับ ความจำที่ลดลง และทำให้มีสภาวะอารมณ์เป็นไปในเชิงลบ หรือลุกลามไปถึงความคิดทำร้ายตนเองและฆ่าตัวตายได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีผู้ดูแลที่เข้าใจในอาการของโรค เข้าไปเป็นคนที่คอยรับฟังและทำความเข้าใจ เพื่อประคับประคองกันต่อไป

เช็คลิสต์อาการเสี่ยง

อาการของโรคซึมเศร้านั้นมีเยอะมาก บางอาการก็แสดงออกชัด บางอาการก็สังเกตได้ยากเช่นกัน ด้วยความที่ผู้ที่มีภาวะนี้มีโอกาสที่จะ “เก็บกดความรู้สึก” สูง เพราะโรคนี้ค่อนข้างจะถูกตัดสินหรือตีตราจากคนรอบตัวได้ง่าย ว่าเป็นเพียงแค่โรคเศร้าธรรมดา หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าอ่อนแอ จัดการตัวเองไม่ได้ดี 

โดยอาการของโรคซึมเศร้าจะมีหลายอย่างมาก ลองสังเกตดูนะครับ ถ้ามีอาการเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ ก็อาจสันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยง มีดังต่อไปนี้เลย

  • “นอนไม่หลับ นอนเยอะ”  (insomnia / hypersomnia)
  • “ไม่อยากกินอะไร หรือกินเยอะผิดปกติ” (lost of appetite / increased)
  • “รู้สึกไร้ค่าและคิดลบต่อตนเอง” (negative thoughts)
  • “สิ่งที่เคยชอบ ก็ไม่ได้ชอบเหมือนเดิม” (anhedonia)
  • “เหนื่อยไปหมดกับทุกอย่าง” (fatigue)
  • “กังวล ร่วมกับกระสับกระส่าย คุมสมาธิยาก”

แล้วเราจะช่วยเหลือได้อย่างไร?

อย่างที่พี่ได้กล่าวไปตั้งแต่ต้น “โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายขาดได้” ผ่านการรับการรักษาอย่างต่อเนื่องกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา นี่เป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้วในการจัดการกับโรคนี้ให้หาย แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นได้ การที่เรามีความเข้าใจในโรคนี้อย่างดีก่อน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เรารู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป โดยหลักการคียเวิร์ดสำคัญก็คือ “การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น หรือ Empathy” ที่ควรจะต้องมีในทุกวิธีการที่จะกล่าวต่อไปนี้ ให้เห็นภาพก็คือการที่เราเข้าใจปัญหาของอีกคน เหมือนว่าเราเจอปัญหาเดียวกันกับที่อีกคนเจออยู่ โดยที่เราจะไม่จมดิ่งไปกับความรู้สึกมากเกินไป และไม่ทำการด่วนตัดสิน หรืออคติกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปก่อน

ส่วนวิธีการที่น้องๆ ควรทำ หากมองว่าเพื่อนเราต้องการช่วยเหลือ มีดังนี้

ให้ความใส่ใจอย่างพอดี

การเข้าไปให้ความใส่ใจในที่นี้ จะเป็นในแบบที่ไม่ได้คุกคาม หรือก้าวก่ายชีวิตของเพื่อนมากไป เวลาเข้าไปพูดคุยพยายามทำให้เพื่อนรู้สึกว่า "เขามีคนที่รับฟังและอยู่ข้างเขา" ไม่ใช่ "เขาถูกรบกวนและรุกรานชีวิต"  ให้พยายามมองว่า ถ้าเพื่อนเป็นเรา เราจะต้องการอะไรมากที่สุดในเวลานี้ และเราก็ทำแบบนั้นออกไป

“เวลาคุยกับคนที่มีภาวะซึมเศร้า ต้องมองโลกผ่านแว่นตาของเขา ไม่ใช่ของเรา”

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าช่วงนี้มีเพื่อนคนนึงของเราท่าทางแปลกไปจากเดิมที่เคยรู้จัก ไม่ค่อยกินข้าว แล้วก็ดูหายหน้าหายตาจากเราไป เราในฐานะเพื่อนก็อาจจะเข้าไปถามไถ่ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร เข้าไปพูดคุย เป็นที่ปรึกษาให้เพื่อน แบบที่ไม่ดูคุกคามเรื่องส่วนตัวเกินไป เพราะเรารู้ว่า “ถ้าถามไปแบบนี้น่าจะดีกว่า” ผ่านการเข้าใจในมุมมองของเพื่อนเรา 

แนะนำให้ไปหาหมอหรือนักจิตวิทยา

โรคซึมเศร้าก็เหมือนโรคอื่นทั่วไปครับ ที่เวลาป่วยขึ้นมาก็ต้องไปหาหมอ โดยวิธีนี้สำคัญมากเมื่อเราช่วยเหลือมาได้ระยะหนึ่ง เราประคองเพื่อนมาได้ จนสถานการณ์หลายอย่างดีขึ้นเรื่อยๆ ลองแนะนำโน้มน้าวให้เพื่อน "เข้ารับการรักษา" จากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาต่อได้เลย น้องอาจพยายามโน้มน้าวให้เพื่อนไม่ต้องหวาดกลัว หรือกดดันในการไปโรงพยาบาลเพื่อไปรักษาโรคซึมเศร้า  และสร้างความมั่นใจให้เพื่อนผ่านการแสดงออกที่จริงใจของเรานั่นเอง

การทำงานของ "จิตแพทย์" ก็จะเหมือนหมอทั่วไป ที่ในช่วงแรกแพทย์จะคอยรับฟังปัญหา อาการจากคำบอกเล่า และให้คำปรึกษาในเบื้องต้น  และเก็บข้อมูลเพื่อวินิจฉัยต่อไป  โดยจิตแพทย์นั้นจะสามารถสั่งยาให้เราได้

อีกวิชาชีพหนึ่งที่สามารถแนะนำได้คือ "นักจิตวิทยา" ซึ่งได้ตั้งแต่นักจิตวิทยาในโรงพยายาล จนไปถึงเอกชนที่ให้บริการผ่านทางโทรศัพท์และวิดีโอคอล โดยบุคลากรที่มารับฟังปัญหาและให้คำแนะนำนั้น มีทั้งประสบการณ์และวิธีการที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่เพื่อนของน้องได้ เป็นอีกทางเลือกที่ดีที่เดียวหากจะแนะนำ 

เบอร์สายด่วนที่ให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

  • 1323 สายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต
  • 02-113-6789  สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย

สุดท้ายนี้ พี่หวังลึกๆ ว่าเรื่องราวที่พี่เอามาฝากในวันนี้ อาจจะช่วยเหลือใครสักคนได้ ไม่ว่าจะผ่านการเข้าไปดูแลคนรอบตัวด้วยความเข้าใจที่มากขึ้น เพราะโรคนี้หากตัวเราเข้าใจมันมากพอ ถึงจุดหนึ่งเราก็สามารถช่วยเหลือให้คนรอบตัวให้รู้สึกดีขึ้นได้  ไม่มากก็น้อย

ก่อนจากกันไป มาเล่าให้ฟังได้นะว่า “เคยเข้าใจอะไรผิดไปมั้ยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า” พิมพ์มาไว้ได้เลย พี่เองอยากอ่านมากๆ เลยล่ะ แล้วมาพบกันใหม่กับ “Teen Coach” หัวข้อต่อไปนะครับ :)

 

อ้างอิงข้อมูลจากhttps://psychcentral.com/lib/teen-depression-symptoms#symptomshttps://www.psychiatry.org/patients-families/depression/what-is-depressionhttps://www.webmd.com/depression/guide/detecting-depression
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด