Spoil

  • ที่จริงแล้วลอดช่องสิงคโปร์มีต้นกำเนิดมาจาก “เยาวราช”
  • ขนมจีนเป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษามอญคำว่า ‘ขฺนํจินฺ’  (คะนอมจิน)
  • ขนมโตเกียว เพี้ยนมาจากคำว่า “โรเนียว”

สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนนะคะ ทุกคนเคยสงสัยไหมคะ? ว่าชื่ออาหารต่าง ๆ มีที่มามาจากไหน ทำไมถึงถูกเรียกแบบนี้ วันนี้พี่ก็ได้รวบรวมที่มาของชื่ออาหาร มาไว้ให้ทุกคนแล้วค่ะ 

ส้มตำ

ภาพจาก  freepik.com
ภาพจาก  freepik.com

มาเริ่มกันที่อาหารอย่างแรกกันเลยดีกว่า “ส้มตำ” มีที่มาของชื่อมาจากไหน มาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ

คำแรก “ส้ม” มาจากภาษาท้องถิ่น ที่หมายความว่า รสเปรี้ยว ส่วนคำที่สองคือ “ตำ” หมายความว่า การใช้สากหรือสิ่งของอื่นที่คล้ายคลึงทิ่มลงไปอย่างแรงเรื่อยๆ เมื่อจับทั้งสองคำมารวมร่างกันก็จะได้ความหมายคือ อาหารรสเปรี้ยวที่ทำโดยการตำ นั่นเองค่ะ

ลอดช่องสิงคโปร์

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

ลอดช่อง คือชื่อขนมหวานชนิดหนึ่งที่คนไทยหลายคน เข้าใจว่ามันเป็นขนมหวานที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสิงคโปร์ แต่ที่จริงแล้วลอดช่องสิงคโปร์มีต้นกำเนิดมาจาก “เยาวราช” นั่นเองค่ะ แล้วคำว่า “สิงคโปร์” มาจากไหน?

ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2504 หรือ 60 กว่าปีก่อนเลยค่ะ  ตอนนั้นมีร้านลอดช่องร้านแรกในประเทศไทย ชื่อว่า “สิงคโปร์โภชนา” ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าโรงภาพยนตร์สิงคโปร์หรือโรงหนังเฉลิมบุรี บนถนนเยาวราช ผู้คนที่ไปรับประทานจึงมักจะเรียกว่า “ลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์” จนในที่สุดตัดทอนเหลือแต่เพียง "ลอดช่องสิงคโปร์" จนกลายมาเป็นชื่อเรียกของขนมนี่เองค่ะ

ขนมจีน 

ภาพจาก  freepik.com
ภาพจาก  freepik.com

 ขนมจีน เป็นอาหารดั้งเดิมของชาวมอญหรือชาวรามัญ โดยคำว่าขนมจีน เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษามอญคำว่า ‘ขฺนํจินฺ’  (คะนอมจิน) ซึ่งมีความหมายว่าการจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วนคำว่า “จิน” แปลว่า ทำให้สุก นั่นเองค่ะ

ขนมโตเกียว 

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

ขนมโตเกียว เป็นขนมไทยชื่อญี่ปุ่น ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าขนมนี้มีที่มามาจากไหน บ้างก็ว่ามาจากขนมโดรายากิของญี่ปุ่น แต่ก็มีอีกเสียงที่เชื่อว่ามาจากขนม “ยะสึฮาชิ” บ้างก็บอกว่าชื่อขนมเพี้ยนมาจากคำว่า “โรเนียว” เพราะว่าตอนทำ คนขายจะต้องวนแป้งเป็นแผ่นกลมบนกระทะเหมือนการโรเนียว นานวันเข้าคนก็เรียกเพี้ยนจาก โรเนียว เป็น โรเกลียว จนกลายเป็น "โตเกียว" ในที่สุด

ข้าวผัดอเมริกัน

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

ข้าวผัดอเมริกัน เป็นข้าวผัดด้วยซอสมะเขือเทศ ใส่ลูกเกดใส่ถั่วลันเตา หัวหอม แฮม ผัดรวมกัน แล้วก็จะมีไก่ทอด ไส้กรอก ไข่ดาว วางอยู่เป็นอาหารเคียง ถือเป็นการจบกระบวนการทำข้าวผัดอเมริกัน

สำหรับที่มาของข้าวผัดอเมริกัน มีอยู่ 2 ที่มีด้วยกัน ที่มาแรกนั้นมาจาก คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาของข้าวผัดอเมริกันว่าเป็นอาหารที่คุณหญิงสุรีพันธ์ ได้ทำขึ้นเอง ขณะที่ทำงานเป็นผู้จัดการาชธานีภัตตาคารของกรมรถไฟในสนามบินดอนเมือง ตอนนั้นมีสายการบินสั่งจองอาหารเช้าแบบอเมริกันไว้ แต่ได้ยกเลิกเที่ยวบินไป ทำให้อาหารเหลือจำนวนมาก คุณหญิงจึงได้นำข้าวผัดที่มีมาประกอบกับอาหารเช้าแบบอเมริกัน เมื่อทหารอเมริกันถามชื่อเมนู จึงตั้งว่า ‘ข้าวผัดอเมริกัน’

ที่มาที่สอง คือ ในช่วงสงครามเวียดนามระหว่างปี พ.ศ. 2500 – พ.ศ. 2518 มีพ่อครัวชื่อ ‘โกเจ๊ก’ ที่คิดค้นเพื่อให้ทหารอเมริกันที่อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมากิน ในช่วงที่ไทยยังเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกาในสงครามเวียดนาม

ข้าวซอย 

ภาพจาก  freepik.com
ภาพจาก  freepik.com

ข้าวซอย เป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือ มีลักษณะคล้ายเส้นบะหมี่ในน้ำแกงกะหรี่ ซึ่งที่มาของชื่อมาจาก ในสมัยโบราณยังไม่มีเครื่องจักรในการผลิตเส้นบะหมี่ที่ใช้ทำข้าวซอย จึงใช้การทำเส้นสด โดยนำแป้งข้าวสาลี ไข่ เกลือ น้ำ มาผสมกันแล้วนวด จนเข้ากัน แล้วกดรีดให้เป็นแผ่น หลังจากนั้นก็เอามีดมาซอยแผ่นแป้งให้เป็นเส้น จึงเรียกว่า “ข้าวซอย” นั่นเองค่ะ 

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับที่มาของชื่ออาหารแต่ละชื่อที่พี่รวบรวมมาให้ในวันนี้ หวังว่าบทความนี้ จะได้คลายข้อสงสัยของทุกคนกันนะคะ ไว้เจอกันบทความหน้านะคะ บ๊ายบาย~

 

ข้อมูลจาก  http://lib3.dss.go.th/fulltext/techno_file/CF92/CF92(A16).pdf https://xinfully.wordpress.com/2011/10/05/lot-chong-singapore-singaporean-or-thai/https://theculturetrip.com/asia/thailand/articles/a-brief-history-of-som-tum-thailands-popular-green-papaya-salad/https://www.wsj.com/articles/SB125916044108063913https://bk.asia-city.com/restaurants/news/american-fried-rice-gets-its-time-light-courtesy-top-bangkok-chef https://thesmartlocal.com/thailand/sumo-tokyo/
พี่หมิวหมิว
พี่หมิวหมิว - Columnist นักเขียนมือสมัครเล่น เป็นคนใช้ชีวิตไปวันๆ เพราะใช้ทีละสองวันไม่ได้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น