คุยกับ ‘เติ้ล หนังหน้าโรง’ การสร้างช่องยูทูบที่เริ่มจากศูนย์จนมีผู้ติดตามเกือบล้าน!

spoil

  • 'หนังหน้าโรง' มีที่มาจากการพาเพื่อนไปดูหนังหน้าโรง (หนัง)
  • ความยากอยู่ที่ 'การไม่รู้อะไรเลย' และ 'การรู้มากเกินไป'
  • แฟนคลับชื่อ 'Retina' ได้มาจากการอยากหาคำที่ขึ้นต้นด้วย 'R' และลงท้ายด้วยเสียง 'อ้า'

สวัสดีค่ะทุกคน บทสัมภาษณ์ในวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘หนังหน้าโรง’ ช่องยูทูบที่เริ่มจากศูนย์จนมาถึงตอนนี้ที่มีผู้ติดตามมากว่า 8 แสนคน เป็นช่องที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการ reaction (รับชมและวิจารณ์) ซีรีส์ ภาพยนตร์ MV และอื่น ๆ วันนี้เราได้รับเกียรติจากคุณ ‘เติ้ล เกียรติคุณ บุญเย็น’ หรือ TAMATLE ผู้ก่อตั้งหนังหน้าโรงมาเล่าเรื่องราวให้ฟัง พิเศษขนาดนี้พลาดไม่ได้แล้วนะคะ อรุ่มมม

ก่อนที่จะเริ่มทำยูทูบ คุณเติ้ลเคยเป็นเด็กซิ่วมาก่อน

       ก่อนที่จะมาเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์ดิจิทัล ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คุณเติ้ลเคยเป็นเด็กซิ่วมาก่อน “พี่ไม่อยากให้มองว่ามันเป็นวาระแห่งชาติ หรือเป็นอะไรที่คอขาดบาดตาย เรามีความรู้สึกว่าทุกคนสามารถซิ่วได้ถ้ามันไม่ใช่ชีวิตของเรา ถ้าวันนี้พี่ไม่ซิ่ว พี่ก็อาจจะเป็นคุณครู Influencer คนหนึ่งตามโรงเรียน (หัวเราะ) แต่พี่ซิ่ว ออกมาเพราะว่าวันนั้นพี่ทนไม่ไหว พี่ไม่สามารถที่จะอดทนในเวลานี้เพื่อมีความสุขในอนาคตได้ พี่ต้องการมีความสุขในวินาทีนี้”

       ในประเด็นเรื่องคุณพ่อคุณแม่ คุณเติ้ลบอกว่า ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าเราไม่ได้อยากเกิดมาเพื่อมีความทุกข์ ทุกวินาทีของเรามันจะต้องมีคุณภาพ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจและตัวเราเองก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเส้นทางที่เราเลือกมันไม่มีทางที่จะไม่ดีแน่นอน “เชื่อมั่นในตัวเองมาก ๆ มันต้องจริงจังนะ การตัดสินใจครั้งนี้ เราไม่ได้มีโอกาสซิ่วได้ทุกวัน ถ้าคิดว่ามันดีกับตัวเรามาก ๆ ก็ซิ่วเถอะครับ”

‘หนังหน้าโรง’ มีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘การรู้จักตัวเอง’

       การเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ทำให้คุณเติ้ลได้เรียนรู้การสื่อสารหลายชนิดที่ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์เท่านั้น บวกกับความชอบ ความอยากลองทำยูทูบมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เนื่องจากได้ยินมาว่ายูทูบทำเงินได้ และความสามารถในการสร้างผลงานที่คุณเติ้ลได้มีโอกาสตัดต่อคลิปให้กับช่องยูทูบของคุณแพท ณปภา “เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าตัดต่อประมาณไหน ทำประมาณไหนแล้วคนดูจะชอบ เราคิดว่าเราตัดต่อให้คนอื่นได้ เราตัดต่อให้ Influencer ได้ แล้วทำไมเราถึงไม่สร้าง Personal Branding หรือว่า Branding ของตัวเองขึ้นมา”

ที่มาของชื่อ ‘หนังหน้าโรง’

       “คิดคอนเทนต์นานมากครับ ตอนนั้นกับตอนนี้เราเป็นคนไม่เหมือนกันเลยนะครับ ตอนนั้นเป็นคนพูดหน้ากล้องไม่เก่ง แต่พูดหลังกล้องได้อยู่นะ เราก็เลยคิดว่างั้นทำคอนเทนต์ที่เราไม่ต้องคิดใหม่ตลอดเวลา หรือต้องพยายามมากเกินไป เพราะว่าถ้าพยายามมากเกินไปเราจะไม่ได้ทำ

       อยากทำคอนเทนต์ที่มันทำประจำได้เลยทุกสัปดาห์ ก็เลยทำคอนเทนต์เกี่ยวกับหนังครับเพราะมันเข้าทุกสัปดาห์ ให้หนังเป็นตัวกำหนดทิศทางคอนเทนต์ ก็เลยพากลุ่มเพื่อนที่อยู่ปี 4 ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปตามสายงานต่าง ๆ มารวมกันครั้งสุดท้ายเพื่อมาทำยูทูบ ก็เลยพาเพื่อน ๆ ไปดูหนังหน้าโรง เป็นที่มาของชื่อช่องนี้”

“ไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ ที่ทำอยู่ตอนนี้ได้เพราะยังมีคนดู”

       คุณเติ้ลเล่าว่า เป้าหมายในการทำช่องช่วงแรก ๆ คือ ต้องการสื่อสารบางอย่างไปกับคนดูและต้องการเรียนรู้การทำงานของระบบการสร้างรายได้ของยูทูบเพียงเท่านั้น “มันเป็นช่วงเนิร์ด ๆ ช่วงหนึ่งที่เราแค่อยากรู้ว่าระบบข้างในมันเป็นยังไงนะ แค่นั้นเลย เราก็เลยตั้งใจทำ ทำให้มันถึง ทำให้มันถึง แต่ความตั้งใจของเราครั้งนั้นมันเป็นผลดีที่ทำให้เราได้มากกว่านั้น”

       “พอมาเป็นเป้าหมายช่วงท้าย ๆ อันนี้ตอบยากเหมือนกัน ถ้าให้คิดตอนนี้ได้เลย ที่ทำอยู่ตอนนี้เพราะยังมีคนดูอยู่ ยังมีสิ่งที่อยากทำเพื่อคนดูอยู่ ยังมีสิ่งที่อยากทำเพื่อตัวเองอยู่ มันก็ถือเป็นช่องทางที่เราโอเคมากที่สุดที่จะทำมาหากิน ทำเพื่ออาชีพ ทำเพื่อเพื่อนร่วมงาน”

คลิปไหนที่คิดว่าทำให้หนังหน้าโรงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ?

       “ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นที่รู้จักแบบวงกว้างเลย คือช่วงที่เรา reaction (ซีรีส์)คั่นกู ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กักตัวช่วงแรกของคนไทย แล้วคนก็จะเล่น TikTok เยอะมาก ด้วยความที่ยูทูบเอาไปลิงก์กับ TikTok ได้ มีคนเอาคลิปเราไปตัดนู่นนั่นนี่เล็ก ๆ ใน TikTok บ้าง คนก็ดูยูทูบมากขึ้นบ้าง บวกกับตัวคอนเทนต์ด้วยที่เขาคนดูเยอะจริง ๆ มันก็เลยทำให้คนดูซีรีส์กับคนดู reaction เยอะ อันนี้ประมาณนะ คนที่ดูซีรีส์ประมาณ 50% ขึ้นไป น่าจะรู้จักเรา”

ความยากอยู่ที่ ‘การไม่รู้อะไรเลย’ และ ‘การรู้มากเกินไป’

       คุณเติ้ลเล่าว่า ช่วงแรกของการเริ่มทำช่อง คือ ความไม่รู้ ทำไปแล้วไม่รู้ว่าจะได้อะไร แต่มันก็มีความสนุกเจือปนอยู่ในความยาก “ช่วงที่เราทำ 10 คลิปแรก เราลงทุนทำกันไปโดยที่ view ก็ไม่มี แต่เรามีความเชื่อบางอย่างว่าสักวันหนึ่งมันจะต้องปัง มันเหมือนเรามองเห็นภาพนั้น

       ช่วงหลัง ความยากเกิดจากการรู้มากเกินไป “อันนั้นก็อยากทำ อันนี้ก็อยากทำ คอมเมนต์ก็เยอะ ความต้องการของคนในทีมก็มี ความต้องการของตัวเองก็มี ความต้องการของลูกค้าก็มี ความต้องการของสังคมก็มี ความต้องการมันเยอะไปหมดเลย พอเรารู้เยอะเกินไปแล้ว เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างที่จะพังแล้วก็ไม่สนุกในบางครั้ง เยอะมากก็จัดการยากโดยเฉพาะเรื่องเวลาแล้วก็ความรู้สึกของตัวเอง”

 เอกลักษณ์ และ ‘ความเป็นหนังหน้าโรง’

       “ทุกวันนี้เรามีความรู้สึกว่ามันเริ่มที่จะคล้าย ที่จะเหมือนกัน แต่เราเชื่อว่าความเป็นหนังหน้าโรงมันยังคงหลงเหลืออยู่ เราไม่กล้าบอกว่าช่องเรามีเอกลักษณ์ของตัวเองมากที่สุด แต่เราแค่รู้สึกว่า ถ้าคนดูช่องเรา เขาน่าจะรู้ว่าทำไมเขาถึงยังอยากดูช่องเรากันต่อ”

       “เราเชื่อว่าหนังหน้าโรงคือกลุ่มคนดูทั่วไปที่มีความลุ่มหลง มี Passion ต่อสิ่งที่กำลังรับชมอยู่ และเมื่อดูไปแล้วก็พูดถึงสิ่งที่กำลังรับชมอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็มอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับคนที่มาดู reaction ของเรา เป็นสิ่งที่เราสามารถแชร์กันได้ เป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าถึงกันได้ง่าย”

       “เราอยากแค่เป็นเพื่อนที่นั่งดูซีรีส์กับใครสักคนหนึ่ง สักที่หนึ่งบนโลกใบนี้แค่นั้นพอ”

มีแฟนคลับชื่อว่า ‘Retina’

       “เราอยากได้ตัว R เราตั้งต้นจากการการได้ตัว R มาก่อน เพราะว่าช่องเราเป็นช่อง Reaction Recap Review เราก็อยากให้แฟนเราขึ้นต้นด้วยตัว R แล้วเราก็อยากได้เอเนอร์จี้ที่มันลงท้ายด้วย ‘อ้า’ ลงท้ายด้วยสระอา ก็เลยได้คำว่า Retina มา เพราะมันคือม่านตา มันเกี่ยวกับดวงตา เรามีความรู้สึกว่าคนดูเราเขาก็ใช้ตากันเยอะ ตาก็เป็นอวัยวะสำคัญเหมือนกัน แล้วเราเองด้วยที่ใช้ Retina ทุกวันในการที่จะดูสิ่งต่าง ๆ แล้วมันก็มีความเอเนอร์จี้แบบว่า Retina! (เสียงสูง)”

เคยรู้สึกนอยด์เพราะคอมเมนต์ที่ไม่ดี เลยแก้ด้วยการมองให้เห็นถึงแก่นของสาร

       คุณเติ้ลบอกว่าตัวเองเป็นคนที่ Introvert มาก ๆ ไม่ค่อยเข้าสังคมหรือเจอผู้คน แต่แล้ววันหนึ่งที่มีคนให้ความสนใจ เริ่มมีคอมเมนต์มากขึ้น เลยทำให้บางช่วงคุณเติ้ลรู้สึก shock “มันก็จะมีคอมเมนต์ หรือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามา ทั้งดีและไม่ดี ถ้าเป็นคอมเมนต์ดีมันก็ดีไป แบบว่าแนะนำกันดี ๆ อะไรอย่างนี้นะ แบบว่าวิจารณ์ แต่ถ้าเป็น hate speech เราเจอช่วงแรกเราบอกเลยว่าเรานอยด์หนักมาก รู้สึกซึมเศร้า รู้สึกไม่อยากทำ”

โดยมีวิธีจัดการกับความรู้สึก คือ ให้พยายามมองที่จุดประสงค์ของการสื่อสาร มองเข้าไปให้ได้ว่าแก่นของเรื่องที่เขาอยากจะบอกคืออะไรกันแน่ “ถ้าแก่นสารตรงนั้นมันมีประโยชน์กับเรา เราไม่ควรที่จะนอยด์ เราไม่ควรที่จะเสียใจ เราควรที่จะมองหาประโยชน์จากสิ่งที่มันทำร้ายเราแบบนั้นให้ได้” แต่ถ้าเราค้นหาเหตุผลในสิ่งที่เขาคอมเมนต์มาแล้วพบว่าเหตุผลมันไร้สาระ เราก็ไม่ควรที่จะเก็บมาใส่ใจ นอกจากนี้คุณเติ้ลยังมีการใช้โทรศัพท์ให้น้อยลง ทำ Social Detox

 รู้สึกว่าสังคมควรมี ‘Digital Empathy’

      Digital Empathy “เราว่าเป็นศัพท์ที่เด็ก ๆ หรือว่าทุกคนจะต้องให้ความสนใจ มันเป็นสกิลเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจกันทางดิจิทัล คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทุกวันนี้เราเอาชีวิตเราทั้งหมดลงไปอยู่บนโลกออนไลน์ เราก็ควรที่จะมีมารยาททางสังคมด้วย ก่อนที่จะพิมพ์อะไรลงไป ก่อนที่จะทำอะไรลงไป เราลองคิดว่าถ้าเราเจอคำนี้เราจะรู้สึกยังไง ถ้าเราเป็นเขาเราจะรู้สึกยังไง คิดให้มันเยอะ ๆ ก่อน ถ้าพิมพ์หรือทำอะไรไปแล้วมันส่งผลไม่ดี ก็อย่าทำเลยดีกว่า อยากให้มีสติมากขึ้นในการใช้ social media”

ความคิดเห็นในฐานะที่เป็นคนดูและวิจารณ์ ในประเด็นการทำซีรีส์วายเพื่อขายกระแสคู่จิ้น

       คุณเติ้ลเล่าว่ามีซีรีส์ที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิด แล้วก็มีซีรีส์ที่สนับสนุนและให้ประโยชน์กับคอมมิวนิตี้ LGBTQIA2S+ โดยในช่วงแรกคุณเติ้ลมองว่าซีรีส์วายกับ LGBTQIA2S+ คือคนละส่วนกัน เพราะไม่รู้สึกว่าชีวิตของตนเองเหมือนในซีรีส์เลยแม้แต่น้อย แต่พอเริ่มทำคลิปวิจารณ์และรับชมซีรีส์มากขึ้นหลายเรื่อง “ณ วันนี้พี่รู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกันไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง อย่างน้อยซีรีส์วายได้นำเอาอัตลักษณ์ของความเป็น LGBTQ มาอยู่ใน form ของซีรีส์ มาอยู่ในตัวละครหลัก แค่นี้พี่ก็รู้สึกว่ามันปฏิเสธไม่ได้แล้วว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน”

       “ซีรีส์วายในยุคนี้ควรจะนำเสนอออกมายังไงก็ได้ให้ไม่ทำลาย LGBTQ ไม่สร้างความเข้าใจผิด ๆ ว่า LGBTQ จะเป็นแบบไหนหรือว่ากดทับกัน ซีรีส์วายควรจะต้องระมัดระวังในเรื่องนี้มากขึ้นในปัจจุบัน เข้าใจว่าเรื่องแต่ละเรื่องเขาก็มีเป้าหมาย มีบทที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นซีรีส์วายที่จะสนับสนุน LGBTQ ทุกตอนทุกเรื่อง แต่ว่าอย่างน้อยแค่ไม่สร้างความเข้าใจผิดก็พอ เพราะว่ามันมีคนเจ็บปวดจริง ๆ นะ” และคุณเติ้ลยังบอกต่ออีกว่า ควรต้องหาตรงกลางให้ได้ระหว่างซีรีส์วายกับ LGBTQIA2S+     

ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำซีรีส์ต้องเข้าใจ LGBTQIA2S+ จริง ๆ

       “ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ทีมงาน ผู้กำกับ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง นายทุน อุตสาหกรรม ทุกคนจะต้องเรียนรู้ว่า LGBTQ คืออะไร ความหลากหลายมีอะไรบ้าง เขาต้องการอะไร เพราะว่าถ้าคุณไม่รู้ ทำตัว Ignorant (เพิกเฉย) มิหนำซ้ำ คุณมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชุมชนเราด้วย มันพังแน่นอนและมันไม่มีทางที่จะเกิดการยอมรับได้เลย ในเมื่อคุณใช้อัตลักษณ์เราในการทำมาหากินมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ขนาดนี้แต่คุณไม่เข้าใจอะไรพวกเราเลย มันก็เป็นสิ่งที่น่าเสียใจนะ”

สำหรับคนที่ลังเล/กำลังท้อแท้กับการทำยูทูบ

       “เติ้ลเองก็เริ่มต้นจากการที่มันไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อ แต่เติ้ลมีความเชื่อว่าสักวันมันจะต้องปัง เติ้ลก็ทำอย่างเดียวเลย ทำแล้วดู ดูแล้วให้รู้ว่ามันดีขึ้นไหมหรือว่ามันจะยังไง แล้วมันดีขึ้นได้อย่างไร ถ้ามันดีขึ้นทำแบบนั้น ทำให้มันดีขึ้นมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นทำไปก่อนครับ ทำไปเยอะๆ ศึกษาเยอะๆ แล้วก็รู้ตัวเองเยอะ ๆ ว่าตัวเองมีอะไรดี เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังอยากทำอะไรเป็นของตัวเองเป็นชิ้นเป็นอัน ขอให้มันประสบความสำเร็จนะครับ”

ถึงแฟนคลับที่ติดตามหนังหน้าโรง

       “ขอบคุณมากเลยครับที่เอ็นดูเรา ที่ให้โอกาสเราได้เข้าไปเป็นเพื่อนดูซีรีส์ ดูหนัง ดู MV แล้วก็ได้แชร์สิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน เติ้ลในวันที่คุณรู้จักวันแรกกับเติ้ลในวันนี้ก็คือเติ้ลคนเดิม เติ้ลที่อยากเป็นเพื่อนกับทุกคน อยากรู้จักกับทุกคน ขอบคุณที่เข้าใจกัน (หัวเราะ) ยิ่งรู้จักก็อาจจะมีบ้างแหละที่มีน้อยใจกันเกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังกลับมาแวะเวียนดูเราบ้าง ในอนาคตก็อยากจะให้อยู่ด้วยกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะเติ้ลก็ไม่น่าจะเลิกง่าย ๆ ทุกคนก็ห้ามเลิกง่าย ๆ นะครับ (หัวเราะ)”

 

โดยสามารถติดตามหนังหน้าโรงได้ที่ YouTube: หนังหน้าโรง, Facebook: หนังหน้าโรง, Twitter: @nungnarong, และ Instagram: @nungnarongchannel2019

และสามารถติดตามคุณเติ้ล หนังหน้าโรงได้ที่ YouTube: TAMATLE (งานนี้คุณเติ้ลแอบกระซิบมาว่าอย่าลืมกดไลก์ กดติดตาม และกดกระดิ่งให้กับหนังหน้าโรงด้วยนะคะ)

พี่ณัชชา
พี่ณัชชา - Columnist นักเขียนฝึกหัดใกล้จะเรียนจบที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น