ทำความรู้จักอาชีพดำน้ำกู้ภัย…ความเสี่ยงภัยที่มาพร้อมกับใจที่อยากช่วยเหลือ

Spoil

  • การดำน้ำกู้ภัยแตกต่างจากการดำน้ำเพื่อความสันทนาการ เพราะมองไม่เห็นทัศนวิสัยใต้น้ำจึงต้องใช้เชือกในการสื่อสารระหว่างคนด้านบนกับคนที่อยู่ด้านล่าง
  • พบเห็นเหตุคนตกน้ำโทรแจ้ง 191 หรือ 1669  พร้อมแจ้งว่าสูญหายไปบริเวณไหน ระยะเวลานานเท่าใด
  • เมื่อเราตกน้ำหรือพบเห็นคนตกน้ำให้มีสติและใช้หลักการ ตะโกน โยน ยื่น

สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D.com ทุกคนนะคะ จากข่าวคุณแตงโม นิดา พลัดตกแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้คนไทยทุกคนต่างตกใจและเกิดกระแสสังคมขึ้นหลายประเด็น อีกหนึ่งประเด็นที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นคือ พี่ๆ อาสาดำน้ำกู้ภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง วันนี้พี่ออมเลยถือโอกาสเชิญพี่มูลนิธิดำน้ำกู้ภัยมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องลักษณะอาชีพ การทำงานรวมไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางน้ำด้วยค่ะ

พี่ออมได้รับเกียรติจาก พี่เติ้ล กิตติพจน์ ศุภมาตรา อายุ 46 ปี ปัจจุบันเป็นครูสอนดำน้ำสากลและเป็นอาสาสมัครดำน้ำกู้ภัยประจำ อาสาสมัครภาคประชาชน ใจถึงใจคนไทยไม่ทิ้งกัน มาให้ความรู้กับเราในวันนี้ค่ะ 

สาเหตุที่มาทำอาชีพนี้

พี่เติ้ลกล่าวว่า “ก่อนที่จะมาเป็นอาสาสมัครดำน้ำกู้ภัย เป็นอาสาสมัครที่ช่วยเหลืออุบัติเหตุบนท้องถนนมาก่อน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์โป๊ะล่ม ที่ท่าเรือพรานนก ศิริราช (พ.ศ. 2538) มีพี่ที่เป็นกู้ภัยด้วยกันประสบเหตุโป๊ะล่มในครั้งนั้นด้วย พี่ท่านนั้นเลยโทรตามบรรดาอาสากู้ภัยให้ไปช่วยเหตุ ผมก็เป็นหนึ่งในกู้ภัยที่ไปช่วยในเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ว่าในตอนนั้นเรายังไม่ได้เป็นดำน้ำกู้ภัย ก็เลยได้แค่ช่วยหยิบจับอุปกรณ์ ส่งต่อผู้ประสบเหตุเท่านั้น เลยเกิดเป็นแรงผลักดันว่า เราอยากทำได้แบบนั้นบ้าง อยากลงไปดำน้ำช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงตั้งใจลงเรียนหลักสูตรสากลของการดำน้ำกู้ภัย และเพื่อเป็นการพัฒนาตนเองด้วยจึงเรียนเรื่องการดำน้ำกู้ภัยต่อมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นครูสอนดำน้ำกู้ภัยสากลในปัจจุบัน”   โดยพี่เติ้ลบอกว่า “ตั้งใจว่าพอเรามาเป็นครู ก็ต้องการจะสอนวิชาการดำน้ำให้กับกู้ภัยอย่างถูกต้องมากที่สุด” 

 พี่เติ้ล กิตติพจน์ ศุภมาตรา  (Facebook: เติ้ล ชุดปฏิบัติการทางน้ำ)
 พี่เติ้ล กิตติพจน์ ศุภมาตรา  (Facebook: เติ้ล ชุดปฏิบัติการทางน้ำ)

อุปสรรคและความท้าทายในการทำอาชีพนี้

“ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า การดำน้ำกู้ภัยไม่เหมือนการดำน้ำสันทนาการเวลาไปท่องเที่ยว เพราะดำน้ำท่องเที่ยว เราสามารถมองเห็นทัศนียภาพใต้น้ำได้อย่างชัดเจน แต่การดำน้ำกู้ภัยนั่นหมายถึงเราต้องลงไปดำน้ำตามแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นน้ำขุ่น ทัศนวิสัยใต้น้ำทำให้เรามองอะไรแทบไม่เห็นเลย (ระยะการมองเห็นน้อยมาก) จึงต้องใช้ เชือก อย่างที่ได้เห็นกัน กระตุกเพื่อส่งสัญญาณระหว่างคนด้านบนกับคนที่ลงไปดำน้ำ โดยลักษณะของการดำน้ำกู้ภัยในแต่ละมูลนิธิจะมีความแตกต่างกัน อาสากู้ภัยที่ผมทำอยู่จะใช้วิธีการต่อตัว นั่นคือดำลงไปถึงพื้นแล้วนอนราบเกาะขากันเป็นแนวยาวหน้ากระดาน และกวาดหาไปเรื่อยๆ ถ้าหากเลยพื้นที่ที่ต้องการหาคนด้านบนก็จะกระตุกเชือกส่งสัญญาณบอกเจ้าหน้าที่ที่ลงไปงมว่าเลยแล้วนะต้องถอยหลัง หรือขึ้นจากน้ำ ประมาณนี้ครับ” 

ภาพจาก Facebook: ดำน้ำกู้ภัยประเทศไทย Thailand Rescue Diver
ภาพจาก Facebook: ดำน้ำกู้ภัยประเทศไทย Thailand Rescue Diver

 

“อีกหนึ่งความท้าทายของอาชีพดำน้ำกู้ภัยคือความแตกต่างของการไปงมในแต่ละที่ สถานที่เกิดเหตุทางน้ำมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนอง คลอง บึง แม่น้ำ หรือแม้กระทั่งน้ำตก การลงไปงมผู้ประสบเหตุที่น้ำตกจะค่อนข้างอันตราย และมักจะประสบความสำเร็จในการหาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากลักษณะของร่องหินและกระแสน้ำที่เชี่ยว เราไม่สามารถดำน้ำยาวไปแบบที่เราดำในแม่น้ำได้ น้ำตกมีแค่ช่วงแอ่งที่เราคาดการณ์ไว้เราก็จะงมได้แค่นั้น การส่งสัญญาณกระตุกเชือกระหว่างคนด้านบนกับคนด้านล่างจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าอาสาดำน้ำหลุดออกมาจากแนวร่องหิน ก็อาจจะตกหรือไหลไปตามกระแสน้ำได้”

“นอกจากนี้ อาสาดำน้ำกู้ภัยยังต้องประเมินความสกปรกของน้ำเพื่อคัดเลือกเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่ที่ลงไปงมมีแผลในร่างกายตรงไหนไหม เพราะอาจถูกสิ่งสกปรกและเสี่ยงติดเชื้อได้ อย่างในต่างประเทศมีชุด Dry suit เป็นชุดดำน้ำใส่เข้าไปแล้วทำให้น้ำเข้าไ่ม่ได้ร่างกายก็จะไม่เปียกน้ำ แต่ชุดนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยเพราะมีราคาสูงมากและทำงานลำบาก ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ อาสาก็เหมือนทำด้วยใจ แต่ร่างกายอาจมีผลกระทบในระยะยาว เราก็ไม่อาจทราบได้ครับ” พี่เติ้ลกล่าว

พี่เติ้ลเสริมว่า “โดยปกติแล้วคนที่จมน้ำ ร่างกายจะจมลงสู่ก้นแม่น้ำทันที พอเวลาผ่านไปแก๊สในร่างกายก็จะค่อยๆ ปล่อยออกมา ทำให้ร่างค่อยๆ ลอยขึ้นมาเรื่อยๆ จนโผล่และลอยขึ้นมากลางน้ำ” 

พี่เติ้ลยกตัวอย่างเคสการตกแม่น้ำเจ้าพระยา “อธิบายก่อนว่ากระแสน้ำเจ้าพระยาจะเป็นกระแสน้ำที่ไปและกลับ ประกอบกับน้ำขึ้นน้ำลง ดังนั้นเมื่อร่างกายตกลงสู่น้ำหากจมน้ำเสียชีวิต ร่างจะกลับมาขึ้นบริเวณที่เดิมโดยใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง และเมื่อร่างลอยขึ้นมากลางแม่น้ำก็จะขยับไปเรื่อยๆ ตามทิศทางของกระแสน้ำ”

เมื่อเจอคนตกน้ำต้องทำอย่างไร?

“ถ้าเราเห็นคนน้ำ ให้โทรแจ้ง 191 หรือ 1669 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานทางวิทยุกับมูลนิธิที่อยู่ใกล้เคียงจุดเกิดเหตุมากที่สุดเพื่อจัดกำลังอาสากู้ภัยลงพื้นที่ไปช่วย ซึ่งการติดต่อกันตรงนี้ใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับระยะทางการเดินทางไปถึงสถานที่เกิดเหตุว่าใกล้/ไกลขนาดไหนครับ”

พี่เติ้ลอธิบายต่อว่า “เมื่ออาสากู้ภัยไปถึงที่เกิดเหตุ ผู้ที่แจ้งเหตุจะต้องอยู่ที่เกิดเหตุเพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ กับอาสากู้ภัยให้ชัดเจนว่า สูญหายไปบริเวณไหน ระยะเวลานานเท่าใด ระยะเวลาที่แจ้งก็สำคัญมาก หากแจ้งไวจะค้นหาได้เร็วสามารถงมเจอได้ไว อัตราการรอดชีวิตย่อมมีมากกว่า” 

นอกจากนี้ พี่เติ้ลเล่าถึงประสบการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันก่อน (2 มีนาคม 2565) ให้พี่ออมฟังด้วยค่ะ โดยพี่เติ้ลและทีมดำน้ำกู้ภัยไปถ่ายสกู๊ปสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ระหว่างถ่ายทำก็พบคนสติไม่ดีกระโดดสะพานแล้วว่ายไปกลางแม่น้ำ บรรดาพี่ๆ อาสาจึงต้องรีบใส่ชูชีพและอุปกรณ์ว่ายน้ำตามไปช่วยได้อย่างทันท่วงที พี่ออมฟังแล้วตกใจมากเลยค่ะ รู้เลยว่าเหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาจริงๆ สปิริตของพี่ๆ กู้ภัยก็คือเต็มร้อยเลยล่ะค่ะ!

ซึ่งเหตุการณ์การจมน้ำ-กระโดดน้ำเกิดขึ้นทุกวัน คนไทยจะเสียชีวิตด้วยการกระโดดน้ำฆ่าตัวตายกันส่วนใหญ่ ส่วนอุบัติเหตุทางน้ำเช่น เรือล่ม จะมีค่อนข้างน้อยค่ะ พี่ออมถามเสริมว่าอย่างช่วงหน้าร้อนสถิติคนจมน้ำจะเยอะกว่าช่วงอื่นๆ ไหม? ได้คำตอบที่น่าสนใจเลยค่ะ พบว่าจริงๆ แล้ว หน้าร้อนสถิติคนตกน้ำหรือจมน้ำไม่ได้เยอะกว่าแต่กลับเป็นช่วงหน้าหนาวแทนเพราะมีโอกาสเกิดตะคริวได้มากกว่าค่ะ 

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com 

 

การช่วยเหลือตนเองเมื่อตกน้ำ หรือพบเห็นคนตกน้ำเราต้องทำอย่างไร?

พี่เติ้ลกล่าวว่า :

“ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่สติเราครับ ขึ้นอยู่ที่สติเราจริงๆ อยู่ในเรือต้องมีชูชีพ ถ้าเราแก้ปัญหาที่ต้นเหตุใส่ชูชีพทุกครั้งทุกอย่างก็จะไม่เกิดขึ้น การที่อาสากู้ภัยไปช่วยก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปแล้ว ซึ่งหลายครั้งมันไม่ทัน สมมติลงน้ำนั่งเรือหากตกน้ำลงไปแล้วใส่ชูชีพ ก็ยังสามารถลอยได้อยู่ไม่จมลงไปเลย เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกผมรณรงค์กันมาหลายปีมากๆ อย่างพวกผมไปช่วยน้ำท่วม ใครไม่ใส่ชูชีพผมไม่ให้ขึ้นเรือเลยเด็ดขาด สมมติเราไปเจอเพื่อนอาสากู้ภัยถ้าอยากจะมาด้วย แต่ไม่มีชูชีพเราก็ไม่ให้ขึ้น อันนี้เป็นกฎของพวกเราเลย”

ตามท่าเรือที่โป๊ะจะมีห่วงยางและเชือกแดงวางอยู่ที่ท่าเรือตลอด เวลาเราโยนห่วงยางพลาดก็จะใช้เชือกดึงกลับมา แต่ปัจจุบันเจ้าท่ามักจะบ่นว่า 'อุปกรณ์ช่วยชีวิตเหล่านี้มักจะหายตลอด' หากเกิดเหตุการณ์แล้วโยนห่วงยางไปที่ผู้ประสบเหตุ ถ้าคนที่เข้าไปช่วยเหลือโยนไม่แม่นหรือไม่ถึงตัวผู้ที่ตกน้ำ หากไม่มีเชือกดึงห่วงยางกลับก็เท่ากับว่าการช่วยครั้งนั้นสูญเปล่าไปเลย คนตกน้ำถ้าเขาไม่หมดสติ กว่าเขาจะจมลงไปก็มีเวลาเป็นนาทีในการช่วยเหลือตัวเองก่อนจะจมครับ” 

ตะโกน โยน ยื่น

“เวลาตกน้ำเราต้องควบคุมสติเราให้ได้ สมมติเราว่ายน้ำแล้วเป็นตะคริว ต้องพยายามเข้าฝั่งหรือตะโกนร้องขอความช่วยเหลือให้ได้ มันจะเข้ามาที่หลักการ ตะโกน โยน ยื่น ซึ่งจริงๆ หลักสูตรเหล่านี้น่าจะบรรจุในโรงเรียนได้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่เด็ก มันช่วยชีวิตได้ทุกอย่าง การตะโกนเป็นการเรียกสติของคนจมน้ำและตะโกนบอกคนรอบข้างว่ามีคนตกน้ำ เพื่อขอความช่วยเหลือ ถ้าเราเห็นคนตกน้ำแล้วไปช่วยแต่ไม่ยอมตะโกนคนอื่นก็อาจจะไม่เห็นและไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ และการตะโกนเมื่อเห็นคนตกน้ำก็ยังเป็นการป้องกันตัวเองได้ด้วยว่า เราเป็นคนมาช่วย ไม่ได้เป็นคนผลักหรือทำให้เขาจมน้ำแต่อย่างใด ถ้าเรามีอุปกรณ์เราก็โยน หรือ ยื่น ให้เขาระหว่างที่เข้าไปช่วยเขา เราก็ตะโกนไปด้วยว่า ‘โทร 191 หรือ 1669 ให้หน่อย โทรหน่อย’  แบบนี้ก็ได้ครับ ” 

พี่เติ้ลกำชับทิ้งท้ายว่า  “กิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับทางน้ำ เขามีกฎของเขาอยู่ เราก็ต้องปฏิบัติตาม ลงเรือต้องมีสติมองเลยว่าเสื้อชูชีพอยู่ทางไหน ดูลักษณะเรือเป็นยังไง มีทางเข้า-ออกตรงไหนแค่นั้นเอง คิดไว้ก่อนล่วงหน้าเรื่องความปลอดภัยทุกอย่าง”

ภาพจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th
ภาพจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th

 

การสัมภาษณ์ในวันนี้ทำให้พี่ออมได้รับความรู้หลายอย่างจากพี่เติ้ลรวมไปถึงสิ่งที่พี่ๆ อาสาดำน้ำกู้ภัยฝากมานั่นก็คือ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุใส่ชูชีพเมื่อลงเรือ มีสติ และเมื่อตกน้ำหรือพบเห็นอุบัติเหตุทางน้ำอย่าลืมหลักการ ตะโกน โยน ยื่น ใครที่ได้อ่านบทความนี้แล้วช่วยแชร์ให้เพื่อนๆ หรือคนรอบข้างกันด้วยนะคะ ช่วยกันส่งต่อสารจากพี่ๆ ดำน้ำกู้ภัยให้กับคนที่เรารักเพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุและความสูญเสียค่ะ :) 

 

 

พี่ออม
พี่ออม - Columnist สาวตาหยี ผู้คลั่งไคล้ในน้องหมา เฮฮา รักธรรมชาติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น