คุณหมอช่วยด้วย…อยากไปพบจิตแพทย์แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ!

Spoil

  • หากรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ไม่เหมือนเดิม ไม่สุขสบายเหมือนที่เคยเป็นก็สามารถมาพบจิตแพทย์ได้แล้ว
  • แม้มุมมองและองค์ความรู้ของพ่อแม่กับรุ่นเราจะต่างกัน แต่หากพวกท่านได้รับความรู้ที่ถูกต้อง  พ่อแม่ก็จะเปิดใจยอมรับนะ
  • Mental health เป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเรา แม้จะป่วยก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมีอคติ  ช่วยกันดูแลจิตใจของตัวเองและคนรอบข้างกันเถอะ!

“ช่วงนี้รู้สึกไม่สบายใจเลย ดิ่งๆ นอยด์ๆ  เป็นอะไรก็ไม่รู้...อยากไปหาจิตแพทย์จัง แต่จะบอกพ่อแม่ยังไงให้เขาเข้าใจดีละ”    มีน้องๆ คนไหนกำลังเจอกับปัญหานี้อยู่ไหมคะ  รู้สึกกังวลใจไม่รู้จะบอกพ่อแม่ผู้ปกครองยังไงดี...กลัวบอกไปแล้วจะยิ่งไม่เข้าใจกัน หาทางออกไม่ได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด  บทความนี้ช่วยน้องๆ ได้แน่นอนค่ะ! 

วันนี้พี่ออมถือโอกาสเชิญ คุณหมอวอป นพ.ณัฎฐชัย รำเพย ปัจจุบันเป็นเจ้าของคลินิกจิตเวช Smind Mental Health Clinic ที่จ. ขอนแก่น  มาพูดคุยกันในเรื่องของการพบจิตแพทย์ สร้างความเข้าใจในเรื่องของสุขภาพจิต (Mental health) และโรคที่เกี่ยวกับจิตเวชกันค่ะ 

หมอวอป  นพ.ณัฎฐชัย รำเพย เจ้าของคลินิกจิตเวช Smind Mental Health Clinic
หมอวอป  นพ.ณัฎฐชัย รำเพย เจ้าของคลินิกจิตเวช Smind Mental Health Clinic

อาการแบบไหนจึงควรไปพบจิตแพทย์? 

หมอวอปกล่าวว่า “จริงๆ ก็คือทุกอาการนะ ขอแค่เรารู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ไม่เหมือนเดิม ไม่สุขสบายเหมือนที่เคยเป็น ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเป็นโรคทางจิตเวชหรือซึมเศร้า แค่รู้สึกว่าเรามีอะไรอยู่ในใจก็สามารถมาพบจิตแพทย์ได้ครับ เพราะจิตแพทย์จะช่วยเราดูทุกเรื่องที่เป็นปัญหาทางใจและทางสังคม”

“แต่ถ้าให้ไฮไลต์ เน้น! ว่ายิ่งควรต้องไปพบจิตแพทย์เลยเนี่ย คือคนกลุ่มที่เริ่มสงสัยว่ามีอาการทางจิตเวช เช่น สังเกตได้ว่าเดี๋ยวนี้ความสุขของเราน้อยลงไปมาก มันไม่เหมือนเดิม ไม่อยากไปเที่ยวเล่น ไปคุยกับเพื่อน ดูหนังฟังเพลงไม่สนุกเหมือนเดิม หรือบางทีที่เรารู้สึกว่าคิดมาก หยุดคิดไม่ได้ กังวลมากๆ อะไรบางอย่างที่มันรู้สึก extreme (สุดโต่ง) ขึ้นมาในตัวเรา เราอาจจะยังวินิจฉัยตัวเราเองไม่ได้แต่เราสัมผัสความผิดปกติเหล่านี้ในตัวเราได้ให้รีบมาพบจิตแพทย์ครับ” 

การไปพบจิตแพทย์น่ากลัวไหม...บรรยากาศเป็นยังไง? 

หมอวอปยิ้มพร้อมตอบว่า “บรรยากาศปกติเหมือนไปหาหมอทั่วไปเลยครับ คือมีห้องตรวจ มีโต๊ะ ไม่ต่างกันเลย ต่างกันแค่ว่าคุณหมอที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราจะเป็นหมอที่ชอบรับฟังมากเป็นพิเศษ เข้าใจเรามากเป็นพิเศษและไม่ตัดสินเรา เรื่องที่คุณว่าไร้สาระจิตแพทย์ยังว่าไม่ไร้สาระ...มันมีความหมายเราอยากฟัง จิตแพทย์เป็นสายนั่งฟังอยู่แล้วครับ  บรรยากาศโดยรวมผ่อนคลายกว่าการไปพบหมอแผนกอื่นซะอีก ” 

“ยิ่งไปกว่านั้นนะ บางที่มีการตกแต่งห้องตรวจ มีรูปภาพ เปิดเสียงเพลงคลอเบาๆ มีน้ำชาเสิร์ฟ นั่งบนโซฟาคนละตัวพูดคุยกับหมอเหมือนเราไปคาเฟ่เลยก็มี แบบที่เราเคยเห็นในหนังฝรั่ง เห็นไหมครับ! ยิ่งไม่น่ากลัวเข้าไปใหญ่เลย”   

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

แล้วเราจะพูดกับพ่อแม่อย่างไรดี?  

เมื่อพี่ออมถามคุณหมอวอปว่า  คุณหมอเคยได้ยินแนวคิดที่ว่า ‘พ่อแม่คิดว่าลูกที่ไปหาจิตแพทย์ หมายถึงว่าลูกเราจิตไม่ปกติ ฟั่นเฟือนหรือเป็นบ้า’  บ้างไหมคะ?  

คุณหมอตอบทันทีเลยว่า “เยอะครับ! เป็นปัญหาที่เจอกันในหลายๆ คนเลย การนำเสนอเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยาก ดังนั้นการที่ลูกๆ จะนำเสนอไม่สำเร็จเป็นเรื่องที่ไม่ผิดอะไรเลยครับ หลายคนมาหาหมอก็มาปรึกษาเรื่องนี้เหมือนกันว่าจะคุยกับพ่อแม่ยังไงดี บางคนก็ต้องแอบมาหาหมอเองโดยที่ไม่บอกพ่อแม่ ส่วนหนึ่งมันเกิดจากมุมมองและองค์ความรู้ของรุ่นคุณพ่อคุณแม่กับรุ่นเราเนี่ยมันต่างกัน เลยทำให้เขาไม่เข้าใจว่าโรคทางจิตเวชหรือว่าปัญหาทางใจที่จริงแล้วมันเป็นยังไง”  

 คุณหมอกล่าวต่อ  “สิ่งที่ดีคือต้องอธิบาย แต่คำถามคือจะอธิบายให้เขาเข้าใจยังไงล่ะ? ” ที่หมอเจอมามันก็มีอยู่หลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าลูกๆ จะเป็นสไตล์ไหน: 

 “เล่าให้พ่อแม่ฟังเกี่ยวเทรนด์สมัยใหม่”

บอกพวกท่านว่าสมัยนี้การรักษาทางจิตเวชเป็นเรื่องปกติแล้ว จริงๆ คือเราไม่ต้องป่วยเลยก็ได้ เช่น เราจะเข้าสังคมยังไง, จะเรียนหนังสือยังไงให้เก่งขึ้นจิตแพทย์ก็ช่วยแนะนำได้นะ เราอาจจะลองพูดว่า 

  • ‘จริงๆ หนูไม่ได้เป็นอะไรนะ แต่จิตแพทย์เขาแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ได้ ซึ่งนี่ก็เป็นประโยชน์ต่อหนู’ แบบนี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะโอเคแล้วให้มา หากมาหาหมอแล้วไปเจออาการทางจิตเวชเพิ่ม จิตแพทย์ก็สามารถเรียกพ่อแม่เข้ามาคุยได้ หมอจะช่วยอธิบายให้ก็จะยิ่งเข้าใจกันง่ายขึ้นครับ

 “อธิบายในเชิงตัวโรค”

จิตเวช เป็นชื่อที่ถูกเปลี่ยนมาแล้ว ซึ่งจริงๆ มันคือ โรคในสมอง โรคในสมองก็แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ถ้าออกไปทางแขนขาอ่อนแรง-ยกแขนไม่ขึ้นหรือที่เราเรียกว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคกลุ่มนี้จัดเป็นโรคทางระบบประสาท  ถ้าเป็นกลุ่มที่ไปทางอารมณ์-ความคิด-ความเชื่อ-การรับรู้ โรคทางสมองนี้จะถูกตั้งชื่อว่า โรคทางจิตเวช 

 

ลองคิดตามหมอดูนะ...สมมติถ้าเราไปบอกแม่ว่า ‘แม่ หนูเป็นโรคหัวใจ’ แบบนี้คุณแม่ก็จะรีบพาเราไปหาหมอโรคหัวใจเลยถูกไหม ? เช่นเดียวกันโรคทางสมองก็เหมือนกับโรคตับ โรคปอด โรคส่วนอื่นๆ เลย แบบนี้พ่อแม่จะเข้าใจมากขึ้นว่า อ๋อ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอวัยวะในร่างกายนะ  เป็นเรื่องสารเคมีในสมองเฉยๆ ไปรักษา, กินยาให้มันเคลียร์เดี๋ยวก็หาย

  • ‘ถ้าหนูบอกแม่ว่าหนูเป็นโรคหัวใจแม่ก็จะพาหนูไปหาหมอหัวใจ เป็นโรคกระเพาะก็พาหนูไปหาหมอกระเพาะ แล้วถ้าหนูเป็นโรคในสมองจะไม่พาหนูไปหาหมอโรคในสมองหน่อยหรอ?’

 “อีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลเลยคือ การนำเสนอด้วยสื่อ” 

ซึ่งตอนนี้สื่อของกรมสุขภาพจิต, สื่อของหมอหลายๆท่าน รวมไปถึงหมอเองก็กำลังจะทำออกมาเช่นกันครับ ลองนำสื่อเหล่านี้ไปเปิดให้คุณพ่อคุณแม่ดู วิธีนี้ได้ผลหลายครั้งแล้วนะเสิร์ชใน Google จะขึ้นมาเต็มเลย” 

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

มีตัวอย่างเคสที่พ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกไปพบจิตแพทย์ไหมคะ? 

“หมอเคยเจอเคสเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยครับ มาหาหมอ น้องเป็นโรคซึมเศร้าที่ค่อนข้างหนักเลย ซึ่งก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้น้องเป็นซึมเศร้า หมอให้ยาแล้วก็นัดบำบัดครับ แต่ในเคสนี้สิ่งที่ยากเลยคือ น้องเขาเด็ดเดี่ยวมากเพราะคุณพ่อคุณแม่พอทราบว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า พ่อแม่ก็เอายาไปทิ้ง”

“ซึ่งในมุมพ่อแม่ ท่านอาจจะคิดว่า ‘กินทำไม มันยิ่งไปกล่อมประสาทนะ’  บางทีพ่อแม่น้องอาจจะเคยได้ยินมาว่ามีคนกินยาจิตเวชแล้วซึมกว่าเดิม, แย่กว่าเดิมเขาก็กลัวเป็นห่วงครับ ทำให้เคสนี้น้องขาดยาอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยความที่น้องเป็นเด็กรุ่นใหม่ เขาก็แอบมาหาหมอที่โรงพยาบาลอีกเรื่อยๆ พอพ่อแม่รู้ทีนึงก็เอายาไปทิ้งเคสนี้เป็นปัญหาคาราคาซังมากเลย แต่ด้วยความพยายามของตัวผู้ป่วยเอง น้องก็อาการดีขึ้นจากการที่ได้กินยาแล้วก็ได้รับบำบัด”

“พอน้องอาการดีขึ้นแล้ว ถึงจุดๆ นึง หมอเห็นว่า ‘เราต้องทำอะไรสักอย่างมากกว่านี้แล้ว’  หมอก็ขออนุญาตน้องโทรหาคุณแม่น้องเลย พอแนะนำตัวเสร็จสรรพหมอก็เริ่มอธิบายให้คุณแม่ฟัง ไม่น่าเชื่อว่าพอหมออธิบายปุ๊บปล่อยให้คนไข้กลับบ้าน กลับมาอีกทีคุณแม่เขาเข้าใจ เขาสนับสนุนลูก เขาทำตามคำแนะนำดีทุกอย่าง” 

“หลายๆ ครั้ง พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะไม่เข้าใจ แต่ขอแค่มีคนบอกเขา  get เลยครับ แปลว่าหลายๆ ครั้งที่ผู้ปกครองเหมือนจะต่อต้านเพราะเขาไม่รู้...ก็เท่านั้นเอง ตัววัยรุ่นอาจจะก็ไม่กล้าอธิบายหรืออธิบายไม่สุด ทำให้ความคิดของพ่อแม่ก็จะยิ่งเป็นแบบเดิม หากได้รับคำอธิบายที่ถูกต้องผมเชื่อว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่พร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อลูก แต่ว่าเขาจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเขารู้แล้วว่าเขาต้องเปลี่ยนอย่างไรครับ” 

หมอวอปทิ้งท้าย “สังคมไทยไม่มีหรอกครับ เวลาที่หมอโทรหาแล้วตัดสายทิ้ง...แทบไม่มีเลย”

สิ่งที่ควรเข้าใจตนเองในเรื่องของสุขภาพจิต (Mental Health) 

“สุขภาพจิตของเรามีขึ้นมีลงโดยธรรมชาติ จังหวะที่ขึ้นก็เป็นเรื่องปกติ  จังหวะที่ดาวน์ก็เป็นปกติของมนุษย์ครับ หากสังเกตว่าเรามีจังหวะที่ดิ่ง...หมอขอไม่นิยามคำว่าดิ่งให้นะ อะไรก็ได้ที่เรารู้สึกดาวน์ รู้สึกแย่กว่าเดิมเราจะรู้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นน้อยเป็นมากหาคนปรึกษาครับ ไม่รู้จะปรึกษาใครก็มาปรึกษาหมอ ไม่ต้องรอให้ป่วยเป็นโรคจิตเวชก็มาหาหมอได้เสมอครับ เราจะได้ไม่ต้องอยู่คนเดียว”

          “หากเรามีเพื่อนหรือคนรอบข้างที่กำลังเผชิญสภาวะนี้อยู่ ถ้าจะทำให้เพื่อนกล้าเปิดใจได้มากขึ้น เราจะต้องทำให้เขารู้สึกว่า ถ้าเขาพูดไปแล้วจะไม่ดูเป็นตัวประหลาด เด็กรุ่นใหม่สำคัญมากที่จะช่วยขับเคลื่อนเทรนด์นี้ ซึ่งหมอเองก็กำลังพยายามอยู่ครับ หมออยากให้คนทุกคนมองภาวะทางจิตใจ เรื่อง Mental health ตั้งแต่ไม่ป่วยยันป่วยเนี่ยเป็นเรื่องปกติ ธรรมชาติ ป่วยได้ก็หายได้ เหมือนที่เราบอกเพื่อนได้ไงว่าเราเป็นโรคกระเพาะ, เราเป็นหวัดนะ เราไม่เห็นอายเลย...

 

             “ใช้กระแสของเด็กรุ่นใหม่ที่เรามีทำให้ Mental health และ Mental problems เป็นเรื่องปกติ คราวนี้ก็ไม่ต้องมานั่งปิดบังกัน เราจะสามารถใช้ชีวิตได้แบบไม่ถูกตีตรา ไม่ต้องมานั่งหวาดระแวง เวลาไปสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ก็จะง่ายขึ้นด้วยนะครับ”

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

สิ่งที่อยากให้สังคมไทยตระหนักมากขึ้นในเรื่อง Mental Health 

“Mental health เป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเรา แม้จะป่วยก็เป็นเรื่องปกติไม่ใช่เรื่องที่ต้องมีอคติ  มนุษย์เราต้องมีความป่วยไข้เป็นเรื่องธรรมชาติ หมั่น monitor จิตใจว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งของตัวเองและคนใกล้ตัว คอยให้คำปรึกษากัน ถ้านึกอะไรไม่ออกก็มาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญครับ ”

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะน้องๆ  หวังว่าบทความนี้จะช่วยน้องๆ ที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่นะคะ มีใครเคยเจอปัญหานี้บ้าง? มีวิธีการแก้ไขอย่างไรกันคะ เล่าให้พี่ออมและชาว Dek-D.com ฟังหน่อยสิ ส่วนตัวพี่ออมก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมไทยสร้างค่านิยมที่ดีในการไปพบจิตแพทย์ พี่ออมเลยตั้งใจนำเสนอประเด็นนี้ออกมา โรคทางจิตเวชเป็นโรคประเภทหนึ่งอย่างที่คุณหมอวอปบอกว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นได้ก็หายได้ อย่าลืมนะคะเราไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้คนเดียว...ยังมีคนอีกหลายคนที่ยินดีรับฟังเรื่องของเรา โดยเฉพาะจิตแพทย์ค่ะ บรรยากาศการไปหาก็ผ่อนคลายไม่น่ากลัวเลย ไปเล่าเรื่องที่อยู่ในใจให้คุณหมอฟัง อย่าปล่อยให้จิตใจของเราบอบช้ำไปมากกว่านี้เลยนะ :-)

พี่ออม
พี่ออม - Columnist สาวตาหยี ผู้คลั่งไคล้ในน้องหมา เฮฮา รักธรรมชาติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

Meenamaeza Member 6 เม.ย. 65 07:18 น. 1

ช่วงเรียนออนไลน์เรารู้สึกแย่อ่ะอึดอัดไปหมด แม่ก้ไม่ค่อยเข้าใจเราชอบบ่นโน่นนี่เรื่องจุกจิกก้อบ่นไม่ค่อยอยากคุยด้วยเท่าไหร่ ;-;

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด