สอบตก คะแนนไม่ดี! วิธีจัดการตัวเองเมื่อรู้ว่ากำลังจมดิ่งอยู่กับความผิดพลาด

Spoil

  • สมองรับรู้ถึงการกระทำที่ผิดพลาดก่อนตัวเราเองเสียอีก
  • การจมปลักอยู่กับความผิดพลาด จะทำให้การตัดสินใจในปัจจุบันและอนาคตไม่มีประสิทธิภาพ
  • ลองหาบทเรียนที่มีอยู่ในความผิดพลาด  เพื่อก้าวผ่านมันไปได้อย่างเข้มแข็ง
  • การคิดวนเรื่องความผิดพลาดบั่นทอนความสุข  ความมั่นใจ และส่งผลต่อสุขภาพจิต

   ทุกคนคงเคยประสบพบเจอกับความล้มเหลว ความผิดพลาด ไม่ว่าจะงานแย่ สอบตก คะแนนร่วง หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่ผลลัพธ์มันดันไม่ได้ออกมาเป็นอย่างที่เราหวังกันมาอยู่แล้ว และหลายครั้งตัวเราเองก็ดันมัวแต่จมดิ่งอยู่กับความผิดพลาดแบบไม่รู้จบด้วย! วันนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีที่จะทำให้เราสามารถก้าวผ่านความล้มเหลวนั้นกันค่ะ!

สมองตอบสนองต่อความผิดพลาดยังไง?

ภาพจาก kids.frontiersin.org
ภาพจาก kids.frontiersin.org

จากการทดลองที่เป็นการตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทสมอง หรือที่เรียกว่า ‘electroencephalography (EEG)’ ที่สามารถแสดงผลขณะที่เรากำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ผลพบว่า สมองของมนุษย์ไม่เคยหยุดทำงาน แม้แต่เวลาที่เรากำลังหลับ การทดลองนี้ถูกทำพร้อมกับ ‘error-related negativity (ERN)’ หรือการตรวจทำงานของคลื่นสมองเมื่อเกิดเหตุการณ์ด้านลบขึ้น เช่น ความผิดพลาด ซึ่งการแสดงผลจะชี้ให้เห็นการทำงานของสมองได้อย่างรวดเร็วมาก

ผลที่พบคือ ERN นั้นมีการแสดงผลเร็วมาก ชนิดที่ว่าแทบจะทันทีเมื่อเราทำงานผิดพลาดหรือทำให้งานมีปัญหาเลย แต่ในทางกลับกัน เราจะไม่รู้สึกหรือคิดถึงความผิดพลาดนั้นทันทีทันใด เพราะเราจะรู้สึกว่าตัวเองพลาดก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปแล้วชั่วขณะหนึ่ง เป็นเรื่องน่าสนใจที่สมองดันรับรู้ถึงความผิดพลาดนั้นก่อนตัวเราเสียอีก

6 สัญญาณที่บอกว่าเรากำลังจมอยู่กับความล้มเหลว!

  1. คิดในหัวตลอดว่าอยากกลับไปแก้ไขมัน
  2. โทษตัวเอง ก้าวผ่านความผิดพลาดไม่ได้
  3. รู้สึกผิดและคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ดีกว่านั้น
  4. หมดหวังกับอนาคตหรือสิ่งที่จะทำต่อไป
  5. เปรียบเทียบสิ่งที่ทำตอนนี้กับสิ่งที่เคยทำพลาดเสมอ
  6. ไม่มีความมั่นใจในตัวเองอีกต่อไป

ทำไมเราถึงไม่ควรจมอยู่กับความผิดพลาดนั้น?

    จากผลการศึกษาที่จัดทำโดย Journal of Consumer Psychology ระบุไว้ว่า การพะวงหรือจมปลักอยู่กับความผิดพลาด จะส่งผลให้การตัดสินใจของเราในเรื่องปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การจมดิ่งอยู่กับความล้มเหลวไม่สามารถทำให้อนาคตหรือสิ่งที่อยู่ข้างหน้าดีขึ้นได้ สิ่งที่น่าสนใจในผลของการศึกษาครั้งนี้คือ คนเรามักจะคิดถึงความผิดพลาดของตัวเองซ้ำ ๆ จนทำให้ไม่เกิดการพัฒนาที่ดีต่อภาระงานชิ้นต่อไปของเราเอง

    ผู้ทำการศึกษาในครั้งนี้อย่าง ‘Kelly Haws’ ยังได้บอกอีกว่า เราควรที่จะก้าวข้ามผ่านความผิดพลาดในอดีต และเลือกโฟกัสไปที่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตจะดีกว่า เพื่อที่ความผิดพลาดนั้นจะไม่เกิดซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งนั่นอาจมีความรุนแรงกว่าความผิดพลาดครั้งแรกของเราก็เป็นได้

วิธีก้าวข้ามผ่านความผิดพลาด

ภาพจาก www.freepik.com
ภาพจาก www.freepik.com

 ยอมรับให้ได้ก่อน

    หลายครั้งที่เรามัวแต่จมปลักอยู่กับความผิดพลาด ส่วนใหญ่คงเป็นเพราะเราไม่อยากยอมรับว่ามันได้เกิดขึ้นและเราทำพลาดไปแล้วจริง ๆ ถึงแม้การยอมรับความผิดพลาดของตัวเองจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและต้องใช้เวลา แต่หากเราสามารถยอมรับมันได้ เราก็จะสามารถก้ามข้ามผ่านมันไปได้อย่างเข้มแข็ง โดยไม่มีการย้อนกลับไปคิดถึงความผิดพลาดครั้งนั้นอีก

ความผิดพลาดคือบทเรียน

    ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดที่หนัก หรือความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เราควรคิดไว้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือบทเรียนและประสบการณ์ของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ ความผิดพลาดคือสิ่งที่จะทำให้เรารู้จักเรียนรู้และปรับปรุง หากในอนาคตต้องเจอสถานการณ์หรืองานแบบเดิมที่ทำพลาดมา เราจะสามารถทำสิ่งนั้นสำเร็จได้แบบไร้ร่องรอยของความผิดพลาดเลย

อยู่กับปัจจุบันและมองไปข้างหน้า

    ฝึกฝนวิธีคิดและมีสติอยู่กับปัจจุบัน ‘การทำสมาธิ’ อาจเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เราไม่กระวนกระวายและนึกถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วตลอดเวลา รวมถึงต้องบังคับให้ตัวเองมองสิ่งที่อยู่ข้างหน้า แทนการมองย้อนกลับไปข้างหลัง ลองนึกดูว่าความผิดพลาดครั้งนั้นได้สอนอะไรเราบ้าง และมันจะดีกว่าไหม ถ้าหากเราเลือกจดจำและนำสิ่งนั้นมาปรับปรุงให้อนาคตมันดีขึ้นกว่าเดิม

ใจดีกับตัวเองบ้าง

    ให้อภัยและใจดีกับตัวเองบ้างสักนิด มันเป็นเรื่องปกติมาก หากเรารู้สึกแย่และจมดิ่งอยู่กับความผิดพลาดที่ตัวเองสร้างขึ้น แต่อย่าจมอยู่กับมันนานเกินไป พยายามหลีกเลี่ยงการโทษตัวเองและความคิดด้านลบที่มีต่อตัวเอง เพราะถึงแม้สุดท้ายแล้วจะเกิดความผิดพลาดขึ้น แต่เราก็ได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว คิดบวกกับตัวเองให้มากเอาไว้นะ

เสริมสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง

       บางครั้งความผิดพลาดก็ทำให้เราสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปไม่น้อย อีกทั้งการสูญเสียความมั่นใจก็ทำให้เราต้องคิดวนไปวนมาถึงเรื่องนั้นแบบไม่รู้จบ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเสริมสร้างความมั่นใจให้ตัวเองสักนิด อาจเป็นแค่การทำสิ่งที่สนใจให้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาระงานที่ใหญ่หรือหนักหนาสาหัส แค่งานอดิเรกเล็ก ๆ ที่เราอยากทำและตั้งใจทำสำเร็จให้ได้ แค่นี้เราก็จะมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นมาแล้ว !

การคิดวนเรื่องความผิดพลาดส่งผลต่อสุขภาพจิต!

  • อาจเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ภาวะของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล
  • ทำให้เรารู้สึกกลัวจนไม่กล้าใช้ชีวิต หรือตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ
  • ความมีสมาธิในการจดจ่อจะน้อยลง
  • บั่นทอนความตั้งใจและขัดขวางการมีความสุข
  • มีส่วนที่ทำให้รูปแบบและเวลาในการนอนหลับของเราผิดเพี้ยนไป

สุดท้ายนี้ก็อยากฝากไว้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาด ความล้มเหลว หรือความสำเร็จ ก็ล้วนแต่กลายมาเป็นประสบการณ์และบทเรียนที่สำคัญในชีวิตของเราได้หมดทั้งสิ้น เราจึงไม่ควรที่จะจมดิ่งอยู่กับความผิดพลาดนานเกินไป ให้อภัยตัวเอง มองไปข้างหน้า และตั้งใจทำงานต่อไปในอนาคตให้ดีกว่าเดิมจะดีกว่านะคะ

แล้วเพื่อน ๆ มีวิธีมูฟออนจากความผิดพลาดยังไงบ้าง มาแชร์กันได้เลยนะ :)

ที่มา :https://kids.frontiersin.orghttps://hbr.orghttps://psychcentral.comhttps://www.fastcompany.comhttps://idontmind.comhttps://aislesoflife.com
พี่พิ้งค์
พี่พิ้งค์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น