ทำไมเราถึงรู้สึกเหงาและเศร้าในฤดูหนาว? มารู้จักอาการ Winter Blues พร้อมวิธีรับมือง่ายๆ

เคยรู้สึกเหงาหรือเศร้าในช่วงฤดูหนาวกันไหม?

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D.com ช่วงนี้สภาพอากาศในประเทศไทยของเราเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาวกันแล้ว สังเกตได้จากลมเย็นเบาๆ ในตอนเช้าที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอากาศหนาวกำลังจะพัดผ่านเข้ามา และในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์เอาไว้ว่า จะมีอากาศหนาวกว่าทุกปีอีกด้วย ได้ยินแบบนี้ต้องรีบไปเตรียมเสื้อกันหนาวให้พร้อมซะแล้ว!

ฤดูหนาวอาจทำให้บางคนเหงาและเศร้าอย่างไม่มีสาเหตุ
ฤดูหนาวอาจทำให้บางคนเหงาและเศร้าอย่างไม่มีสาเหตุ

แม้ว่าฤดูหนาวอาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกเย็นสบายและผ่อนคลาย แต่สำหรับบางคนฤดูหนาวอาจเป็นช่วงเวลาของความเหงา ความเศร้า ความเหนื่อยหน่าย และรู้สึกหดหู่อย่างไม่มีสาเหตุ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนจะมีความรู้สึกเหล่านี้ในฤดูหนาวค่ะ เพราะว่าอาการ “Winter Blues” สามารถเกิดขึ้นได้กับฤดูหนาวที่ดูหม่นหมองแบบนี้  และนักวิทยาศาสตร์ก็ยังเรียกอาการนี้ว่า “Seasonal Affective Disorder (SAD)” อีกด้วย

ทำความรู้จักกับภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตหนาว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในเมืองไทยจะไม่มีคนที่ตกอยู่ในภาวะนี้เลย โดยผู้ป่วยภาวะนี้จะมีอาการซึมเศร้าเป็นระยะ ซึ่งจะเกิดขึ้นและหายไปในช่วงเวลาเดิมของทุกปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการในฤดูหนาวและค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน

ทางด้าน ดร.แมทธิว รูดอร์เฟอร์ (Dr. Matthew Rudorfer) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ของ National Institutes of Health (NIH) ได้ออกมาชี้แจงว่า อาการเศร้าในหน้าหนาวเป็นภาวะหนึ่งที่ไม่ได้ร้ายแรงขนาดที่ว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บทางการแพทย์ แต่ที่ฤดูหนาวทำให้เราเกิดความเศร้าเป็นเพราะแสงแดดที่น้อยลงนั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าในฤดูหนาว

แม้ว่าสาเหตุของภาวะซึมนี้จะยังไม่ชัดเจน แต่ทฤษฎีทางการแพทย์ส่วนใหญ่ระบุว่าความผิดปกตินั้นอาจมาจากช่วงเวลากลางวันหรือระยะเวลาที่มีแสงแดดของแต่ละวันในช่วงฤดูหนาว ส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิตที่เป็นวงจรควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย  

โดยภาวะนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมอง 2 ตัว ที่ทำให้นาฬิกาชีวิตในฤดูหนาวผิดปกติจนส่งผลต่อร่างกายและอาจเกิดภาวะ Winter Blues ได้ สารสื่อประสาทที่ว่ามีอะไรบ้างมาดูกัน

  • ตัวแรก : ระดับเซโรโทนินลดลง เพราะเซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งการได้รับแสงแดดไม่เพียงพออาจส่งผลให้สารชนิดนี้มีปริมาณลดลง จึงทำให้รู้สึกเหงา ไม่ร่าเริง และอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้
  • ตัวที่สอง : ระดับเมลาโทนินสูงขึ้น เมลาโทนินมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการนอนหลับ หากฮอร์โมนชนิดนี้มีระดับสูงขึ้น อาจส่งผลให้รู้สึกง่วงนอน เซื่องซึม และพลังงานน้อย

นาฬิกาชีวิต คืออะไร?

กรมสุขภาพจิต ได้ให้ความหมายไว้ว่า นาฬิกาชีวิต (Body Clock) คือ วงจรของระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์ มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น การตื่นนอน การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมน แม้กระทั่งการแปรเปลี่ยนของอุณหภูมิในร่างกาย

 

โดยนาฬิกาชีวิตจะมีรอบเวลาอยู่ที่ 24 ชั่วโมง ตามเวลาทั่วไป ซึ่งนาฬิกาชีวิตจะถูกควบคุมโดยแสงและอุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับแสงแดดและมีอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม ร่างกายก็จะเริ่มทำงานตามวงจรในแต่ละวัน

อาการที่บ่งชี้ว่าเราอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ Winter Blues

  • รู้สึกหมดหวัง ไร้ค่า หรือมีอารมณ์ซึมเศร้าต่อเนื่อง
  • เบื่อในสิ่งที่เคยชอบ หมดความสนใจในสิ่งที่ตัวเองเคยสนใจ
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ
  • ง่วงนอนทั้งวัน หรือมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป เช่น ทานมากไปหรือน้อยเกินไป อยากทานอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาลมากกว่าปกติ หรือเบื่ออาหาร
  • ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย และไม่สามารถจดจ่อได้นาน
  • เก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคมหรือออกไปพบปะผู้คน

นอกจากจะเศร้าแล้วฤดูหนาวยังทำให้เหงาอีกด้วย!

งานวิจัยที่ศึกษาโดย Adam Fay จาก The State University of New York และ Jon Maner จาก Florida State University พบว่า อุณหภูมิในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยหรือใช้ชีวิตอยู่นั้น มีผลต่อการตัดสินทางสังคมของเรา นั่นจึงหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอาจมีผลกระทบต่อจิตวิทยาในด้านการเข้าสังคมของเราแต่ละคนค่ะ

การศึกษาในครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เก็บข้อมูล จำนวน 78 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน ตั้งแต่อบอุ่นไปจนถึงหนาวเย็น โดยคนจำนวนครึ่งหนึ่งที่เข้ารับการทดลองจะได้รับเข็มขัดที่ให้ความอบอุ่นตลอดเวลาพันอยู่รอบเอว ผลปรากฏว่า คนที่ไม่ได้รับเข็มขัดให้ความอบอุ่นนั้น มีความสนใจที่จะพบปะพูดคุยกับผู้คนมากกว่า สรุปได้ว่า คนที่รู้สึกหนาวทางกายก็จะรู้สึกเหงาทางใจหรืออารมณ์ไปด้วย จนทำให้ต้องเข้าหาคนอื่นๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองเหงาไปมากกว่านี้

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอาจมีผลกระทบต่อจิตวิทยาในด้านการเข้าสังคมของเราแต่ละคน
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอาจมีผลกระทบต่อจิตวิทยาในด้านการเข้าสังคมของเราแต่ละคน

How to รับมือกับอารมณ์เหงาเศร้าเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว

จากที่พี่แป้งเล่ามาจะเห็นได้ว่า ภาวะนี้ไม่ได้ร้ายแรงมากเพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกเศร้าหรือเหงาในช่วงฤดูหนาว  น้องๆ รู้ไหมว่าการที่เราทำตัวกระปรี้กระเปร่าในช่วงฤดูหนาวเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ เพราะมันช่วยให้เราสามารถกำจัดอารมณ์เหงาเศร้าเหล่านี้ไปได้ ว่าแต่จะมีวิธีอะไรบ้างมาดูกันเล้ย!

1.รับแสงแดดธรรมชาติให้ได้มากที่สุด

การตื่นมารับแดดยามเช้าถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย เพราะวิตามินดีในแดดตอนเช้าจะช่วยควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย ทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง แถมยังช่วยให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น เพราะได้รับสารเอ็นโดรฟินที่ทำให้อารมณ์ดี ส่งผลให้เรามีสุขภาพจิตที่ดี ถ้าช่วงฤดูหนาวน้องๆ ต้องไปโรงเรียน พี่แป้งแนะนำให้ออกไปยืนรับแดดสักแป๊บนึงก่อนเข้าห้องเรียนดูนะคะ น้องๆ จะได้รู้สึกตื่นตัวและพร้อมเรียนตลอดทั้งวัน!

ควรออกไปรับแดดให้ได้วันละ 10 - 15 นาที โดยช่วงเวลาที่ควรออกไปรับแสงแดด มีดังนี้

เช้า : 06.00 - 08.00 น. เย็น : 16.00-18.00 น. 

เนื่องจากแสงแดดในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่แรงมาก ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อผิวของเราค่ะ  

2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถต่อสู้กับภาวะ Winter Blues ได้ค่ะ และถ้าน้องๆ ออกกำลังกายกลางแจ้งภายใต้แสงแดดอ่อนๆ ได้ก็จะยิ่งดีมาก! เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถเพิ่มเซโรโทนิน เอ็นดอร์ฟิน และสารเคมีอื่นๆ ในสมองที่ทำให้รู้สึกดีได้ แถมยังช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้นอีกด้วยนะ

การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถเพิ่มเซโรโทนิน เอ็นดอร์ฟิน และสารเคมีอื่นๆ ในสมอง
การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถเพิ่มเซโรโทนิน เอ็นดอร์ฟิน และสารเคมีอื่นๆ ในสมอง

3.เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์

ดร.ดรูว์ แรมซีย์ (Dr.Drew Ramsey) ได้ทำการศึกษาเรื่อง Eat To Beat Depression จนพบว่า อาหารที่เราทานในแต่ละวันส่งผลต่ออารมณ์และสามารถช่วยต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า และโภชนาการที่เหมาะสมสามารถปรับปรุงสุขภาพของสมองและสุขภาพจิตได้ ยกตัวอย่างเช่น  

  • กล้วยหอม - ช่วยลดการเกิดอาการซึมเศร้าได้ เพราะมีสารทริปโตแฟน (Tryptophan) ที่เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนให้เป็นสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข นอกจากนี้ยังมีวิตามินบีสูง ช่วยในการทำงานของระบบประสาท และสมอง
  • ปลา - ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาเฮอร์ริ่ง ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า เพราะมีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพอย่างโอเมก้า 3 ช่วยลดอาการซึมเศร้า และทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทช่วยสร้างความสุขและความพึงพอใจอีกด้วย
  • เห็ดชนิดต่างๆ - เพราะในเห็ดมีแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ไนอะซิน (Niacin) หรือวิตามินบี 2 และไรโบฟลาวิน (Riboflavin) หรือวิตามินบี 3 และมีธาตุเซเลเนียมสูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขและลดอารมณ์หมองหม่นได้

4.นอนหลับให้เพียงพอ

หากน้องๆ นอนไม่พอหรือนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องมันจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงและอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้น พยายามฝึกนิสัยการนอนที่ดี ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน และควรนอนให้ได้วันละ 7-8 ชั่วโมง ที่สำคัญงดเล่นโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ที่มีแสงสีฟ้าทุกชนิดก่อนนอนประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายและปรับการทำงานของดวงตาให้เข้าสู่โหมดการพักผ่อน

“นอนดีมีวินัย สร้างโลกสดใส จิตใจแข็งแรง”  

คำขวัญวันนอนหลับโลกในประเทศไทย ประจำปี 2565  

5.ออกไปพบปะผู้คนเพื่อคลายความเหงา

การออกไปพบปะสังสรรค์หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมจะช่วยให้คลายความเหงา ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว แถมยังช่วยให้เราจัดการกับภาวะนี้ได้อีกด้วย ถึงแม้ว่าบางคนจะชอบเก็บตัวอยู่ภายในห้องและอาจจะไม่ชอบการพบปะผู้คนเท่าไหร่ แต่ว่าการที่ได้ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือหวานใจ อาจทำให้เราได้รับมุมมองใหม่ๆ ที่ช่วยให้จัดการปัญหาได้ และยังทำให้รู้สึกสบายใจและผ่อนคลายขึ้นอีกด้วย

การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นอาจทำให้เราได้รับมุมมองใหม่ๆ ที่ช่วยให้จัดการปัญหาได้
การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นอาจทำให้เราได้รับมุมมองใหม่ๆ ที่ช่วยให้จัดการปัญหาได้ 

6.ฟังเพลงดังจังหวะมันๆ

แม้ว่าอากาศที่หนาวเย็นจะชวนให้นอนคุดคู้อยู่ในผ้าห่มมากกว่าตื่นไปเรียน และต่อให้จะลุกขึ้นจากเตียงแล้วก็ยังง่วงซึมอยู่ ลองเปิดเพลงฟังพร้อมกับขยับร่างกายตามจังหวะ เลือกเพลงที่มันที่สุดแล้วเปิดให้ดังกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง มีงานวิจัยของ McGrill University ในสหรัฐอเมริกา พบว่า การฟังเพลงจะช่วยกระตุ้นกระแสไฟฟ้าในสมอง ทำให้สมองหลั่งสารโดพามีนออกมา เพื่อสร้างความตื่นตัวและความกระฉับกระเฉงให้กับร่างกายมากขึ้น!

 

สำหรับภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล จริงๆ แล้ว อาจไม่ใช่แค่ฤดูหนาวเท่านั้นที่ทำให้เรารู้สึกเหงาหรือเศร้า แต่ฤดูกาลอื่นๆ ก็สามารถส่งผลกับอารมณ์ของเราได้เช่นกัน ทั้งนี้ ถ้าเรารู้วิธีรับมือและวิธีป้องกัน พี่แป้งเชื่อว่ายังไงเราก็สามารถก้าวผ่านอารมณ์เหล่านั้นไปได้  

 

สุดท้ายนี้ ถ้าหากว่าฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง (หรือเปล่า?) น้องๆ คนไหนที่รู้เหงาหรือเศร้าซึมก็สามารถเอาวิธีที่พี่แป้งแนะนำไปปรับใช้กันได้นะคะ หรือใครที่มีไอเดียดีๆ อยากแชร์ก็คอมเมนต์คุยกันด้านล่างได้เลย!  

 

ข้อมูลจาก : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2528230https://newsinhealth.nih.gov/2013/01/beat-winter-blueshttps://www.helpguide.org/articles/depression/seasonal-affective-disorder-sad.htmhttps://dmh.go.th/news/view.asp?id=2275https://www.countryliving.com/uk/wellbeing/a30698128/people-feeling-cold-more-social/https://drewramseymd.com/depression-anxiety/heres-the-1-food-category-to-fight-depression/

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด