เปิดผลสำรวจ! เรื่องเครียดๆ ของวัยรุ่นไทย ที่ผู้ใหญ่อาจมองข้าม

เป็นวัยรุ่นก็มีเรื่องเครียดเหมือนกันนะ

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D.com ทุกคน ปัจจุบันนี้ความเครียดไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กๆ หรือวัยรุ่นเองก็มีความเครียดที่ต้องแบกรับเอาไว้เช่นเดียวกัน ในบางครั้งวัยรุ่นก็มักจะถูกสงสัยจากผู้ใหญ่หลายคนว่า ‘อายุแค่นี้มีอะไรให้เครียด?’ แต่ความจริงแล้วใครว่าเราจะมีแต่เรื่องสนุกกัน วัยรุ่นนี่แหละมีเรื่องให้เครียดเยอะแยะเลย

เปิดผลสำรวจ! เรื่องเครียดๆ ของวัยรุ่นไทย ที่ผู้ใหญ่อาจมองข้าม
เปิดผลสำรวจ! เรื่องเครียดๆ ของวัยรุ่นไทย ที่ผู้ใหญ่อาจมองข้าม

ความเครียด เรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย

ความเครียด เกิดจากร่างกายของเรามีการตอบสนองต่อแรงกดดัน สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ต่างๆ นานา ในชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดได้ และมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราพบเจอกับสิ่งใหม่ หรือเรื่องที่ไม่คาดคิด ที่เข้ามาก่อกวนความรู้สึกในใจ หรือตอนที่เรารู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ตรงหน้าได้ เมื่อเผชิญกับความเครียด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนความเครียดที่กระตุ้นการตอบสนองของการต่อสู้หรือหนี และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเรา  

ความเครียดเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลดี ทำให้เราตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นอันตรายได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้ามากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้สึกว่าควบคุมไม่ได้ อาจส่งผลเสียต่ออารมณ์ ความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างอีกด้วยค่ะ

ประเภทของความเครียด

ความเครียดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ความเครียดเฉียบพลัน (Acute stress) : เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน เมื่อเราเจอสถานการณ์ที่ท้าทายหรือกดดัน เช่น พรีเซนต์งานหน้าชั้นเรียน แต่เมื่อสถานการณ์จบลง เราก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
     
  • ความเครียดเฉียบพลันเป็นระยะ (Episodic acute stress) : เป็นความเครียดแบบกะทันหัน ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าแบบแรก อาจเป็นในตอนที่เราต้องรับมือกับสถานการณ์กดดันติดต่อกัน เช่น พรีเซนต์งานจบแล้ว แต่คาบต่อไปต้องเตรียมตัวสอบ
     
  • ความเครียดเรื้อรัง (Chronic stress) : เป็นความเครียดระดับสูงที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา เช่น การเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปัญหาครอบครัว

รู้หรือไม่? ผลสำรวจพบวัยรุ่นเครียดกว่าผู้ใหญ่ 4 เท่า!

จากผลสำรวจ Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิต พบว่า กลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มเครียดสูงขึ้นมาก โดยระดับความเครียดในรอบเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สูงกว่ากลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า โดยกลุ่มวัยรุ่นมีระดับความเครียดสูงอยู่ที่ 12.60% ส่วนวัยทำงาน 3.17% ซึ่งความเครียดเหล่านั้นอาจเกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การเรียน ความรัก เป็นต้น

ผลสำรวจ Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิต วัยรุ่นมีแนวโน้มเครียดสูงกว่ากลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า
ผลสำรวจ Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิต วัยรุ่นมีแนวโน้มเครียดสูงกว่ากลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า

สาเหตุหลักที่ทำให้วัยรุ่นเกิดความเครียด

พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ความเครียดเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจแบบผิดๆ ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งต้นตอความเครียดในเด็กวัยรุ่นนั้นมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ  

  • ความเครียดจากตัวเอง : ความเครียดสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ หากคนในครอบครัวเป็นโรคเครียด เด็กก็จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนอื่น หรือเด็กที่มีความผิดปกติทางร่างกายก็อาจเป็นโรคเครียดได้ง่ายเช่นกัน
  • ความเครียดจากประสบการณ์ : การเลี้ยงดูของครอบครัวส่งผลโดยตรงต่อความเครียด รวมถึงอาจเกิดจากประสบการณ์ที่ต้องเผชิญได้ด้วยค่ะ

การสังเกตว่าเด็กมีความเครียดหรือไม่ จะต้องให้คนใกล้ชิดคอยสังเกตพฤติกรรม และเมื่อแต่ละคนมีความเครียดก็มักจะแสดงอาการออกมาแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่  

  • เก็บอารมณ์ : กลุ่มนี้จะไม่มีการแสดงออกอะไรเลย ไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความเครียด เพราะจะชอบเก็บอารมณ์ เก็บอาการ บางคนเมื่อเก็บไปนานๆ เข้าก็อาจเกิดการคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
  • แสดงออกอย่างชัดเจน : กลุ่มนี้จะค่อยๆ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ก้าวร้าว เงียบผิดปกติ เก็บตัว หรือไม่อยากไปโรงเรียน

รวมเรื่องเครียดๆ ของเหล่าวัยรุ่น  

ผลสำรวจความคิดเห็นของชาว Dek-D.com จาก #dekdAsk หัวข้อ “วัยรุ่นเครียดเรื่องอะไรกันบ้าง” พบว่า วัยรุ่นเองก็มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบและมีเรื่องให้เครียดไม่แพ้ผู้ใหญ่เหมือนกัน ซึ่งวันนี้พี่แป้งได้รวบรวมเรื่องเครียดๆ ของเหล่าวัยรุ่น มาทั้งหมด 5 เรื่องด้วยกัน จะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันโลดดด!

1.เงินมีน้อยต้องใช้สอยอย่างประหยัด

อันดับแรกเลย คือ เรื่องเงิน! น่าแปลกใจใช่มั้ยล่ะค่ะ เป็นวัยรุ่นจะเครียดเรื่องเงินทำไม? แหมก็สิ่งล่อตาล่อใจทุกวันนี้มันมีเยอะ จนเกิดกิเลสอยากซื้ออยากได้ไปหมด แม้กระทั่งค่าใช้จ่ายตอนไปโรงเรียนที่แต่ละคนก็อาจจะได้เงินแตกต่างกัน ทำให้ต้องแบ่งเงินให้เป็นสัดส่วน เพื่อที่ให้มีพอกินพอใช้ บางคนก็มีค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่ต้องช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้ที่เรียกได้ว่า ‘ข้าวยากหมากแพง’ ของขึ้นราคากันสะบัด จะซื้ออะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลัง คิดถึงความจำเป็นเวลาใช้งาน แล้วแบบนี้จะไม่ให้เครียดได้ยังไงกัน

2.ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ต่อมาคือ ครอบครัว เรียกได้ว่าเป็นเรื่องเครียดอันดับต้นๆ ที่วัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะเข้าไปปรึกษากับจิตแพทย์เลยค่ะ สาเหตุอาจมาจากความขัดแย้ง ความรุนแรงภายในครอบครัว ความคาดหวังของพ่อแม่ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเรียน การทำงาน การใช้ชีวิต ความรัก ซึ่งบางคนอาจโดนที่บ้านตำหนิบ่อยๆ ทำให้คิดว่าพ่อแม่ไม่รักและไม่เข้าใจตัวเอง ส่งผลให้รู้สึกกดดันและนำไปสู่ความเครียด  

ภาพจาก  :  https://www.freepik.com/
ภาพจาก  :  https://www.freepik.com/

3.วัยรุ่นวัยเรียนอ่านเขียนทุกวัน

อีกหนึ่งเรื่องที่วัยรุ่นต้องเครียดกันทุกวัน คงหนีไม่พ้นเรื่องเรียน ด้วยวัยของเราที่มีหน้าที่หลัก คือ เรียนหนังสือ จึงอาจทำให้ผู้ใหญ่บางคนมองว่าเราคงไม่มีเรื่องเครียดอะไร แต่การเรียนนี่แหละที่ทำให้วัยรุ่นส่วนมากมีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งต้องทำเกรดให้ดี มีการบ้านให้ปั่นทุกวิชา แถมยังต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหา’ลัยที่มีการแข่งขันสูงลิ่ว สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยความพยายาม ความรับผิดชอบ ซึ่งทำให้หลายคนรู้สึกเครียดเพราะเกิดจากความกดดันทั้งจากตัวเองและคนรอบตัวนั่นเองค่ะ

4.งานที่ชอบเงินเดือนที่ใช่

สำหรับเด็กจบใหม่การหางานทำก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ส่งผลทำให้เครียด เพราะทุกวันนี้ตลาดแรงงานมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้ตำแหน่งงานมีจำนวนลดลง หลายองค์กรจึงต้องการพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถรอบด้านเข้าทำงาน นอกจากนี้ การหางานให้ตรงกับความชอบหรืองานทำแล้วมีความสุขก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หลายคน ต้องเสาะแสวงหางานที่ตรงกับความต้องการของตัวเอง บวกกับค่าตอบแทนที่เมื่อทำงานไปแล้วต้องรู้สึกคุ้มค่ากับความเหนื่อยที่ลงแรงไป

5.อิทธิพลจากเพื่อนๆ  

เพื่อนเป็นอีกหนึ่งคนที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นอย่างมาก ทั้งด้านทัศนคติและการเป็นตัวเอง วัยรุ่นส่วนใหญ่จะมีความผูกพันกับเพื่อนมากกว่าวัยอื่นๆ รวมถึงอยากให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อน และด้วยความที่แต่ละคนมีความคิดและมุมมองที่แตกต่าง บางครั้งอาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน รวมถึงการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน เช่น การทำร้ายร่างกาย การพูดล้อเลียน นินทา และการแบ่งแยกออกจากกลุ่ม ที่ส่งผลให้เกิดความเครียดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนได้

นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นอื่นๆ อีกมากมายที่เหล่าวัยรุ่นมาแชร์ความเครียดของตัวเองกัน น้องๆ สามารถเข้าไปอ่านกันได้ที่ Facebook : Dek-D.COM - เด็กดีดอทคอม ใน #dekdAsk หัวข้อ “วัยรุ่นเครียดเรื่องอะไรกันบ้าง” หรือ >คลิกที่นี่< ได้เลย!

ความเครียด VS ความวิตกกังวล ต่างกันอย่างไร?

น้องๆ บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่า ความเครียดและความวิตกกังวลนั้นเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วทั้งคู่มีความแตกต่างกันค่ะ ความเครียดจะเป็นภาวะทางจิตใจที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เรากำลังเจออยู่ หรือเคยเจอในอดีตแต่เกิดขึ้นซ้ำอีก ส่วนความวิตกกังวลจะเป็นภาวะความไม่สบายใจ เมื่อได้รับรู้ หรือนึกถึงสิ่งไม่ดีหรือความไม่แน่นอนไปก่อนล่วงหน้า ซึ่งถ้าหากว่าเราวิตกกังวลมากเกินไปก็สามารถเกิดเป็นความเครียดได้เช่นกันค่ะ  

จริงๆ แล้วความเครียดก็ไม่ได้แย่เสมอไปนะ

พูดถึงความเครียด น้องๆ อาจมองว่ามันเป็นความรู้สึกแย่ๆ หรือมองแค่ด้านลบเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่จะให้มองความเครียดไปในทางลบอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว ความเครียดก็มีประโยชน์เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เช่น  

  • ช่วยให้โฟกัสได้ดีและบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว (ในกรณีที่ต้องปั่นงานให้ทันเดดไลน์)
  • ช่วยให้เราฝึกแก้ไขปัญหา พอเครียดเราก็จะพยายามหาทางออก เพื่อให้จัดการกับปัญหาได้
  • ช่วยสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้แน่นแฟ้นขึ้น เพราะเราอาจจะอยากระบายกับคนที่ไว้ใจ

How to จัดการกับความเครียด

อย่างไรก็ตาม ความเครียดที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียได้ บางครั้งอาจทำให้เราเลือกที่จะหลบหนี หรือปล่อยให้ตัวเองจมไปกับความเครียด เพราะไม่สามารถรับมือได้ พอสะสมไปนานๆ เข้าก็อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเราได้  

ดังนั้น น้องๆ จะต้องรู้จักจัดการกับความเครียดให้เป็น วันนี้พี่แป้งก็มี How to ง่ายๆ มาฝากทุกคนด้วยค่ะ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน!  

  • นอนหลับให้เต็มอิ่ม พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนน้อยจะให้ระดับความเครียดสูงขึ้น
  • บอกเล่าให้คนที่ไว้ใจฟัง เพื่อระบายความเครียดที่อยู่ในใจออกมา และขอคำแนะนำเพื่อหาทางออก
  • หากไม่อยากเล่าให้ใครฟัง ลองเขียนไดอารี่ เพื่อสลัดความเครียดและความรู้สึกแย่ๆ ผ่านตัวอักษร
  • อ่านหนังสือก็ช่วยคลายเครียดได้ แถมเราอาจได้ข้อคิดหรือทางออกที่ดีจากหนังสืออีกด้วย
  • ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการดูหนัง ฟังเพลง ที่เราชอบ เพื่อสร้างความเพลิดเพลิน และทำให้สมองปลอดโปร่ง
  • ออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมีในสมองที่มีผลต่อการความเครียด ทำให้เครียดลดลง และอารมณ์ดีขึ้น
  • การได้ดมกลิ่นที่ชอบสามารถลดระดับออร์โมนคอร์ติซอล ที่เป็นฮอร์โมนของความเครียดได้
  • ออกไปเที่ยวสถานที่ใหม่ๆ ช่วยให้ลืมความเครียด และทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าได้
  • พบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อบำบัดความเครียดที่เกิดขึ้นและรับคำแนะนำ

 

สุดท้ายนี้ หากน้องๆ คนไหนที่กำลังเครียดหรือมีเรื่องที่ไม่สบายใจอยู่ ลองนำฮาวทูที่พี่แป้งแนะนำไปปรับใช้ได้นะคะ อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดนานจนเกินไป เพราะมันจะส่งผลเสียต่อตัวเราเอง รวมถึงคนรอบข้างของเราได้ ยังไงพี่แป้งก็ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ สู้ๆ ค่ะ! :)

 

ข้อมูลจาก :https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/10423/https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/stress.htmlhttps://www.unicef.org/parenting/mental-health/what-is-stresshttps://www.mentalhealth.org.uk/explore-mental-health/a-z-topics/stresshttps://www.healthline.com/health/stress#causesรูปภาพจาก  :  https://www.freepik.com/

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น