Teen Coach EP.78 : 'โรคเสพติดเกม' อันตรายคล้ายติดยา ต้องรักษา แต่หลายคนมองข้าม

ชอบเล่นเกมไม่ใช่เรื่องผิด  คนเล่นเกมไม่จำเป็นต้องเป็นโรคติดเกม แต่เล่นหนักแค่ไหนกันล่ะ ถึงเข้าข่าย 'โรคติดเกม' ?

ช่วง 10 กว่าปีที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก หนึ่งในเรื่องที่หมอได้รับการปรึกษาบ่อยที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ การเสพติดเกม หากเป็นคนทั่วไปมักจะมองว่าการเล่มเกมเป็นเรื่องปกติเหมือนเราทำงานอดิเรกอื่น เช่น อ่านหรือดูการ์ตูน แต่การเล่นเกมที่มากจนเกินไปทำให้ป่วยเป็น “โรคเสพติดเกม” ได้ ซึ่งโรคนี้จำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาช่วยเหลือ หมอมีตัวอย่างเคสที่จะมาแชร์กัน เป็นจดหมายที่ริวเขียนรีวิวประสบการณ์การป่วยและการรักษา เพื่อที่ว่าจะได้เป็นประโยชน์กับเด็กและครอบครัวที่กำลังต้องเผชิญกับเรื่องนี้

“จดหมายจากริว”

 

หวัดดีคับ ผม “ริว” เรียนชั้นม.2 ผมอยากเล่าเรื่องตลกร้ายที่เกิดกับตัวผมให้ฟัง เผื่อว่าใครที่เจอกับตัวจะได้ไม่ต้องแปลกใจ คือว่าตั้งแต่มีโควิดแล้วต้องเรียนออนไลน์ใช่มะ โคตรน่าเบื่อ ผมเลยเรียนไปเล่นเกมออนไลน์ไปด้วย เหงาจะตายไม่ได้เจอใคร พ่อแม่ก็ออกไปทำงาน อย่างน้อยมีกลุ่มเพื่อนในดิสคอร์ดก็ยังดี เพื่อนมันนัดกันบ่อยผมไม่อยากพลาด ไม่งั้นโดนเตะออกจากกลุ่มแน่ เวลาส่วนใหญ่ผมจะอยู่ในโลกของเกมออนไลน์ ผมเล่นเก่งอยู่นะ ใครๆก็อยากดึงตัวเข้าทีม ผมไม่ค่อยส่งงาน ไม่ได้ตั้งใจฟังที่ครูสอน ต่อให้มีรายการการบ้านใน Microsoft team ผมก็ไม่สน สอบย่อย สอบใหญ่ ก็กามั่ว ลอกเพื่อน จนครูรายงานแม่ว่าผมไม่มีรับผิดชอบ แม่ด่าผมซะเละ แต่ผมไม่แคร์ เพราะแม่บอกผมแค่ว่า “อย่าเล่นเยอะ” ผมก็ว่าที่เล่นอยู่มันน้อยนะ ถ้าเทียบกับเพื่อนบางคน พอถึงช่วงที่ต้องไปเรียนที่โรงเรียน แม่หวังว่าผมน่าจะสนใจเรียนมากขึ้น แต่ผมยังคงเล่นเกมเท่าเดิม เพราะผมใช้ไอแพดเรียนไง เลยเล่นเกมในชั่วโมงเรียนได้ กลับไปบ้านผมใช้คอมเล่นเกมต่อ บางทีไม่อาบน้ำ ไม่กินข้าว เพราะเสียเวลา นอนดึกเล่นข้าม timezone ตื่นตอนเช้าไม่ไหว จนไปเรียนสาย บางทีก็แอบหยุดเรียน ส่วนใหญ่ผมอยู่แต่ในห้อง พ่อแม่พยายามห้ามเรื่องเล่นเกม และมาจี้เรื่องเรียนกับผม น่ารำคาญมาก มีวันหนึ่งพ่อตัด wifi ตอนผมกำลังเล่นเกมอยู่ เฮ้ย..เกินไปละ ผมเลยอาละวาด ขว้างของในบ้านพังเละ หลังจากนั้นพ่อแม่ดูกลัวผมไปเลย มีวันหนึ่งพ่อแม่บอกจะพาผมไปซื้อเก้าอี้ที่เกมเมอร์เขาใช้กัน ผมเลยยอมออกจากห้อง กลายเป็นว่าผมต้องไปพบกับจิตแพทย์! 

 

งงมะ! ก็แค่เล่นเกมใครๆ ก็เล่น ผมไม่ได้บ้า ตอนแรกผมไม่ให้ความร่วมมือ การเล่นเกมของผมไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ผมไปคุยกับหมอหลายครั้ง หมอให้ยามากิน และปรับความเข้าใจระหว่างผมกับพ่อแม่ หมอยังให้เล่นเกมได้อยู่ เพียงแต่มีกติกา หมอใจดีนะ ถึงผมทำพฤติกรรมกากถ่อยแค่ไหน หมอดูเข้าใจยอมรับสิ่งที่ผมเป็น จนผมเริ่มอ่อนลง เข้าใจและยอมรับอาการที่ตัวเองเป็น รู้แล้วว่าการเสพติดเกมผมต้องเสียอะไรไปบ้าง วันนี้ผมเลยอยากมารีวิวเรื่องเสพติดเกมจากการที่เคยเป็นคนไข้มาก่อน เผื่อมีประโยชน์กับคนที่เป็นเหมือนผมในอดีต

เล่นเกมแค่ไหนถึงเป็น 'โรคเสพติดเกม'

คำถามนี้ผมโคตรสงสัย ผมเห็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่เล่นเกมกันหมด ขนาดพ่อแม่ยังเล่น แล้วทำไมผมต้องโดนตราหน้าว่าเสพติดเกมด้วย หมออธิบายให้ฟังว่าการเล่นเกมไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นกิจกรรมสันทนาการ แต่หากเล่นมากเกินไปจนเข้าเกณฑ์การวินิจฉัย “โรคเสพติดเกม” (Game Addiction) อันนี้จำเป็นต้องรักษา ซึ่งจะมีอาการครบ 4 ข้อ (ผมนับดูแล้ว ครบจริง T__T)

  1. เล่นมากจนเกินไป: เล่นไม่รู้จักเวลา เพลิน ติดลม บางคนเล่นจนไม่กิน ไม่นอน ไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้เสียการเรียน เสียสัมพันธภาพกับคนรอบตัว หรือมีผลเสียต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ
  2. มีอาการถอนเมื่อไม่ได้เล่น: เช่น หงุดหงิด อาละวาด ทำลายข้าวของ เครียด ซึมเศร้า
  3. มีความต้องการที่จะเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ: ทั้งจำนวนเวลาที่ใช้เล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์ ไอเท็ม และเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับเกม
  4. มีพฤติกรรมไม่ดีที่ตามมาเพื่อให้ได้เล่นเกม: เช่น ขโมยเงิน โกหก ทะเลาะกับคนรอบข้าง

ส่วนจำนวนของเด็กที่เสพติดเกมบอกได้ยาก แต่ละงานวิจัยใช้วิธีศึกษาต่างกัน แต่เฉลี่ยพบความชุกตั้งแต่ร้อยละ 1 ไปจนถึงร้อยละ 35

สาเหตุของการเสพติดเกม

ผมย้อนกลับมาคิดทำไมคนอื่นเล่นแล้วยังเป็นปกติดี ส่วนผมนี่ซวยสุดเล่นแล้วเป็นโรคเสพติดเกมเฉย หมอบอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เล่นเกมแล้วจะเสพติด มันมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งด้านชีวภาพ จิตใจ และสังคม (Bio-Psychosocial factors) ผมขอลอกจากเอกสารที่หมอให้นะ ตัวผมมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างอยู่

ด้านชีวภาพ (Biological factors)

มีการศึกษาวิจัยสมองของคนที่เสพติดเกม พบว่ามีวงจรการทำงานของสมองที่ผิดปกติเหมือนคนที่ติดสารเสพติดจริง ทั้งความผิดปกติทางด้านโครงสร้าง การทำงาน และสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ แต่ละคนมีความเปราะบาง (vulnerability) ต่อการติดเกมไม่เหมือนกัน ดังนั้นไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เล่นเกมจะต้องเสพติดเกมเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เพียงแต่การที่เริ่มเล่นเกมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ เด็กที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชหลายโรคพบร่วมกับโรคเสพติดเกมได้บ่อย เช่น  โรคสมาธิสั้น (ADHD), โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD), โรคดื้อต่อต้าน/เกเร (ODD/conduct disorder), โรคซึมเศร้า (Depression)

ตัวอย่างคำอธิบายความสัมพันธ์ (co relation) ระหว่างโรคทางจิตเวชและโรคเสพติดเกม เช่

  • โรคสมาธิสั้น: การทำงานสมองของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะชอบการตอบสนองที่ฉับพลันทันไว ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ ขี้เบื่อ ต้องการสิ่งแปลกใหม่  การเล่นเกมตอบโจทย์ได้ เพียงแค่กดปุ่มบังคับ ผลลัพธ์เกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอนาน และท้าทายตื่นเต้นอยู่ตลอด ทำให้ยิ่งเล่นยิ่งติด การเล่นเกมจะทำให้อาการของสมาธิสั้นยิ่งเป็นมากขึ้นด้วย ในทางกลับกันในเด็กปกติที่เล่นเกมมากๆ การทำงานของสมองจะเริ่มมีความผิดปกติ มีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นได้ เช่น อดทนรอคอยได้ลดลง ทำอะไรได้ไม่นาน เพื่อที่จะรีบไปเล่นเกม
  • โรคซึมเศร้า (Depression):  อาการของโรค คือ เศร้า เบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร รู้สึกหมดหวังกับโลกความเป็นจริง การเล่นเกมเป็นหนทางหลีกหนี (escape) จากความทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่ เด็กจึงอยากที่จะอยู่ในโลกของเกม ไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ในโลกความเป็นจริง ส่วนเด็กปกติที่เล่นเกมและมีสังคมอยู่ในนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น ถูกกลั่นแกล้งในสังคมเกม (cyber bullying), ติดเล่นเกมจนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง จนทำให้ไม่มีเพื่อน เลยรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว นำไปสู่การเป็นซึมเศร้า

ด้านจิตใจและสังคม (Psychosocial factors) เช่น

  • มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (low self-esteem) อยากได้การยอมรับจากคนอื่น การเล่นเกมชนะ ได้อันดับดี มีชื่อเสียงในโลกของเกม ได้แรงเสริมทางบวกจากการเล่นเกม  (positive reinforcement) เช่น ได้รับคำชม จะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ
  • การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย (Poor disciplines) ไม่มีกฎกติกา ทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ดี เมื่อเริ่มเล่นเกมแล้วจะติดพัน เล่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ผู้ปกครองไม่ได้สอนตักเตือน หรือแค่พูดห้ามไม่ให้เล่น แต่ไม่ได้ลงมือหยุดการเล่นเกมของเด็กอย่างจริงจัง
  • ปัญหาครอบครัว (Family dysfunction) ทำให้เด็กมีความเครียด เด็กเล่นเกมเพื่อเป็นการระบายออก
  • การขาดต้นแบบที่ดี (Poor role model) บางครอบครัวตัวผู้ใหญ่เองก็ไม่มีระเบียบวินัย ติดมือถือ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน
  • มีกลุ่มเพื่อนที่โน้มน้าวกดดันให้ต้องเล่น (Peer pressure) ต้องเล่นเพื่อให้เพื่อนยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

ทำไมเราต้องสนใจว่าใครเสพติดเกมอยู่

ตอนแรกผมคิดว่าเรื่องเสพติดเกมไม่ต้องรักษาก็ได้มั้ง เพราะมันก็แค่ทำให้สอบตก ทะเลาะกับพ่อแม่บ้าง แต่พอหาข้อมูลเพิ่มผมนี่หลอนมาก เพราะการเสพติดเกมมันทำให้ถึงตายได้!! เฮ้ย..แรงว่ะ งั้นต้องรักษาจริงจังละ

ผลเสียด้านสุขภาพ

  • อาการทางกายที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ (Unexplained Somatic symptoms) เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามตัว เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต
  • เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism) พอนั่งเล่นเกมไม่เคลื่อนไหว ทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นที่ขาได้ หากซวยลิ่มเลือดจากขาหลุดไปที่ปอดเกิดการอุดตัน (pulmonary thromboembolism) ถึงตายได้เลย
  • โรคอ้วน บางคนเล่นเกมไป กินไปด้วย (ผมน้ำหนักเยอะสุดถึง 100 โล)

ผลเสียด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

การคุยกันกับเพื่อนที่อยู่ในเกมไม่ได้เป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ทำให้ไม่ได้ฝึกทักษะทางสังคม การเสพติดเกมทำให้มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น ทะเลาะกับผู้ปกครอง แยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนเพื่อไปเล่นเกม

มีงานศึกษาวิจัยพบว่าความรุนแรงจากสื่อจะส่งผลให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว 

เพราะเด็กคิดว่าสิ่งที่เห็นในเกมเป็นสิ่งที่ยังทำได้ เด็กบางคนแยกแยะเรื่องจริงกับสิ่งที่อยู่ในเกมได้ไม่ดี เกมต่างๆจะมีการจัดเรตอายุที่เด็กสามารถเล่นได้เอาไว้ ดังนั้นผู้ปกครองต้องคอยตรวจสอบ

เด็กที่เสพติดเกมมีความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำ 

อดทนรอคอยไม่ได้ เพราะเวลาที่เล่นเกม เมื่อกดปุ่มใดไป จะมีการตอบสนองตอบกลับมาทันที แต่ในชีวิตจริงไม่ว่าจะทำการสิ่งใด ต้องมีการอดทนรอคอยและความพยายามสม่ำเสมอ เช่น อยากเก่งวิชาเลข ต้องฝึกทำโจทย์ให้มาก

เสียการเรียน

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่ายิ่งเด็กวัยรุ่นใช้เวลาเล่นเกมที่มีความรุนแรงมากเท่าไร จะส่งผลให้มีผลการเรียนที่ลดลงมากเท่านั้น เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมทำให้เด็กไม่ได้ทำการบ้าน ไม่ได้ทบทวนหนังสือ ไม่ได้ไปเรียนพิเศษ เวลาที่ต้องเรียนเด็กอาจใจลอย จดจ่อคิดถึงแต่เรื่องที่จะเล่นเกม

การรักษาโรคเสพติดเกม

ผมจะสรุปขั้นตอนที่ผมได้รับการรักษาให้ฟังนะ ของคนอื่นผมไม่รู้แต่น่าจะคล้ายกัน

1.การพูดคุยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการเสพติด (Motivational interview): หมอพูดคุยหลายครั้งโน้มน้าวจนผมเห็นปัญหา ยอมรับ และอยากที่จะเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองดีขึ้น

2.หาโรคที่พบร่วมและให้การรักษา: หมอวินิจฉัยว่าผมเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) ร่วมด้วย จริง ๆ ครูประจำชั้นเคยทักพ่อแม่ให้พาผมไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ชั้นประถมแล้วล่ะ แต่พ่อแม่ว่าผมปกติดี ผมเลยต้องรักษาโรคสมาธิสั้นเพิ่มไปอีกหนึ่ง

3.รักษาอาการลงแดง (withdrawal): ช่วงแรกที่ต้องลดการเล่นเกม ผมสติแตก อาละวาดก้าวร้าว หมอให้ยามากินเพื่อให้ผมสงบขึ้น ตอนแรกเกือบได้แอดมิทที่โรงพยาบาลละ

4.ผู้ปกครองมีความรู้เรื่องเกม: พ่อแม่ต้องรู้ว่าเด็กเล่นเกมแบบไหน อย่าลืมดูเรตเกมด้วย อย่างผมแอบเล่นเกมเรต 18+ รุนแรงสะใจดี 555

5.มีการตั้งกฎกติกาการเล่นเกมตั้งแต่ก่อนให้เล่น ควบคุมอย่างจริงจัง: เป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้ทำเลย ผมเลยว่าที่ผมเสพติดเกมพ่อแม่ก็เป็นส่วนหนึ่งแหละ  ก่อนจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนเรื่องกติกาการเล่นเกม **ห้ามซื้อหรือให้เด็กใช้อุปกรณ์ที่เล่นเกม**

  • การเล่นเกมต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่ ควบคุมได้ เล่นภายในเวลาที่กำหนด ไม่ให้เสียหน้าที่อื่นๆ มีบทลงโทษที่ตามมาถ้าละเมิดกฎ เอาจริงตามที่ตกลงไว้ อย่าแค่ขู่
  • ไม่ควรให้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง วางเครื่องเล่นเกมในสถานที่ที่คนอื่นมองเห็นผู้ใหญ่จะได้ช่วยกันเตือน ตั้งวางนาฬิกาให้เห็นเพื่อคุมให้เล่นภายในเวลาที่กำหนดกันไว้

6.พยายามจัดหากิจกรรมอย่างอื่นให้เด็กทำชดเชยการเล่นเกม เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ

เท่าที่ผมจำได้คร่าว ๆ ก็ประมาณนี้ ผมอาการดีขึ้นละ ตอนนี้ได้เล่นเกมวันละ 2 ชั่วโมงหลังจากที่ทำการบ้านเสร็จ วันหยุดพ่อแม่พาไปทำกิจกรรมหลายอย่าง ผมว่ามันก็สนุกดี ถ้าเพื่อนคนไหนมีปัญหาต้องการคำแนะนำ ผมก็อยากให้เพื่อนๆ ลองพบจิตแพทย์ดูนะครับ

 

Referencehttps://my.clevelandclinic.org/health/diseases/23124-video-game-addictionhttps://americanaddictioncenters.org/video-gaming-addictionhttps://www.psychguides.com/behavioral-disorders/video-game-addiction/https://www.verywellmind.com/what-is-video-game-addiction-22333https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น