Teen Coach EP.80 : 'ความผูกพันทางใจ' ตัวต้นเหตุที่ทำให้เป็นคนนิสัยไม่ดี!

เคยสงสัยกันมั้ยคะ...ว่าทำไมบางคนถึงทำตัว toxic ใส่คนอื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ได้เอะใจ ไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทำนิสัยไม่ดี

 อย่างชอบขี้น้อยใจ นอยด์ได้กับทุกเรื่อง วันหนึ่งทำดีกับเราอีกวันเหมือนผีเข้าเป็นคนละคนกัน ชอบประชดไม่คุยกันตรง ๆ คน toxic มีปัญหาดราม่ากับคนอื่นไปทั่ว จนคนรอบตัวถอยห่างกันหมด คนไข้ที่มาปรึกษาพี่หมอแมวน้ำมีทั้งคนที่เป็นเหยื่อจากความ toxic ของคนอื่นหรือเจ้าตัวที่เป็นมนุษย์ toxic เองมาขอให้หมอช่วยสอนวิธีทำตัวดีกับคนอื่น เพราะเขาเองก็ไม่ได้อยากเป็นคนที่คนอื่นยี้ แต่เขาไม่รู้วิธีทำตัวให้เป็นที่รักจริงๆ

ที่มาที่ไปที่หล่อหลอมให้คน toxic เป็นแบบนี้อาจเริ่มต้นกันตั้งแต่ตอนวัยทารกเลย เขาอาจได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เจอประสบการณ์เลวร้าย (trauma) หรืออีกหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องความผูกพันทางใจ (Attachment theory) ฟังแล้วหลายคนงง ๆ ว่ามันคืออิหยังวะ?! เพราะเรื่องนี้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกัน งั้นตามมาฟังกันเลยค่ะ!

ทฤษฎีเรื่องความผูกพันทางใจ (Attachment theory) ใช้อธิบายเรื่องปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ของคนหนึ่งที่มีกับอีกคน มักพูดในเชิงความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็ก ความรักของคู่รัก มันคือการที่เรารู้สึกรักผูกพันกับคนคนหนึ่ง เมื่อต้องมีการแยกจากจะรู้สึกโหยหา เจ็บปวด (emotional pain) บางคนปลอบโยนตัวเองได้ แต่บางคนใจแตกสลาย

มนุษย์เราตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องแม่ จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ เด็กจะมีความผูกพัน (emotional bonding) กับผู้เลี้ยงดู ซึ่งคุณภาพความสัมพันธ์นี้เป็นต้นแบบของเด็กว่าคนในโลกนี้จะปฏิบัติกับเขาแบบไหน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมในตอนโต เช่น เด็กร้องไห้หิวข้าว พ่อแม่รีบหาข้าวให้กิน แต่เด็กอีกคนร้องแล้วไม่มีใครสนใจตอบสนอง ต้องกรี๊ดอาละวาดถึงจะมีคนมาช่วย  เด็กสองคนนี้เติบโตขึ้นมามีชุดความคิดและปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นต่างกัน อย่างกรณีที่เด็กร้องแล้วมีคนรีบเข้ามาช่วยดูแล เด็กจะมองว่าโลกนี้มั่นคงปลอดภัย ใช้วิธีสื่อสารกันดีๆ ก็ได้รับการตอบรับ ต่างจากเด็กที่ร้องแทบตายกว่าจะได้กินข้าว เด็กมองว่าเพราะตัวเองแย่ โลกนี้น่ากลัวไม่ปลอดภัย ต้องมีพฤติกรรมที่ไม่ดีถึงจะได้สิ่งที่ต้องการ

ทฤษฎีความผูกพันทางใจ (Attachment theory)

John Bowlby นักจิตวิทยาชาวอังกฤษเป็นคนแรกที่พูดถึงเรื่อง attachment เริ่มมาจากการสังเกตปฏิกิริยาของเด็กเล็กที่ต้องแยกจากกับผู้เลี้ยงดูที่มีความผูกพันกันมา (primary caregivers) เด็กที่มี attachment ดี (secure attachment) สามารถสงบใจทำสิ่งอื่นต่อไปได้ไม่กังวลเพราะเชื่อว่ายังไงพ่อแม่ต้องกลับมาหาแน่ ต่างจากเด็กที่มี attachment แย่ (insecure attachment) เด็กไม่เชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะกลับมา น่าจะทอดทิ้ง ทำให้เด็กกลัว กังวล กระวนกระวาย สับสน จนไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ เขาเชื่อว่าเด็กที่มี secure attachment ที่ได้รับการตอบสนองดูแลปกป้องเป็นอย่างดีจะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าตามหลักคัดสรรทางธรรมชาติ (natural selection) รูปแบบ attachment นี้จะติดตัวคนคนนั้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ หากมี attachment ที่ไม่ดีในวัยเด็กจะส่งผลให้มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่นรอบตัวในอนาคต

Mary Ainsworth นักจิตวิทยาเป็นคนทดสอบสมมุติฐานทฤษฎี attachment ของ John Bowlby โดยการทำการทดลองปฏิกิริยาของเด็กเมื่อต้องแยกจากกับผู้เลี้ยงดูแล้วไปอยู่กับคนแปลกหน้า (Strange Situation study) เด็กที่เข้าร่วมงานวิจัยอายุ 12 -18 เดือนตอนแรกจะได้อยู่กับแม่ หลังจากนั้นแม่ออกจากห้องไปทิ้งให้เด็กอยู่ตามลำพัง มีคนแปลกหน้าเดินเข้ามา ดูว่าเด็กจะมีพฤติกรรมอย่างไร สุดท้ายคนแปลกหน้าออกจากห้องแล้วแม่กลับมาในห้องอีกครั้ง เด็กแต่คนแสดงอาการที่ต่างกัน เช่น

  • บางคนเมื่อเจอกับแม่อีกครั้งจะรีบโผกอดดื่มด่ำกับความรู้สึกโหยหาเวลาที่แม่ไม่อยู่ คุยเล่นกับแม่ได้เป็นปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
  • บางคนเมินแม่ ไม่สนใจ เหมือนแม่ไม่ได้อยู่ในห้องนั้น แสดงท่าทีโกรธวิ่งเข้าไปทำร้ายแม่

รูปแบบของ attachment

1. ความผูกพันทางใจที่มั่นคง (Secure attachment)

เกิดขึ้นได้เมื่อผู้ดูแลมอบความรัก การเอาใจใส่ ตอบสนองความต้องการของเด็กในเวลาที่เด็กต้องการ เช่น เวลาหิวก็ป้อนนมให้ มีความคงเส้นคงวา ไม่ขึ้นๆ ลงๆ เวลาที่เด็กรู้สึกทุกข์ร้อน ผู้ดูแลสามารถบรรเทาปลอบโยน ทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัย คิดว่าโลกนี้น่าอยู่ เชื่อถือได้

 

แม้ผู้ดูแลไม่ได้อยู่ใกล้ๆ เด็กจะมีภาพผู้ดูแลอยู่ในใจ (object constancy) เด็กสามารถปลอบใจตัวเองได้ มั่นใจว่าจะไม่โดนทิ้ง เวลาที่ผู้ดูแลไม่อยู่แล้วผู้แลกลับมา เด็กจะโผเข้าหาและแสดงความดีใจที่ได้เจอกันอีกครั้ง

 

เด็กที่มี Secure attachment เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น มั่นคง (consistency) ไม่เปลี่ยนแปลงแกว่งไปมา สามารถให้ความรักความอบอุ่นกับคนรอบตัวได้

2.มีความผูกพันทางใจที่ไม่มั่นคง (insecure attachment)

เนื่องจากเด็กขาดความมั่นคงทางใจ มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับผู้เลี้ยงดู เด็กเรียนรู้รูปแบบความสัมพันธ์ที่ toxic เด็กไม่เคยเจอความสัมพันธ์ที่ดีต่อใจ (healthy relationship) เลยเข้าใจว่าคนเราก็เป็นแบบนี้แหละ เมื่อโตขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับคนอื่นแบบแปลกๆ ทำให้เกิดปัญหาทะเลาะกัน ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนานได้ กลายเป็น toxic relationship เช่น เรียกร้องจากอีกฝ่ายมากเกินไป ต้องการอยู่ตัวติดกันตลอด จนอีกฝ่ายไม่มี space ส่วนตัว บางคนดูห่างเหิน ไม่สนใจอีกฝ่าย ความสัมพันธ์ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

2.1. ความผูกพันแบบกังวลก้ำๆกึ่งๆ (anxious-ambivalent attachment)

เกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกกังวลตอนที่ต้องแยกจากกับผู้ดูแล แม้ผู้ดูแลจะกลับมา แต่เด็กยังรู้สึกไม่มั่นคงอยู่ดี ใจหนึ่งอยากเข้าไปหา แต่อีกใจยังโกรธ เสียใจ ไม่มั่นใจ เลยก้ำๆ กึ่งๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ได้เข้าหาอย่างเต็มที่ ในการทดลองเด็กบางคนวิ่งเข้าไปกอดสลับทุบตีแม่ หรือยอมให้แม่กอดแต่เบือนหน้าหนี

2.2. ความผูกพันแบบหลบเลี่ยง (anxious avoidant attachment)

เมื่อผู้ดูแลแยกจากไป เด็กกังวลมาก แต่เมื่อผู้ดูแลกลับมา เด็กกลับหลบเลี่ยง ไม่กล้าเข้าไปหาผู้ดูแล การทดลองจะเห็นเด็กนิ่งเฉย ทำเป็นไม่รับรู้ว่าแม่กลับมาแล้ว หากแม่เข้าหาจะพยายามหนี 

2.3. ความผูกพันแบบไม่มีรูปแบบที่แน่นอน (Disorganized attachment)

เมื่อผู้ดูแลไม่อยู่เด็กจะกังวลอย่างมาก แต่พอผู้ดูแลกลับมาแต่ละครั้ง เด็กจะไม่มีรูปแบบการตอบสนองที่แน่นอน บางครั้งก็ก้ำๆกึ่งๆ สลับกับหลบเลี่ยง เดาทางยาก ซึ่งเป็นรูปแบบความผูกพันทางใจแบบนี้เป็นความสัมพันธ์ที่แย่ที่สุด

 

พัฒนาการปกติตามวัยของการเกิด attachment

ทารกก่อนอายุ 7-11 เดือนจะยังแยกผู้เลี้ยงดูที่ใกล้ชิด (primary caregiver) กับคนแปลกหน้าไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านพัฒนาการทางสมองและอวัยวะต่าง ๆ ที่ยังทำงานไม่เต็มที่ แต่หลังจากนั้นระบบประสาทสัมผัสจะทำงานดีขึ้น เช่น ตามองเห็นรายละเอียดสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ละเอียดและชัด จมูกที่แยกแยะกลิ่นแต่ละคนได้ เด็กจะเริ่มรู้ว่าใครเป็นผู้ดูแลหลักที่เด็กติดหนึบ หากต้องแยกจากกันเด็กจะเกิดความกังวล (separation anxiety) หรือกังวลใจตอนอยู่กับคนแปลกหน้า (stranger anxiety) ซึ่งเด็กที่มี Secure attachment แม้จะกังวลแต่เค้ามีภาพคนที่เค้ารักอยู่ในใจ (object constancy) แม้มองไม่เห็นด้วยตาแต่ในสมองนึกภาพออก ทำให้เด็กลดความกังวลลง ทำกิจกรรมต่อไปได้ตามปกติ แต่เด็กที่ InSecure attachment เด็กไม่มีความผูกพันทางใจที่มั่นคงกับใคร นึกภาพคนที่เป็นหลักยึดไม่ออก ทำให้เด็กกังวล ซึ่งแสดงออกด้วยปัญหาพฤติกรรมได้ เช่น อาละวาดก้าวร้าว เงียบซึมไม่เรียนรู้

วิธีที่จะช่วยให้เด็กมี Secure attachment ในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ผู้เลี้ยงดูต้องพยายามตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างคงเส้นคงวา ไม่ใช้อารมณ์ เล่นและให้ความรักความอบอุ่นเต็มที่ พยายามให้มีคนดูแลเป็นหลัก 1 คน (หลายคนเด็กจะสับสนได้)

วิธีการรับมือกับคนที่มี Insecure attachment

การอยู่ในสังคมเราต้องเจอคนที่หลากหลาย ไม่ใช่ทุกคนที่จะเติบโตมาอย่างมี Secure attachment หากคนที่เราต้องไปมีความสัมพันธ์ด้วย เช่น แฟน เพื่อน จัดอยู่ในกลุ่ม Insecure attachment พฤติกรรมที่เขาแสดงออก เช่น อยู่ดีๆ ก็งอน นอยด์ตลอดเวลา หาเรื่องทะเลาะ วีนเหวี่ยงชอบโทษคนอื่น มันทำให้เราโกรธ รำคาญ หงุดหงิด เบื่อ อยากจะรีบหนีหรือจบความสัมพันธ์ toxic นี้เพราะจะพาชีวิตเราพังไปด้วย เราสามารถเลือกได้ว่าจะเอาตัวออกห่างหรือเลือกที่จะช่วยให้เขาเกิดการเรียนรู้ใหม่ว่าต่อให้เขาจะทำตัวแย่แค่ไหน แต่อย่างน้อยมีเราคนหนึ่งที่จะยืนอยู่ตรงนี้เสมอ

1. ทำความเข้าใจที่มาของพฤติกรรม : การที่เรารู้ข้อมูลเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาของเขา เราจะเข้าใจ (empathy) ทำให้เรามีเมตตาและความอดทนกับเขามากขึ้น

2. สงบใจตัวเองตอนเขาคลั่ง : เมื่อเขามีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก มันทำให้เราคิดลบและรู้สึกแย่ หากใจเรายังไม่พร้อม ไม่รู้จะรับมืออย่างไร ให้ถอยตัวเองออกมาตั้งหลักก่อน ไม่อย่างนั้นเราอาจต่อว่า ประชดกลับ หรือทำสิ่งที่แย่ ๆ ตอบโต้ ยิ่งเป็นการเน้นย้ำว่าตัวเขาไม่ดี สมควรแล้วที่จะไม่ได้รับความรัก

3. พูดคุยกันด้วยเหตุผล : เมื่อสองฝ่ายสงบพร้อมที่จะคุย ให้คุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไรทำให้เขาคิด รู้สึก และแสดงพฤติกรรมแบบนั้นออกมา เจ้าตัวอาจไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรในสถานการณ์นั้นที่จะไม่เป็นการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ เราสามารถให้คำแนะนำเขาได้ว่าครั้งต่อไปควรมีพฤติกรรมแบบไหน

4. แก้กันเองไม่ได้ผลให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ : ถ้าเราพยายามที่จะช่วยเขาเต็มที่แต่ทุกอย่างวนลูปพังซ้ำ ๆ แสดงว่าวิธีนี้ไม่เวิร์กแล้ว ลองชวนเขาไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อที่จะหาสาเหตุ และวิธีการรักษาแก้ไข แต่ท้ายที่สุดถ้าเขาปฏิเสธทุกการช่วยเหลือ ก็ต้องปล่อยเขาไป รักษาใจเราไว้ดีกว่า

 

ถ้าน้อง ๆ คนไหนรู้สึกลำบากใจกับคนรอบตัวที่ toxic หรือรู้ว่าตัวเองเป็นคน toxic แล้วอยากจะแก้ไข หรือมีเรื่องมาแชร์เล่าบอก คอมเมนต์กันมาได้เลยนะคะ

 

 Reference https://www.verywellmind.com/what-is-attachment-theory-2795337 https://www.simplypsychology.org/attachment.htmlhttps://positivepsychology.com/attachment-theory/https://www.psychalive.org/how-your-attachment-pattern-influences-your-life/https://kids.frontiersin.org/articles/10.3389/frym.2023.809060

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด