รู้สึกแย่ทำไงดี ? รวม 6 แอปฯ สุขภาพจิต ช่วยฮีลใจในวันที่หมองหม่น

ช่วงนี้มีใครกำลังรู้สึกแย่อยู่รึเปล่า ?

สวัสดีค่ะน้อง ๆ ชาว Dek-D ทุกคน หลังจากเปิดเทอมมาได้ซักพักแล้วเป็นยังไงกันบ้างคะ ? หลายคนอาจจะอยู่ในช่วงกำลังปรับตัวกับโรงเรียนใหม่ เพื่อนใหม่ หรือภาระงานที่กำลังจะค่อย ๆ ถาโถมเข้ามาหา จนทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อย เครียด เศร้า หรือวิตกกังวลได้ วันนี้พี่แคทก็เลยอยากจะมาแนะนำแอปพลิชันดี ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยฮีลใจน้อง ๆ ในวันที่รู้สึกแย่ให้กลับมาดีขึ้นกันค่ะ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

ความรู้สึกแย่มันเกิดจากอะไรกันนะ ?

ความรู้สึกแย่เป็นอารมณ์ด้านลบของตัวเราเองที่เกิดขึ้นมา ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยอาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลังไปกระตุ้นทำให้ตัวเราเองเกิดความรู้สึกด้านลบขึ้น ส่งผลให้ความรู้สึกแย่ ๆ ตามมา เพราะตัวเราเองไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตรงนั้นได้ หรือมันอาจจะเป็นความรู้สึกบางอย่างที่ติดตัวเรามาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พอมีอะไรไปสะกิดนิดหน่อยก็จะทำให้ความรู้สึกแย่นั้นเกิดขึ้นมาได้

รวม 6 แอปฯ สุขภาพจิต ช่วยฮีลใจในวันที่หมองหม่น

1. Wysa: Mental Health Support

ในวันที่รู้สึกแย่  หากน้อง ๆ ต้องการใครซักคนที่สามารถเล่า ระบายความรู้สึกให้ฟังได้ โดยที่เราเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่ตัดสินเรา และเอาเรื่องของเราไปพูดต่อ แอปพลิเคชัน Wysa ถือว่าตอบโจทย์มากเลยค่ะ เพราะเจ้าแอปฯ ตัวนี้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนเพื่อนสนิทของเรา ที่ไม่ว่าเราจะมีปัญหา เครียด หรือวิตกกังวลในเรื่องใดก็ตาม เราจะสามารถแชตพูดคุย รวมถึงระบายความในใจกับบอทได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งในทุก ๆ การสนทนาจะใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์บทสนทนาและตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของเราด้วยความเห็นอกเห็นใจ ทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย อีกทั้งเรื่องราวที่สนทนากันก็จะถูกเก็บเป็นความลับอีกด้วย น้อง ๆ สบายใจได้เลยค่ะ

ภาษา : อังกฤษ

ดาวน์โหลด : Android, iOS

ค่าใช้จ่าย : ฟรี

2.Calm

น้อง ๆ เคยเป็นไหมคะ? แค่การใช้ชีวิตทั้งวันก็เต็มไปด้วยเรื่องน่าปวดหัว มีเรื่องให้คิดมากมายอยู่แล้ว พอจะได้เวลาพักผ่อนข่มตาลงนอนดันมีเรื่องผุดขึ้นมาวนเวียนให้คิดในหัวไม่หยุดอีก แอปพลิเคชัน Calm เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้น้อง ๆ มีสมาธิ และทำให้การนอนหลับเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะแอปฯ นี้จะมีคำแนะนำในเรื่องของการนอนหลับ รวมถึงมีนิทานก่อนนอนสำหรับคนที่นอนหลับยากด้วย อีกทั้งยังมีฟังก์ชันพิเศษ คือ เสียงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นเสียงฝน หรือเสียงธรรมชาติต่าง ๆ ทำให้จิตใจของเราสงบ และผ่อนคลายจากเรื่องแย่ ๆ ได้ค่ะ

ภาษา : อังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาเกาหลี, ภาษาโปรตุเกส, ภาษาสเปน

ดาวน์โหลด : Android, iOS

ค่าใช้จ่าย : ฟรี

3.Alljit

เป็นแอปพลิเคชันสำหรับเอาไว้แลกเปลี่ยน หรือแชร์ประสบการณ์ในเรื่องสุขภาพจิต และความในใจผ่านแชตได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีความแตกต่างจากแอปฯ อื่น ๆ ตรงที่ไม่ใช่เป็นการพูดคุยกับบอท หรือผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แต่เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราสามารถพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ หรือระบายความในใจกับผู้อื่นที่มีความกังวลใจเช่นเดียวกับเรา โดยเราสามารถเลือกได้ด้วยว่าอยากจะเป็นผู้ระบาย หรือผู้รับฟัง ข้อดีก็คือการที่เราได้พูดคุยกับคนแปลกหน้า จะทำให้เรากล้าที่จะระบายความในใจออกมาได้มากกว่าระบายให้คนรู้จักฟัง นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทความ ลิสต์พอดแคสต์พัฒนาจิตใจ ฟังก์ชันโพสต์ความในใจลงหน้าฟีด ให้เพื่อน ๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น หรือจะเป็นแบบประเมินเบื้องต้นให้เราได้เช็กสภาพจิตใจของตัวเองก็รวมอยู่ในแอปฯ นี้เลย เรียกได้ว่าเป็นแอปฯ ที่ครบเครื่องจริง ๆ 

        Nicholas Epley & Juliana Schroeder จากมหาวิทยาลัยชิคาโก้และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้วิจัยและทำการทดลอง พบว่า การพูดคุยกับคนแปลกหน้าทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเล็ก ๆ เกี่ยวกับการคุยกับคนแปลกหน้าบนรถไฟและรถเมล์ โดยแบ่งทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ทักทายและให้ลองคุยกับคนแปลกหน้า แต่อีกกลุ่มให้ยืนเงียบ ๆ ไม่พูดกับใคร ผลปรากฏว่ากลุ่มคนที่ได้ลองคุยกับคนแปลกหน้าส่งผลดีต่อสุขภาพจิตมากกว่า แม้กระทั่งคนที่เป็น Introvert ก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้นในการที่ได้คุยกับคนแปลกหน้าอีกด้วย

ภาษา : ไทย

ดาวน์โหลด : Android, iOS

ค่าใช้จ่าย : ฟรี

4.Ooca

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครที่อยากดูแลสุขภาพจิต แล้วต้องการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ไม่อยากคุยผ่านแชตบอท แอปพลิเคชัน Occa ถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้เราสามารถปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้โดยตรงผ่านทางออนไลน์ด้วยระบบวิดีโอคอล  ซึ่งเราจะสามารถเลือกได้เลยว่าอยากคุยกับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคนไหน ทำให้การพบจิตแพทย์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะสามารถปรึกษาได้ 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง และแน่นอนว่าการพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาโดยตรงจะช่วยทำให้เรามั่นใจในคำแนะนำที่ได้ รวมถึงมั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าเรื่องราวของเราจะถูกเก็บเป็นความลับ ใครที่กำลังมีเรื่องเครียดพี่แคทแนะนำแอปฯ นี้เลย!

ภาษา : ไทย

ดาวน์โหลด : Android, iOS

ค่าใช้จ่าย : ปรึกษานักจิตวิทยา 1,000 บาท/30 นาที และปรึกษาจิตแพทย์ 1,500 บาท/30 นาที

 5.MOODA

MOODA แอปพลิเคชันยอดฮิตสำหรับวัยรุ่นที่เอาไว้ใช้ฮีลใจในวันแย่ ๆ เพราะเจ้าแอปฯ ตัวนี้เป็นเสมือนไดอารี่ออนไลน์ที่ออกแบบมาให้เราได้บันทึกเรื่องราวในแต่ละวันอย่างสั้น ๆ ว่าในวันนั้นเราเจอเรื่องราวอะไรมาบ้าง ที่พิเศษคือ จะมีอิโมจิแสดงอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้  หรือโกรธ ให้เราบันทึกด้วยว่าตอนนั้นเรารู้สึกแบบไหน เหมือนเป็นตัวช่วยปลดล็อกอารมณ์ความรู้สึกของเราให้เบาลง และทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังมีฟีเจอร์ในการโพสต์ลงโซเชียลเพื่อแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกของเราในวันนั้นให้คนอื่นได้รู้อีกด้วย น่าสนใจสุด ๆ

ภาษา : อังกฤษ

ดาวน์โหลด : Android, iOS

ค่าใช้จ่าย : 29 บาท

Tips : การเขียนไดอารี่ช่วยจัดการความรู้สึกแย่ได้จริงเหรอ?

ข้อมูลจากวารสารของ Advances in Psychiatric Treatment ได้ศึกษาเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งนักจิตวิทยาพบว่า การเขียนบันทึกโดยใช้เวลา 15 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 3-5 วันต่อสัปดาห์ สามารถช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษาจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ ถึงแม้จะพบเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก็ตาม

6.WithU

แอปพลิเคชัน WithU เป็นแอปฯ สำหรับเติมกำลังใจให้ชีวิตผ่านวิดเจ็ตหน้าจอโทรศัพท์ของเรา โดยจะมีข้อความให้กำลังใจเขียนใส่การ์ดน่ารัก ๆ สุ่มมาให้มากมายไม่ซ้ำในแต่ละวัน ซึ่งภาพต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกออกแบบสร้างสรรค์มาจาก Creator และ Local Artist ในประเทศไทยที่ดังบนอินสตาแกรม เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยในการฮีลใจที่ดีโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรยุ่งยากเลย เพราะเพียงแค่เปิดเข้าไปในแอปฯ หรือตั้งให้แสดงผ่านวิดเจ็ตหน้าจอโทรศัพท์ของเราเท่านี้ก็ได้กำลังใจอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว รู้อย่างนี้ต้องรีบไปโหลดมาติดเครื่องไว้เลยค่ะ!

ภาษา : อังกฤษ

ดาวน์โหลด : Android, iOS

ค่าใช้จ่าย : ฟรี

       สุขภาพจิตเป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจและให้ความสำคัญ ดังนั้นช่วงนี้ใครกำลังเครียด หรือมีปัญหากังวลใจก็อย่าปล่อยไว้นาน พี่แคทแนะนำว่าให้ไปโหลดแอปฯ พวกนี้มาลองใช้ดู เชื่อว่าจะช่วยทำให้วันที่รู้สึกแย่ของน้อง ๆ ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาสุขภาพจิตเท่านั้น สุดท้ายแล้วตัวเราเองก็ต้องดูแลรักษาใจตัวเองด้วย หมั่นสังเกตและติดตามพฤติกรรมของตัวเองอยู่เสมอ พี่แคทเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ สุดท้ายนี้น้อง ๆ Dek-D คนไหนเคยใช้แอปฯ เหล่านี้แล้วเป็นยังไงบ้าง มาคอมเมนต์แชร์ประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทางให้เพื่อน ๆ กันได้นะคะ

ข้อมูลจากhttps://www.wysa.comhttps://www.calm.comhttps://doc.dmh.go.th/report/innovation/files/info%20Suicide.pdfhttps://ooca.cohttps://apps.apple.com/th/app/withu/id1634761458?l=thhttps://apps.apple.com/th/app/mooda-legacy/id1476256748?l=thรูปภาพจากhttps://www.bustle.com/p/journaling-for-mental-healthhttps://www.bbc.com/news/world-48459940รูปภาพจากhttps://apps.apple.com/th/app/wysa-mental-health-support/id1166585565?l=thhttps://apps.apple.com/th/app/ooca-https://apps.apple.com/th/app/withu/id1634761458?l=thhttps://apps.apple.com/th/app/mooda-legacy/id1476256748?l=thhttps://apps.apple.com/th/app/calm/id571800810?l=thhttps://apps.apple.com/th/app/alljit
พี่คิทแคท
พี่คิทแคท - Columnist นอกจากกินเก่งกับนอนเก่งแล้ว ก็ไม่เก่งอะไรอีกเลย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น