เล่าหมดไม่สนลูกใคร! Trauma Dumping พฤติกรรมชอบเล่าความทุกข์ให้คนอื่นฟัง โดยไม่ถามความสมัครใจ

เล่ามากไป ก็ทำลายความสัมพันธ์ได้นะ!

เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนต้องเคยรับบทเป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อนสนิท หรือคนใกล้ตัวในยามที่เขามีปัญหาทุกข์ใจใช่มั้ยคะ ในทางกลับกันตัวเราเองก็ต้องมีวันที่รับบทเป็นผู้ระบายเวลาที่เจอปัญหาด้วยเช่นกัน การระบายความทุกข์เป็นเรื่องที่ดี สามารถปลดล็อกให้ตัวเรารู้สึกดีขึ้นได้ก็จริง แต่น้อง ๆ รู้มั้ยคะว่าหากเราระบายมากเกินความจำเป็นก็สามารถส่งผลเสียต่อคนที่คอยรับฟังได้นะ จะเป็นยังไงไปดูกันค่ะ

Trauma Dumping 

การเล่า หรือระบายความทุกข์ของตัวเองให้คนอื่นฟังมากเกินไป โดยที่ไม่ถามความสมัครใจ จนทำให้อีกฝ่ายเกิดความอึดอัด พฤติกรรมนี้ถูกเรียกว่า Trauma Dumping หรือ การทิ้งบาดแผลทางจิตใจ ซึ่ง Urban Dictionary ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการทิ้งหรือถ่ายเทอารมณ์ทั้งหมดอย่างไม่ปราณีไปให้กับเพื่อนหรือคนรู้จัก ซึ่งจะแตกต่างจากการระบายความทุกข์ใจ (Healthy Venting) ที่อีกฝ่ายเต็มใจที่จะรับฟังและสนับสนุนความรู้สึกของเราอย่างเต็มที่ โดยไม่รู้สึกอึดอัด

ภัยเงียบของ ‘Trauma Dumping’ ที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว

สำหรับคนที่เก็บอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองไม่อยู่ มีอะไรก็ชอบเล่าให้คนอื่นฟังไปหมดทุกอย่าง เพราะคิดว่าคนที่เล่าให้ฟังคือคนที่เราไว้ใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเราได้  เมื่อเล่าจบปุ๊ปทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นก็แยกย้าย แต่หารู้ไม่ว่าความทุกข์ที่เราระบายออกมาให้ใครซักคนหนึ่งฟังโดยที่เขาไม่ได้อยากรู้ หรือไม่พร้อมจะรับฟังนั้นจะอยู่กับเขาไปตลอด ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการที่เราเอาขยะในตัวเราไปปาใส่คนอื่น ทำให้เขาต้องกลายเป็นคนที่แบกรับความทุกข์แทน และหากสะสมไปนานวันเข้าก็จะกลายเป็นความอึดอัด และนำไปสู่การทำลายความสัมพันธ์ได้

เช็กลิสต์เรามีพฤติกรรม Trauma Dumping หรือเปล่า ?

  • ระบายความรู้สึกออกมาโดยไม่ได้ถามก่อนว่าคนอื่นพร้อมฟังมั้ย
  • เล่าเรื่องราวของตัวเองละเอียดยิบ ใช้เวลานาน
  • ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นพูด หรือแสดงความคิดเห็น
  • เล่าความทุกข์ของตัวเองต่อเนื่อง ไม่ถามเรื่องของคนอื่นบ้าง
  • เล่าเรืื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา
  • ไม่พยายามหาทางแก้ปัญหาที่มีอยู่

วิธีระบายความทุกข์ง่าย ๆ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

สำหรับใครที่มีเรื่องไม่สบายใจจริง ๆ แต่ไม่รู้จะหาทางออกยังไง วันนี้พี่แคทมีวิธีระบายความทุกข์ง่าย ๆ ทำแล้วได้ผล แถมไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมากฝากค่ะ 

ฝึกสมาธิและสติ

เมื่อเกิดความไม่สบายใจ บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องพึ่งคนอื่นตลอดก็ได้นะ ลองเริ่มจากการพึ่งพาตัวเองดูก่อน อาจทำง่าย ๆ โดยลองตั้งสติ หรือทำสมาธิ ฝึกหายใจให้อารมณ์เย็นลง เมื่อเรามีสติ มีสมาธิแล้ว จะช่วยทำให้เราหาทางออกจากปัญหาต่าง ๆ ได้ และทำให้เรื่องทุกข์ใจที่เกิดขึ้นคลี่คลายลงได้ค่ะ

จดบันทึก 

สมุดบันทึกถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุดในการปลดปล่อยอารมณ์ของเรา  รู้สึก นึก คิดอะไรก็เขียนระบายออกมาให้เต็มที่เลย เพราะนอกจากจะเป็นความลับที่ไม่มีใครหาเจอแล้ว ยังทำให้เราได้ไตร่ตรองความคิดและความรู้สึกไปในระหว่างที่กำลังเขียนด้วย 

ออกกำลังกายคลายเครียด

วันไหนที่เครียดมาก ๆ ก็หาเวลาไปออกกำลังกายแค่ 10-15 นาทีก็ยังดี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ร่างกายได้หลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายขึ้น และยังทำให้เราได้โฟกัสกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ จะได้ไม่ต้องมีเวลาไปนึกถึงเรื่องที่ทำให้ปวดหัวด้วย

ใช้ความคิดสร้างสรรค์

มองหากิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรืออาจจะเป็นกิจกรรมที่เราชอบทำก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ หรือทำอาหาร จะช่วยทำให้อารมณ์ดี และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับชีวิตได้

ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่การหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาโพสต์อารมณ์ความรู้สึกของเราระบายลงบนโซเชียล แต่คือการใช้แอปพลิเคชันที่ออกแบบขึ้นมาสำหรับเอาไว้ให้พูดคุย หรือระบายความรู้สึกของเราได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับบอท หรือคนที่อยากรับฟังเราจริง ๆ ก็ตาม วิธีนี้ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย

 พบผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนสนิท หรือหรือคนใกล้ตัวไม่ใช่นักจิตบำบัด และพวกเขาก็อาจจะมีเรื่องทุกข์ใจของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด และยังช่วยรักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวเอาไว้ คือการพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัด เพราะนอกจากจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เราค้นพบทางออกที่เหมาะสมกับตัวเองด้วย

การระบายความรู้สึกให้เพื่อนหรือคนใกล้ตัวฟังไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรถามความสมัครใจก่อนเล่าว่าเพื่อนพร้อมฟังมั้ย และหากเล่าไปแล้วก็ควรเล่าเรื่องราวอย่างมีขอบเขต เพื่อไม่ให้คนรับฟังเกิดความรู้สึกอึดอัด จนนำไปสู่การสูญเสียความสัมพันธ์

หากน้อง ๆ คนไหนอยากจะพูดคุย หรือระบายกับใครซักคนจริง ๆ พี่แคทก็แนะนำว่าให้ใช้แอปพลิเคชันสำหรับระบาย หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดีที่สุด ยิ่งสมัยนี้การพบผู้เชี่ยวชาญสามารถปรึกษาทางออนไลน์ตามแอปฯ ต่าง ๆ ได้แล้วด้วย สะดวกสบายสุด ๆ ถ้าอยากรู้ว่ามีแอปฯ อะไรบ้างวันนี้พี่แคทหามาเสิร์ฟให้แล้ว ตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ รู้สึกแย่ทำไงดี ? รวม 6 แอปฯ สุขภาพจิต ช่วยฮีลใจในวันที่หมองหม่น หรือจะมาปรึกษาเพื่อน ๆ ชาว Dek-D ที่เว็บบอร์ดปัญหาวัยรุ่นก็ได้เหมือนกันนะ อิอิ^^

ข้อมูลจาก :https://www.insider.com/guides/health/mental-health/trauma-dumping?fbclid=IwAR103VA-https://www.psychologytoday.com/us/blog/positively-media/202109/how-overcome-social-media-trauma-dumpingรูปภาพจาก :https://www.freepik.com/free-photo/medium-shot-asian-man-shoutinghttps://www.freepik.com/free-photo/hard-working-even-morning-bed-is-key-successhttps://www.freepik.com/free-photo/close-up-hand-painting-home_13757450.htm#queryhttps://www.freepik.com/free-photo/serious-asia-male-doctor-white-medical-uniform-using
พี่คิทแคท
พี่คิทแคท - Columnist นอกจากกินเก่งกับนอนเก่งแล้ว ก็ไม่เก่งอะไรอีกเลย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น