เปิดเส้นทางการศึกษา ‘พี่เฟิร์น สุกี้ตี๋น้อย’ จากพนักงานออฟฟิศเงินเดือนหลักหมื่น สู่เจ้าของธุรกิจร้านสุกี้พันล้าน

เปิดเส้นทางการศึกษา ‘พี่เฟิร์น สุกี้ตี๋น้อย’ จากพนักงานออฟฟิศเงินเดือนหลักหมื่น สู่เจ้าของธุรกิจร้านสุกี้พันล้าน

ถ้าพูดถึงร้านอาหารบุฟเฟ่ต์สายชาบู สุกี้ คงไม่มีน้องๆ คนไหนไม่รู้จัก ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ที่เปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงวันจนเช้าตรู่ แต่ใครจะรู้ว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจสุกี้พันล้านที่มีสาขาทั่วกรุงเทพและปริมณฑล คือ ‘พี่เฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ นักธุรกิจสาวดีกรีนักเรียนจบนอก แน่นอนว่าคงไม่มีเว็บไซต์ไหนที่กล่าวถึงช่วงชีวิตในวัยเรียนของพี่เฟิร์นมาก่อน ในวันนี้ คอลัมน์ The Success : การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ของ Dek-D จะมาเปิดเส้นทางการศึกษา และจุดพลิกผันจากพนักงานออฟฟิศสู่เจ้าของธุรกิจนั้นมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร  

เปิดเส้นทางการศึกษา ‘พี่เฟิร์น สุกี้ตี๋น้อย’ จากพนักงานออฟฟิศเงินเดือนหลักหมื่น สู่เจ้าของธุรกิจร้านสุกี้พันล้าน
เปิดเส้นทางการศึกษา ‘พี่เฟิร์น สุกี้ตี๋น้อย’ จากพนักงานออฟฟิศเงินเดือนหลักหมื่น สู่เจ้าของธุรกิจร้านสุกี้พันล้าน

ไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ 14 เพราะอยากเก่งอังกฤษ

พี่เฟิร์นเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจร้านอาหารมาโดยตลอด แต่ไม่เคยลงไปคลุกคลีกับกิจการของที่บ้านเลย เพราะครอบครัวอยากให้เรียนหนังสือเป็นหลัก ตอนประถมเรียนอยู่ที่ โรงเรียนอมาตยกุล จนถึง ป.4 หลังจากนั้นก็ย้ายไปที่เรียนโรงเรียนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ (St.Stephen’s International School) จนจบ ป.6 ส่วนมัธยมเรียนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์กรุงเทพฯ (Harrow International School Bangkok) เรียนได้ประมาณปีกว่าๆ ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ตอนอายุ 14 ปี

เหตุผลที่ทำให้เลือกไปเรียนต่อที่ต่างประเทศเพราะพี่เฟิร์นรู้สึกว่า ตัวเองไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษมากนัก แม้ว่าจะเรียนอยู่โรงเรียนนานาชาติก็ตาม เพื่อนๆ ส่วนใหญ่เป็นคนไทยกันหมด จะได้ใช้ภาษาอังกฤษจริงๆ ก็ต่อเมื่อตอนเรียนเท่านั้น เลยทำให้ไม่ค่อยมีความมั่นใจในการพูดหรือใช้ภาษาอังกฤษ ประกอบกับมีเพื่อนเคยไปเรียนที่อังกฤษแล้วมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง พอได้ฟังจึงอยากไปบ้าง เพราะมีเป้าหมายที่อยากจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ และอยากพูดภาษาอังกฤษเก่งๆ ได้เหมือนกับคนต่างชาติ

ในตอนแรกที่บอกกับครอบครัวว่าจะไปเรียนต่างประเทศทุกคนไม่มีใครเห็นด้วยเลย แต่สุดท้ายครอบครัวก็ยอมให้ไป เพราะเห็นถึงความตั้งใจของพี่เฟิร์นจริงๆ ซึ่งประเทศที่เลือกไปคือ ออสเตรเลีย โดยเลือกเรียนที่ ‘Kardinia International College’ รัฐวิคตอเรีย การไปเรียนที่ออสเตรเลียครั้งนี้สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่เรื่องเรียน เพราะเนื้อหาในบทเรียนของที่นี่ง่ายกว่าตอนที่เรียนในประเทศไทยมากๆ แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวกับบรรยากาศในชั้นเรียนต่างหากที่ทำให้พี่เฟิร์นรู้สึก culture shock เล็กน้อย เพราะนักเรียนที่นี่ทุกคนกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้ายกมือถามคุณครูตลอดทั้งคาบ ด้วยความที่พี่เฟิร์นเป็นเด็กนิ่งๆ ไม่กล้าพูด จึงทำให้ช่วงแรกอาจจะรู้สึกอึดอัดไปบ้าง แต่เมื่อปรับตัวได้ก็สามารถพูดคุยและเข้ากับเพื่อนๆ ได้เป็นอย่างดี  

ช่วงแรกที่ไปอยู่ก็ต้องพบเจอกับอาการ Home sick เพราะไม่เคยอยู่ห่างครอบครัวขนาดนี้ ซึ่งพ่อแม่ก็ชวนให้กลับมาที่ไทย แต่ก็ยังยืนยันคำเดิมว่าจะเรียนต่อ เพราะมันคือสิ่งที่ตัวเองเลือกแล้ว ดังนั้นก็ต้องอดทนและทำให้เป้าหมายของตัวเองสำเร็จให้ได้  

เลือกเรียนจากความชอบและความสนใจของตัวเองเป็นหลัก

หลังจากเรียนจบ Year 12 (ม.6) ก็เรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลียเหมือนเดิม โดยเลือกเรียนเกี่ยวกับ Economics and Finance ที่ University of Melbourne ที่เรียนด้านนี้เพราะว่า เคยเรียนวิชา  Economics (เศรษฐศาสตร์) ตอน ม.ปลาย แล้วรู้สึกสนุกและชอบมากๆ จึงตัดสินใจเรียนต่อด้านนี้โดยเฉพาะ ที่สำคัญเป็นคณะที่ดังมาก และมหาวิทยาลัยก็ยังติด Top 20 ของโลกอีกด้วย จึงเป็นความท้าทายที่ทำให้อยากสอบติดที่นี่ให้ได้  

สำหรับ Economics and Finance เป็นหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน ที่เน้นการนำความรู้และเทคนิคจากทั้งสองศาสตร์ไปใช้ในด้านต่างๆ เช่น ตลาดการเงิน และการเงินขององค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพในอุตสาหกรรมการเงิน  

เมื่อเรียนจบปริญญาตรีพี่เฟิร์นยังไม่แน่ใจว่าอยากทำงานอะไร แต่มีความสนใจด้านภาษาจีน จึงไปเรียนภาษาจีนเพิ่มที่เซี่ยงไฮ้ อีก 1 ปี การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ได้เจอกับสังคมที่กว้างมากขึ้น เจอผู้คนหลากหลายประเทศ และได้แลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องเรียนกัน ซึ่งมีคนแนะนำคอร์สเรียนที่ฝรั่งเศสมา ซึ่งพี่เฟิร์นรู้สึกสนใจคอร์สนี้มากๆ จึงลองยื่นใบสมัครไป และทางมหาวิทยาลัยก็ตอบรับในช่วงที่กำลังจะเรียนจบจากจีนพอดี หลังจากนั้นก็มาเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Luxury Management and Marketing ที่ Emlyon Business School ประเทศฝรั่งเศสต่อทันที  

Luxury Management and Marketing เป็นหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาเพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ การบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับสายงานแฟชั่น เครื่องประดับ งานบริการ ความงาม แวดวงศิลปะ และเครื่องสำอางค์ ของ Luxury Brand โดยตรง 

พี่เฟิร์นใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างประเทศ ตั้งแต่มัธยมจนจบปริญญาโทไปทั้งหมด 9 ปี ก่อนที่จะกลับมาอยู่ประเทศไทยถาวร  

เข้าสู่โหมด Office Life แบบเต็มตัว

หลังจากเรียนจบปริญญาโทก็ได้กลับมาฝึกงานที่ประเทศไทย อีก 4 เดือน ควบคู่กับไปการทำวิทยาพนธ์ โดยพี่เฟิร์นได้ฝึกงานในตำแหน่ง Visual Merchandiser คอยดูแลในส่วนของการจัดร้าน การจัดดิสเพลย์ หรือดีไซน์วิธีการจัดวางสินค้าให้ดูสวยงามและน่าสนใจ และถ่ายทอดตัวตนของแบรนด์ผ่านบรรยากาศภายในร้าน ทำไปได้สักพักผู้จัดการจึงให้เปลี่ยนมาทำ Merchandiser เพราะเห็นว่าเรียนจบเกี่ยวกับ Management and Marketing มา ซึ่งตำแหน่งนี้จะต้องวางแผนการจัดซื้อ ควบคุมเรื่องสต๊อกสินค้า และอบรมพนักงานสาขาเกี่ยวกับรายละเอียดของสินค้าในแต่ละแบรนด์ ซึ่งหลังจากที่ฝึกงานจบพี่เฟิร์นก็ถูกทาบทามให้ทำงานต่อในทันที  

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้าสู่โหมดพนักงานออฟฟิศแบบเต็มตัว พี่เฟิร์นทำงานด้าน Luxury Brand มาประมาณ 2 ปีกว่า และย้ายไปทำงานด้าน Consultant เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนในประเทศไทยให้กับชาวต่างชาติที่บริษัทแห่งหนึ่งจากประเทศสิงค์โปร์ อีกประมาณ 8 เดือน ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักธุรกิจแบบเต็มตัว

อยากประสบความสำเร็จก่อนอายุ 30 จึงตัดสินใจทำธุรกิจ

แม้ว่าในช่วงแรกที่เรียนจบมาจะยังไม่แน่ใจว่าตัวเองอยากทำงานอะไร แต่ก็คิดมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะที่บ้านทำร้านอาหารมาก่อน แต่ตอนนั้นยังไม่มีไอเดียจึงเลือกทำงานออฟฟิศไปก่อน ซึ่งจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจนั้น เกิดจากความอิ่มตัวในการทำงานประจำมาเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าการทำงานประจำจะมีรายได้ที่มั่นคง ถ้าได้เลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ แต่พี่เฟิร์นมองว่า งานเหล่านี้ต้องทำแบบเดิมซ้ำๆ ทุกวัน ซึ่งมันไม่มีความท้าทาย  และไม่ใช่ความฝันของตัวเอง ในตอนนั้นอายุ 25 ปี ก็มองว่าอีก 5 ปีจะอายุ 30 แล้ว หากไม่เริ่มตอนนี้แล้วเมื่อไหร่จะประสบความสำเร็จตามฝัน จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และเริ่มในสิ่งที่อยากทำทันที เพราะยิ่งเริ่มเร็วก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้ความผิดพลาด และมีโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาได้เร็ว  

ที่มาของร้าน ‘สุกี้ตี๋น้อย’

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจแบบเต็มตัว จึงไปปรึกษาคุณพ่อที่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจร้านอาหาร อย่าง “เรือนปั้นหยา” และ “บ้านบางเขน” มาก่อน ซึ่งโชคดีที่มีพื้นที่ด้านหน้าบ้านบางเขนมีห้องว่างที่น่าจะทำร้านอาหารได้ จึงมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เริ่มต้น แต่คุณพ่อบอกว่า การทำร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ค่อยมั่นคง เพราะคุณภาพและรสชาติของอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทุกอย่างจะต้องคงที่ และมีมาตรฐาน

พี่เฟิร์นจึงคิดว่า ถ้าจะทำร้านอาหารก็ต้องทำอะไรที่สามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐานได้ง่าย เพราะอยากทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขยายสาขาไปได้ไกล และไม่อยากให้ใครมาสบประมาทได้ว่า เรียนจบมาจากต่างประเทศแต่มาเปิดร้านอาหารแค่สาขาเดียว พอลองสำรวจในตลาดแล้ว พบว่า “สุกี้” ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เราสามารถทำน้ำจิ้ม เตรียมวัตถุดิบจากครัวกลาง และส่งไปทุกสาขาได้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นทำร้านสุกี้ตี๋น้อย ในปี 2562  

บริหารร้านสุกี้ 199 ให้เหมือนร้านอาหาร 5 ดาว  

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ธุรกิจร้านสุกี้ในประเทศไทยนั้นมีเยอะ และหลากหลายราคา ดังนั้น ถ้าทำธุรกิจนี้ยังไงก็มีลูกค้าแน่นอน แต่ต้องทำให้แตกต่างจากร้านอื่น และมีอะไรที่ดึงดูดลูกค้า ในตอนนั้นเทรนด์บุฟเฟ่ต์ 199 บาท (ปัจจุบัน 219 บาท) เป็นราคาที่จับต้องง่าย ซึ่งพี่เฟิร์นคิดว่าจะไม่ทำแบบร้านอื่นๆ ทั่วไปเด็ดขาด จึงได้นำประสบการณ์จากการทำงานด้าน Luxury Management and Marketing มาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจ โดยมีความตั้งใจหลัก คือ “ลูกค้าต้องได้ทานอาหารในราคาที่เข้าถึงได้ ควบคู่ไปกับบริการที่ดีในระดับ 5 ดาว”

ช่วงแรกที่เริ่มทำร้านมีเพียงแค่ 2 สาขาเท่านั้น จึงยังไม่จำเป็นต้องมีระบบอะไรมาก แต่เมื่อขยายสาขา จำนวนพนักงาน จำนวนอาหารก็ต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีระบบเข้ามาช่วย ตอนนั้นพี่เฟิร์นจึงนำทักษะการใช้โปรแกรม Microsoft Excel ที่ได้จากการทำงานประจำ มาทำสต๊อกรายการอาหาร รายชื่อพนักงาน งานบัญชี ฯลฯ เพื่อจัดการข้อมูลต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการใส่ใจรายละเอียด และสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์สุกี้ตี๋น้อย ด้วยการทำโลโก้แบรนด์บนภาชนะ การจัดวางอาหารให้สวยงาม การจัดเตรียมสถานที่นั่งทานให้มีแอร์ และมีบริการที่ดีจากพนักงาน ตลอดจนตกแต่งร้านที่ไม่ว่าจะถ่ายรูปมุมไหนก็รู้ว่ามาทานสุกี้ตี๋น้อย และมีกิจกรรมให้ลูกค้ามีส่วนร่วม เช่น การโบกธงเรียกพนักงาน ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของร้าน มีมาสคอตตี๋น้อยต้อนรับลูกค้า หรือกิจกรรมใหม่ล่าสุดอย่าง ZERO FOOD WASTE อร่อยคุ้มไม่มีเหลือ รับแต้มแลกของรางวัลพรีเมี่ยม เพื่อทำให้ลูกค้าจดจำประทับใจ จนกลับมาทานอีกครั้ง และเกิดการบอกต่อไปเรื่อยๆ  

ด้วยความเป็นเอกลักษณ์นี้จึงทำให้สุกี้ตี๋น้อยกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และมีลูกค้าต่อคิวใช้บริการแน่นทุกสาขา ปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยมีทั้งหมด 48 สาขา ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล เปิดบริการตั้งแต่ 12.00 - 05.00 น. เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ พนักงานห้าง ฯลฯ และกำลังเตรียมขยายสาขาไปต่างจังหวัดและต่างประเทศในอีกไม่ช้า  

หัวใจสำคัญที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยครองใจลูกค้า  

สิ่งสำคัญ คือ การคิดถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ลูกค้าอยากทานอะไรก็พยายามหามาให้ หรือถ้าไม่ชอบตรงไหนอยากให้ปรับปรุงเราก็พร้อมที่จะแก้ไข พยายามฟังเสียงของลูกค้า และคิดว่าจะทำยังไงลูกค้าอยากกลับมาทานร้านเราอีก ทำให้ให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้มากกว่าที่จ่ายไป อันนี้คือสิ่งที่พี่เฟิร์นมองว่าเป็นจุดที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยครองใจลูกค้ามาตลอด 

ส่วนแนวคิดที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จของพี่เฟิร์น คือ การมองปัญหาเป็นความท้าทาย ไม่กล้วที่จะล้มเหลว และไม่ยอมแพ้ เพราะถ้าไม่มีปัญหาเข้ามาเลยมันจะทำให้เราไม่พัฒนา การทำธุรกิจร้านอาหารมีคู่แข่งเต็มไปหมดจะอยู่แค่ใน Comfort Zone ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องกล้าที่จะแตกต่าง กล้าที่จะโดดเด่น และต้องพร้อมที่จะทำลงมือทำ เมื่อลงมือแล้วก็ต้องติดตามผลลัพธ์ ถ้าดีก็ทำต่อ แต่ถ้าไม่ดีก็ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน นั่นคือสิ่งที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นของ ‘ร้านข้าวแกงตี๋น้อย ปันสุข’

ทางแบรนด์ไม่ได้ขายแค่สุกี้แค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเดือนกันยายน 2566 ได้ขยายธุรกิจใหม่ไปสู่การเปิดร้าน "ข้าวแกงตี๋น้อย ปันสุข" ซึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้พี่เฟิร์นตัดสินใจทำร้านข้าวแกง เนื่องจากร้านสุกี้ตี๋น้อยจะมีการตัดแต่งเนื้อสัตว์ให้ได้มาตรฐานเดียวกันทุกชิ้น ซึ่งทำให้มีชิ้นส่วนของเนื้อสัตว์ที่ขนาดไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่สวยงามที่ไม่ถูกไม่เสิร์ฟให้ลูกค้าทุกวัน ประกอบกับสุกี้ตี๋น้อยมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง การสั่งซื้อวัตถุดิบจึงเพิ่มขึ้นตาม นั่นหมายความว่า วัตถุดิบที่เหลือจากการตัดแต่งในครัวกลางจึงมีปริมาณมากขึ้น  

ที่ผ่านมาเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ใช้แบรนด์จะขายให้กับคนอื่นในราคาที่ถูกมาก ทำให้พี่เฟิร์นรู้สึกเสียดาย และเริ่มมองหาวิธีที่จะสร้างประโยชน์ให้กับวัตถุดิบเหล่านี้ สุดท้ายจึงเกิดเป็นไอเดียร้านข้าวแกง เพราะอยากทำอะไรที่คนไทยเข้าถึงง่าย ซึ่งข้าวแกงเป็นอาหารที่ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงเป็นความชอบส่วนตัวของพี่เฟิร์นอีกด้วย โดยโปรเจกต์นี้ที่ทำขึ้นมาเพื่อบริหารวัตถุดิบในร้านสุกี้ตี๋น้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อไม่ให้เกิด food waste ซึ่งเป็นเรื่องที่แบรนด์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก  

ร้านใหม่กับแนวคิดเดิม

สำหรับเนื้อสัตว์ที่นำมาทำอาหารที่ร้านข้าวแกงตี๋น้อย จะมีทั้งที่มาจากสาขาต่างๆ และจากครัวกลาง โดยเนื้อที่นำมาจากสาขาจะมี S.O.P. (Standard Operating Procedure) ในการจัดเก็บวัตถุดิบ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพของเนื้อสัตว์ยังคงเดิม โดยที่มีสติ๊กเกอร์บ่งบอกว่ามาจากสาขาไหน วันที่เท่าไหร่ และเนื้อสัตว์เหล่านี้จะถูกนำมาคัดเลือกอีกครั้งก่อนนำไปประกอบอาหารจริง ในส่วนของผักต่างๆ จะทำการซื้อใหม่ทั้งหมด เพราะเป็นวัตถุดิบที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ซึ่งวัตถุดิบและปริมาณเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหารในทุกเมนูจะถูกจัดเตรียมจากครัวกลาง ดังนั้น รสชาติของอาหารในทุกเมนูมีความคงที่ในทุกๆ วัน 

 ถึงแม้จะเป็นร้านน้องใหม่ในเครือ แต่คอนเซปต์ในการจัดการร้านและการบริการยังคงเหมือนกับร้านสุกี้ตี๋น้อย ไม่ว่าจะเป็น มีที่จอดรถรองรับลูกค้า พื้นที่ในร้านกว้างขวาง และสามารถนั่งทานในห้องแอร์ได้ อีกทั้งวัตถุดิบ ความสะอาด และการบริการ ยังคงได้คงคุณภาพเดียวกับร้านสุกี้ตี๋น้อยอีกด้วย ปัจจุบันร้านข้าวแกงตี๋น้อย ปันสุข มีเพียงสาขาเดียวเท่านั้น (สาขาเลียบด่วน1) เปิดบริการ 07.00 – 18.00 น. (หยุดทุกวันอาทิตย์)  

โดยราคาเริ่มต้นที่จานละ 39 บาท ราดข้าว 1 เมนู หากราดข้าว 2 เมนู 45 บาท และราดข้าว 3 เมนู 50 บาท และกับข้าว (ไม่ราดข้าว) อยู่ที่ 39 บาท ทั้งนี้มีเมนูให้เลือกกว่า 14 เมนู ไม่ว่าจะเป็น ต้ม ผัด แกง ทอด เช่น พะแนงเนื้อ, ลาบทอด, หมูผัดพริกหยวก, เนื้อทอด, เห็ดหอมผัดซีอิ๊ว, สามชั้นผัดผักรวม, สามชั้นผัดคะน้า, กะเพราหมู, กะเพราเนื้อ, แกงเขียวหวานเนื้อ, แกงจืดหมูเด้ง, ผัดเผ็ดหมู, ซุปเปอร์เนื้อตุ๋น และต้มแซ่บเนื้อ ซึ่งเมนูที่พี่เฟิร์นแนะนำว่าทุกคนต้องลองชิม คือ กะเพราเนื้อ และพะแนงเนื้อ  

พี่เฟิร์นเผยว่า ปัจจุบันยังแผนเรื่องการขยายสาขาให้กับร้านข้าวแกงตี๋น้อย ปันสุข เนื่องจากความตั้งใจหลักในการทำร้านนี้ไม่ได้ทำเพียงเพราะต้องการเพิ่มยอดขาย แค่ต้องการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ในร้าน และคืนกำไรให้แก่ลูกค้าผ่านการตั้งราคาที่ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มไหนก็สามารถทานได้ทุกวัน

จาก Food Truck สู่คาเฟ่ใจกลางเมือง

อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เปิดตัวตามมาติดๆ ต่อจากร้านข้าวแกง นั่นคือ “ตี๋น้อย ป๊อปอัพ คาเฟ่” (Teenoi Pop up Café) ที่สยามสแควร์ซอย 2 ร้านขายเครื่องดื่ม กาแฟ ชานมไข่มุก และของหวาน โดยโปรเจกต์นี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งถูกเปิดตัวครั้งแรกในรูปแบบ Food Truck ที่ร้านสุกี้ตี๋น้อย ศรีนครินทร์ สมุทรปราการ ซึ่งเป็นไอเดียที่พี่เฟิร์นคิดขึ้นมาเพื่อให้บริการลูกค้าที่มารอทานสุกี้ตี๋น้อย อย่างที่ทราบกันดีว่า การใช้บริการแต่ละครั้งลูกค้าต้องรอคิวหลายสิบคิว และใช้เวลาเป็นชั่วโมงขึ้นไป ประกอบกับที่ร้านยังไม่มีเมนูของหวาน ทำให้พี่เฟิร์นเล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มการขายเครื่องดื่มและของหวาน เพื่อให้ลูกค้านั่งทานรอก่อนถึงคิวทานสุกี้ ลูกค้าที่ทานเสร็จ รวมถึงลูกค้าขาจรที่ไม่ได้ตั้งใจมาทานสุกี้อีกด้วย

หลังจากเปิดตัวด้วยรูปแบบ Food Truck ก็ได้มีการขยายต่อด้วยรูปแบบร้านคาเฟ่ แม้จะเปิดอยู่ใจกลางเมือง แต่ยังคงคอนเซปต์ความคุ้มค่า ราคาเข้าถึงง่ายเอาไว้เหมือนเดิม โดยเมนูเครื่องดื่มที่ขายเน้นเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของผู้บริโภค ราคาเริ่มต้นแก้วละ 35 บาท เช่น ชานมไต้หวัน ชาไทย อเมริกาโน่เย็น ลาเต้เย็น แอปเปิ้ลโซดา โอวัลติน นมชมพู ฯลฯ และเมนูของหวาน เช่น น้ำลำไย ปังชมพู ปังโอวัลตินลาวา  ฯลฯ โดยเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 - 21.00 น.​

ลุยตลาดต่อเนื่อง เจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมียม ด้วย ‘ตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส’

อย่างที่ทราบกันดีว่าตลอดปี 2566 ร้านชาบู หม่าล่า บุฟเฟต์สายพาน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสดีที่ตี๋น้อย เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “Teenoi Express” (ตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส) ในรูปแบบสุกี้บุฟเฟต์ ราคา 439 บาท  

สำหรับร้าน ‘Teenoi Express’ มีความแตกต่างจากร้านสุกี้ตี๋น้อย ตรงที่จะเน้นเจาะตลาดสุกี้กลุ่มพรีเมี่ยม และมีจุดขายเป็นเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวากิวออสเตรเลีย, เนื้อ Rib Eye นิวซีแลนด์, เนื้อ Oyster Blade ออสเตรเลีย, ลิ้นวัว อาร์เจนตินา, วัตถุดิบอาหารทะเล ลูกชิ้นกุ้งปั้นสด กุ้งสับเป็นชิ้น, ปลาหมึกกระดอง, กุ้งแก้ว รวมทั้ง เต้าหู้ม้วนทอด, ไส้เป็ด ไส้อ่อน เซี่ยงจี๊ และอื่นๆ อีกกว่า 50 รายการ  

อีกหนึ่งไฮไลท์ก็คือมีการจับคู่น้ำซุปและน้ำจิ้มที่เรียกได้ว่าเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน กับ 5 น้ำซุป 4 น้ำจิ้ม ได้แก่ น้ำซุปหม่าล่า ทานคู่กับน้ำจิ้มถั่วตี๋น้อย, น้ำซุปดำ ทานคู่กับน้ำจิ้มพอนสึยูซุ, น้ำซุปกระดูกหมูทงคัตสึ  ทานได้กับทุกน้ำจิ้ม, น้ำซุปเห็ดหอม ทานคู่กับน้ำจิ้มสุกี้ และน้ำซุปต้มยำ นอกจากนี้ ยังมีบริการเครื่องดื่ม ของทานเล่น และของหวาน เช่น ไอศกรีมและวาฟเฟิล จบครบในราคาเดียว

สิ่งที่อยากจะย้อนกลับไปบอกตัวเองในวัยเรียน

ขอบคุณตัวเองที่กล้าออกจาก Comfort Zone กล้าออกจากบ้าน และไปเรียนต่างประเทศทั้งที่อายุแค่ 14 ปี และยังเลือกที่จะไปเรียนต่อในประเทศที่ไม่พูดภาษาอังกฤษอย่างจีน และฝรั่งเศสด้วย เพราะมันทำให้ตัวเองได้เปิดโลกกว้าง และได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ทั้งยังสอนให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักที่จะพึ่งพาตัวเอง และปรับตัวไปกับสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ  

ที่สำคัญคือ การเลือกไปต่างประเทศในวันนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่หล่อหลอมให้เราเป็นตัวของตัวเองมาถึงทุกวันนี้ มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ ถ้าเราไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง โอนเอนไปตามคำพูดของผู้อื่น ยังไงก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ  

ฝากถึงน้องๆ วัยเรียน ชาว Dek-D.com

สำหรับน้องๆ วัยเรียนที่อยู่ในช่วงกำลังต้องตัดสินใจเลือกบางอย่าง เช่น คณะที่จะเรียนต่อ ความฝันในอนาคต สิ่งสำคัญ คือ พยายามทำความเข้าใจตัวเอง และหาตัวเองให้เจอว่า เราชอบอะไร ถนัดอะไร อย่าเลือกตามเพื่อน เพราะนั่นไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของเรา หลายๆ คนชอบตัดสินใจเลือกตามเพื่อน เพราะอย่างน้อยก็จะได้สบายใจที่มีเพื่อนอยู่ข้างๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ดังนั้น ถ้าเรารู้จักและเข้าใจตัวเองมากพอ สุดท้ายแล้วเราก็จะค้นพบสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด และเมื่อเจอแล้วก็อย่าลืมที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง และตั้งใจทำสิ่งนั้นให้สำเร็จตามเป้าหมายที่เราต้องการ  

พี่เฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช  เจ้าของแบรนด์ สุกี้ตี๋น้อย
พี่เฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช  เจ้าของแบรนด์ สุกี้ตี๋น้อย

จากการที่ได้พูดคุยกับพี่เฟิร์น ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การรู้จักตัวเองและเข้าใจตัวเองเป็นพื้นฐานสำคัญที่เราควรเรียนรู้เอาไว้ เพราะมันจะทำให้เรารู้เป้าหมายชีวิตที่เราต้องการอย่างแท้จริง และเป็นหนทางที่นำไปสู่ความสำเร็จในการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญยังช่วยให้เราค้นพบความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเลือกทำ เนื่องจากเรารู้ว่าอะไรที่ทำแล้วจะทำให้ตัวเองมีความสุขได้ และนำไปสู่การรู้จักและเข้าใจผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน  

ทางทีมงานต้องขอขอบคุณ พี่เฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช ผู้ก่อตั้งร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับทาง Dek-D.com รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ ขอบคุณรูปภาพจาก : facebook สุกี้ตี๋น้อย

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น