Teen Coach EP.94 : หาทางออกยังไงดี? เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน!

จะทำอย่างไรเมื่อความเห็นของเราไม่ตรงกัน?

 “ก้อง” เป็นประธานการจัดงานกีฬาสีของโรงเรียนปีนี้ ส่วน “ม่อน” เป็นรองประธานฯ ทั้งก้องและม่อนได้รับการแต่งตั้งจากการออกคะแนนเสียงของนักเรียนบางส่วนและคณะบริหารที่เป็นคุณครู ส่วนคนอื่น ๆ ที่ได้คะแนนลดหลั่นกันไปได้เป็นคณะกรรมการฯ คุณครูให้เงินงบประมาณมา 100,000 บาท โดยที่ไม่ได้กำหนดว่าแต่ละฝ่ายจะได้จำนวนเท่าไร ให้นักเรียนไปบริหารจัดการกันเอาเอง ใช้วิธีโอนเข้าบัญชีของก้องเพราะเชื่อมั่นในตัวก้องที่มีภาพลักษณ์ดี “ฉลาด ซื่อสัตย์ มีภาวะเป็นผู้นำสูง” หน่วยทำงานที่ต้องการใช้เงินในการดำเนินการมีหลายฝ่าย เช่น คณะเชียร์ลีดเดอร์ คณะพาเหรด กองสวัสดิการดูแลสแตนด์ ฝ่ายจัดการแข่งกีฬา วันที่นัดประชุมเพื่อกระจายงบประมาณให้แต่ละหน่วย ก้องเสนอทุ่มงบไปที่เชียร์ลีดเดอร์ 75% เพราะให้ความสำคัญว่าเป็นหน้าเป็นตาของงาน เหตุผลที่แท้จริง คือ หากการโชว์ออกมาดี มีคนอัดคลิปปล่อยลงโซเชียลมีเดียแล้วปังดังขึ้นมา ก้องน่าจะได้ชื่อและมีผลงานไปใส่ portfolio สมัครเข้ามหาวิทยาลัย แต่ม่อนไม่เห็นด้วยเพราะยังมีหน่วยทำงานอีกหลายหน่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจากงบก้อนนี้เหมือนกัน ถ้าเหลือเงินแค่ 25,000 บาท แต่ละหน่วยนักเรียนต้องออกเงินกันเองซึ่งม่อนว่ามันไม่ยุติธรรม ม่อนทักท้วงให้เหตุผลกับก้องดี ๆ แต่ก้องไม่รับฟัง “เราเป็นประธานงาน เรามีอำนาจสูงสุด หน่วยอื่นต้องจัดงบกันเอาเอง ไปขอสปอนเซอร์สิไม่เห็นจะยาก” กรรมการอีกหลายคนเห็นด้วยกับม่อนว่าต้องกระจายงบตามความจำเป็น เสนอให้แต่ละฝ่ายเขียนรายการที่ต้องใช้เงินเพื่อนำมาพูดคุยกันวันพรุ่งนี้ แล้วมาโหวตขอความเห็นตามหลักประชาธิปไตย ก้องบอกไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะก้องเบิกเงินไปใช้แล้ว 60,000 บาท ม่อนและเพื่อนไม่พอใจ ทำให้มีปากเสียงกันดังมาก จนมีครูเข้ามาที่ประชุมเพื่อถามว่าเกิดอะไรขึ้น

 

  • ปัญหาของเรื่องนี้มีอะไรบ้าง เรื่องไหนเป็นความขัดแย้งที่จำเป็นต้องรีบแก้ไข?
  • หากคุณเป็นก้องคุณจะจัดการกับเพื่อนอย่างไรให้เห็นด้วยกับงบตามที่ก้องต้องการ?
  • หากคุณเป็นม่อนและเพื่อนจะจัดการกับงบประมาณที่เหลือน้อยไม่พอใช้แน่ ๆอย่างไร?
  • หากคุณเป็นครูที่เกี่ยวข้องจะจัดการกับความขัดแย้งนี้อย่างไร?

ถ้ายังหาคำตอบไม่ได้ ลองอ่านวิธีการหาทางออกของปัญหาความคิดเห็นไม่ตรงกัน ด้านล่างนี้ได้เลย!

การที่เรามีความเห็นต่างกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิดและแปลกอะไร เพราะทุกคนเติบโตมาด้วยต้นทุนทางกายภาพ สังคมและประสบการณ์ที่ต่างกัน ทำให้หล่อหลอมความคิดความเชื่อความต้องการที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญเมื่อเกิดความเห็นต่าง คือ ทำอย่างไรให้พอคุยกันได้ ประนีประนอม ต่อรอง ไม่ให้เกิดการทะเลาะและขัดแย้งจนมีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและอีกฝ่าย เช่น การกลั่นแกล้ง bully หรือ harassment ไปจนถึงการเลือกทางตัดสินใจแบบห่วย ๆ

หนึ่งในวิธีจัดการกับคนที่มีความเห็นต่างกัน คือ การเจรจาต่อรอง (Negotiation หรือ Conflict Resolution) ซึ่งบางครั้งต่างฝ่ายคุยเคลียร์กันเองแล้วจบ แต่หลายครั้งจำเป็นต้องมีบุคคลภายนอกที่เป็นกลางไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย

วิธีที่คนทั่วไปใช้เมื่อมีความเห็นต่างและความขัดแย้ง

1. หลีกเลี่ยง (Avoiding)

ทำเป็นไม่รับรู้ เพิกเฉย ไม่เข้าไปจัดการเมื่อเกิดสถานการณ์ความเห็นต่างเกิดขึ้น เพราะไม่อยากเครียด ไม่อยากปะทะ วิธีการนี้ช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวปัญหายังคงอยู่ ท้ายที่สุดเราหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาด้วยการไม่แก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานจนความเห็นต่างลุกลามเป็นความความโกรธ ความเกลียดชัง ปัญหาทุกอย่างจะยุ่งแก้ไขยาก มีการลากอีกหลายคนเข้ามาเกี่ยวเป็นดราม่าซับซ้อน

2. แข่งขัน (Competing)

 ต่างฝ่ายหงายการ์ดว่าฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณคิดและทำ ดังนั้นขอสู้และต่อต้าน ฟาดมาฟาดกลับ ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีผู้แพ้กับผู้ชนะ (win-lose strategy) ส่วนใหญ่ต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บทั้งคู่และทำลายความสัมพันธ์ที่เคยมีกันมา

3. ปรองดอง  (Accommodating)

มีฝ่ายหนึ่งที่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่ออีกฝ่าย โดยปราศจากความรุนแรงและการต่อต้าน วิธีนี้สามารถใช้ได้ในระยะสั้น แต่ถ้าใช้ระยะยาวอาจได้ผลไม่ดี เพราะมีฝ่ายที่ต้องจำยอม ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้เกิดความเครียด ไม่พอใจ หรืออารมณ์ลบสะสมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สุดท้ายฝ่ายที่จำยอมไม่สามารถทนได้อีกต่อไป มีการระเบิดความไม่พอใจออกมา

4. ร่วมมือกันแก้ปัญหา (Collaborating)

 ต่างฝ่ายต่างคุยทำความเข้าใจ พยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ทั้งคู่ (Win-Win Strategy)

5. โอนอ่อนผ่อนตาม (Compromising)

ต่างฝ่ายตกลงกันว่าต่างยอมเสียประโยชน์ (Lose-Lose Strategy) เพื่อให้ยังดำเนินการต่อไปได้ วิธีนี้สำหรับบางเรื่องอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ดีเพราะจบเรื่องได้เร็ว หรืออาจใช้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ซื้อเวลาระหว่างรอวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลยั่งยืนในระยะยาว

วิธีจัดการเมื่อเรามีความเห็นต่างกัน

1. รับรู้และยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้น

คนส่วนใหญ่ไม่อยากมีเรื่องดราม่าที่ตัวเองถูกลากไปเกี่ยวด้วย เพราะเสียทั้งสุขภาพกายและจิตใจ แต่ในเมื่อมีปัญหาที่เกิดจากความเห็นต่างหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องทำใจว่าดราม่ามันมาแล้ว ปรับวิธีคิดว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องน่ากลัว ยากเกิน น่ารำคาญ ให้เป็นเรื่องที่ท้าทาย หากก้าวผ่านแก้ปัญหาความขัดแย้งไปได้ เท่ากับเราได้เติบโตมีประสบการณ์เพิ่ม ทำให้เรารู้จักอีกฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เลือกใช้วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจากความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย ยิ่งรู้ปัญหาเร็วและรีบแก้ ความเสียหายที่เกิดจะน้อย แต่ถ้าเพิกเฉยตีมึนไม่ช่วยกันแก้ ต่างฝ่ายจะยิ่งเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องมีใครสักคนหยิบยกปัญหาขึ้นมาประกาศอย่างเป็นทางการให้ทุกคนทราบเพื่อมาเจรจากันด้วยสันติวิธี 

2. สงบสติอารมณ์ก่อนพูดคุยกัน

 พูดเหมือนง่ายแต่ทำยาก เพราะเมื่อเริ่มมีความขัดแย้งต่างฝ่ายต่างโกรธ ไม่พอใจ น้อยใจ เสียใจ หรือมีอารมณ์ลบที่ท่วมท้นเข้ามา จนไม่สามารถใช้สมองส่วนของเหตุผลจัดการกับปัญหา มีอาการทางกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น ตัวสั่น หายใจไม่ออก หายใจเร็ว คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดหัว

การจัดการอารมณ์ตัวเองสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีควบคุมลมหายใจ (Breathing Exercise) คือ หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ ทำซ้ำไปมาจนอาการทางกายลดลง หรือเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการใช้ประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง เช่น ดมน้ำหอมที่ทำให้ผ่อนคลาย บีบลูกบอลยาง กินชานมไข่มุกที่ชอบ

3. ค้นหาและทำความเข้าใจปัญหาที่เกิด

 มีการพูดคุยกันทั้งสองฝ่ายเพื่อหาสาเหตุที่เป็นปัญหา เลี่ยงการใช้อารมณ์ถกกัน สื่อสารกันให้ชัดเจน เก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับความขัดแย้ง (Take It Personal) เช่น ไม่ชอบคนนี้เลยไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของเขาทุกอย่าง ทั้งที่จริงมันอาจจะเป็นวิธีการที่ดีก็ได้ เมื่อได้คิดวิเคราะห์แยกแยะแล้วหากตัวเราเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น เราต้องยอมรับด้วย เพื่อที่จะแก้ไขอุดรูรั่วให้ได้มากที่สุด

4. สถานที่ที่ใช้คุยต้องเป็นกลาง

 บรรยากาศที่ให้คนเห็นต่างกันมาคุยเจรจาต้องมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกลาง (Neutral Ground) หลีกเลี่ยงการคุยในที่ตั้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะจะทำให้เกิดความรู้สึดอึดอัด กดดัน จุดอารมณ์ติดง่าย กลายเป็นการเถียงเอาชนะแทนที่จะหาทางออกที่ดี

5. ให้โอกาสแต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็น

 มีกติกาในการคุยกัน (Ground Rules) เช่น ก่อนพูดต้องยกมือ ไม่พูดขัดจังหวะอีกฝ่าย ไม่ใช้คำหยาบ พูดอย่างสุภาพ หากพูดด้วยอารมณ์ให้ไปสงบตัวเองก่อน เพื่อที่ต่างฝ่ายจะได้บอกเล่าความคิดเห็นและสิ่งที่ต้องการได้เคลียร์ชัดเจน คนที่เห็นต่างต้องฝึกลองมองในมุมมองของฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำความเข้าใจ (Empathy) หากเรารู้จักรากที่ทำให้มีความคิดแบบนั้นจากทั้งสองฝ่าย การหาทางออกร่วมกันจะทำได้ง่ายขึ้น

6. เป็นผู้ฟังที่ดีและแสดงออกอย่างเหมาะสม

 เมื่อเสียงอีกฝ่ายผ่านเข้ามาในหู แต่เราไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจสิ่งนี้เรียกว่าการได้ยิน (Hearing) แต่การจะเป็นผู้ฟังที่ดีได้ (Active Listener) ต้องมีความกระตือรือร้นที่จะทำความเข้าใจอีกฝ่าย มีการแสดงออกทั้งภาษาพูดและภาษากายที่ให้เกียรติกัน เช่น สบตาผู้พูด พยักหน้า หลีกเลี่ยงการทำท่าที่แสดงอาการต่อต้านไม่ใส่ใจ เช่น  เล่นมือถือระหว่างที่อีกฝ่ายกำลังพูด มองบน หน้าเหวี่ยง เพราะถ้าฝ่ายที่พูดรับรู้ได้ว่าเราไม่ใส่ใจฟัง อาจทำให้เขาโกรธ เบื่อ ไม่พูดต่อหรือใช้คำพูดแย่ ๆ เพื่อเป็นการเอาคืน แทนที่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ กลับกลายเป็นสงครามประสาทที่ไม่ได้ทางออกในการแก้ปัญหาและสร้างปมความเกลียดชังเคียดแค้นเพิ่ม

7. หาทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย

 นำข้อมูลทั้งหมดมาไตร่ตรอง คิดทางเลือกทางออกของปัญหาไว้หลายทาง ดูข้อดีข้อเสียของทางเลือกแต่ละอย่าง แล้วนำมาพิจารณาเลือกวิธีที่คิดว่าดีที่สุด ควรเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและเป็นแบบชนะ-ชนะ (Win-Win Solution) แต่ถ้าไม่ได้อย่างน้อยให้เป็นได้บ้าง-เสียบ้าง (Win Some-Lose Some Solution) ทางแก้ปัญหาที่แย่ที่สุดแพ้-แพ้ (Lose-Lose Solution)

8. ติดตามการแก้ปัญหา

ลงมือปฏิบัติตามวิธีที่ตกลงกันและประเมินติดตามผล ซึ่งแต่ละปัญหามีความยากง่ายในการแก้ไขต่างกัน บางอย่างแก้ยาก ต้องแก้ปัญหากันหลายครั้ง หากแก้ครั้งนี้ไม่สำเร็จ ไม่ได้แปลว่าล้มเหลว แต่ให้นำเรื่องที่เกิดขึ้นมาประเมินวิธีแก้ปัญหาใหม่ แล้วทำไปเรื่อยๆ ปัญหาจะค่อยๆ คลี่คลาย

ทุก ๆ ระดับของความสัมพันธ์เรามีความเห็นต่างจากอีกฝ่ายได้ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับประเทศหรือโลกใบนี้ หากเราเลี่ยงการปะทะเป็นฝ่ายยอมไปเสียหมด ตัวเราจะเครียด และสะสมอารมณ์ลบที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคปวดหัวไมเกรน และสุขภาพใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เราต้องฝึกทักษะในการจัดการความขัดแย้ง สามารถที่จะบอกความต้องการและยืนหยัดสิ่งที่เราเชื่อได้อย่างมีเหตุผล แต่อย่าลืมที่จะฟังความคิดเห็นของคนอื่น แล้วลองคิดในมุมมองของเขา เพื่อนำไปสู่การเจรจา แลกเปลี่ยนความคิด ไกล่เกลี่ย เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย บางครั้งผลลัพธ์อาจไม่ได้ทั้งหมดตามที่เราคาดหวัง แต่อย่างน้อยเราก็ได้พยายามแล้ว

 

ข้อมูลจากhttps://www.indeed.com/conflict-resolution-strategieshttps://www.mindtools.com/conflict-resolutionhttps://www.helpguide.org/conflict-resolution-skills.htmhttps://ctb.ku.edu/provide-information-enhance-skills/conflict-resolution/main

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น