เมื่อสังคมตั้งคำถามกับ #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน ย้อนรอย 4 คดีดัง สิ่งที่เด็กทำ-โทษที่ได้รับ

#ยกเลิกกฎหมายเยาวชน กำลังเป็นประเด็นดราม่าอย่างร้อนแรงบนโลกโซเซียล สร้างความสะเทือนขวัญให้กับสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งแฮชแท็กนี้ก็มาจากข่าว #ป้าบัวผัน #ป้ากบ โดยเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ก่อเหตุเป็น “เด็กและเยาวชน อายุตั้งแต่ 13-16 ปี” ร่วมกันกระทำผิด 5 คน ซึ่งถือว่ามีพฤติกรรมที่โหดเหี้ยม ใช้ความรุนแรง และมีผู้ก่อเหตุที่เป็นลูกของตำรวจ จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่าทางผู้เสียชีวิตอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ได้ส่งตัวทั้ง 5 คนไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดสระแก้ว ซึ่งโทษของ 5 เยาวชนอาจจะสูงสุดแค่คุมประพฤติ เพราะทั้งหมดไม่มีใครอายุเกิน 18 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นเด็กและเยาวชนอยู่ และทางชาวเน็ตก็ยังคงแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้มีการทวงความยุติธรรม 

ภาพจาก  เรื่องเล่าเช้านี้.com
ภาพจาก  เรื่องเล่าเช้านี้.com

#ความรู้จากข่าว จะพาทุกคนมาย้อนรอยคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมา พร้อมเรียนรู้ “ข้อกฎหมายสำหรับเด็กและเยาวชน” ว่าถ้าหากทำผิดจะได้รับโทษทางกฎหมายหรือไม่

ภาพจาก  pptvhd36.com
ภาพจาก  pptvhd36.com

เริ่มที่ “คดีเด็กอายุ 14 กราดยิงพารากอน” #กราดยิงพารากอน ข่าวใหญ่ของประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อเด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงผู้คนที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุได้มีการคุมตัวเด็กไปฝากขังไว้ที่สถานพินิจฯ แต่สุดท้ายก็มีการปล่อยตัวออกมา เนื่องจากตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนต้องงดการสอบสวนไว้เมื่อได้ความว่าผู้ต้องหาเป็นเด็กป่วยและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่ตัวเด็กยังคงต้องรับไปรักษาต่อจนกว่าจะหายสู่สภาวะปกติ ซึ่งทางคณะแพทย์และสหวิชาชีพจะต้องบำบัดรักษาให้หายและวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เด็กก่อเหตุขึ้น โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 3 ต.ค. 2586 ซึ่งข่าวนี้ทำให้เกิดกระแสคนออกมาวิจารณ์และเรียกร้องบนโลกโซเซียลว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กฎหมายไทยควรแก้ไข” “กี่ครั้งแล้วที่เยาวชนทำผิดแล้วไม่ได้รับโทษ เพียงเพราะคำว่าเยาวชน” หรือ “อ้างว่าป่วยจะได้ไม่ต้องติดคุก” 

ภาพจาก  BRIGHT TODAY
ภาพจาก  BRIGHT TODAY

คดีต่อมา กับข่าว “เด็ก16ผ่าไฟแดงชนคนตาย” คดีนี้ก็เป็นกระแสเช่นกันและได้มีการติด #เด็ก16ผ่าไฟแดง เกิดขึ้น ซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 โดยผู้ก่อเหตุเป็น “เยาวชนอายุ 16 ปี” และเป็นถึงนักกีฬาเทนนิสทีมชาติ ซึ่งผู้ก่อเหตุได้ขับรถ BMW ฝ่าไฟแดงชนจักรยานยนต์จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งเยาวชนอายุ 16 ปี ได้ถูกแจ้งข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร, ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น และชาวเน็ตได้มีการแสดงความคิดเห็นถึงความเหมาะสมในการคัดเลือกทีมชาติ ทางสมาคมลอนเทนนิสฯ จึงได้มีการถอนตัวเยาวชนดังกล่าวออกจากการเป็นนักกีฬาเทนนิสเยาวชนทีมชาติไทย ประจำปี 2566 ส่วนในเรื่องของคดีความก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนของทางกฎหมาย

และอีกคดีที่ทุกคนคงจำกันได้ คือ “คดีแพรวา” กับ 9 ชีวิตที่สูญเสียบนทางด่วนโทลเวย์ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ซึ่งในตอนนั้นแพรวามีอายุเพียง 16 ปี และได้เกิด #แพรวา9ศพ ขึ้น โดยแพรวาถูกดำเนินคดี 2 ข้อหา คือ ขับรถประมาทเป็นเหตุทำให้ทรัพย์สินเสียหาย มีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต และขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งผ่านมา 13 ปี แล้ว แต่สุดท้ายคดีก็จบลงเมื่อแพรวาจ่ายค่าชดเชยครบตามที่ศาลสั่งเป็นจำนวน 41.7 ล้าน เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 แต่ทุกวันนี้สังคมก็ยังคงตั้งคำถามกับคดีนี้ว่า แพรวาสำนึกผิดจริงไหม? แล้วครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรมแล้วหรอ?

ซึ่งตามกฎหมายของเด็กและเยาวชนของไทย 

  • เด็ก คือ บุคคลที่อายุกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี
  • เยาวชน คือ บุคคลที่อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์

โดยองค์กรของรัฐที่มีบทบาทสําคัญในการดําเนินการโดยตรง คือ ศาลเยาวชนและครอบครัว กับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม

บทลงโทษทางกฎหมายต่อเด็กและเยาวชน ถ้าทำผิดจะได้รับโทษแบบไหน?

  • มาตรา 73 ระบุว่า ผู้ที่อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ
  • มาตรา 74 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอำนาจสั่ง ‘มาตรการพิเศษ’ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดได้
  • มาตรา 75 ระบุว่า ผู้ที่มีอายุ 15-18 ปี ถ้าทำความผิด ศาลจะพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบ และตัดสินว่าจะสั่งลงโทษหรือไม่ ถ้าตัดสินลงโทษทางอาญาแบบคนทั่วไป จะให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษ อาจกำหนดให้ดำเนินการฟื้นฟูตามมาตรา 74
  • มาตรา 76 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 18-20 ปี ถ้าทำความผิด ต้องรับโทษอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ศาลอาจให้ลดโทษ 1/3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้

ซึ่งหากเด็กกระทำผิด ผู้ปกครองอาจต้องรับผิดชอบโทษทางแพ่ง โดยการชดใช้สินไหมทดแทน

แต่ถ้าหากกระทำผิดซ้ำ ในส่วนนี้ กฎหมายระบุว่า ไม่สามารถที่จะเอาความผิดเดิมที่เคยทำมาเป็นเหตุเพิ่มโทษได้ ไม่ว่าจะกระทำผิดซ้ำกี่ครั้งก็ตาม

ทางกฎหมายต่อเด็กและเยาวชนมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีของสังคมได้ แต่ก็ยังมีชาวเน็ตหลายคนที่ยังคงวิจารณ์ว่า “กระบวนการยุติธรรมของไทยควรได้รับการแก้ไข และควรให้โทษกับเยาวชนตามเหตุการณ์ที่กระทำมากกว่า”

แล้วสำหรับ ชาว Dek-D ละคะ มีความคิดเห็นยังไงกับ #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน

ข้อมูลจากhttps://www.thairath.co.thhttps://workpointtoday.comhttps://youtu.be/I4GyIFmcgy0?si=JWgMC5UQ84Hxls6Vhttps://www.thairath.co.thhttps://www.pptvhd36.comhttps://www.thaipbs.or.thhttps://ilaw.or.th ภาพจากhttps://www.freepik.com
พี่ปลิว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

มัณทนา Member 18 ม.ค. 67 14:49 น. 1

ถ้าเป็นอเมริกา ประเทศแห่งเสรีภาพ

FBI CIA และหน่วย S.W.A.T. ไม่ปล่อยเอาไว้ให้หนักแผ่นดินค่ะ

วิสามัญฆาตกรรมทิ้งอย่างเดียว

0
กำลังโหลด
ixoraFlowerlady Member 22 ม.ค. 67 08:46 น. 2

อายุเท่าไรก็ควรมีบทลงโทษค่ะ ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่ถูกลงโทษ ถูกไหมคะ แค่โทษอาจจะเบากว่าผู้ใหญ่ แค่นั้น จริง ๆ ควรเปลี่ยนเป็น อายุ 12 ขึ้นไปก็เป็นผู้ใหญ่แล้วดีกว่านะคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด