มัดรวมมาให้แล้ว! 3 เทคนิคอ่านหนังสือสอบยังไงให้ทัน เมื่อมีเวลาจำกัด!!!

“ควรเริ่มอะไรก่อนดีนะ ทุกอย่างดูสำคัญไปหมด”

“เนื้อหาเยอะ จะอ่านยังไงให้หมด”

“ไม่เดดไลน์ ไม่มีไฟในการทำงานหรืออ่านหนังสือ” (หรือจริงๆ แล้วเราขี้เกียจกันแน่นะ 555) เชื่อว่าน้องๆ ชาว Dek-D หลายๆ คนน่าจะเป็นกันเยอะ เมื่อต้องมาจัดสรรเวลาแต่ละอย่าง ทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างตรงหน้าดูยุ่งเหยิงไปหมด สำหรับพี่เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ช่วงอ่านหนังสือสอบ พี่เป็นคนที่อ่านหนังสือทุกวิชา อ่านทุกบทอ่านทุกอย่าง จดสรุปเหมือนลอกเนื้อหาจากในหนังสือ จนเพื่อนถามว่า “นี่สรุปแล้วหรอ 555” 

ซึ่งการทำแบบนี้ ยอมรับเลยว่ามีแต่ข้อเสีย เพราะการที่เราบริหารเวลาไม่เป็น หักโหมมากจนเกินไป มีแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเราทั้งนั้น และแย่ไปกว่านั้นอาจจะทำให้เราจำเนื้อหาที่อ่านมาไม่ได้เลย ซึ่งวันนี้พี่ได้รวบรวมเทคนิคต่างๆ ในการบริหารเวลามาแนะนำสำหรับน้องๆ ชาว Dek-D ที่ช่วงนี้กำลังจะเริ่มต้นอ่านหนังสือเพื่อที่จะเตรียมตัวสอบกัน หรือจะนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ในการทำงานก็ได้เหมือนกันนะ

To Do List จัดลำดับความสำคัญ

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยใช้เทคนิคนี้กัน แต่อาจจะยังวางแผนไม่ถูก ซึ่งเจ้าตัว “To Do List”  คือ การที่เราเขียนสิ่งต่างๆ และลำดับความสำคัญในสิ่งที่เราจะทำ จะได้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่าเราจะทำอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้จัดสรรเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

  • เขียนสิ่งที่จะต้องทำ เรียงลำดับความสำคัญให้ดี! ขั้นตอนแรกสำคัญมาก น้องๆ ต้องเรียงลำดับความสำคัญว่า “อะไรสำคัญและเร่งด่วน” และ “อะไรสำคัญรองลงมา” เพื่อที่เราจะได้เคลียร์สิ่งต่างๆ ให้เสร็จตามลำดับที่เราวางแผนไว้
  • แค่เขียน ไม่ได้แปลว่าจบ เมื่อเราวางแผน เรียงลำดับสิ่งที่จะทำได้แล้ว ก็ต้องมาเริ่มลงดีเทลในแต่ละอันให้ละเอียดว่า ต้องทำอะไรบ้าง และควรมีการวางแผนว่าแต่ละงานต้องใช้เวลาประมาณเท่าไร เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว
  • เริ่มลงมือทำ เมื่อเรียงลำดับความสำคัญแล้ว ลงรายละเอียดต่างๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเริ่มลงมือทำตาม “To Do List” ที่ได้เขียนไว้ให้สำเร็จ ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับน้องๆ แล้วว่าจะสามารถทำตามที่วางแผนไว้ได้ไหม แต่ยังไงก็อยากให้รู้จักการวางแผน เรียงลำดับความสำคัญและฝึกทำ “To Do List” เป็นประจำเพราะจะช่วยให้น้องๆ เป็นคนที่มีระเบียบวินัยมากขึ้น ถ้าทำได้รับรองเลยว่าชีวิตน้องๆ จะง่ายขึ้นมากกว่าเดิมแน่นอน

Time Blocking จัดตารางชีวิต 

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

โดยเริ่มจากการที่เราจะต้องกำหนดก่อนว่า “เวลาไหนจะทำอะไรบ้าง”  และให้ทำตารางเวลา แบ่งช่วงเวลาว่าใน 1 วัน หรือในสัปดาห์นี้เราจะทำอะไรบ้าง และแบ่งเวลาให้ชัดเจน เช่น จะอ่านหนังสือกี่ชั่วโมง เริ่มทำข้อสอบตอนไหน กลับมาทบทวนอีกครั้งเมื่อไร ที่สำคัญ! ต้องแบ่งเวลาพักด้วยนะ อย่าหักโหมจนเกินไป ซึ่งน้องๆ สามารถเขียนลงในปฏิทินหรือ planner ของตัวเองได้เลย และให้จัดเวลาเป็นบล็อกๆ ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยให้จัดสรรเวลาได้ดีแถมมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ “Time Blocking” จะมีบล็อกอยู่ 2 ประเภท ก่อนอื่นน้องๆ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ามันมีความแตกต่างกันยังไง

  • Proactive Block คือ บล็อกเวลาสำหรับงานที่ถูกวางแผนไว้แล้ว เป็นงานสำคัญที่จะต้องทำให้เสร็จหรือจำเป็นต้องทำ ซึ่งอาจเป็นงานที่มีการกำหนดเวลาส่ง
  • Reactive Block คือ บล็อกเวลาสำหรับคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามากระทันหัน และอาจจะรบกวนเวลาทำงานของเรา นอกจากนี้ยังเป็นการบล็อกเวลาว่างหรือเวลาส่วนตัวให้กับเรา

Pomodoro Technique เจ้ามะเขือเทศ  25/5

Pomodoro ภาษาอิตาเลียนแปลว่า “มะเขือเทศ” เทคนิคนี้ถูกคิดค้นโดย ชาวอิตาลี “Francesco Crillo”  โดยได้แรงบันดาลใจมาจากนาฬิกาจับเวลาสไตล์อิตาเลียนรูปทรงมะเขือเทศ โดยเทคนิคเจ้ามะเขือเทศนี้ จะเป็นการแบ่งเวลาในการทำงานออกมา เป็นระยะเวลาสั้นๆ 25 นาที พัก 5 นาที 

หลักสำคัญในการทำ Pomodoro Technique 

  • เราจะต้องโฟกัสและให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราจะทำเพียงอย่างเดียว หากเราทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และเกิดอาการล้าตามมา
  • จับเวลา 25 นาที ซึ่งใน 25 นาทีนี้ เราจะต้องไม่วอกแวกกับสิ่งอื่น จะต้องโฟกัสและทุ่มเทกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น!!
  • เมื่อหมดเวลา และทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ ให้กากบาทเป้าหมายนั้นๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง และเหลืออีกกี่เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ
  • อย่างที่บอกว่า เราจะต้องมีเวลาพัก คือ 5 นาที ในระหว่างนี้เราอาจจะพักสายตา หรือ Relax ร่างกาย เพื่อให้ร่างกายและสมองกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง

ตัวอย่างการใช้เทคนิคเจ้ามะเขือเทศ กับการอ่านหนังสือสอบ

  • 25 นาที รอบแรก เริ่มจากการลิสต์หัวข้อที่จะอ่านก่อน จะได้ลำดับความสำคัญถูกว่าควรเริ่มอ่านที่หัวข้อไหนก่อน
  • พัก 5 นาที
  • 25 นาที รอบสอง อ่านบทสรุปและหัวข้อ จะช่วยให้ง่ายต่อการอ่านและเห็นภาพรวม ช่วยย่อเวลาในการทำความเข้าใจเนื้อหายาวๆ ได้ดี แต่ถ้ายังไม่เข้าใจสามารถย้อนกลับไปอ่านหน้าที่อธิบายเพิ่มเติมได้
  • พัก 5 นาที 
  • 25 นาที รอบสาม กลับมาอ่านอีกครั้ง จะใช้ปากกาไฮไลต์เพื่อเน้นเนื้อหาจุดที่สำคัญ แต่ไม่ควรไฮไลต์เนื้อหาทุกอย่างในหนังสือนะ!
  • พัก 5 นาที 
  • 25 นาที รอบสี่ เขียนสรุปเนื้อหาตามความเข้าใจของเรา ต้องเขียนสรุปให้กระชับและเข้าใจง่าย

เมื่อพักครบ 5 นาที 3 รอบแล้ว ครั้งต่อไปจะเป็นการพักใหญ่ 15-20 นาที และหากน้องๆ คนไหนอยากทบทวนเนื้อหา ก็สามารถกลับมาทำเทคนิคมะเขือเทศอีกรอบได้ 

ซึ่งอันนี้เป็นเทคนิคที่พี่ได้นำมารวบรวมไว้ให้สำหรับน้องๆ ชาว Dek-D หวังว่าเทคนิคที่พี่นำมาในวันนี้จะเป็นประโยชน์ให้น้องๆ แล้วก็อย่าลืมนำไปปรับใช้ในการเรียนหรือการทำงานกันด้วยน้าา หรือสำหรับน้องๆ คนไหนที่มีเทคนิคดีๆ ที่น่าสนใจก็สามารถมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ กันได้นะคะ

 

ข้อมูลจากhttps://www.mindtools.com/aug8p7g/to-do-listshttps://fellow.app/blog/productivity/productivity-techniques-to-tackle-your-to-do-list-everyday/ รูปภาพจากhttps://www.freepik.com
พี่ปลิว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น