เช็กสัญญาณ LD (learning disorder) อาการแบบนี้เป็นโรคการเรียนรู้บกพร่องใช่ไหม?

ชวนสังเกตอาการโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning disorder - LD) จากความบกพร่อง 3 ด้านที่พบบ่อย

ปัจจุบันนักเรียนไทยมีปัญหาเรื่องการอ่านและการเขียนมากขึ้น เช่น นักเรียนวัยประถมอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ถูก สะกดคำง่ายๆ ไม่ได้ เรียนรู้ได้ช้ากว่าเพื่อน เป็นต้น หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือการป่วยเป็น โรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือ LD (learning disorder) ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตอย่างใกล้ชิดร่วมกับการวินัจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

โรคการเรียนรู้บกพร่อง (LD) เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยที่เด็กมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติและมีความสามารถด้านอื่นๆ ปกติดี

สาเหตุของโรคการเรียนรู้บกพร่อง (LD)  

เกิดจากปัจจัยร่วมกันระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความบกพร่องในการทำงานของสมองในตำแหน่งที่จำเพาะกับทักษะนั้นๆ โดยพบได้ถึง 4-10% ในเด็กวัยเรียน เพศชายพบมากว่าเพศหญิง 2-3 เท่า และพบร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้ถึง 40-50%

การสังเกตอาการและการวินิจฉัยโรคการเรียนรู้บกพร่อง (LD)  

พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถร่วมกันสังเกตอาการของโรคได้ด้วยตนเองว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านใดบ้าง ทั้งนี้การระบุว่าเป็นโรค LD หรือไม่ ต้องผ่านการวินิจฉัยโดยกุมารแพทย์พัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากพ่อแม่และคุณครู ตรวจประเมินเด็กอย่างละเอียด ร่วมกับการทดสอบระดับสติปัญญาและความสามารถทางการเรียน  

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

สังเกตอาการจากความบกพร่อง 3 ด้านที่พบได้บ่อย คือ

1. ความบกพร่องด้านการอ่าน

  • เป็นปัญหาที่พบมากที่สุดในเด็กที่เป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง
  • มีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ
  • มักอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้
  • มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

2. ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ

  • มักพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน  
  • มีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง
  • มักเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออกผ่านการเขียนได้
  • มีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

3. ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์

  • ขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
  • ไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้
  • มีความสามารถในการคิดคำนวณต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

นอกจากนี้ อาการ LD ยังอาจพบความบกพร่องในด้านการฟัง การมองเห็น และการใช้ภาษาหรือการตีความภาษาอีกด้วย หากพบความบกพร่องทางการเรียนรู้ดังกล่าวซึ่งอาจมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น สมาธิสั้น ซึมเศร้า ควรให้การช่วยเหลือเด็กโดยเร็วที่สุดคือรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรับการรักษาตั้งแต่ยังมีอาการน้อย  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากลูกมีอาการสมาธิสั้น จดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ไม่ต่อเนื่อง ซุกซนเกินกว่าเด็กในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด และหุนหันพลันแล่น ใจร้อนคอยไม่เป็น พ่อแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาซึ่งจะต้องใช้ยาหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทั้งสองวิธีควบคู่กัน หากไม่ทำการรักษาจะส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่อไป

 

ที่มาhttps://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1907https://www.camri.go.th/th/home/infographic/infographic-363

 

 

พี่จูน
พี่จูน - Columnist บ.ก.บันเทิง/ไลฟ์สไตล์ ใจดีกว่าหน้าตา รักสัตว์ รักเด็ก อยากเป็นนางเอกและนางงาม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น