"พี่พีททท - กันตพร" จริง ๆ แล้ว เขาเป็นเจ้าของโรงพยาบาล!

เจาะเบื้องหลัง! ชีวิตการทำงานของ ‘พี่พีท กันตพร’ กับ 2 บทบาทสำคัญ ผู้บริหารโรงพยาบาล vs อินฟลูเอนเซอร์

น้องๆ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ ‘พี่พีท-กันตพร หาญพาณิชย์’ หรือ ‘พี่พีททท’ หวานใจของ ‘คุณแก้มบุ๋ม-ปรียาดา สิทธาไชย’ ในฐานะ Content Creator หรือ YouTuber ซึ่งนั่นเป็นเพียงมุมหนึ่งของเขา แต่บทบาทสำคัญอีกด้านคือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในนามโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ในวันนี้คอลัมน์ The Success การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ของ Dek-D จะมาบอกเล่า เรื่องราวในวัยเรียน รวมไปถึงบทบาทการทำงานในพาร์ทผู้บริหารโรงพยาบาลต้องทำอะไรบ้าง และจุดเริ่มต้นในการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์นั้นเป็นมาอย่างไร?

พี่พีททท - กันตพร จริง ๆ แล้ว เขาเป็นเจ้าของโรงพยาบาล
พี่พีททท - กันตพร จริง ๆ แล้ว เขาเป็นเจ้าของโรงพยาบาล

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จัก ‘พี่พีททท’

พี่พีทเริ่มเป็นที่รู้จักจากการปรากฏตัวในช่อง YouTube ของคุณแก้มบุ๋ม (@kambumofficial
) เมื่อปี พ.ศ. 2565 จากคลิปบุกบ้านแฟน พาไปดูรถสุดหวงราคา 50 ล้าน! ที่มียอดวิวกว่า 2.6 ล้านวิว เป็นไวรัลจนทำให้พี่พีทกลายเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงบนสื่อออนไลน์มากขึ้น หลังจากนั้นพี่พีทจึงเริ่มเข้าสู่วงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่างจริงจัง เริ่มถ่ายคลิปลง YouTube และไลฟ์ใน TikTok จนกระทั่งเป็นกระแสถูกพูดถึงอีกครั้งหลังจากเผยแพร่คลิปสัมภาษณ์คุณพ่อ (ศ.ดร.นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์) เรื่องการทำธุรกิจโรงพยาบาล ทำให้หลายๆ คนเพิ่งรู้ว่า พี่พีทยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญ นั่นก็คือ การเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล ซึ่งทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว และตอนนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักพี่พีทในพาร์ทของผู้บริหารโรงพยาบาลให้มากขึ้นกัน

Fact : 

  • โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2527 สาขาแรกตั้งอยู่ที่ย่านเพชรเกษม จึงใช้ชื่อว่า ‘โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค’
     
  • ปัจจุบันโรงพยาบาลภายใต้การบริหารงานของ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) มีทั้งหมด 15 สาขา แบ่งออกเป็นสาขาที่ประเทศไทย 14 สาขา และประเทศลาว 1 สาขา โดยแบ่งเป็น 4 แบรนด์โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลการุญเวช

เส้นทางการเตรียมตัวเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล

พี่พีทเกิดและเติบโตมาจากครอบครัวที่มีทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นหมอ ทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังที่หลายคนรู้จักในนาม ‘โรงพยาบาลเกษมราษฎร์’ โดยตั้งแต่เด็กได้มีโอกาสไปวิ่งเล่นและได้เห็นภาพการทำงานของคุณพ่อและคุณแม่อยู่ที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ด้วยความที่คุณพ่อเป็นทั้งหมอและผู้บริหารควบคู่กันก็มักจะสอนให้ลูกทั้ง 3 คน เข้าใจว่าธุรกิจโรงพยาบาลไม่ได้มีแค่แพทย์ที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังมีด้านอื่นๆ ที่เหมือนกับธุรกิจทั่วไป เช่น การตลาด การเงิน ฯลฯ ดังนั้น ครอบครัวจึงวางแผนมาให้ตั้งแต่ต้นว่าลูกต้องเรียนอะไรบ้าง เพื่อให้ครอบคลุมกับธุรกิจที่ทำ และปูทางให้แต่ละคนรับผิดชอบในแต่ละด้านตามความชอบและความถนัดของตัวเอง ซึ่งพี่สาวคนโต (พญ.พรลักษณ์ หาญพาณิชย์) มีความตั้งใจจะเรียนหมอตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว พี่พีทชอบพูดคุยและเจอผู้คนจึงเลือกด้านบริหารและการตลาด ส่วนน้องสาวคนเล็ก (คุณพรสุดา หาญพาณิชย์) ที่ชอบตัวเลขก็ดูแลเรื่องเงินทั้งหมดของธุรกิจ

ตั้งแต่ประถมจนจบ ม.6 พี่พีทเรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในวัยนั้นพี่พีทเองก็ยังไม่ได้มีความฝันหรือมีความสนใจด้านไหนเป็นพิเศษ แต่รู้ว่าหลังเรียนจบต้องมาทำธุรกิจของที่บ้าน และด้วยความที่ผูกพันกับโรงเรียนมาถึง 12 ปี จึงตัดสินใจเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ในคณะการบริหารและการจัดการธุรกิจ สาขาการตลาด ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท  

คณะนี้เรียนเกี่ยวกับการวางแผนการตลาด การวิจัยการตลาด การส่งเสริมการขาย การพยากรณ์ยอดขาย การโฆษณา นโยบายผลิตภัณฑ์และราคา การตลาดสินค้าอุตสาหกรรม การจัดซื้อ การสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค และการประยุกต์ทฤษฏีการตลาดในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ 

หลังจากนั้นจึงเรียนต่อปริญญาโทอีกหนึ่งใบที่หลักสูตรนานาชาติ สาขา Healthcare and Wellness Management (HWM) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนับว่าเป็นหลักสูตรที่ตรงกับหน้าที่ของพี่พีทที่ต้องรับผิดชอบในอนาคต  

หลักสูตรนี้เรียนเกี่ยวกับมาตรฐานต่างๆ ของโรงพยาบาล เช่น Joint Commission International (JCI) ระบบรองรับคุณภาพตามมาตรฐานสากลจากสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยยกระดับคุณภาพของสถานที่ให้บริการ ทั้งในด้านความปลอดภัยของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ การรักษาที่ถูกต้องและชัดเจน บุคลาการ (แพทย์ พยาบาล พนักงาน ฯลฯ) ตลอดจนด้านการให้บริการ รวมถึงทักษะการบริหารจัดการทั้งในระดับอุตสาหกรรมและระดับองค์กร โดยจะเน้นไปที่เรื่องระบบการดูแลสุขภาพ นโยบายด้านสุขภาพ และโครงสร้างสิทธิพื้นฐานในการรักษาพยาบาลของไทย เช่น สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ, สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท

 ศ.ดร.นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ และผศ.พญ.สมพร หาญพาณิชย์
 ศ.ดร.นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ และผศ.พญ.สมพร หาญพาณิชย์

โปรเจกต์แรกของการทำงาน ต้องทำให้คนจำชื่อโรงพยาบาลได้

ย้อนกลับไปหลังจากเรียนจบในวัย 26 ปี พี่พีทก็เข้ามาทำงานที่บริษัททันที วันแรกที่เข้ามาทำงานในฝ่ายการตลาด ด้วยความที่เป็นเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน คุณพ่อจึงวางแผนให้ไปศึกษาโมเดลธุรกิจอยู่ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นที่ปรึกษา ใช้เวลาเรียนรู้การทำงานอยู่ 2 ปี หลังจากนั้นจึงขยายสาขาในการดูแลเพิ่มขึ้น และได้ทำโปรเจกต์ต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของตนเอง  

ในช่วงปีแรก ๆ ของการทำงานพี่พีทได้รับโจทย์ให้ทำโปรโมต ‘โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล’ ให้เป็นที่รู้จักอย่างมากขึ้น ซึ่งเป็นงานแรกที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงพยาบาลเปิดให้บริการมา 3 ปีแล้ว แต่จากการสำรวจพบว่า แม้กระทั่งคนในพื้นที่ก็จำชื่อโรงพยาบาลไม่ได้ จากปัญหาดังกล่าวทำให้พี่พีทต้องประชุมกับทีมและคิดแผนงานโปรโมตให้กับโรงพยาบาล  

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2560 ได้เปิดตัวแคมเปญ ‘The Best Job in Thailand’ ประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งผู้สำรวจความสุขคนไข้ ที่มีเงินเดือนสูงถึง 1,000,000 ล้านบาท สัญญาจ้างเป็นเวลา 6 เดือน โดยความรับผิดชอบในการทำงาน คือ การพูดคุยกับคนทุกเช้าเพื่อสำรวจความสุขของคนไข้ และเขียนบรรยายประสบการณ์ดีๆ ผ่าน Facebook ตลอดระยะเวลา 6 เดือน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากกรณีศึกษาที่พี่พีทเคยเรียน เป็นแคมเปญในปี พ.ศ. 2552 ที่มีชื่อว่า The Best Job in The World ของการท่องเที่ยวของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย จึงนำมาประยุกต์ใช้กับการโปรโมตโรงพยาบาลในครั้งนี้  

หลังจากที่เปิดตัวแคมเปญไป ผลตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดีมาก มีผู้สนใจสมัครเข้ามามากกว่า 10,000 คน อีกทั้งแคมเปญนี้ยังเป็นกระแสไวรัล จนทำให้โรงพยาบาลเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับว่าเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่ข้ามข้อจำกัดในการทำโฆษณาโรงพยาบาลรูปแบบเดิม ๆ  

พีท กันตพร หาญพาณิชย์
พีท กันตพร หาญพาณิชย์

การตัดสินใจและรับมือกับวิกฤตในฐานะผู้นำ

อย่างที่ทราบกันว่าช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลห้องเต็มทุกที่ และจำนวนผู้ป่วยก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง รัฐบาลจึงออกนโยบายให้นำโรงแรมมาทำเป็น Hospitel ซึ่งหลังมีประกาศออกมา พี่พีทในฐานะผู้นำของทีมก็รีบติดต่อโรงแรมที่รู้จักทันที แต่กว่าจะเปิดได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโรงแรมต้องปรับปรุงห้องเพื่อรองรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องของต้นทุนที่ต้องจ่าย ทำให้โรงแรมหลายแห่งไม่มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่  

แต่สิ่งที่ทำให้ Hospitel เกิดขึ้นได้ เพราะพี่พีทลงมือทำและตัดสินใจด้วยตัวเองในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่คุยกับเจ้าของโรงแรม, ลงพื้นที่ดูแลหน้างาน, จัดหาบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออัปเดตนโยบายต่างๆ ให้กับเจ้าของโรงแรมทุกวัน จึงทำให้เจ้าของโรงแรมเกิดความมั่นใจและตัดสินใจเข้าร่วมด้วย ในตอนนั้นโรงพยาบาลในเครือ BCH เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่เปิด Hospitel ที่มีโรงแรมเข้าร่วมกว่า 100 แห่ง รวม 25,000 เตียง รองรับผู้ป่วยได้มากที่สุดในประเทศไทย  

เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไม่มีใครกล้าออกจากบ้าน แต่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ต้องพบหมอทุกเดือน รัฐบาลจึงออกนโยบายให้สามารถพบหมอออนไลน์ได้ ซึ่งโรงพยาบาลในเครือ BCH เองก็ปรับตัวให้มีการพบหมอออนไลน์ ประกอบกับคิดค้นบริการใหม่ที่ตอบโจทย์กับยุค New Normal มากขึ้น เป็นบริการที่หมอจะเข้าไปตรวจและให้การบริการนอกสถานที่ หรือที่บ้านโดยตรง เช่น ตรวจสุขภาพ เจาะเลือด ฉีดวัคซีน เป็นต้น แม้จะเป็นช่วงวิกฤตแต่ก็เป็นอีกประสบการณ์ที่ทำให้ได้โชว์ศักยภาพว่าโรงพยาบาลในเครือสามารถรับมือและแก้ไขปัญหาจนสามารถผ่านพ้นวิกฤตเหล่านั้นมาได้  

จุดเด่นของ BCH คือให้บริการและรักษาครอบคลุมคนไข้ทุกกลุ่ม

พี่พีทบอกว่า โรงพยาบาลในเครือ BCH ไม่ได้เลือกให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่จุดเด่นของโรงพยาบาลในเครือ BCH คือ ให้บริการกลุ่มผู้ป่วยที่หลากหลายระดับ ทำให้ธุรกิจในเครือมีโรงพยาบาลตอบโจทย์การรักษาครอบคลุมทุกกลุ่ม ตั้งแต่คนไข้สิทธิประกันสังคม คนไข้เงินสด ไปจนถึงชาวต่างชาติ เช่น พม่า จีน และอาหรับ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่เจาะครบทุกตลาดเป็นเจ้าแรกๆ ของไทย  

อย่างที่ทราบกันว่าประกันสังคมถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของคนทำงานที่ต้องได้รับ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งถอนตัวจากโครงการประกันสังคม แต่โรงพยาบาลในเครือ BCH ยังคงให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจาก BCH เป็นโรงพยาบาลเครือข่ายที่รับผู้ป่วยประกันสังคมมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้ประกันตนลงทะเบียนมากกว่า 1,000,000 ล้านราย หากถอนตัวจากโครงการประกันสังคมคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ผู้ประกันตนที่จะต้องหาโรงพยาบาลอื่นๆ ทดแทนเพื่อใช้สิทธิที่ตัวเองมีอยู่  

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากผู้ใช้บริการมีสิทธิพื้นฐาน และโรงพยาบาลมีจำนวนโควตาผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมเพียงพอต่อการรักษาก็ควรที่จะรับผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ไว้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลเครือ BCH เป็นโรงพยาบาลเอกชนเพียงไม่กี่แห่งที่แยกตึกผู้ป่วยประกันสังคมออกมา เพื่อให้บริการผู้ป่วยนอกได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์กับที่ว่าโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับผู้ป่วยในทุกๆ ระดับ  

พี่พีท กันตรพร ในบทบาทผู้บริหารโรงพยาบาล
พี่พีท กันตรพร ในบทบาทผู้บริหารโรงพยาบาล

ผู้บริหารโรงพยาบาล vs คอนเทนต์ครีเอเตอร์

ปัจจุบันพี่พีทสานต่อธุรกิจโรงพยาบาลของครอบครัวเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว และดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด ควบคู่ไปกับการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ภาพการทำงานและตัวตนที่ทุกคนเห็นผ่านหน้าจอในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เป็นเพียง 2 ใน 7 วัน เท่านั้น อีก 5 วันที่เหลือเขาต้องรับหน้าที่สำคัญในการบริหารโรงพยาบาลที่ต้องบอกว่าการทำงานไม่ได้เหมือนในละคร  

บทบาทผู้บริหารโรงพยาบาลจะทำงานตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ โดยจะเป็นการเข้าประชุมตามสาขาในกรุงเทพฯ วันละ 1 สาขา เพื่อคุยกับทีม วางแผนงานประจำสัปดาห์ และอัปเดตความคืบหน้าของโปรเจกต์ต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มยอดขายของธุรกิจให้เติบโตขึ้นทุกปี นอกเหนือจากการตรวจสาขาที่ต้องทำเป็นประจำทุกสัปดาห์แล้ว ยังต้องรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาอีกด้วย

ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็แบ่งเวลามาทำงาน ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ โดย 1 เดือน จะถ่ายคลิปเพื่อเผยแพร่ลงช่อง YouTube ให้แฟนคลับและผู้ติดตามได้รับชม 4-6 คลิปต่อเดือน มีทีมงานคอยช่วยเหลือประมาณ 5-8 คน สำหรับจุดเริ่มต้นการทำ YouTube เดิมทีตั้งใจจะให้เป็นไดอารีความทรงจำเพื่อเก็บไว้ให้ลูกดูในอนาคตว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 พ่อและแม่เคยผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้างเท่านั้น แต่เมื่อได้การตอบรับที่ดีจากผู้ชมจึงทำต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 2 ในการทำงานพาร์ทคอนเทนต์ครีเอเตอร์แล้ว

พี่พีทเผยว่า ทั้ง 2 งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งเนื้องานและบุคลิกในการทำงาน การบริหารโรงพยาบาลจะเน้นไปที่การวางแผน คิดวิเคราะห์ หรือแก้ไขปัญหา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะมีความผ่อนคลายมากกว่า เน้นสร้างสรรค์สื่อที่มีความบันเทิงเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ชมเกิดความสนุกสนาน ถึงทั้งสองงานจะต่างกันคนละขั้ว แต่พี่พีทก็ยังรู้สึกสนุก และมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน เพราะได้ในทำสิ่งที่ตัวเองชอบ และยังเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต  

ภาพจากช่อง  YouTube  kambum
ภาพจากช่อง  YouTube  kambum

จากไดอารีบันทึกความทรงจำ สู่จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต  

จากตอนแรกที่ตั้งใจจะถ่ายคอนเทนต์เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ เก็บไว้เป็นความทรงจำเท่านั้น แต่ผลตอบรับจากผู้ชมกลับดีเกินคาด จนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและกลายมาเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักในปัจจุบัน แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ การตัดสินใจทำงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในครั้งนี้ นำไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต เพราะพี่พีทได้ก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง รวมถึงกล้าทำในสิ่งที่ไม่ถนัด เช่น ถ่ายแบบ ออกงานอีเวนต์ หรือให้สัมภาษณ์กับนักข่าว จนได้ค้นพบกับความชอบอีกหนึ่งอย่างในชีวิต  ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ของพี่พีท เกิดเป็นความรู้สึกที่ดีและภูมิใจในตัวเองที่กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อนในชีวิต  

และถึงแม้ว่าการทำงานสองอาชีพไปพร้อมกัน จะต้องแลกมาด้วยการไม่มีวันหยุดพักผ่อน แต่ทั้งสองงานต่างก็ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี เพราะงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจที่ทำอยู่ไปด้วย จึงทำให้พี่พีทมองเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจใหม่ ได้เปิด บริษัท แก้มพีทโปรดักชั่น จำกัด ในปี พ.ศ. 2566 เพื่อผลิตวิดีโอคอนเทนต์ด้านไลฟ์สไตล์ บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ  

ฝากถึงน้องๆ วัยเรียนชาว Dek-D.com  

หลายครั้งที่มีโอกาสได้ไปแนะแนวพี่พีทมักจะเจอกับคำถามที่ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองชอบ หรือในอนาคตตัวเองต้องไปทำอะไร สำหรับคนที่มีความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากทำอะไร ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีเส้นทางที่ชัดเจน แต่กลุ่มที่อยากให้คำแนะนำคือกลุ่มที่ตอนนี้ยังไม่มีความชอบด้านไหนเป็นพิเศษ และยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร อยากให้เริ่มต้นจากสิ่งที่ถนัด หรือชอบก่อน ลองทำไปสักระยะเวลาหนึ่งแล้วดูว่าสิ่งนี้ตอบโจทย์กับตัวเองไหม ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยนใหม่ แต่พยายามทำงานที่ทำแล้วมีความสุข เพราะเราจะอยู่กับมันไปได้นาน และจะไม่รู้สึกเหมือนว่าทำงาน แต่รู้สึกเหมือนเราได้ใช้ชีวิต

พี่พีท-กันตพร หาญพาณิชย์  ทายาทรุ่นที่ 2 โรงพยาบาลเกษมราษฎร์
พี่พีท-กันตพร หาญพาณิชย์  ทายาทรุ่นที่ 2 โรงพยาบาลเกษมราษฎร์

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทผู้บริหารโรงพยาบาล หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ต่างก็มีการทำงานที่เข้มข้นไม่แพ้กัน ถึงรูปแบบงานจะต่างกันสุดขั้ว แต่พี่พีทสามารถบริหารจัดการทำให้ทั้งสองงานนี้ประสบความสำเร็จไปพร้อมกันได้ ซึ่งหัวใจสำคัญในการทำงานคือ การมองทุกอย่างเป็นความสุขก่อนเสมอ แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาหรืองานหนัก แต่ถ้าเลือกสร้าง Mindset ที่ดีต่อการทำงานตั้งแต่แรกก็จะสามารถบริหารทั้งชีวิต ธุรกิจที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน

ทีมงานต้องขอขอบคุณ  ‘พี่พีท-กันตพร หาญพาณิชย์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด   บริษัท  บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)  ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับทาง Dek-D.com รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ
พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น