Teen Coach EP.107 : เช็กอาการ Smiling Depression เบื้องหลังรอยยิ้มสดใสแต่ในใจแตกสลาย

หลายคนไม่อยากเผยมุมอ่อนแอให้ใครเห็น เลยเลือกที่จะยิ้ม แล้วปกปิดความเศร้าเอาไว้ จนกลายเป็นภาวะ Smiling Depression

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าในโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่พบมากขึ้นเป็นเท่าตัว แม้ว่าคนพยาพยามจะทำความเข้าใจ และยังตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังคงไม่ยอมรับ เลือกที่จะปฏิเสธ ปกปิดมันเอาไว้ ไม่อยากให้ใครรับรู้ ไม่ว่าจะเพราะอาย ไม่อยากเป็นภาระของคนอื่น เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องบอกใคร แต่การเลือกที่จะปิดหรือเก็บเอาไว้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ

หลายคนอาจจะมองว่าไม่จำเป็นที่จะเผยมุมอ่อนแอของตนเอง ไม่อยากแสดงให้คนเห็น เลยเลือกที่จะยิ้มและแสดงออกว่าตัวเองยังไหวอยู่ ภายใต้รอยยิ้มอันสวยงาม กลับปกปิดความเศร้าโศกเอาไว้มิด กำลัง “แสดง” ให้คนอื่นเห็นว่ามีความสุข

วันนี้พี่จะพามารู้จักภาวะ Smiling Depression หรือการซ่อนความโศกเศร้าไว้ใต้รอยยิ้มกันค่ะ

Smiling Depression เป็นส่วนหนึ่งของอาการซึมเศร้า หรือมีอีกชื่อเรียกว่า ‘high-functioning depression’ หรือ ‘masked depression’ หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งกำลังเผชิญและต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าที่กำลังกัดเกินจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ยังคงต้องใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติสุข ซึ่งจะแตกต่างจากภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไปที่มักจะมีการแสดงความรู้สึกทางลบ อย่างการเศร้า การผิดหวัง แต่ Smiling Depression จะปกปิดความรู้สึกเหล่านั้นผ่านการยิ้ม หรือการแสดงท่าทางในด้านบวกอื่น ๆ เพื่อที่จะไม่ให้ใครรู้

สาเหตุของ Smiling Depression 

Smiling Depression  อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หรือหลายปัจจัยมารวมกันก็ได้ และค่อนข้างขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แต่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะดังกล่าว จะทำให้มีความมั่นใจที่ลดลง พร้อมกับการแบกความคาดหวัง การกดดันตัวเองมากขึ้น 

Trauma Events

ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือเรื่องราวในชีวิตที่สร้างบาดแผลให้กับเรา (Trauma) เช่น การเจอเรื่องร้ายๆ ประสบอุบัติเหตุ ปัญหาทางด้านการเงิน ปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ปัญหาจากงานที่ทำ ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดภาวะเหล่านี้ได้

Personality 

ลักกษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพที่ก่อให้เกิดความกดดัน ความตึงเครียด เช่น perfectionism ที่ไม่อยากผิดพลาด ไม่อยากเผชิญความผิดหวัง หรือหัวหน้าครอบครัวที่แบกรับความกดดัน ทั้งด้านการดูแลรักษาความสัมพันธ์ สถานะทางการเงิน เป็นต้น

ความคาดหวัง (Expectations)

สภาพแวดล้อม สื่อ โซเชียลมีเดีย การอยู่ในสังคมที่จะถูกตัดสิน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบบัน ที่โซเชียลมีเดีย และบุคคลที่ประสบความสำเร็จมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเป็นที่ยอมรับในสังคม หลาย ๆ คนมักจะรู้สึกกดดัน ซึ่งในบางครั้งมักจะส่งผลไปในทางลบ ทำให้เกิดความคาดหวัง ความเครียด เกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นจนขาดความมั่นใจและความเป็นตัวเอง 

ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาสุขภาพจิตเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ และขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เนื่องจากเรื่องที่แต่ละคนเผชิญก็ไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตมา รวมไปถึงวิธีรับมือกับความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความผิดหวัง ก็มักจะแตกต่างกันไป

เช็กอาการ Smiling Depression

แม้ว่า Smiling Depression จะเป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้ยาก เพราะบุคคลมักจะไม่แสดงออก แต่ในทางทฤษฎี ก็พอจะมีจุดสังเกตบางอย่างที่บ่งบอกอาการของ Smiling Depression เช่น

  • ยิ้มแค่ภายนอก แต่ภายในแตกสลาย
  • รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่เก่ง ทำอะไรได้ไม่ดี ไม่มีความมั่นใจ
  • รู้สึกสิ้นหวังกับชีวิต ไม่อยากใช้ชีวิตต่อ
  • ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอย่างอื่นเวลาอยู่คนเดียว
  • มีพฤติกรรมการกินและการนอนที่ผิดปกติ
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน ๆ
  • หลีกเลี่ยงที่จะพบเจอผู้คน เพราะไม่อยากเอาความรู้สึกลบไปใส่คนอื่น กลัวการเป็นภาระ
  • มีปัญหาในการคิด การตัดสินใจ คิดช้าลง ตัดสินใจช้าลงหรือมีตรรกะบางอย่างที่เปลี่ยนไปไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่มีสมาธิ เป็นต้น
  • หันมาใช้สารเสพติด บุหรี่ กัญชา แอลกอฮอล์เพื่อบรรเทาความเศร้า

**หากเผชิญกับอาการเหล่านี้มาเป็นเวลานาน กินระยะเวลา 2-3 เดือน หรืออาการเหล่านี้ส่งผลกระทบทางลบต่อการใช้ชีวิต ทำให้ประสิทธิภาพการเรียน การนอน การใช้ชีวิตแย่ลง แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญ​ อย่าปล่อยให้มันเรื้อรัง พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เพื่อให้รู้สึกดีขึ้น

วิธีการรับมือเมื่อเผชิญกับสภาวะ Smiling Depression

การขอความช่วยเหลือ

ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา หรือคนรอบข้างเราที่กำลังเผชิญกับภาวะเหล่านี้อยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการซัพพอร์ตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการไปพบหมอ หรือนักจิตวิทยา การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับคนรอบข้างที่เราสนิทใจ ให้เขาเข้าใจความรู้สึกของเราจริง ๆ โดยที่เราไม่ต้องเสแสร้ง การที่มีคนคอยให้กำลังใจหรือเข้าใจเป็นเรื่องที่ดี และทำให้เรากล้าที่จะยอมรับความรู้สึกตนเองมากขึ้นด้วย

ดูแลตัวเอง รักตัวเอง ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ (Self-Care)

การดูแลตัวเองหรือรักตัวเองสามารถทำได้หลายแบบ ตามสไตล์ของแต่ละคน เช่น การกินอาหารอร่อย ๆ การทำกิจกรรมที่ชอบ การดูหนังฟังเพลง เล่นเกม เล่นกีฬา เป็นต้น

การตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในบางครั้งที่เราเผชิญกับความผิดหวังและไม่อยากยอมรับมัน เพราะมัวแต่จมอยู่กับความรู้สึกแย่ ๆ มองความผิดพลาดจนลืมย้อนดูความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่บางอย่างที่เรารู้ว่าเราจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย การไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น และขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นก็เป็นอีกสิ่งที่ควรทำ

พบแพทย์ หรือนักจิตวิทยา

เพื่อที่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และเหมาะกับบุคคลนั้น

หากิจกรรมใหม่ๆ

เพิ่มงานอดิเรก ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ หรือออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมในการลดความเครียด

ไม่เฟดตนเองออกจากสังคม

คอยพูดคุยและอัพเดตกับคนใกล้ชิด เพื่อให้รับรู้ถึงการสนับสนุน การอยู่ด้วยกันในวันที่ยากลำบาก การเยียวยา (Healing) จากคนที่เรารักอีกด้วย

การเศร้าไม่ใช่เรื่องที่ผิด สิ่งที่เราควรทำคือรับรู้และตระหนักถึงความรู้สึกของเรา ไม่กดมันไว้ ไม่แสดงออกไปในทางตรงกันข้าม ซื่อตรงต่อความรู้สึก ยอมรับและโอบอุ้มกับความเสียใจเหล่านั้น แล้วมันจะดีขึ้นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ชายที่รู้สึกว่าตนเองต้องเข้มแข็ง กลุ่มคน Perfectionist ที่ไม่ชอบเผชิญกับความผิดพลาดหรือสิ่งที่ไม่ตรงกับความคาดหวัง การที่เรายอมรับและซื่อสัตย์กับความรู้สึกตนเองจะเป็นการทำความเข้าใจตัวเองได้ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

 Referenceshttps://www.webmd.com/depression/smiling-depression-overviewhttps://www.medicalnewstoday.com/articles/smiling-depressionhttps://www.verywellmind.com/what-is-smiling-depressionhttps://www.researchgate.net/Smiling_depression_an_emerging_threa
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น