‘เด็กนิเทศ นายแบบ และนักแสดง’ 3 บทบาทจากความฝันสู่ความจริง ของ ‘โอปอล - กฤษภาฑร’ ผู้ไม่เคยละทิ้งโอกาส

. . . . . . . . .

 

เมื่อพูดถึงคณะในฝันของใครหลาย ๆ คน ‘นิเทศ จุฬาฯ’ ต้องเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน แต่ความฝันในการเรียนต่อคณะนิเทศ มักพ่วงมาด้วยคำพูดจากบุคคลภายนอกที่ว่า “เรียนจบนิเทศมักไม่มีงานทำ ไม่ต้องเรียนนิเทศก็ทำงานสายนี้ได้ นิเทศเป็นเป็ดที่เก่งไม่สุดสักทาง” 

วันนี้ SparkD จึงชวน ‘โอปอล- กฤษภาฑร ชวัลวัชรากร’ เป็ดที่ทดลองทำงานมาแล้ว 3 บทบาท ทั้งงานสาย PR (Public Relations หรือการประชาสัมพันธ์) นายแบบ และบทบาทใหม่ล่าสุดอย่างนักแสดงซีรีส์จากเรื่อง ‘อายุมั่นขวัญยืน’ เพราะเป็ดตัวนี้ไม่เคยละทิ้งโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เริ่มต้นจากความชอบ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง จากมนุษย์เป็ดนิเทศสู่ตัวละครแห่งวงการบันเทิงไทย

. . . . . . . . .

พี่จา: การเรียนคณะนิเทศ ภาคอินเตอร์คือ ‘ความฝัน’ ของคุณตั้งแต่ต้นไหม

พี่โอปอล: ช่วงเด็ก ๆ ความฝันกระจายตัวมาก ๆ บางวันอยากเป็นหมอ อยากเป็นนู่นเป็นนี่เป็นนั่น แต่มันเริ่มชัดขึ้นตอนม.ปลาย เพราะเราเริ่มรู้ความชอบของตัวเอง และเห็นรุ่นพี่ที่ชอบทำกิจกรรมเลือกเรียนต่อที่คณะนิเทศ วันหนึ่งเราก็อยากเดินรอยตามเขาบ้าง ความคิดที่ว่า อยากเข้า Com-Art หรือนิเทศศาสตร์ ภาคอินเตอร์ ของจุฬาฯ จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงม.ปลาย

จริง ๆ ผม gap year ก่อนเรียนต่อมหาลัยด้วย ตอนนั้นก็ยื่นหลายที่ ส่วนใหญ่จะเป็นคณะเกี่ยวกับสายอาร์ตและภาคอินเตอร์ เช่น UAL (University of the Arts London ซึ่งมหาวิทยาลัยด้านศิลปะและการออกแบบชั้นนำระดับโลก) และ BBA (Bachelor of Business Administration) หรือหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

“แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่าต้องกลับมาเลือกนิเทศ เพราะมันเป็นเป้าหมายของเราตั้งแต่แรก ถ้าผมไม่ได้เลือกนิเทศ จุฬาฯ ผมจะต้องเสียใจแน่ ๆ ”

ผมพยายามหาอะไรที่เหมาะกับตัวเองที่สุด ตอนแรกคิดว่าถ้าเรียน BBA จะจริงจังไปไหม ถ้าต้องเรียนการเงิน หรือการตลาดที่จริงจังมาก ๆ มันอาจจะไม่เหมาะกับผมที่เป็นเด็กกิจกรรม ตอนแรกที่เลือกคณะนิเทศเพราะมองว่าเป็นคณะที่สนุก มีกิจกรรมที่น่าสนใจและน่าทำเยอะ เช่น ละครนิเทศจุฬาฯ

พี่จา: เตรียมตัวในการสอบเข้ามหา’ลัยยังไงบ้าง

พี่โอปอล: เคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ SAT คือจะต้องฝึกทำข้อสอบบ่อย ๆ เพราะตอนทำข้อสอบจริง จะต้องทำข้อสอบแข่งกับเวลา โดยข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ writing และ reading ซึ่งจะมี 4-5 บทความ ถ้าเราลองทำข้อสอบบ่อย ๆ จะทำให้เรารู้แนวทาง และจับแนวทางได้เลยว่า ข้อสอบจะออกประมาณไหน และสิ่งที่สำคัญในวันสอบคือการมีสติ และการบริหารจัดการเวลาให้ดี

พี่จา: ก่อนและหลังเข้าเรียนที่นิเทศ จุฬาฯ มุมมองต่อคณะนี้เปลี่ยนไปไหม

พี่โอปอล: มุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือเรื่อง ‘คน’ ตอนแรกคิดว่าคนในคณะนิเทศจะมีลักษณะเหมือนกัน หรือทำอะไรเหมือน ๆ กัน แต่เมื่อเข้ามาเรียนจริง ๆ คนที่อยู่ในคณะนิเทศแตกต่างกันมากอย่างชัดเจน ทุกคนมีคาแรกเตอร์ สไตล์ และความชอบของตัวเอง 

“ขอบเขตความแตกต่างของผู้คนมันกว้างและหลากหลายกว่าที่ผมประเมินไว้ตอนแรก ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ผมมองโลกได้กลมขึ้น และรู้จักผู้คนในมิติต่าง ๆ มากขึ้น”

พี่จา: การเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะนิเทศ จุฬาฯ เป็นแบบไหน

พี่โอปอล: เราจะมีสถานที่หนึ่งในคณะที่ทุกคนรู้จักกันดี สถานที่นี้มีชื่อว่า ‘ใต้ถุนคณะ’ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงถ้าใครอยากแสดงความสามารถ เช่น การร้อง หรือการเต้น ก็สามารถแสดงความเป็นตัวเอง หรือโชว์สิ่งที่ตัวเองภูมิใจได้ที่ใต้ถุนคณะ อย่างรุ่นผมก็มีการแสดงของ Drag Queen

“สภาพแวดล้อมของที่นี่ทำให้ผมกลายเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น ทั้งเพิ่มความมั่นใจ และเป็นเวทีให้เราได้ลองฝึกฝนตนเอง ผมคิดว่าผมเลือกไม่ผิดเลย เพราะการเรียนของนิเทศ จุฬาฯ ไม่หนักจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้บางเบาจนเราไม่มีความรู้ติดตัวสำหรับการทำงานในอนาคต การเรียนที่นี่ทำให้เราได้เรียนรู้สายงานต่าง ๆ ของนิเทศในเบื้องต้น ซึ่งมันเป็นจุดที่พอดีสำหรับผม”

พี่จา: คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า คนเรียนนิเทศเป็นเป็ด หรือไม่ต้องเรียนนิเทศก็จบมาทำงานนิเทศได้

พี่โอปอล: การที่เรามีทักษะติดตัวหลาย ๆ อย่าง ทำเป็นหลาย ๆ อย่าง แม้จะมีอย่างละเล็กอย่างละน้อย แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับยุคนี้ เพราะวันหนึ่งที่เราต้องทำงานจริง เราจะเริ่มต้นได้ดี ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองจากการทำงานจริงต่อไปได้

พี่จา: สนใจสายงานไหนของนิเทศศาสตร์

พี่โอปอล: ผมสนใจด้าน PR (Public Relations) หรือการประชาสัมพันธ์ เพราะลึก ๆ แล้วผมเป็นคนชอบเข้าสังคม และชอบพูดคุยกับผู้คนไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่าสายงานนี้ทำให้เราได้เจอคนเก่ง ๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการและแง่มุมที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ หรือพาตัวเองมาถึงจุดนี้ที่แตกต่างกัน 

“การเป็น PR ทำให้เราได้เจอ ได้เรียนรู้ข้อคิดและประสบการณ์จากคนเก่ง ๆ เหล่านี้”

ลักษณะของเนื้องาน PR คืองานที่ต้องพบเจอกับสื่อมวลชน และบางครั้งจะต้องเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release) เพื่อโปรโมตสินค้า บริการ หรือบุคคลหนึ่ง ผเคยฝึกงานเป็นผู้ช่วย PR ที่ Vogue Thailand พี่ ๆ เขาก็จะพาเราไปงานอีเวนต์ต่าง ๆ และสอนว่า ในหนึ่งงานจะต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง เพราะอีเวนต์ส่วนใหญ่เป็นงานสำหรับคนที่ได้รับเชิญ หรือสื่อมวลชนเท่านั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้เข้าไปเรียนรู้งานจากอีเวนต์เหล่านั้น ถือเป็นประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าไปอยู่ตรงจุดนั้นได้

ผมได้พัฒนาทักษะหลายด้านจากการฝึกงานในครั้งนี้ เช่น ทักษะการใช้ภาษา การเลือกคำ การเขียนงาน และสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือการฝึกความอดทน เพราะเราต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ ผมยังได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่ผู้ช่วยสไตลิสต์ (Stylist Assistant) ทำให้ผมได้เรียนรู้เบื้องลึกของวงการแฟชั่นไทย และประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนี้

พี่จา: จุดเริ่มต้นในการทำงานด้านแฟชั่นและการเดินแบบคืออะไร

พี่โอปอล: จริง ๆ ผมสนใจและชอบด้านนี้อยู่แล้ว แต่จุดเริ่มต้นในการทำงานสายนายแบบในเอเจนซีคือ มีเอเจนซีหนึ่งเปิดรับสมัครนายแบบ เพื่อนก็ชวนให้ผมไปคัดเลือกเป็นเพื่อน เมื่อไปลองแคสต์แล้วบังเอิญได้ 

“ไหน ๆ เขาก็เลือกเราแล้ว แสดงว่าเขาก็ต้องมองเห็นอะไรในตัวเรา และคิดว่าตัวเองคงพอทำได้แหละ ก็เลยลองดู”

การบ้านหลัก ๆ ก่อนวันงานของนายแบบคือ การดูแลหุ่น ควบคุมอาหารการกิน และออกกำลังกาย ส่วนเรื่องการเดิน เอเจนซีก็จะสอนว่าพื้นฐานการเดินเป็นแบบไหน แต่เมื่อไปถึงหน้างาน เราก็ต้องทำการบ้านเรื่อง Mood & Tone สไตล์ และจังหวะความเร็วในการเดินอีกครั้ง โดยทางแบรนด์จะเป็นคนแจ้งว่าอยากให้เดินแบบไหน หรือเพิ่มเติมอะไรในโชว์บ้าง เช่น อยากให้เดินเร็วขึ้นเพื่อให้ดูเหมือนเร่งรีบ เดินแบบคนมีความรัก หรือเดินในมาดที่เคร่งขรึม สไตล์การเดินก็จะแล้วแต่งาน

พี่จา: งานเดินแบบที่ประทับใจที่สุดคืออะไร

พี่โอปอล: Bangkok International Fashion Week ปี 2022 ซึ่งได้ร่วมงานกับแบรนด์ Kloset พี่ ๆ ทีมงานใส่ใจและประณีตกับผลงานในวันนั้นมากจริง ๆ รวมถึงทุกคนน่ารักมากกับผมมาก จนถึงตอนนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ จึงรู้สึกว่าเป็นงานที่ประทับใจ

พี่จา: ถ้าต้องเลือกระหว่าง PR - นายแบบ - งานแสดง คุณจะเลือกอะไร เพราะเหตุใด

พี่โอปอล: งานแต่ละด้านก็จะมีเนื้องานและความสนุกที่แตกต่างกันออกไป แต่ตอนนี้ผมขอเลือกงานแสดง เพราะเป็นงานที่ผมรู้สึกกับมันมากที่สุด งานแสดงเป็นสิ่งที่ผมได้เลือกไปแล้ว และผมกำลังทำมันอยู่

พี่จา: เริ่มเข้าวงการบันเทิงได้อย่างไร

พี่โอปอล: ณ ตอนนั้น ผมกำลังฝึกงานที่ Vogue Thailand ทำให้มีโอกาสได้เจอกับคนเยอะ และได้เจอกับ ‘พี่เอส’ โปรดิวเซอร์ของซีรีส์อายุมั่นขวัญยืน พี่เอสจึงชักชวนไปเจอ ‘พี่แชมป์-วีรชิต ทองจิลา’ ผู้กำกับของซีรีส์เรื่องนี้ พี่ ๆ บอกว่า คาแรกเตอร์นี้ค่อนข้างตรงกับปอลนะ อยากให้ปอลลองมาทำงานด้วยกันดู เรารู้สึกว่าไหน ๆ ก็ได้รับโอกาสมาแล้ว และผมคิดว่าพี่แชมป์จะทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานด้านการแสดงมากขึ้นด้วย ก็เลยลองดู

พี่จา: เตรียมตัวก่อนถ่ายทำยังไงบ้าง

พี่โอปอล: ในตอนแรกมีการถ่าย Pilot ของซีรีส์ ซึ่งเปรียบเสมือนการลองลงสนามจริง เมื่อเราได้ลองถ่ายจริง เราก็จะรู้ว่าตัวเองควรปรับปรุงแก้ไขส่วนใดบ้าง หลังจากนั้นก็ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป ซึ่งทำให้เราได้พัฒนาในจุดที่เป็นข้อด้อยของเราในตอนแรก โดยเวิร์กช็อปจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือเวิร์กช็อปเพื่อให้เข้าใจคาแรกเตอร์ตัวละคร และเวิร์กช็อปเพื่อฝึกทักษะการแสดงทั่วไป

พี่จา: ความท้าทายในการแสดงซีรีส์เรื่องแรกคืออะไร

พี่โอปอล: ความท้าทายคือการปรับตัวเข้ากับการทำงานกองในช่วงแรก ๆ เพราะผมไม่เคยทำงานในกองถ่ายที่มีทีมงานจำนวนมากมาก่อนเลย ซึ่งทีมงานทุกคนจะต้องรอเราคนเดียว จึงจะผ่านฉากฉากหนึ่งไปได้ มันยากมากสำหรับผมในช่วงแรก แต่ผมจัดการกับความกดดันนี้ด้วยการทำการบ้านให้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักแสดง เช่น ในแต่ละวันเราจะต้องรู้ว่า วันนี้เราผิดพลาดเรื่องอะไร เราต้องพัฒนาตรงไหนบ้าง หลังทำงานเสร็จ ผมก็จะต้องทำการบ้านและเตรียมตัวให้ดีขึ้นในแต่ละวัน จนวันหนึ่งเราก็จะเจอสมดุลที่เหมาะสม และรู้ว่าต้องเตรียมตัว หรืออ่านบทไปแค่ไหนจึงจะสามารถทำงานได้อย่างไหลลื่น

“ยอมรับว่าช่วงแรกยังต้องปรับตัวกับการทำงานกอง ตอนนี้ผมสามารถหาสมดุลในการทำงานได้แล้ว”

พี่จา: ซีรีส์ ‘อายุมั่นขวัญยืน’ เป็นซีรีส์เกี่ยวกับเรื่องอะไร

พี่โอปอล: เป็นเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่ชื่อ ‘พัน’ ซึ่งเป็นแวมไพร์ และอยู่บนโลกนี้มานานกว่า 900 ปี เขามีความสัมพันกับเพื่อน และคนรู้จักมามากมาย แต่ต้องเห็นคนรักล้มหายตายจากไปโดยตลอด ผมจึงมองว่า ชื่อของซีรีส์ ‘อายุมั่นขวัญยืน’ เป็นคำพูดที่พันอยากจะมอบให้แก่คนรักของเขา อยากจะบอกคนรักว่า อยากให้มีอายุมั่นขวัญยืนนะ ซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันเป็นคำพูดที่ดีที่จะบอกกับใครสักคน

พี่จา: ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเป็นนิรันดร แต่อะไรคือสิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไปสำหรับโอปอล

พี่โอปอล: สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไปสำหรับผมคือสิ่งที่เราเคยทำไว้ให้กับโลก เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เราตายไปแล้ว สิ่งที่เราเคยทำก็จะถูกจารึกไว้ในความทรงจำของคนอื่น ๆ

พี่จา: เล่าถึงตัวละครหรือบทบาทที่ได้รับให้ฟังหน่อย

พี่โอปอล: ‘โย’ เป็นเด็กนิเทศ และเป็นคนที่มีความสดใสร่าเริงเหมือนกับผม แต่ความแตกต่างคือ ผมอาจจะไม่ได้มี Energy ตลอดเวลาเหมือนกับโย นอกจากนี้ โยยังเป็นคนที่ขี้สงสัย และเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาว เมื่อโยแอบปิ๊ง ‘พัน’ จึงสงสัยว่า เขาเป็นมนุษย์ต่างดาวหรือเปล่า  จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ที่โยจะเข้าไปตามสืบชีวิตของพัน ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เขาเข้าข่ายการเป็นมนุษย์ต่างดาว แต่ความจริงแล้ว พันเป็นแวมไพร์นะครับ 

พี่จา: หนึ่งสิ่งที่คิดว่าคนอื่นเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพ ‘นักแสดง’ คืออะไร

“หลายคนอาจมองว่านักแสดงเป็นอาชีพที่สวยงาม หรือมองว่าเป็นสิ่งที่เราได้มาอย่างง่ายดาย ใคร ๆ ก็ชื่นชมผลงานที่เราทำ แต่ผมมองว่า กว่านักแสดงจะไปถึงจุดนั้นได้ หรือซีรีส์เรื่องหนึ่งจะเผยแพร่ออกมาได้ มันต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างทั้งจากตัวนักแสดงและทีมงาน แม้ซีรีส์นั้นจะเป็นซีรีส์ที่ให้ความบันเทิง แต่กระบวนการทำงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องผ่านการคิดและการกลั่นกรองอย่างดี”

พี่จา: คิดว่า connection สำคัญต่อเส้นทางบันเทิงไหม

พี่โอปอล: ปฏิเสธไม่ได้ว่า connection เป็นสิ่งที่สำคัญในยุคสมัยนี้ เพราะ connection ทำให้เราได้เจอกับโอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิต แต่ผมคิดว่า เราไม่ควรใช้ connection ที่เรามีไปเบียดเบียนคนอื่น หรือใช้ในทางที่ไม่ดี

พี่จา: การเรียนนิเทศฯ ถือเป็นแต้มต่อในวงการบันเทิงไหม

“การเรียนนิเทศถือเป็นแต้มต่อในวงการบันเทิงพอสมควร เพราะนอกจากจะทำให้เรากล้าคิด กล้าแสดงออกแล้ว การเรียนนิเทศยังทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานของการสื่อสาร ดังนั้น การเป็น ‘คนนิเทศ’ จึงทำให้เราสามารถนำ ‘สาร’ ที่ผู้กำกับต้องการสื่อไปสู่ผู้ชมได้”

พี่จา: อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่กำลังค้นหาตัวเอง ทั้งที่อยากเรียนนิเทศ และไม่ได้อยากเรียนนิเทศ

พี่โอปอล:  ถ้าเรากำลังสงสัยว่า เราทำได้หรือเปล่า อย่ารอช้าที่จะลองทำ อยากให้ลองเข้าไปค้นหาตัวเองว่า สิ่งนี้ใช่สำหรับเราไหม ถ้าไม่ใช่ เราก็จะได้ค้นหาตัวเองต่อไปว่า อะไรเหมาะกับเรา เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคน ที่มีความฝันและอยากจะทำมันครับ

. . . . . . . . .

สุดท้ายนี้ อย่าลืมเป็นกำลังใจให้กับ ‘โย’ ในซีรีส์ ‘อายุมั่นขวัญยืน’ โดยสามารถรับชมได้ทางช่อง 3 ทุกวันพุธ เวลา 22.45 น. และรับชมย้อนหลังได้ทาง WeTV เวลา 23.30 น. และถ้าใครอยากติดตามงานอื่น ๆ ของ ‘พี่โอปอล’ สามารถติดตามได้ที่ IG: tentwopal สำหรับวันนี้ พี่จา SparkD  และพี่โอปอลต้องขอตัวก่อน แล้วพบกันใหม่ใน EP. หน้า บั๊ยบายย

. . . . . . . . .

พี่จา SparkD เขียน/สัมภาษณ์
พี่มัดหมี่ SparkD กราฟิกดีไซน์
พี่ฟิวส์ พี่แอล SparkD บรรณาธิการ

SparkD
SparkD - Columnist พื้นที่แรงบันดาลใจที่จะช่วยให้ Young Gen ค้นหาตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น