ทำไมเด็กไทยต้องเรียนพิเศษ? การสอบแข่งขันยากไป หรือที่เรียนในโรงเรียนไม่ดีพอ

“การเรียนพิเศษที่มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย”

“ไม่เรียนพิเศษ จะสอบโรงเรียนดังติดไหม” 

“จะมีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้เหรอ”

“ต้องเรียนพิเศษ ถ้าไม่เรียน กลัวสอบไม่ติด”

ภาพจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ภาพจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

เชื่อว่ายังมีน้องๆ อีกมากที่มีเรียนพิเศษเพิ่ม อาจจะหลังเวลาเลิกเรียน หรือแม้กระทั่งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหนึ่งอาจเรียนหนึ่งวิชาหรือมากกว่านั้น แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมเด็กไทยถึงยังต้องเรียนพิเศษ หรือเพราะการศึกษาในห้องเรียนมันยังไม่พอ? 

ด้วยหลักสูตรของการศึกษาไทย ทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องแข่งขันกันในสนามสอบตลอดเวลา จนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ทำให้เกิดการกดดันและการเข้มงวดตามมา เนื่องจากการรับเด็กเข้าเรียน ใช้เกณฑ์การวัดผลจากคะแนนสอบทำให้เกิดการแข่งขันทางวิชาการสูง และเพื่อให้ได้คะแนนที่ดี โรงเรียนกวดวิชาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เด็กมีคะแนนสูงเพียงพอต่อการสอบคัดเลือก 

ทำให้โรงเรียนกวดวิชา หรือติวเตอร์เข้ามามีบทบาทกับเด็กไทยมากขึ้น และธุรกิจกวดวิชายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นค่านิยมที่เด็กต้องเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าสถานศึกษาต่างๆ ที่มีชื่อเสียง  และเป็นการเพิ่มโอกาสในอนาคตมากกว่าการฝากความหวังไว้กับการศึกษาไทยในปัจจุบัน

เด็กไทยใช้เวลาเรียนพิเศษเฉลี่ย 11-12 ชม./สัปดาห์ 

ผลสำรวจ จากศูนย์ความรู้และนโยบายเด็ก (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะ เด็ก เยาวชน และครอบครัว สำรวจสถิติการเรียนพิเศษของนักเรียนไทย จำนวน 12,999 คน จากข้อมูลการสำรวจเยาวชนไทย 2022 (Youth Survey 2022) 

พบว่าร้อยละ 35.1 ของเด็กนักเรียนอายุ 15-18 ปี ทั้งหมดในประเทศไทยเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากการศึกษาในระบบ โดยกลุ่มเด็กนักเรียนที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะเรียนพิเศษสูงกว่า ซึ่งใช้เวลาเรียนพิเศษโดยเฉลี่ย 11-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ซึ่งราคาคอร์สเรียนจะเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันไปจนถึงเกือบหลักหมื่น เมื่อคิดเป็นต่อปีอยู่ที่ประมาณ 20,000 - 45,000 บาท และในสังคมที่การเรียนการสอน มีต้นทุนและการแข่งขันที่สูง เด็กจึงเลือกพึ่งโรงเรียนกวดวิชา เพื่อที่จะเพิ่มทักษะของตัวเองให้สามารถไปแข่งขันกับคนอื่นได้ แม้จะต้องลงทุนกับค่าคอร์สเรียนที่มีราคาสูงก็ตาม

สนามสอบ = การแข่งขัน 
ตั้งแต่ชั้นประถมฯ มัธยมฯ จนถึงมหาวิทยาลัย

ตั้งแต่เด็กประถมไปจนถึงมัธยม ต่างถูกบังคับให้อยู่ในสนามแข่งทางการศึกษาแทบตลอดเวลา เพราะสังคมปัจจุบันยังคงมองว่า การสอบ เป็นวิธีที่ยุติธรรมสำหรับเด็กเพื่อคัดเลือกเด็กที่มีความพร้อมและมีคุณภาพเข้าสถานศึกษาของตน ทำให้เด็กต้องแข่งขันกันตลอดเวลา ทั้งกับตัวเอง และกับเพื่อนคนอื่นๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของตนเอง 

ยิ่งโรงเรียนกวดวิชามีเพิ่มขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งสะท้อนถึงระบบการศึกษาของไทย เมื่อหลักสูตรการศึกษายังคงวนอยู่กับที่ เนื้อหาในห้องเรียนไม่สามารถนำไปใช้สอบวัดผลหรือสอบแข่งขันได้ ยกตัวอย่างเช่น วิชาสอบ TGAT, TPAT หรือ A-Level ที่ไม่ได้มีสอนในหลักสูตร แต่เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่ใช้สำหรับสอบยื่นเข้ามหาวิทยาลัย แม้พื้นฐานเนื้อหาของกลุ่มสาระวิชาไม่ต่างกัน แต่โจทย์และวิธีการหาคำตอบนั้นไม่เหมือนที่ได้เรียนในห้องเรียนเลย

การแข่งขันที่สูง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กหลายๆ คนตัดสินใจเรียนพิเศษ ในปัจจุบันไม่ได้แข่งกันแค่ภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังมีการแข่งขันที่เด็กต้องสอบเข้าให้ติด ซึ่งจะต้องสู้กับนักเรียนโรงเรียนอื่นอีกมากมาย เพราะแต่ละโรงเรียนมีการสอนนักเรียนไม่เท่ากัน และที่นั่งแต่ละสถานศึกษาก็มีจำกัด เรียกได้ว่าเป็นศึกแย่งชิงเก้าอี้

มุมมองคนไทยต่อการแข่งขันทางการศึกษา

จากความคิดเห็นที่ชาวเน็ตได้วิจารณ์ถึง การเรียนพิเศษ ก็มีหลากหลายแง่มุมแต่ส่วนใหญ่ก็คิดเห็นเป็นทางเดียวกันว่า “การเรียนพิเศษมีความสำคัญ เพราะในปัจจุบันการแข่งขันสูง แต่จะดีกว่านี้ถ้าหากแก้ไขหลักสูตรการศึกษาของไทย”

อยากให้แก้ไขที่ระบบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในเรื่องการเรียนรู้ เนื้อหา สอดคล้องกับสิ่งที่จะนำไปใช้ได้จริงและเป็นเนื้อหาที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะได้ไม่ต้องไปเรียนกวดวิชา แค่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนก็พอแล้ว”

ถ้าอยากเรียนโรงเรียนดีๆ มีอนาคตดีๆ ก็ต้องเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง แต่ถ้าอยากไปวันๆ เรียนที่ไหนก็ได้ครับ”

“ความเป็นจริงคือถ้าอยากเข้ามหาวิทยาลัยที่มีการสอนที่มีคุณภาพ ก็คงต้องเรียนพิเศษ เพราะการแข่งขันมันสูง คุณภาพการเรียนการสอนในชีวิตจริงมันไม่เท่ากันตั้งแต่ชั้นมัธยมแล้ว แต่ถ้าเก่งเป็นทุนเดิม มีความอดทนมุ่งมั่นหรือมีความรู้ภาษาอังกฤษก็หาความรู้ออนไลน์ แหล่งเรียนรู้ฟรีๆ เต็มไปหมด แต่พูดกันตามตรงการมีสถาบันติวพิเศษเป็นกิจลักษณะ มีเด็กเรียนเป็นหมื่นๆ แสนๆ คนนี่เป็นอะไรที่โคตรยับเยินมาก เพราะมันสะท้อนว่าโรงเรียนปกติทั่วไป มันไม่สามารถให้ความรู้เด็กได้อย่างมีมาตรฐานหรือมีประสิทธิภาพ”

ตัวอย่าง การสอบเข้า ม.4 เตรียมอุดมศึกษา ปี พ.ศ. 2567 (TU87)

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 มีผู้เข้าสอบจำนวน 11,607 คน 

แบ่งเป็นผู้สมัครสอบใน 8 แผนการเรียน ดังนี้ 

1. แผนการเรียน วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ รับจำนวน 1,000 คน จำนวนที่สมัคร 8,275 คน

2. แผนการเรียน ภาษา-คณิตศาสตร์ รับ 120 คน ผู้สมัคร 1,173 คน 

3. แผนการเรียน ภาษา-ฝรั่งเศส รับ 80 คน ผู้สมัคร 392 คน 

4. แผนการเรียน ภาษา-เยอรมัน รับ 80 คน ผู้สมัคร 323 คน

5. แผนการเรียน ภาษา-ญี่ปุ่น รับ 80 คน ผู้สมัคร 461 คน

6. แผนการเรียน ภาษา-จีน รับ 80 คน ผู้สมัคร 570 คน

7. แผนการเรียน ภาษา-สเปน รับ 40 คน ผู้สมัคร 186 คน

8. แผนการเรียน ภาษา-เกาหลี รับ 40 คน ผู้สมัคร 227 คน

จะเห็นได้ว่า การแข่งขันสูงมาก โดยจากจำนวนผู้สมัครสอบดังกล่าว ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามารถรับนักเรียนได้เพียง 1,520 คน คิดเป็นอัตราการแข่งขัน 1 : 7.64  นอกจากนี้ ยังพบว่าแผนการเรียนที่นักเรียนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2565-2566 คือ แผนการเรียน ภาษา-คณิตศาสตร์ มีผู้สมัครเพิ่มขึ้น 181 คน มีอัตราแข่งขันสูงถึง 1 : 9.78 

เส้นทางการศึกษาของเด็กไทยในกับดักสนามสอบนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา เพราะค่านิยมเรียนโรงเรียนดัง ที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ทั้งด้านบุคลากร สื่อการเรียนการสอน ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการเรียนที่ดี และความต้องการในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกของบรรดาผู้ปกครอง ยิ่งทำให้การแข่งขันทางการศึกษารุนแรงขึ้น ยังไม่รวมสนามแข่งขันวิชาการอื่นๆ ที่เด็กๆ จำเป็นต้องเข้าร่วมตามความถนัดเพื่อสะสมผลงานอีกด้วย นอกจากสิ่งเหล่านี้สะท้อนความหนักหน่วงที่เด็กวัยเรียนต้องเผชิญแล้ว ยังรวมถึงความพร้อมทางการเงินของผู้ปกครองอีกด้วยเช่นกัน

ไม่เรียนพิเศษได้ไหม?

อย่างที่กล่าวไปว่า เนื้อหาในการสอบนั้นไม่เหมือนกับที่เรียนมาในห้องเรียนเสียทีเดียว ดังนั้น แม้เด็กจะปฏิเสธการเรียนพิเศษ ก็ยังจำเป็นต้องฝึกฝนทำโจทย์และอ่านหนังสือด้วยตนเองอย่างหนักเช่นกัน

ตัวอย่าง นักเรียนที่เตรียมสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษาด้วยตนเอง และเตรียมสอบแพทย์ จุฬาฯ

How To สอบติดเตรียมอุดมโดยไม่เรียนพิเศษ! ในเวลา 3 เดือน 
How To สอบติดเตรียมอุดมโดยไม่เรียนพิเศษ! ในเวลา 3 เดือน 
[จากรุ่นพี่ TU84 สายวิทย์-คณิต] [ฉบับละเอียด]

 กระทู้นี้ “พี่เชนน์ TU84” เล่าเรื่องการเตรียมสอบเตรียมอุดมฯ โดยไม่เรียนพิเศษ แต่ต้องขอบอกก่อนว่าพี่เชนน์เขาเก่งอังกฤษอยู่แล้วเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสติดเตรียม บวกกับการวางแผน การเตรียมตัวอ่านหนังสือ ซึ่งก็ต้องฝึกฝนอย่างหนัก ทั้งการแบ่งเวลา การทำตามเป้าหมายที่วางไว้ การฝึกทำโจทย์ และก็การทบทวนเนื้อหา ที่สำคัญ คือการฝึกฝนและการพยายาม สำหรับน้องๆ คนไหนที่รู้สึกท้อหรือคิดว่าจะเตรียมตัวไม่ทัน พี่ปลิวแนะนำกระทู้นี้เลยย รับรองว่าจะปลุกไฟในตัวน้องได้แน่ๆ https://www.dek-d.com/board/education/4044156/ 

รีวิวแบบไม่กั๊ก!!! นส.สอบ+ที่เรียน+วิธีเรียน ให้ติดหมอฬ
รีวิวแบบไม่กั๊ก!!! นส.สอบ+ที่เรียน+วิธีเรียน ให้ติดหมอฬ

กระทู้ของ “dek60” ที่สอบติดโครงการความถนัดทางภาษาอังกฤษของแพทย์จุฬา ซึ่งก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เจ้าของกระทู้ก็คือเตรียมตัวอย่างหนัก ทั้งเรียนพิเศษ อ่านหนังสือ ฝึกทำโจทย์ จดสรุป และก็การทบทวนเนื้อหาต่างๆ เพื่อไม่ให้ลืม ซึ่งเจ้าของกระทู้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจเกินร้อย! บอกเลยว่าเตรียมตัวมาอย่างดีเพื่อพร้อมลุยในสนามสอบ และก็ได้ฝากถึงน้องๆ ที่คิดว่าการเรียนพิเศษเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเรียนอย่างหนักทุกวิชา อาจจะเลือกแค่บางวิชา แล้วที่เหลือก็อาจจะขอยืมชีทจากเพื่อนที่ไปเรียนพิเศษมา เพื่อมานั่งฝึกทำโจทย์เอง  https://www.dek-d.com/board/view/3717344/

จากตัวอย่างรุ่นพี่ทั้งสองกระทู้จะเห็นได้ว่า การสอบเข้าทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย ต่างก็ต้องอาศัยการทบทวนและเตรียมตัวสอบอย่างหนัก โดยจำเป็นต้องใช้ตัวช่วยทั้งหนังสือติวสอบ ตัวอย่างข้อสอบเก่า และเรียนพิเศษ ที่แม้จะเป็นการทบทวนด้วยตนเองก็ต้องวางแผนการอ่านหนังสือทบทวนอย่างดีเช่นกัน

ทั้งนี้ อย่างที่บอกไปแล้วว่าแม้เนื้อหาในการสอบจะเป็นเนื้อหาตามกลุ่มสาระวิชาที่ได้เรียนในโรงเรียน แต่ข้อสอบไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ยังมีความพลิกแพลงซับซ้อนมากขึ้น ดูจากตัวอย่างข้อสอบวิชา PAT5 และ TPAT3 ที่พี่ปลิวนำมาให้ดูกันได้เลย น้องๆ อ่านแล้วตอบข้อไหนกันคะ

ตัวอย่างข้อสอบ TCAS

ภาพจาก dekdTCAS
ภาพจาก dekdTCAS
ภาพจาก dekdTCAS
ภาพจาก dekdTCAS

สุดท้ายนี้ น้องๆ ชาว Dek-D คนไหนที่เรียนพิเศษหรือไม่ได้เรียนพิเศษเลย ก็มาแชร์ประสบการณ์กันได้นะคะ เพื่อเป็นแนวทางให้กับคนที่กำลังเตรียมตัวสอบ และอยากบอกน้องๆ ว่าการเรียนพิเศษไม่ได้การันตีเสมอไปว่าเราจะสอบติด  เพราะบางคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษเลยก็สามารถสอบติดได้เหมือนกัน เพราะการสอบติดมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราด้วยนะ ทั้งการจัดสรรเวลา การอ่านทบทวน การฝึกทำโจทย์บ่อยๆ ซึ่งการหักโหมเรียนพิเศษหลายวิชาก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะจะทำให้น้องๆ เกิดความเครียดตามมามากกว่า

ข้อมูลจากhttps://kidforkids.org/shadow-education-in-thailand/https://www.dek-d.com/board/view/410634 ภาพจากhttps://www.freepik.com
พี่ปลิว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น