Teen Coach EP.108 :เช็กอาการ พร้อมวิธีรับมือ Post-Concert Depression ภาวะซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ต

เคยเป็นไหม..ดูคอนเสิร์ตจบแล้วนอยด์ไม่ไหว ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร ใช้ชีวิตแบบเซ็งๆ 

ช่วงนี้ประเทศไทยเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางในการจัดคอนเสิร์ตหลากหลายวง ทั้งฝั่งศิลปินเกาหลี ศิลปินฝั่งตะวันตก หรือแม้แต่ศิลปินฝั่งไทยเอง ก็มีคอนเสิร์ตแทบทุกสัปดาห์ เรียกได้ว่าแฟนคลับไม่ต้องพักกันเลยทีเดียว 

แฟนคลับทุกคนต่างก็นับวันเวลารอคอยวันคอนเสิร์ตของวงที่ตนเองชอบมาตั้งหลายเดือน โมเมนต์ที่ตั้งตากดบัตรคอนเสิร์ต เลือกซื้อเสื้อผ้าใหม่ ทำผม ทำเล็บ หลาย ๆ คนก็มองว่าวันคอนเสิร์ตนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชีวิต

เคยรู้สึกไหมว่าการรอคอยมันช่างยาวนาน แต่กลับเต็มไปด้วยความตื่นเต้น แต่พอถึงเวลาเข้าจริง กลับผ่านไปไวดั่งพริบตาเดียว หลังคอนเสิร์ตสิ้นสุดลง เรารู้สึกราวกับว่าช่วงเวลาที่เรารอคอยมันเป็นเหมือนกับความฝัน หลังจากนั้นเราต้องตื่นมาพบเจอกับความเป็นจริง กลับเข้าสู่ชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับการเรียน การทำงาน

หลังจบคอนเสิร์ตหลาย ๆ คนอาจจะเคยพบเจอความรู้สึกเหล่านี้ ทั้งเศร้าซึม ทั้งหน่วง ทั้งโหวง จะเสียใจแต่ก็ไม่สุด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ และถูกเรียกว่า Post-Concert Depression หรือ PCD

จริง ๆ แล้ว PCD ไม่ได้มีการวินิจฉัยในทางการแพทย์โดยตรง และโรคนี้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ใน Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-V) หรือคู่มือวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต ที่แพทย์มักจะใช้ในการวินิจฉัยโรคนั่นเอง

Post-Concert Depression หรือ PCD เป็นเพียงสภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้น หลังจากที่เราดูคอนเสิร์ตจบ และไม่อยากกลับเข้าสู่ความเป็นจริงในชั่วขณะหนึ่ง เราคิดถึงโมเมนท์ที่เราอยู่ในคอนเสิร์ต การทุ่มเทหลาย ๆ อย่างทั้งแรงกาย แรงใจ เตรียมตัวไปคอนเสิร์ต ความสนุก และความรู้สึกดี ๆ ที่ได้เห็นศิลปินที่เราชอบหลังจากเฝ้ารอมานาน

 

เป็นเรื่องปกติที่หลาย ๆ คนจะเกิดอาการนี้ขึ้นหลังจากผ่านคอนเสิร์ต เนื่องจาก ระหว่างดูคอนเสิร์ต ร่างกายของเราจะหลั่งสารโดพามีน (สารแห่งความสุข) ออกมา เมื่อคอนเสิร์ตจบลงสารโดพามีนลดลงอย่างรวดเร็ว แล้วจะยิ่งทำให้เรารู้สึกหน่วงและซึมกว่าเดิม

วิธีสังเกตอาการ Post-Concert Depression

อาการระดับปกติ

  • ความคิดลบวนซ้ำไปซ้ำมา คิดวนเวียนอยู่แต่ภาพเดิม ๆ
  • เศร้ารุนแรง
  • อยากกลับไปที่คอนเสิร์ตซ้ำไปซ้ำมา ไม่มูฟออน
  • นั่งดูคลิปวิดีโอที่ถ่ายไว้ในคอนเสิร์ตอยู่ซ้ำ ๆ

อาการเริ่มน่าเป็นห่วง

  • กังวลว่าจะไม่มีเรื่องน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นอีกเลย
  • พฤติกรรมการกินและนอนผิดปกติ จนกระทบสุขภาพ
  • ขังตัวเองอยู่ในห้อง ลงโทษตัวเอง เบลมตัวเองที่ไม่ยอมไปคอนเสิร์ตอีก
  • รู้สึกว่าไม่มีอะไรสำคัญเลยนอกจากคอนเสิร์ต
  • ไม่มีกะจิตกะใจจะใช้ชีวิต
  • ไม่อยากเข้าสังคม
  • ไม่มีความสุขในทุก ๆ วัน

แต่หากอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้น และกินระยะเวลานานหลายสัปดาห์ หากปล่อยเอาไว้อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้าได้ อาจจะต้องพบหมอหลังจากนั้น ดังนั้นเราต้องเฝ้าสังเกตตัวเอง และดูว่าความรู้สึกของเราอยู่ในระดับไหน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น PCD เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วง ทุก ๆ คอนเสิร์ต แต่พบได้บ่อยและรุนแรงกว่า ในกลุ่มแฟนคลับศิลปิน K-POP หรือกลุ่มแฟนคลับที่มีความผูกพันกับศิลปินมากกว่าแค่การเข้าไปดูคอนเสิร์ตหรือฟังเพลงนั่นเอง  เนื่องจากแฟนคลับไม่ได้ฟังแค่เพลง ยังคอยสนับสนุน คอยติดตามคัมแบ็ค คอยสตรีม ปั่นวิว สะสมอัลบั้ม ทำให้การไปดูคอนเสิร์ตหนึ่งครั้งมันเป็นความรู้สึกที่มากกว่าการไปดูคอนเสิร์ตทั่วไป

รวมไปถึงบุคคลที่คอนเสิร์ตบ่อย ๆ ใช้ชีวิตเพื่อเฝ้ารอวันคอนเสิร์ต มีเป้าหมายการเก็บเงินและเฝ้ารอ พอถึงเวลาจริง ๆ มันกลับโล่งและโหวงไปหมด

วิธีการรับมือกับ Post-Concert Depression

นับวันรอไปคอนเสิร์ตถัดไป 

หากเรามีทุนทรัพย์ หรือมีโอกาสที่จะไปคอนเสิร์ต มันก็ไม่ผิดที่เราจะทำในสิ่งที่เราอยากทำเป็นการให่รางวัลตัวเอง หากศิลปินที่เราชอบเล่นคอนเสิร์ตอยู่ที่ประเทศที่เราไปไหวทั้งเดินทางและสภาพการเงิน การไปชมคอนเสิร์ตอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

นำความชอบมาเป็นแรงบันดาลใจ 

เอาความรู้สึกที่ท่วมท้นในระหว่างนี้มาสร้างสรรค์ผลงาน หรือสตรีม รอศิลปินคัมแบค เมื่อเราคิดถึงคอนเสิร์ตมาก เราอาจจะเปิดเพลงฟัง เปิดยูทูกดู นำเพลงเขามาเป็นแรงบันดาลใจได้

พูดคุยกับแฟนคลับคนอื่นๆ โพสต์รูป โพสต์คลิป อัปลงโซเชียล 

อาจจะทำให้เรารับรู้ถึงการรับรู้ถึงตัวตนและการยอมรับของกลุ่มแฟนคลับได้ โดยปกติแล้ว การไปคอนเสิร์ตของหลาย ๆ คนไม่ใช่เพียงแค่การไปคอนเสิร์ตหรือดูศฺลปินที่รัก แต่รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่แฟนคลับอีกด้วย (Sense of Belonging) เป็นการพัฒนาตัวตนของบุคคลในรูปแบบหนึ่ง

การถอย ห่างออกมาจากสภาวะที่เราท่วมท้น

เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็เลือกที่จะถอยออกมาหรือรักษาความรู้สึกของเราไว้ ถ้านอย ถ้าคิดถึง มองหน้าแล้วทนไม่ไหว เราอาจจะถอยออกมาตั้งหลัก โฟกัสชีวิตตัวเองสักสัปดาห์สองสัปดาห์ หลังจากที่รู้สึกดีขึ้นก็กลับไปฟังเพลงเหมือนเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม อาการ PCD มักจะอยู่เพียงแค่ชั่วคราว ยิ่งเรารู้สึกผูกพันกับศิลปินมากเท่าไร ก็มีโอกาสที่จะเกิด PCD ขึ้นได้ หากคอนเสิร์ตจบลงแล้ว เราก็ไม่ต้องรู้สึกเสียใจไป กลับไปใช้ชีวิตของตนเอง แล้วเฝ้ารอวันเวลาที่จะได้พบกับศิลปินที่เรารักอีก มันจะทำให้ชีวิตเรามีจุดหมาย มีเป้าหมาย มีแรงบันดาลใจมากขึ้นอีกด้วย

ในท้ายที่สุด ความฝันและความพยายามของเราไม่ควรจะจบลงเมื่อคอนเสิร์ตสิ้นสุด แต่ควรเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งที่เรารัก และมีความสุขในชีวิตประจำวันต่อไป

 

ข้อมูลจากhttps://dramaswithasideofkimchi.com/https://journalarticle.ukm.my/17051/1/44476-143376-1-PB

โค้ชพี่นักเก็ต

โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น