สาย Cover พึงระวัง! ผลเสียของการไม่เคารพสิทธิ์ ไม่ให้เครดิตแก่เจ้าของเพลง

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com  จากข่าวที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยศิลปินชาวฟิลิปปินส์ที่ได้นำเพลงไทยไป Cover และลงผลงานเพลงตามโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ โดยไม่ให้เครดิตแก่เจ้าของเพลง หลายคนอาจสงสัยว่า ทุกวันนี้มีเพลง cover เต็มไปหมด แล้วแบบไหนทำได้ แบบไหนผิดลิขสิทธิ์ วันนี้พี่นินิจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์เพลงกันค่ะ

การใช้เพลงที่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงเป็นการใช้เพลงหรือสร้างผลงานที่เป็นลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น การใช้เพลงในวิดีโอหรือการสร้างสตรีมเพลงในสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การทำเพลงรูปแบบใหม่โดยใช้เนื้อหาจากเพลงอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การขายหรือเผยแพร่เพลงที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต

การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงมีผลกระทบทางกฎหมายและอาจทำให้เกิดค่าปรับหรือการดำเนินคดีทางกฎหมายได้ โดยโทษทางอาญา ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์เพลงมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท ดังนั้น หากต้องการใช้เพลงหรือสร้างผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ควรขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือใช้เพลงที่ให้สิทธิในการใช้งานแบบสาธารณะ 

อย่างในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มี AI ที่เป็นระบบตรวจจับลิขสิทธิ์เพลง ทำให้เจ้าของคลิปสามารถทำเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของเพลงได้อัตโนมัติ โดยมีการเปิดให้หารายได้แบบต่างๆ ดังนี้

  1. เปิดให้หารายได้เต็มที่ เจ้าของคลิปจะได้รับรายได้จากการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ในคลิปแบบเต็มที่
  2. เปิดให้หารายได้บางส่วน เจ้าของคลิปจะได้รับรายได้เฉพาะบางส่วนจากการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ในคลิป
  3. ไม่ได้รับรายได้ แต่เจ้าของคลิปยังสามารถเผยแพร่คลิปได้อยู่
  4. Cover เพลงแบบไม่รับรายได้ ไม่เสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์

การทำ cover เพลงลงช่องทางยูทูบ หรือโซเชี่ยลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ แบบส่วนตัว และไม่มีการนำไปใช้ทางการค้าหรือการหารายได้ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากพบว่ามีการใช้เพื่อสร้างรายได้ อาจถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และเสี่ยงถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในยูทูบมีการทำ Cover เพลงมาแล้วมากมาย โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ และมักจะถูกปล่อยเบลอไป ไม่มีการดำเนินคดีอะไร เหตุที่ไม่มีการออกมาเรียกร้องทางกฎหมายเพราะการ Cover เพลงก็เป็นการตลาดอย่างหนึ่งที่สามารถโปรโมทเพลงและทำให้เพลงเป็นที่รู้จักได้ ซึ่งไม่ต้องห่วงในเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงเพราะปัจจุบันในยูทูบมีเทคโนโลยีในการตรวจจับเพลงที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้รู้ว่าสามารถใช้เพลงนั้นได้หรือไม่ หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะมีการแจ้งเตือนก่อนเผยแพร่คลิป อีกทั้งยังมีฟีเจอร์เด็ดสำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการจัดการเรื่องนี้ เพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของเพลงของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการ Block ปิดเสียง หรือการสร้างรายได้

**อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีและปลอดภัยที่สุด แนะนำให้หาข้อมูลแล้วเลือกเพลงที่ไม่ติดลิขสิทธิ์ หรือติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ และสอบถามข้อมูลเพื่อขออนุญาตนำเพลงมาใช้ 

รูปภาพจาก  freepik.com
รูปภาพจาก  freepik.com

ลิขสิทธิ์เพลงมีอายุกี่ปี?

การคุ้มครองลิขสิทธิ์มีผลเกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีอายุการคุ้มครองทั่วไปตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ พร้อมคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี หลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ยกเว้นงานบางประเภทที่มีอายุการคุ้มครองแตกต่างกัน รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถแยกได้ดังนี้

  1. ลิขสิทธิ์ทั่วไป: ตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์และอีก 50 ปี หลังจากการเสียชีวิต
  2. งานภาพถ่าย, โสตทัศนวัสดุ, ภาพยนตร์, สิ่งบันทึกเสียง, และงานแพร่เสียงแพร่ภาพ: คุ้มครองเป็นเวลา 50 ปี นับแต่การสร้างสรรค์
  3. งานที่สร้างสรรค์โดยการจ้างหรือตามคำสั่งของรัฐ: คุ้มครองเป็นเวลา 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์ผลงาน
  4. งานศิลปะประยุกต์: คุ้มครองเป็นเวลา 25 ปี นับแต่การสร้างสรรค์ หรือ 25 ปี นับแต่ได้โฆษณาครั้งแรก

ย้อนดูกรณีละเมิดลิขสิทธิ์เพลงจนเกิดดราม่าสนั่นโลกโซเชียล!

กรณีละเมิดลิขสิทธิ์เพลง “พี่ชอบหนูที่สุดเลย”

เหตุการณ์ล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นในโลกโซเชี่ยล ณ ขณะนี้ SHAD ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ได้นำผลงานเพลงของศิลปินชาวไทยชื่อ PONCHET (พล เชษฐ์) มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ผลงานดังกล่าวในช่องของตนเองบนแพลตฟอร์มสตรีมเพลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Spotify, Youtube Music และขายใน Apple Music จนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากติดอันดับท็อป 50 เพลงฮิตในเพลย์ลิสต์ Viral Global Chart ของ Spotify โดยในทุกแพลตฟอร์มไม่มีการให้เครดิตต้นฉบับ ทำให้เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของ PONCHET ที่เป็นผู้สร้างสรรค์เพลง

กรณีละเมิดลิขสิทธิ์เพลงเมื่อศิลปินร้องเพลงที่เป็นผลงานตัวเอง

“เวสป้า อิทธิพล” ได้นำเพลงที่ตัวเองแต่งไปร้อง แต่กลับถูกฟ้องสูงถึง 12 ล้านบาท ซึ่งเจ้าตัวได้นำเพลงไปร้องเพลงไว้หลายที่ จึงมีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องไปอีกหลายคดี เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตในการใช้เพลงนี้ โดยจะมีความผิดตามกฎหมายหากใช้เพลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งในประเทศไทย ค่ายเพลงมักจะถือครองลิขสิทธิ์ของเพลง ตามสัญญาที่ตกลงไว้กับศิลปิน ดังนั้น เมื่อศิลปินสิ้นสุดสัญญากับค่ายเพลงเดิม หรือย้ายไปสังกัดค่ายอื่น จะไม่สามารถนำผลงานเพลงจากค่ายเดิมไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต 

สรุปง่ายๆ คือเมื่อมีการนำเพลงไปร้องโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีวัตถุประสงค์ในการหารายได้ อาจต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เช่น ปรับเงินหรือโทษจำคุก แนะนำให้ใช้เพลงที่ไม่ติดลิขสิทธิ์หรือถ้ามีลิขสิทธิ์ก็ไปขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน แล้วค่อยนำเพลงไปใช้จะดีกว่านะคะ

 

 

ข้อมูลจากhttps://www.dharmniti.co.th/music-copyright/https://www.ipthailand.go.th/images/2562/Suppress/lesson2.pdfhttps://www.ipthailand.go.th/images/781/doc11_001.pdfhttps://www.mercular.com/review-article/how-to-cover-song-with-licensedhttps://www.bbc.com/thai/articles/cerw7v9dplzo

 

รูปภาพจากhttps://www.freepik.com/free-photo/top-view-music-concept-with-vinyl_9158141.htmhttps://www.freepik.com/free-photo/female-musician-recording-song-playing-acoustic-guitar-home_13108719.htm

 

พี่นินิ
พี่นินิ - Columnist เช้าไม่กลัว แต่กลัวช้า อ่อนไหวง่าย ร้องไห้เก่ง ใจดีกับหนูหน่อยนะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด