เชื่อว่าช่วงนี้ ชาว Dek-D น่าจะรับรู้ถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีข่าวเรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เช่น อากาศร้อนจัด หรือภาวะโลกเดือด ซึ่งสาเหตุนอกจากเรื่องของการเกิดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมาจากการเกิดปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ (El Niño)’ และ ‘ลานีญา(La Niña)’ อีกด้วย
คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ในวันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา รวมถึงผลกระทบที่โลกเราจะได้รับจากปรากฏการณ์เหล่านี้กันค่ะ เพราะทั้งสองปรากฏการณ์นี้เคยถูกนำไปออกเป็นข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้ว และหลังจากทำความรู้จักแล้ว ก็อย่าลืมลองมาทดสอบความรู้ ทำข้อสอบเก่าเข้ามหาลัยจริงๆ ข้างล่างกันด้วยนะคะ
Note :
- เอลนีโญ-ลานีญา มีจุดกำเนิดมาจากภาษาสเปน โดย ‘เอลนีโญ (El Niño)’ หมายถึง ‘เด็กผู้ชาย’ ส่วน ‘ลานีญา (La Niña)’ หมายถึง ‘เด็กผู้หญิง’
- ลมสินค้า (Trade winds) มักจะพัดจากตะวันออกไปตะวันตก และความร้อนจากดวงอาทิตย์จะค่อย ๆ ทำให้น้ำอุ่นขึ้นขณะที่เคลื่อนไปในทิศทางดังกล่าว ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้กระแสลมนี้ในการติดต่อซื้อขายสินค้า จึงมีอีกชื่อเรียกว่า ‘ลมสินค้า’
- ทวีปอเมริกาใต้ มี 13 ประเทศ ได้แก่ กายอานา, โคลอมเบีย, ชิลี, ซูรินาเม, ตรินิแดดและโตเบโก, บราซิล, โบลิเวีย, ปารากวัย, เปรู, เวเนซุเอลา, อาร์เจนตินา, อุรุกวัย และเอกวาดอร
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 11 ประเทศ ได้แก่ ไทย, บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และติมอร์-เลสเต
เอลนีโญ-ลานีญา เป็นเรื่องของ "ลม" และ "น้ำ"
เอลนีโญและลานีญา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรการหมุนเวียนของกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทั้งสองปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรมีการเปลี่ยนแปลง
ก่อนที่จะไปดูว่าทั้งสองปรากฏการณ์นี้เกิดความผิดปกติอะไร เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า มหาสมุทรแปซิฟิกในสภาวะปกติเป็นอย่างไร โดยปกติแล้วกระแสลมจะพัดจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ และเห็นภาพชัดขึ้นก็คือ กระแสลมจะพัดจากทวีปอเมริกาใต้มายังแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย
ซึ่งในทวีปอเมริกาใต้จะมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น ดังนั้น เวลาที่ลมพัดมาอีกฝั่งพวกความเย็นและความชุ่มชื้นต่างๆ รวมถึงกระแสน้ำอุ่นบนผิวน้ำทะเลก็จะถูกพัดมาด้วย ทำให้เกิดฝนตกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้กระแสลมนี้ในการติดต่อซื้อขายสินค้า จึงถูกเรียกว่า ‘ลมสินค้า’ หรือ 'ลมค้า (Trade winds)' นั่นเองค่ะ
ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño)
สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากสภาวะผิดปกติของกระแสลมสินค้า จากเดิมที่มันควรจะพัดจากทวีปอเมริกาใต้ไปฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ดันพัดไปไม่ถึง เนื่องจากกระแสลมมีกำลังอ่อนลง บวกกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมีความร้อนสูงกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่น และความเย็น ความชื้นต่างๆ ที่มันควรจะพัดมาอีกฝั่ง ไหลย้อนกลับไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ส่งผลให้ทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ฝนตกน้อยลง และเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น
ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
- อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก เกิดความแห้งแล้ง ไฟป่า รวมถึงการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
- พายุไซโคลนรุนแรงขึ้น แม้เอลนีโญอาจทำให้เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกน้อยลง แต่กลับตรงกันข้ามในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นสามารถก่อให้เกิดพายุไซโคลนที่รุนแรงได้
- ปะการังฟอกขาว เมื่อน้ำทะเลมีความร้อนมากเกินไป ปะการังจะคายสาหร่ายที่อาศัยอยู่ออกมา ซึ่งมันมีหน้าที่ให้สีและพลังงานแก่ปะการัง ทำให้เปลี่ยนเป็นสีขาว โดยปกติมันจะฟื้นตัวได้ถ้าอุณหภูมิเย็นลง แต่การฟอกขาวก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ปะการังอดอาหารและตายได้
- น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาละลายเร็วกว่าเดิม จากผลวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกา พบว่า เอลนีโญช่วยเร่งให้น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้นได้ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นตามไปด้วย
ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña)
ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่า เป็นขั้วตรงข้ามของเอลนีโญเลยค่ะ การพัดของกระแสลมสินค้ายังคงพัดจากด้านตะวันออกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่น รวมถึงความเย็น ความชื้น ไหลไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น จากเดิมที่ฝนมันควรจะตกแบบพอประมาณในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย กลับกลายเป็นว่าฝนตกหนักมากกว่าปกติ แต่ในทางตรงกันข้ามก็เกิดภาวะแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ด้วยเช่นกัน
โลกร้อนทำให้ลานีญาหนักขึ้น จนเกิด Rain Bomb
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายว่า "Rain bomb" เป็นคำทั่วไป ไม่ใช่คำศัพท์ทางวิชากร และได้ให้ความหมายไว้ว่า Rain bomb คือ ฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาสั้นๆ ทะลุขีดจำกัด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ฝนตกหนักเหมือนฟ้ารั่ว นั่นเองค่ะ
โดย rain bomb อาจแฝงมาพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในยุคโลกเดือด เพราะมหาสมุทรร้อน น้ำระเหยมากขึ้น อากาศร้อนเพิ่มขึ้น เมฆมีน้ำอยู่มากมายพร้อมทะลักทลายจากบนฟ้าในช่วงสั้นๆ หากตกลงบนเขาหรือในป่าอาจเกิดน้ำไหลหลากฉับพลัน หากตกลงในเมืองที่ราบแบบกรุงเทพก็ทำให้น้ำท่วมเร็วมาก จนส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและการใช้ชีวิตของเรา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้ คือ น้ำท่วมภูเก็ต ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ หลายคนน่าจะเคยเห็นภาพรถที่ลอยไปตามน้ำไหลหลากดูน่ากลัว จนบางคนเปรียบเทียบว่า เหมือนสึนามิจากฟ้า
อย่างไรก็ตาม ลานีญา จะสร้างผลกระทบในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม-กันยายน 2567 และต่อเนื่องไปจนถึงช่วง ธันวาคม 2567 ถึง กุมภาพันธ์ 2568 ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีหลังจะมีฝนตกมากขึ้นและอุณหภูมิในฤดูหนาวจะลดลง
เอลนีโญ-ลานีญา เกิด 1 ครั้ง ใช้เวลานานแค่ไหน?
เอาเป็นว่าถ้าให้จำง่ายๆ สำหรับชาวไทยแล้วก็คือ เอลนีโญจะทำให้เกิดภัยแล้ง ส่วนลานีญาจะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง จนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ ทั้งสองปรากฏการณ์นี้อยู่คู่กับโลกของเรามานานนับพันปี แถมระยะเวลาการเกิดในแต่ละครั้งก็เริ่มนานขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเอลนีโญจะเกิดเฉลี่ยทุกๆ 5-6 ปี และกินระยะเวลายาวนานไปถึง 12-18 เดือน ส่วนลานีญาจะเกิดขึ้นทุกๆ 2-3 ปี การเกิดแต่ละครั้งจะกินเวลาราว 9-12 เดือน ที่สำคัญทั้งสองปรากฏการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่จะเกิดขึ้นสลับกันไป
เชื้อเพลิงชั้นดีที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ก็คือ ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่ส่งผลให้สภาพอากาศโลกแปรปรวน (Climate Change) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัดไม้ทำลายป่า ฯลฯ
ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา
ทั้งสองปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศของโลก และอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง เช่น การเกิดพายุ ภัยแล้ง ไฟป่า หรือน้ำท่วม ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทั้งสัตว์ทะเลและมนุษย์ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่ยังคงพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้หลัก
ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา สังเกตได้จากอุณหภูมิภายในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจเกิดสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ เช่น ในบริเวณที่เคยมีฝนตกชุกอาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งฉับพลัน หรือในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำฝนอาจเผชิญกับพายุฝนรุนแรง เป็นต้น
สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา เคยถูกนำมาออกเป็น ข้อสอบ O-NET วิชาสังคม ในปี 2562 ซึ่งเป็นข้อสอบแบบตอบ 2 คำตอบ โดยมีโจทย์ดังนี้
ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญในพื้นที่ต่างๆ ของโลก (ตอบ 2 คำตอบ)
1. ปริมาณปลาบริเวณชายฝั่งของประเทศเปรูมี จำนวนลดลงมาก
2. บริเวณชายฝั่งของประเทศเอกวาดอร์มีอุณหภูมิผิวน้ำเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปกติ
3. ประเทศอินโดนีเซียเกิดความแห้งแล้งมาก จนเกิดไฟป่าและภาวะมลพิษทางอากาศ
4. ประเทศไทยประสบกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน
5. ลมค้าตะวันออกบริเวณศูนย์สูตรมีกำลังแรงขึ้นทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำบริเวณชายฝั่งออสเตรเลียมีอุณหภูมิลดลง
น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่า คำตอบข้อไหนบ้างที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ลองคอมเมนต์คุยกันด้านล่างได้เลยค่ะ
ข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat/posts/pfbid02sfMXKzubdUU4gBgqHYb6C5vKyRsV9RajLn9KJy5y9X21ZukuUtHTBq3TL6TVBRbsl https://ngthai.com/science/26980/elnino-lanina/ https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=3312&lang=TH https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/389-tsi-how-elnino-effects-thai-investment https://www.thaipbs.or.th/now/content/199 https://www.facebook.com/socialbycat/photos/a.282252359389271/792561251691710/?type=3 รูปภาพจาก :https://thecolumn.ahacentre.org/insight/vol-66-getting-to-know-el-nino-la-nina/
1 ความคิดเห็น