6 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่นักเรียนต้องรู้ (แจกสูตรจำวัน)

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D สำหรับ คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ในวันนี้พี่แป้งจะพาไปทุกคนดูไทม์ไลน์ประวัติพระพุทธเจ้า ฉบับย่อ ที่เกี่ยวข้องกับ 6 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสฬหบูชา อัฏฐมีบูชา เข้าพรรษา และออกพรรษา ว่า ตั้งแต่พระพุทธเจ้าประสูติจนปรินิพพาน เกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง รวมถึงหลักธรรมสำคัญในแต่ละวันนั้นคืออะไร เพราะเรื่องเหล่านี้ถูกนำไปเป็นแนวข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกปีเลยค่ะ ใครที่อ่านไทม์ไลน์พุทธประวัติจบแล้วก็อย่าลืมลองมาทดสอบความรู้ ทำข้อสอบเก่าเข้ามหาลัยจริงๆ ข้างล่างกันด้วยนะคะ

6 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่นักเรียนต้องรู้ (แจกสูตรจำวัน)
6 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่นักเรียนต้องรู้ (แจกสูตรจำวัน)  

ไทม์ไลน์พุทธประวัติ

ประสูติ-ชีวิตก่อนออกบวช

  • เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นลูกชายของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ประสูติที่ใต้ต้นสาละ สวนลุมพินีวัน ซึ่งตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช (ปัจจุบันสวนลุมพินีวันอยู่ในประเทศเนปาล)
  • เมื่อเกิดแล้วสามารถเดินได้ 7 ก้าว โดยมีดอกบัวมารองรับ จากนั้นได้ยกมือขวาแล้วพูดว่า "เราเป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา"
  • หลังจากเกิดได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะ ได้เชิญพราหมณ์มา 8 คน เพื่อทำนายเส้นทางชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยพราหมณ์ 7 คนแรก ทำนายไว้ 2 เส้นทาง คือ “ถ้าอยู่ทางโลกจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ” หรือ “ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า”
  • แต่พราหมณ์ชื่อ “โกณฑัญญะ” ซึ่งอายุน้อยที่สุด ได้ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
  • จากคำทำนายทำให้พระเจ้าสุทโธทนะกังวลมาก และไม่อยากให้เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช จึงพยายามทำทุกอย่างให้ลูกชายพบเจอแต่ความสุข โดยการสร้างปราสาท 3 ฤดู ให้อยู่อาศัยอย่างสุขสบาย พร้อมมีเพลงขับกล่อมอย่างรื่นเริงตลอดเวลา
  • เมื่ออายุได้  8 ปี ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยา 18 ศาสตร์ (เทียบเท่าปริญญา 18 ใบ) ได้อย่างรวดเร็วและเชี่ยวชาญ ในสำนักครูวิศวามิตร
  • เมื่ออายุ 16 ปี ได้แต่งงานกับ “พระนางพิมพา” จนเมื่ออายุ 29 ปี พระนางพิมพาได้ให้กำเนิดลูกชาย มีชื่อว่า “ราหุล” ซึ่งแปลว่า “บ่วง”
  • วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะมีโอกาสออกไปนอกวัง และได้พบเจอกับ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ก็รู้สึกหดหู่ใจและรับรู้ได้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต และเริ่มมองเห็นว่าสิ่งเดียวที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ คือ การบวช จึงได้ตัดสินใจละทิ้งทุกอย่างและออกบวชทันที

ออกบวช  

  • กลางดึกคืนหนึ่งพระองค์ได้ตัดสินใจออกบวช โดยมีนายฉันนะและม้ากัณฑกะ เดินทางร่วมกันไปยังแม่น้ำอโนมานที โดยพระองค์ได้นั่งบนพื้น ตัดผมด้วยพระขรรค์ และเปลี่ยนชุด ก่อนจะเดินทางไปยังแคว้นมคธ เพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์
  • ได้ศึกษาเล่าเรียนในสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส ใช้เวลาไม่นานก็บรรลุ แต่เมื่อเรียนจบทั้ง 2 สำนักแล้ว ก็ยังรู้สึกว่านี่ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงเดินทางไปที่แม่น้ำเนรัญชรา และบำเพ็ญทุกรกิริยา ด้วยการขบฟัน กลั้นหายใจ และอดอาหาร จนร่างกายซูบผอม  
  • บำเพ็ญทุกรกิริยาไปได้ 6 ปี ก็ค้นพบว่ายังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงล้มเลิกและหันมาทานอาหารตามเดิม ทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์ (โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ) ที่คอยปฏิบัติรับใช้ คิดว่าพระองค์คงไม่มีโอกาสที่จะตรัสรู้แล้ว จึงพากันจากไป

ตรัสรู้

  • หลังจากล้มเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา พระองค์ได้หันมาบำเพ็ญเพียรทางจิตแทน จนได้พบเจอกับทางสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่งเป็นหนทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ได้
  • ก่อนตรัสรู้นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสเพื่อไปบวงสรวงเทวดา และได้เห็นพระพุทธเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นไทร คิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายข้าวมธุปายาสด้วยถาดทองคำ
  • หลังจากทานข้าวเสร็จแล้วพระพุทธเจ้าก็จับถาดทองคำและอธิษฐาน ว่า “ถ้าเราจะได้ตรัสรู้ ก็ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำไป แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ขอให้ถาดลอยไปตามกระแสน้ำ” ซึ่งถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป
  • และในเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ท่านได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ขณะที่มีอายุ 35  ปี ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ เมืองพาราณสี ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้คือ อริยสัจ 4  

การแสดงปฐมเทศนา

  • หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน พระพุทธเจ้าตั้งใจจะเดินทางไปพบพระอาจารย์ที่อาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ทั้งสองท่านเสียชีวิตแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางไปพบปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่เคยมาเฝ้ารับใช้แทน และได้แสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง
  • พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แปลว่า สูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรม ถือเป็นการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก (ปฐมเทศนา) ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งตรงกับ วันอาสาฬหบูชา
  • การแสดงธรรมครั้งนี้ทำให้ พระอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุธรรม และขอบวชเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
  • ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้บวชตามลำดับ หลังจากปัญจวัคคีย์บวชทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเทศน์อนัตตลักขณสูตร จนปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา
     

การเผยแพร่พระพุทธศาสนา  

  • พระพุทธเจ้าได้เทศน์พระธรรมเทศนาแก่ ยสกุลบุตร (ลูกของนางสุชาดา คนที่ถวายข้าวแก่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรม) รวมทั้งเพื่อนของยสกุลบุตร จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด รวม 60 รูป
  • พระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้พระอรหันต์ทั้ง 60 รูป เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่ต่าง ๆ  ในเส้นทางที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ในหลายพื้นที่อย่างครอบคลุม และทำให้มีผู้คนเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น
  • หลังจากที่เหล่าสาวกออกเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศานา แต่ละรูปต่างคนต่างก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศานา เมื่ออยู่มาวันหนึ่ง มีพระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย [1] ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็นพระอรหันต์ทุกรูป [2] และได้รับการบวช (เอหิภิกขุอุปสัมปทา) จากพระพุทธเจ้าโดยตรง [3]  และในวันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ [4] (ดวงจันทร์เดินมาถึงดาวฤกษ์ชื่อมฆา) ด้วย ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ทำให้วันนี้มีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต นั่นเอง
  • ในวันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้แสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ โดยมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"

เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

  • พระพุทธเจ้าได้โปรดสัตว์และแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดระยะเวลา 45 ปี ก่อนที่จะรู้ว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรินิพพาน จึงได้ปลงอายุสังขาร
  • ก่อนที่จะปรินิพพานได้บวชให้ พระสุภัททะปริพาชก ซึ่งถือได้ว่าคือสาวกคนสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ท่ามกลางคณะสงฆ์ ทั้งที่เป็นพระอรหันต์ และประชาชนจากแคว้นต่าง ๆ รวมทั้งเทวดา ที่มารวมตัวกันในวันนี้
  • และได้ให้ปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงทำประโยชน์ของตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
  • จากนั้นได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 รวมอายุ 80 ปี และวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของพุทธศักราช  
  • หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 8 วัน ก็ได้มีการทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ (เผาศพ)  ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา   เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งวันนี้นิยมเรียกกันว่า วันอัฏฐมีบูชา  

Note :  

  • วันมาฆบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) เปรียบเสมือนวันของ “พระธรรม”  เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ให้แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก และเกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาต  
  • วันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) เปรียบเสมือนวันของ “พระพุทธ”  เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้าในวันเดียวกัน และทาง UNESCO ประกาศให้เป็นวันสำคัญของโลก
  • วันอาสาฬหบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) เปรียบเสมือนวันของ “พระสงฆ์” เพราะเป็นวันที่กำเนิดพระสงฆ์รูปแรกขึ้น คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ
  • วันเข้าพรรษา (แรม 1 ค่ำ เดือน 8)  เป็นเวลาที่พระสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ในวัด  ไม่ไปค้างแรมในที่อื่นตลอด 3 เดือนในฤดูฝน
  • วันออกพรรษา  (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)  เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาของพระสงฆ์ ที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์

 

หลักธรรมของ 6 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

หลักธรรมสำคัญในวันมาฆบูชา

คือ “โอวาทปาติโมกข์” หรือ โอวาท 3 หลักธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้แก่พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูปในวันนั้น ได้แก่ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”  

หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชา

หลักธรรมในวันนี้จะมีความเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้แก่

  • หลักธรรมสำคัญที่เกี่ยวกับการประสูติ ได้แก่ ความกตัญญู ให้รู้บุญคุณ คู่กับความกตเวที และตอบแทนผู้มีพระคุณ
  • หลักธรรมสำคัญที่เกี่ยวกับการตรัสรู้ ได้แก่ อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับการดับทุกข์ ที่สามารถนำไปปรับใช้ และเป็นวิธีแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ด้วย
    • ทุกข์ ปัญหาหรือสิ่งที่ทำให้ทุกข์ใจ
    • สมุทัย สาเหตุของปัญหา
    • นิโรธ เป้าหมายของการดับทุกข์
    • มรรค วิธีการแก้ไขปัญหา
  • หลักธรรมสำคัญที่เกี่ยวกับการปรินิพพาน ได้แก่ ความไม่ประมาท  เป็นการสอนให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำ พูด หรือคิดอะไร เพราะการมีสติจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา

หลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา

สำหรับวันอาสาฬหบูชามี 2 หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง เป็นการปฏิบัติที่เป็นกลางและถูกต้องเหมาะสม ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป และ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งได้แก่ อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐนั่นเอง

หลักธรรมสำคัญในวันอัฏฐมีบูชา

นอกจากหลักธรรม “ความไม่ประมาท” แล้วยังมีหลัก “ไตรลักษณ์” หรือสามัญลักษณะ เป็นหลักธรรมเพื่อเตือนให้เราไม่ลุ่มหลง ไม่ยึดติดยึดถือกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นของเรา ทำให้ไม่เกิดความทุกข์หรือความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ลดความเห็นแก่ตัว และสามารถปรับตัวได้ แม้ว่าจะเกิดการพลัดพรากจากสิ่งที่ต้องการก็ตาม ประกอบด้วย อนิจจา ทุกขตา และอนัตตตา

  • อนิจจา - ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรเที่ยงแท้ สิ่งมีชีวิต เมื่อเกิดแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงตามวัย และร่วงโรยไปตามกาลเวลา
  • ทุกขตา - ความเป็นทุกข์จากทุกสิ่ง หรือการทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
  • อนัตตตา - ตามปกติคนทั่วไปจะมีการยึดมั่นในเรื่องตัวตน คือ การยึดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเรา แต่ในทางของพระพุทธศาสนาถือว่า ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา และไม่มีอะไรที่เป็นของเรา

หลักธรรมสำคัญในวันเข้าพรรษา

คือ วิรัติ  หมายถึง การงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป จำแนกออกได้เป็น ๓ ประการ คือ

  1. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอายใจ  และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาปขึ้นมาเอง  บุคคลที่ได้ถือศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุราก็ไม่ดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรทำสิ่งนี้ในระหว่างเข้าพรรษา
  2. สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 จากพระสงฆ์ โดยระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง
  3. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรง เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่น กรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น

หลักธรรมสำคัญในวันออกพรรษา

คือ ปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ในการปวารณานี้อาจแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

  1. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจ
  2. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน

การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของพระสงฆ์ แต่ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมได้ เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานบริษัทและหน่วยงานราชการ เป็นต้น

แจกสูตร! วิธีจำวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 

มา 3 ธรรม วิ 6 พุทธ อา 8 สงฆ์

อย่างที่พี่แป้งบอกไปเบื้องต้นว่า เรื่องราวเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประวัติของพระพุทธเจ้า รวมถึงหลักธรรมคำสอน ถูกนำมาออกเป็นข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยบ่อยมากๆ วันนี้เลยนำแนวข้อสอบวิชาสังคมศึกษา 9 วิชาสามัญ ปี 2558 มาให้ทุกคนลองทำกันค่ะ  

 

การละเว้นความชั่ว การสร้างแต่คุณงามความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใส เป็นหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในวันใด  

1. อาสาฬหบูชา

2. เทโวโรหณะ

3. อัฏฐมีบูชา

4. วิสาขบูชา

5. มาฆบูชา

 

น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่า หลักธรรมดังกล่าวเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญวันไหน ลองคอมเมนต์คุยกันด้านล่างได้เลยค่ะ  

สำหรับคอลัมน์ รู้ไว้เผื่อออกสอบ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

ข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/924350  http://www.dhammararuen.com/%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4_timeline/ https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/72/iid/460  http://www.dhammathai.org/day/buddhismday.phphttps://www.facebook.com/photo/?fbid=514559979491840&set=pcb.514553639492474  

 

รูปภาพจากhttps://www.freepik.com/free-vector/hand-drawn-makha-bucha-day-illustration_12428871.htm#fromView=search&page=1&position=49&uuid=4c9ae706-4773-4a6e-946d-d169f27b5251https://www.freepik.com/free-vector/flat-background-vesak-festival-celebration_39999250.htm#fromView=search&page=2&position=8&uuid=4c9ae706-4773-4a6e-946d-d169f27b5251

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ผิดลิขสิทธิ์ ขัดต่อหลักกฎหมาย หรือศีลธรรม

กำลังโหลด
กำลังโหลด