ทำไมข้อสอบภาษาไทยชอบถามว่า “ผู้พูดรู้สึกอย่างไร?” สรุปให้แล้ว! ทริคการวิเคราะห์จุดประสงค์/เจตนาของผู้เขียน

สวัสดีค่ะ ชาว DEK-D เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนอาจจะเคยได้เห็น หรือทดลองทำข้อสอบเก่าวิชาภาษาไทย แล้วเจอกับโจทย์ที่มักจะถามว่า “ข้อใดเป็นจุดประสงค์ของผู้เขียน” “ผู้เขียนรู้สึกอย่างไร” กันอยู่บ่อย ๆ ใช่มั้ยคะ ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์จุดประสงค์/เจตนาของผู้เขียน ที่ในช่วง 2-3 ปี มานี้ออกสอบบ่อยมาก ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ได้สรุป การวิเคราะห์จุดประสงค์/เจตนาของผู้เขียน มาให้ทุกคน เพื่อนำความรู้ไปทดลองทำข้อสอบแนวนี้ที่แปะเอาไว้ด้านล่างกันค่ะ

ทำไมข้อสอบภาษาไทยชอบถามว่า “ผู้พูดรู้สึกอย่างไร?” สรุปให้แล้ว! ทริคการวิเคราะห์จุดประสงค์/เจตนาของผู้เขียน
ทำไมข้อสอบภาษาไทยชอบถามว่า “ผู้พูดรู้สึกอย่างไร?” สรุปให้แล้ว! ทริคการวิเคราะห์จุดประสงค์/เจตนาของผู้เขียน  

จุดประสงค์ของผู้เขียน  

น้อง ๆ อาจจะคุ้นเคยกับข้อสอบที่มักจะถามว่า “จากข้อความ..... ข้อใดเป็นจุดประสงค์ของผู้เขียน” กันใช่มั้ยคะ แต่นอกจากนี้อาจมีคำอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ได้แก่ ความมุ่งหมาย ต้องการสื่อสาร มุ่งนำเสนอ โดยจุดประสงค์ของผู้เขียนที่มักจะเจอได้บ่อยในข้อสอบ มีดังนี้  

จุดประสงค์เพื่ออธิบาย/ชี้แจง  

เป็นการเขียนที่มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านเกิดความ ‘เข้าใจ’ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลักษณะการอธิบายจะมีการชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น บอกวิธีทำ มีลำดับขั้นตอน มีการให้ความหมาย คำจำกัดความต่าง ๆ  รวมถึงการขยายความโดยใช้เหตุผล ที่เราอ่านแล้วเห็นภาพทันที

ตัวอย่างการเขียนเพื่ออธิบาย : เทคนิคทำไข่ต้มยางมะตูม เริ่มจากล้างเปลือกไข่ให้สะอาด เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกปะปนตอนต้มไข่ ตั้งน้ำให้เดือด ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงไป จากนั้นใส่ไข่ลงไปตอนน้ำเดือด จับเวลาประมาณ 4-5 นาที  แล้วรีบตักขึ้นแช่น้ำเย็นทันที

จุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวใจ

เป็นการเขียนที่มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกคล้อยตาม หรือรู้สึก ‘เชื่อ’ มักจะใช้คำพูดเชิงบวก บอกถึงข้อดี ประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อชักจูงและโน้มน้าวให้ผู้อ่านยอมรับและเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ รวมถึงการกระทำในเรื่องนั้น ๆ ให้ตรงกับผู้เขียน  

ตัวอย่างการเขียนเพื่อโน้มน้าวใจ : แชมพูสระผมออร์แกนิก ทำจากสมุนไพรธรรมชาติ 100% สกัดจากมะกรูดที่ปลูกแบบปลอดสารพิษ และมีน้ำมันหอมระเหยที่จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย

จุดประสงค์เพื่อแนะนำ/ชี้แนะ

เป็นการเขียนที่มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือลงมือทำตาม คล้ายกับการโน้มน้าวใจ แต่การเขียนเพื่อแนะนำจะเน้นการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ หรือสิ่งที่ดีกว่า ควบคู่ไปกับการสอดแทรกความรู้  หรือมีการเปรียบเทียบให้เห็นถึงข้อดี-ข้อเสีย บางครั้งอาจมีการใช้คำว่า “ควร” ที่ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าเป็นการให้คำแนะนำ

ตัวอย่างการเขียนเพื่อแนะนำ/ชี้แนะ : ชามีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้มีพลังานตื่นตัวได้ยาวนานกว่า ทั้งยังช่วยเผาผลาญไขมันได้ดีอีกด้วย

จุดประสงค์เพื่อตักเตือน  

เป็นการเขียนที่มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านรับรู้ว่าสิ่งที่กำลังจะทำ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เป็นการบอกให้รู้ถึงข้อเสีย หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังหากทำสิ่งนั้นไป  

ตัวอย่างการเขียนเพื่อตักเตือน : หลายคนชอบคิดว่าการใช้ Pod ปลอดภัยกว่าบุหรี่จริงเพราะไม่มีการเผาไหม้ ทำให้คนใช้คิดว่าไม่มีอันตรายและไม่ติดนิโคติน แต่ข้อเท็จจริง คือ น้ำยาบางรุ่นมีนิโคตินในปริมาณที่สูงมากจนทำให้เสพติดได้ ซึ่งส่วนผสมของน้ำยาที่โดนความร้อนจะทำให้เกิดสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายอย่างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  

จุดประสงค์เพื่อตำหนิ  

สำหรับการเขียนเพื่อตำหนิ อาจทำให้หลายคนสับสนกับการตักเตือน แต่การเขียนตำหนิมักจะใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้มีการทำความผิดไปแล้ว  

ตัวอย่างการเขียนเพื่อตำหนิ : อย่าลดคุณค่าของตัวเอง เพียงเพราะอยากให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเรา วันใดที่เราออกวิ่งตามใครสักคน วันนั้นเป็นวันที่คุณค่าในตัวเราลดลงด้วยเช่นกัน นอกจากเขาจะไม่เห็นคุณค่า เรายังต้องเหนื่อยกายและใจ คนเราถ้าเขาเห็นค่า ยืนเฉยเขาก็เห็น

 

เจตนาของผู้เขียน

จากหัวข้อด้านบนที่รู้กันไปแล้วว่า จุดประสงค์ของผู้เขียน ที่มักจะเจอได้ในข้อสอบมีอะไรบ้าง สำหรับหัวข้อต่อมาที่ออกสอบบ่อยมาก ๆ ไม่แพ้กัน ก็คือ ‘เจตนาของผู้เขียน’ หรือความตั้งใจที่จะสื่อสารเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งของผู้เขียน โดยจะมีอยู่ 3 เจตนาหลัก ๆ ดังนี้

เจตนาแจ้งให้ทราบ

เป็นประโยคบอกเล่าเรื่องราวที่ผู้เขียนต้องการแจ้งให้ผู้อ่านรับรู้ข้อมูลเฉย ๆ หรือถ้าต้องการแจ้งให้ทราบในเชิงปฏิเสธ ก็จะมีคำปฏิเสธ เช่น มิ ไม่ หามิได้ ให้เราเห็นอย่างชัดเจน  

ตัวอย่างเจตนาแจ้งให้ทราบ : กำหนดการ TCAS68 ของน้อง ๆ DEK68 จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายน 67 และลากยาวจนไปถึงเดือน มิถุนายน 68 เลยทีเดียว

เจตนาถามให้ตอบ

เป็นประโยคที่ผู้เขียนต้องการ ‘คำตอบ’ ในบางครั้งก็มักจะมีคำแสดงการถามอยู่ในประโยคด้วย เช่น ใคร, อะไร, ที่ไหน, เมื่อไหร่, อย่างไร, ทำไม, หรือไม่ เป็นต้น  

ตัวอย่างเจตนาถามให้ตอบ : วันนี้อากาศร้อนมาก ใครร้อนเหมือนกันบ้าง

เจตนาบอกให้ทำ

เป็นประโยคที่ผู้เขียนใช้ถ้อยคำเชิงคำสั่ง ตักเตือน เชิญชวน หรือขอร้องให้ทำตาม มักจะมีคำว่า ‘ต้อง…’ ‘จง…’ ‘โปรด…’ ‘ช่วย…’ ‘หน่อย’ ‘อย่า….’  ‘ต้องไม่…’ ในบางครั้งอาจมีการละประธานไว้ในฐานที่เข้าใจ ถ้าไม่ละประธานก็มักจะใช้ประธานเอกพจน์บุรุษที่ 2 (เธอ) หรือพหูพจน์บุรุษที่ 1 (เรา)

ตัวอย่างเจตนาบอกให้ทำ : การออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพดี เราจึงต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

น้ำเสียง อารมณ์ ความรู้สึกของผู้เขียน  

นอกจากเรื่องจุดประสงค์และเจตนาของผู้เขียนแล้ว ข้อสอบยังชอบนำพวกคำแสดงน้ำเสียง อารมณ์ ความรู้สึก ที่ใกล้เคียงกันมาเป็นตัวเลือกด้วย ดังนั้น น้อง ๆ ต้องหาคำสังเกต เพื่อชี้ชัดคำเหล่านั้นให้ได้  

  • ประชดประชัน : เป็นการพูดตรงข้ามกับความเป็นจริง หรือกล่าวถึงลักษณะที่เกินจริง อาจน้อยหรือมากเกินไป เช่น “ถ้าจะมาช้าขนาดนี้ ทำไมไม่มาพรุ่งนี้เลยล่ะ”
     
  • โศกเศร้า : มักเป็นการพูดถึงเหตุการณ์ในเชิงลบ การสูญเสีย การจากลา หรือความผิดหวัง ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสลดใจ เห็นอกเห็นใจ  เช่น “เขาไม่ได้ให้ความหวัง มีแต่เรานี่แหละที่คาดหวังไปเอง”
     
  • น้อยใจ : มักจะมีการแสดงอาการตัดพ้อ ที่เจือปนระหว่างอารมณ์โกรธและเสียใจ เช่น " ไม่เคยอยู่ในสายตาเธอสักครั้งใช่ไหม และทุกครั้งก็เห็นว่าเธอได้มองผ่านไป ข้ามฉันไปที่เขา"  
     
  • วิตกกังวล : ในประโยคมักจะมีการแสดงอาการพะวง หรือคิดถึงผลกระทบในสิ่งที่ยังไม่ถึง หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น  เช่น “เนื้อหาและรายวิชาที่ต้องอ่านเพื่อไปสอบ TGAT/TPAT มีหลายวิชามาก ถ้าอ่านหนังสือไม่ทันต้องสอบไม่ติดมหา’ลัยแน่เลย”
     
  • หวาดกลัว : ในประโยคมักจะมีลักษณะกลัวใครหรือสิ่งใด มาทำร้าย มีความรู้สึกอันตราย และไม่ปลอดภัย เช่น “เงาดำตะคุ่ม ๆ ที่พุ่มไม้ มองดูเหมือนสัตว์ร้ายคืนคลานเข้ามาใกล้ เราต้องรีบหนีออกไปจากตรงนี้ให้เร็วที่สุด”
     
  • ชื่นชม : มักจะมีการแสดงความหวังดี เป็นประโยคเชิงบวก ที่บอกถึงข้อดีของสิ่งนั้น ๆ ว่าเหนือกว่าสิ่งอื่นอย่างไร เช่น “ไอรีนเป็นผู้หญิงที่ทำงานหาเงินเก่ง แถมเพรียบพร้อมด้วยความสวย คนอะไรเพอร์เฟกต์ไปหมดทุกอย่าง จะหาที่ไหนได้อีก”
     
  • ภูมิใจ : เป็นการพูดถึงการแข่งขัน การได้รับรางวัล หรือการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จตามเป้าหมาย เช่น “กว่าจะสอบเข้าคณะมัณฑนศิลป์ได้ ฉันต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการติวสอบ และฝึกวาดรูปอย่างหนัก จนในที่สุดวันนี้ก็ได้เรียนในคณะนี้สมความตั้งใจ”
     
  • ปลุกใจ : ในประโยคจะมีลักษณะเชิญชวน หรือโน้มน้าวใจ ให้รู้สึกมุ่งมั่น กระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ หรือเป็นการทำให้รู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างไปในทางที่ดีขึ้น เช่น "ถ้าบ้านเมืองเราขาดคนดี และยังให้คนไม่ดีมาปกครองบ้านเมือง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับสังคม"
     
  • อ้างว้าง ว้าเหว่ : ในประโยคมักจะมีการบรรยายถึง การอยู่คนเดียว, ไม่เหลือใคร หรืออาจมีคำที่ชี้ให้เห็นชัดเจน อย่างคำว่า โดดเดี่ยว, เดียวดาย เช่น “เมื่อโลกนี้วุ่นวาย ผู้คนมากมาย ไม่มีใครคอยเคียงข้างฉัน เรื่องราวมากมายปัญหาหมื่นพันทำไมมีแต่ฉันที่แบกไว้”
     
  • เสียดาย : เป็นการพูดถึงการพลาดโอกาสที่ควรจะมีจะได้ไป หรือบรรยายถึงความรู้สึกอยากได้สิ่งที่พลาดไปให้กลับคืนมา เช่น “ตอนนี้อยากไปเรียนต่อเมืองนอก อยากย้ายงานไปต่างประเทศก็ไม่ทันแล้ว รู้งี้ตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก ๆ ดีกว่า”
     
  • อาลัยอาวรณ์ : มักเป็นการพูดถึงเหตุการณ์ในเชิงลบ เกิดการสูญเสีย หรือพลัดพรากจากกันแล้วหวนคิดถึง เช่น “เหลือเพียงความรักที่ไม่มีเธอแล้ว คิดถึงเธอมากมายเท่าไร ก็ไม่มีวันได้พบเจอ”

ส่วนใหญ่แล้วข้อสอบมักจะเอาเหตุการณ์ที่ใกล้ตัวเรามาออกสอบ เช่น เรื่องความรัก ซึ่งพอเป็นเรื่องความรัก เรามักจะเอาใจของเราลงไปเล่น ไปผูกติด ว่าถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกแบบนี้ เพราะฉะนั้นทริคสำคัญในการทำข้อสอบการวิเคราะห์จุดประสงค์ของผู้เขียน เราจะต้องตัดความรู้สึกส่วนตัวของเราออกให้ได้ และใช้หลักการต่าง ๆ ในการหาคำตอบแทน

 

ในวันนี้เรามาลองทำข้อสอบเรื่องการวิเคราะห์จุดประสงค์/เจตนาของผู้เขียน จากข้อสอบ A-level วิชาภาษาไทย จากโครงการ Dek-D Pre-Admission รอบ พฤศจิกายน 2566

 

อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม

รักแรกมันลืมยาก ฉันคงลืมยาก แม้จะนานเท่าไร ไม่มีวันที่จะจางหาย เธอสบายดีไหม เป็นคำถามที่ยังคงวนอยู่ซ้ำ ๆ อยากรู้แค่เพียงเธออยู่ตรงนั้น ที่ไม่มีฉัน ชีวิตเธอเป็นไง คิดถึงกันบ้างไหม ส่วนฉันก็คิดถึงเธออยู่ซ้ำ ๆ ก็หวังแค่เพียงเธออยู่ตรงนั้น จะสุขใจกว่าฉัน อยากให้เธอยิ้มได้เหมือนเก่า เหมือนตอนเรารักกัน

 

จากข้อความ “อยากให้เธอยิ้มได้เหมือนเก่า เหมือนตอนเรารักกัน” ผู้พูดมีน้ำเสียงอย่างไร

1.น้ำเสียงโศกเศร้า

2.น้ำเสียงห่วงใย

3.น้ำเสียงว้าเหว่

4.น้ำเสียงเสียดาย

5.น้ำเสียงอาลัยอาวรณ์

 

น้อง ๆ ชาว Dek-D คิดว่า ข้อนี้ผู้พูดมีน้ำเสียงอย่างไรกันบ้างคะ ลองคอมเมนต์คำตอบที่คิดว่าใช่ด้านได้เลยค่ะ ก่อนตอบลองพิจารณากันดี ๆ นะคะ อย่าโดนโจทย์หลอกเอานะ!  

 

และในส่วนของนักร้องที่เป็นเจ้าของเพลง รักแรก ได้ให้คำตอบข้อนี้ไว้ว่า…..

 

สำหรับคอลัมน์ รู้ไว้เผื่อออกสอบ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ทั้งนี้ ถ้าน้อง ๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน หรือความรู้จากวิชาอะไร ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

ข้อมูลจาก https://www.altv.tv/content/altv-news/648becc0394ffefac230a012

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ผิดลิขสิทธิ์ ขัดต่อหลักกฎหมาย หรือศีลธรรม

กำลังโหลด
กำลังโหลด