เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day)’ วันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพาน้องๆ ทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘อนุสัญญาสิ่งแวดล้อม’ กันค่ะ เหตุผลที่ต้องรู้จักอนุสัญญาสิ่งแวดล้อม เพราะในหลักสูตรมีมาตรฐานการเรียนรู้ว่า ผู้เรียนต้องระบุมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา บทบาทขององค์การและการประสานความร่วมมือทั้งในประเทศและนอกประเทศเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้นั่นเอง นอกจากนี้ ก็ยังเป็นหัวข้อที่ข้อสอบ A-Level วิชาสังคม นำมาออกสอบบ่อยอีกด้วยค่ะ
อนุสัญญาคืออะไร?
อนุสัญญา (Convention) คือ ความตกลงระหว่างประเทศ (รัฐกับรัฐ/รัฐกับองค์การระหว่างประเทศ/องค์การระหว่างประเทศกับองค์การระหว่างประเทศ) ที่จัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมุ่งก่อให้เกิดสิทธิและพันธะทางกฎหมายแก่ประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งอนุสัญญาอาจมีชื่อเรียกได้หลายอย่างขึ้นกับองค์ประกอบและปัจจัย เช่น
- สนธิสัญญา (Treaty) / ความตกลง (Agreement) / บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding - MoU)
- อนุสัญญา (Convention) มักใช้ในกรณีการจัดทำความตกลงพหุภาคี
- พิธีสาร (Protocol) มักใช้ในกรณีที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงเดิมที่มีอยู่แล้ว
- ข้อตกลง (Arrangement) มักใช้ในกรณีที่เป็นการทำความตกลงย่อย เสริมจากความตกลงหลักที่มีอยู่แล้ว
- กฎบัตร (Charter) มักใช้ในกรณีที่เป็นความตกลงจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ
- หนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Notes) ต้องมีสองฉบับขึ้นไปประกอบกันเป็นความตกลง
ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเรียกชื่อไหนก็ตาม หากเข้าหลักเกณฑ์องค์ประกอบตามที่ระบุไว้ข้างต้นก็ถือเป็นสนธิสัญญาทั้งหมดค่ะ
Note : การเรียกชื่อสนธิสัญญาที่แตกต่างกันนั้นก็มีเหตุผลหลายอย่าง เช่น บางประเทศจะใช้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขั้นตอนการทำสนธิสัญญาในลักษณะที่แตกต่างกันตามกระบวนการกฎหมาย เช่น หากเรียกชื่อเป็นบันทึกความเข้าใจ ก็อาจไม่จำเป็นต้องเสนอต่อรัฐสภา แต่หากเรียกชื่อว่า สนธิสัญญา หรือความตกลง ต้องผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบของรัฐสภา เป็นต้น
ทำไมต้องมีอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม?
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเรามักจะได้ยินเรื่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ บางปัญหาอาจเกิดขึ้นแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่ส่งผลกระทบข้ามประเทศเหมือนกัน เพราะระบบนิเวศของโลกเราเชื่อมโยงกัน เมื่อเกิดปัญหาก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน เช่น ปัญหาโลกร้อน การลักลอบค้าสิ่งมีชีวิตระหว่างประเทศ ฯลฯ ดังนั้น การที่จะทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ลดลงได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศทั่วโลก เพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
โดยอนุสัญญาสิ่งแวดล้อมถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ โดยข้อตกลงเหล่านี้มักมีความเชื่อมโยงกันทั้งในแง่ปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ และการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งข้อมูลของข้อตกลงต่างๆ จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบที่จะเกิดขึ้นในประเทศของตน และเพื่อให้การดำเนินงานตามข้อตกลงเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันความขัดแย้งและการดำเนินงานที่ซับซ้อนนั่นเองค่ะ
สำหรับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่มักจะพบในข้อสอบ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ, การจัดการของเสีย มลพิษ และสารเคมีอันตราย ซึ่งในแต่ละด้านจะมีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันออกไป ดังนี้
หมายเหตุ : อนุสัญญาที่มีเครื่องหมายดอกจันทน์ (*) ด้านหน้า เป็นอนุสัญญาที่เจอบ่อยในข้อสอบดังนั้น ควรเน้นจำอนุสัญญาเหล่านั้นเป็นพิเศษ
อนุสัญญาสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1.กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC)
เป็นอนุสัญญา “กรอบการทำงาน” ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ประเทศที่เข้าร่วมรักษาระดับความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ที่เป็นตัวการหลักในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพื่อให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล และเป็นการป้องกันผลกระทบที่รุนแรงต่อการผลิตอาหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
2.พิธีสารเกียวโต (Kyoto protocol)
เป็นพิธีสารที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เดิมที UNFCCC มีการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเท่ากับระดับในปี พ.ศ. 2533 ภายใน พ.ศ. 2543 แต่มีการคาดการณ์ว่าระยะเวลาไม่เพียงพอ จึงนำมาสู่การประชุม และเกิดพิธีสารเกียวโต ใน พ.ศ. 2540 ตามมา
โดยพิธีสารฯ นี้มีจุดประสงค์หลัก คือ ให้ประเทศที่เข้าร่วมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, ไนตรัสออกไซด์, ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์, ก๊าซในกลุ่มไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน (HFCs) และเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs)
*3.ความตกลงปารีส (Paris Agreement)
เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญา UNFCCC ซึ่งเป็นส่วนขยายและเพิ่มเติม ต่อจากพิธีสารเกียวโต เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากพิธีสารเกียวโตมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้อย่างเต็มที่ เพราะสหรัฐอเมริกาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันต้นของโลก ไม่ได้เข้าร่วมของพิธีสารฉบับนี้ จึงได้นำไปสู่การเจรจาข้อตกลงใหม่
โดยความตกลงปารีสมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
*4.อนุสัญญาเวียนนา (Vienna Convention)
เป็นอนุสัญญาที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้นานาประเทศร่วมกันหาวิธีป้องกันชั้นโอโซนในบรรยากาศไม่ให้ถูกทำลาย และร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจารูโหว่ของชั้นโอโซน โดยสนับสนุนให้เกิดการวิจัย การเฝ้าสังเกตการณ์ชั้นโอโซนอย่างเป็นระบบ และความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างประเทศต่างๆ อีกด้วย
*5.พิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol)
เป็นพิธีสารว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ที่จัดทำขึ้นเพื่อควบคุม ป้องกัน ยับยั้ง ให้ลดการผลิตสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศโลก ได้แก่ สาร CFCs (ตู้เย็น แอร์ สีสเปรย์) สารฮาลอน (ถังดับเพลิง) และเมทิลโบรไมด์ (ยาฆ่าแมลง) เพื่อรักษาโอโซนให้คงอยู่ต่อไป เนื่องจากถ้าไม่มีชั้นโอโซนที่คอยสะท้อนรังสี UV ก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และทำให้มนุษย์เรามีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น โดยในพิธีสารฯ นี้จะมีการจำแนกสารทำลายชั้นโอโซนออกเป็นกลุ่มๆ และเป็นแบ่งตารางเวลาที่บอกจำนวนปีว่าการผลิตสารเหล่านี้ต้องยุติลงและหมดสิ้นภายในปีไหนบ้าง
อนุสัญญาสิ่งแวดล้อมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ
*1.อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity - CBD)
เป็นอนุสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อให้รัฐบาลทุกประเทศ พัฒนาประเทศโดยไม่ละเลยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ, เพื่อใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม
2.สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agricultural: ITPGR)
เป็นสนธิสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช เพื่ออาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากการใช้ทรัพยากรนั้นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน โดยสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่สนธิสัญญาฯ นี้ จำกัดขอบเขตเฉพาะเรื่อง “ทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร” เท่านั้น
ในขณะที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) จะมีขอบเขตครอบคลุมความหลายหลายทางชีวภาพทั้งหมดทุกประเภท แต่ไม่ครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรพันธุกรรมพืชที่อยู่นอกถิ่นที่อยู่ (ex situ collection) และเรื่องสิทธิของเกษตรกรเป็นการเฉพาะ จึงอาจถือว่าสนธิสัญญาฯ นี้เป็นส่วนเสริมของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั่นเอง
*3.อนุสัญญาแรมซาร์ หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention on Wetlands)
เป็นอนุสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เดิมทีมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ ต่อมาได้มีการขยายขอบเขตการดำเนินการของอนุสัญญาฯ ให้ขยายครอบคลุมกว้างขึ้นโดยเน้นการอนุรักษ์และยับยั้งการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก และสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด
*4.อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Spcies of Wild Fauna and Flora : CITES)
มีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า อนุสัญญาวอชิงตัน (Washington Convention) เป็นอนุสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่ออนุรักษ์และคุ้มครอง เน้นทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือมีการคุกคาม ทำให้ปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ โดยใช้ระบบควบคุมและตรวจสอบการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในรูปของการส่งออกและนำเข้าสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำเข้ามาจากทะเล
สาเหตุที่ ต้องมี CITES เนื่องมาจากการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าทั่วโลก มีปริมาณและมูลค่าสูง และมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อทรัพยากรของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าในธรรมชาติ ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนบางชนิดใกล้สูญพันธุ์
5.อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรืออนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (The World Heritage Convention)
เป็นอนุสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ที่ทรงคุณค่าโดดเด่นของโลก ทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นและจากแหล่งธรรมชาติ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านกฎหมาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสงวนรักษาคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติให้คงอยู่ต่อไป
อนุสัญญาสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการของเสีย มลพิษ และสารเคมีอันตราย
*1.อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal)
เป็นอนุสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน ทั้งนำเข้า ส่งออก และวิธีกำจัดให้มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำของเสียอันตรายไปทิ้ง หรือกำจัดทำลายในประเทศด้อยพัฒนา และการป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมาย
โดยกำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลล่วงหน้า และไม่อนุญาตให้เริ่มการเคลื่อนย้ายข้ามแดนจนกว่าจะได้รับการยินยอมจากรัฐผู้นำเข้า และรัฐที่นำผ่านแดน รวมทั้งต้องจัดให้มีเอกสารการเคลื่อนย้าย การบรรจุหีบห่อ การติดฉลาก และการขนส่งด้วยวิธีการที่กำหนดตามมาตรฐานสากล ตลอดจนต้องมีการประกันภัย พันธบัตรหรือหลักประกันทางการเงิน และต้องรับผิดชอบในการนำกลับของเสียภายใน 30 วัน หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อตกลง ถือเป็นการลักลอบเคลื่อนย้ายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย
*2.อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ (Rotterdam Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade : PIC)
เป็นอนุสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมี และส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเน้นควบคุมการนำเข้า และส่งออกสารเคมีอันตรายต้องห้าม หรือจํากัดการใช้อย่างเข้มงวด และสูตรผสมของสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง โดยได้กำหนดรายชื่อสารเคมีที่ควบคุมภายใต้อนุสัญญา
3.อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants)
เป็นอนุสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยการลดหรือเลิก การผลิต การใช้ และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ซึ่งเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ซึ่งย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ ตกค้างยาวนาน สะสมได้ในเนื้อเยื่อไขมันของมนุษย์เเละสัตว์ และสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในสิ่งแวดล้อม
ลงนามอนุสัญญาแล้วต้องทำอะไรต่อ?
หลังจากแต่ละประเทศได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาแล้วก็จะต้องดำเนินงานตามข้อตกลงในแต่ละอนุสัญญาที่ได้กำหนดไว้ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ประเทศที่เข้าร่วมจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเปลี่ยนปลงสภาพอากาศ และดำเนินการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าเป็นระยะๆ ว่าสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกไปได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการลดก๊าซเรือนกระจก
แจก! ทริคช่วยจำอนุสัญญาสิ่งแวดล้อม
รู้จักอนุสัญญาสิ่งแวดล้อมกันไปเรียบร้อยแล้ว มาถึงคิวการจำอนุสัญญาที่ออกสอบบ่อยให้แม่นแล้วค่ะ สำหรับทริคการจำที่นำมาฝากน้องๆ กันในวันนี้ เป็นวิธีการจำด้วยทำนองเพลง ซึ่งทำนองเพลงที่จะใช้จำ คือ เพลง “นิ้วโป้งอยู่ไหน” ลองฟังทำนองเพลง แล้วลองร้องตามจังหวะได้เลย!
ไซเตสพืชสัตว์ / รอตเตอร์ดัมเคมี
ปารีสโลกร้อน / แรมซาร์ชุ่มน้ำ
มอนทรีออล เวียนนา โอโซน
บาเซล แคนเซิลขยะ
ได้ทริคจำอนุสัญญากันไปแล้ว มาลองวัดองค์ความรู้และความเข้าใจ กับ ข้อสอบ A-Level วิชาสังคม ปี 2566 กันค่ะ
ความสัมพันธ์ข้อใดต่อไปนี้ไม่ถูกต้อง
1. อนุสัญญาไซเตส - สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
2. อนุสัญญาเวียนนา - ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
3. อนุสัญญาบาเซล - ของเสียอันตราย
4. อนุสัญญาแรมซาร์ - พื้นที่ชุ่มน้ำ
5. อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ - อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่า ความสัมพันธ์อนุสัญญาข้อไหนไม่ถูกต้อง คอมเมนต์คุยกันด้านล่างได้เลยค่ะ
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
ข้อมูลจากhttps://www.seub.or.th/bloging/knowledge/convention-1/ http://www.chemtrack.org/Doc/F206.pdf http://lib.mnre.go.th/lib/report/linkages1.PDF https://www.law.cmu.ac.th/law2011/journal/e1386906915.pdf https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER3/DRAWER083/GENERAL/DATA0000/00000136.PDF https://www.bkkbase.navy.mi.th/info/upload/pdf/section9/c07.pdf https://treaties.mfa.go.th/th/content/%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2?cate=635b8a19e7bc717ee6647ef3 https://chm-thai.onep.go.th/?page_id=3840#:~:text=%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2,%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-vector/hand-drawn-flat-climate-change-concept-illustration_17895424.htm#fromView=search&page=4&position=0&uuid=26484150-1705-494a-aab9-df8f6f4ed35e
1 ความคิดเห็น
ตอบข้อ 2 ไหมคะ