Teen Coach EP.111 : สงสัยมั้ย? ทำไมบางคนถึงเชื่อเฟคนิวส์ง่ายๆ ทั้งๆ ที่ดูไม่มีเหตุผลเอาซะเลย

เคยสงสัยไหม ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงคล้อยตามความเชื่อผิด ๆ โดยไม่เอะใจ

 

ไหนจะที่ผู้ใหญ่ในบ้านเชื่อว่าโซดามะนาวรักษามะเร็ง 

 

หรือที่โดนัลทรัมป์ อดีตประธานาบดีของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวว่า อัตราการก่ออาชญากรรมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ เวลานั้น ทำให้คนในประเทศสหรัฐกลัว แต่จากรายงานของ FBI พบว่ามีจำนวนเคสน้อย

 

แทบไม่มีเรื่องไหนเป็นเรื่องจริงเลยใช่ไหมคะ...แต่ทำไมคนถึงเชื่อกันง่าย ๆ ล่ะ

ลองจินตนาการเล่น ๆ ขณะที่เรากำลังเล่นทวิตเตอร์ (หรือแอปพลิเคชั่น X ในปัจจุบัน) เราอ่านเจอเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อ่านในโควท เห็นคนไหลตามและเชื่อต่อกันเป็นทอด ๆ หรือบางครั้งเราก็เชื่อไปโดยที่ไม่ไต่ตรองหรือหาข้อเท็จจริงก่อน เหตุเกิดจากการเราเสพหรืออ่านสิ่งเดิมซ้ำ ๆ จนเชื่อไปแล้วว่าเป็นเรื่องจริง

สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า "Illusory Truth Effect" หรือที่เรียกกันว่า "Illusion of Truth" คือ การได้รับสารที่ผิดๆ ซ้ำไปซ้ำมา จนเราเชื่อว่าสารนั้นเป็นเรื่องจริง 

กลไกเหล่านี้ เรามักจะเห็นได้บ่อยจากวาทกรรมทางการเมือง หรือการทำการตลาด อย่างที่เราเคยเห็นกันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้นำพรรคนาซีอย่างฮิตเลอร์ ทำการ Propaganda หรือการล้างสมอง สำเร็จกับกลุ่มคนจำนวนมาก ทั้งที่เรื่องราวเหล่านั้นไม่ถูกต้อง แต่คนกลับเชื่อได้ง่าย 

นั่นคือการทำซ้ำๆ แพร่ซ้ำๆ เปิดวาทกรรมวนไป จนกว่าจะฝังอยู่ในหัวประชาชน จนถึงตอนนั้นคนก็จะเชื่อกันไปต่อเอง

แต่ทำไมกันล่ะ ทั้งที่บางครั้งเรามีข้อมูลไปแย้งคนเหล่านั้น เขากลับไม่เชื่อ ยังคงยืนยันว่าสิ่งนั้นถูกอยู่เสมอ

เคยแย้งพ่อแม่แทบเป็นแทบตายว่ากัญชาไม่ใช่ยารักษา ถึงแม้ว่าจะมีเหตุผลทางการแพทย์มากมายแต่ก็มีกลุ่มคนที่แอนตี้วัคซีน  หรือเคยเจอคอมเมนท์ใน TikTok แบบที่ไม่มีคอมมอนเซนส์ 

ทั้งที่มีหลักฐานอยู่ทนโท่ ส่งให้อ่าน เน้นย้ำ อธิบายก็แล้ว แต่ก็เปลี่ยนความเชื่อผิดๆ นี้ไม่ได้!

ความเชื่อเหล่านั้นมันถูกฝังอยู่ในสมอง ราวกับถูกโปรแกรมเอาไว้แล้ว  มีงานวิจัยออกมารองรับกับเรื่องค่อนข้างเยอะ ว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ จากเพียงแค่เราฟังอะไรเดิม ๆ ซ้ำ ๆ

มีคำอธิบายทางการจิตวิทยาว่า การได้ยินซ้ำๆ บ่อยๆ มันทำให้เราชิน ส่งผลให้ครั้งต่อไปมันง่ายต่อความเข้าใจมากขึ้น และตัดสินใจได้ไวมากขึ้น 

 

เมื่อคนเราได้ยินข้อมูลอะไรใหม่ๆ เราจะเปรียบเทียบข้อมูลชุดนั้นกับสิ่งที่เรามีอยู่ จะใช้เวลาคิด ตัดสินใจ หาข้อมูลเปรียบเทียบ แต่เมื่อเราได้ยินครั้งที่สอง เราจะรู้สึกว่ามันประมวลได้ง่ายและไวขึ้น ซึ่งสมองของเราจะทำงานได้เร็วเมื่อสิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์ หรือลักษณะบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันจริงได้โดยง่าย แต่เมื่อเราต้องประเมินและใช้เหตุผลประกอบ เรียกได้ว่าใช้ความคิด การตัดสินใจร่วมด้วย มันต้องมีการไตร่ตรอง มีการทำงานหนักและยากนั่นเอง

จริงๆ มีปรากฎการณ์คล้าย ๆ กันในทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า “Mere Exposure Effect” คือ การเห็นอะไรบ่อย ๆ แล้วรู้สึกชอบตามไปด้วย เช่น เราเห็นเพื่อนแชร์รูปศิลปินคนนี้บ่อย ๆ จนเราเริ่มรู้สึกว่าเราชอบเค้าไปด้วยจากที่ตอนแรกรู้สึกเฉย ๆ การรู้สึกดีกับเพื่อนร่วมเซคหรือร่วมคลาส ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกชอบได้ โดยกลไกของทั้งสองอย่างจะถามงานคล้าย ๆ กันนั่นเอง

ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือ Cognitive Bias หรือ อคติทางสมอง ที่สมองของเราจะสร้างขึ้นมา เพื่อให้ตัดสินได้ง่ายและไวมากขึ้น ไม่เปลืองพื้นที่ส่วนอื่นๆ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นความจริง แต่สมองเราก็คิดไปแล้ว ดังนั้น เวลาเราอ่าน เราฟัง เราเชื่ออะไร เราต้องมีสติและวิจารณญาณที่มากพอ และอย่าลืมไป Fact Check หรือเช็กข้อเท็จจริงก่อนที่จะเชื่อด้วยล่ะ

นอกจากนี้ยังมีอคติทางสมองหรือ Cognitive Bias ด้านอื่น ๆ เช่น การเหมารวมกลุ่ม Stereotype การตัดสินว่าคนกลุ่มนี้ดีหรือไม่ดีจากประสบการณ์ที่เรามี แม้ว่าเค้าจะไม่เกี่ยวข้องเลยก็ตาม หรือแม้แต่วาทกรรมของกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ ที่ต่างเถียงกันอยู่ทุกวัน อยู่กับการรับสารผิด ๆ ในพื้นที่ของตนเองและไม่พร้อมที่จะเปิดรับอะไรใหม่ ๆ รวมถึงการเชื่ออะไรที่ไม่ควรจะเชื่อ ก็เป็นหนึ่งใน Cognitive Biases เช่นกัน

จำไว้ว่าสิ่งที่ได้ยินบ่อยๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไปนะ ลองมองหาเหตุผลให้รอบด้านก่อนจะตัดสินใจเชื่ออะไรลงไป!

ข้อมูลจากWant to Make a Lie Seem True? Say It Again. And Again. And Again WIREDIllusory Truth Effect Psychology TodayIllusory truth effect - The Decision LabIllusory Truth Effect: What It Is, Why It Happens, How to Avoid It (investopedia.com)

 

โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น