กฎหมายเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของเราเป็นอย่างมาก แค่เราช้อปปิ้งในห้างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายแล้วค่ะ ดังนั้น เราจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย เลยทำผิดกฎหมายไม่ได้ วันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ได้สรุปกฎหมายใกล้ตัวที่ออกสอบบ่อยมาเล่าให้ทุกคนฟัง เพื่อให้น้องๆ ได้รู้ว่า มีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา
สำหรับบทความนี้จะเน้นกันที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กันก่อน โดยมี 4 กฎหมาย ได้แก่ กฎหมายบุคคล กฎหมายทรัพย์สิน กฎหมายนิติกรรม และกฎหมายสัญญา อ่านจบกันแล้วอย่าลืมทำแบบทดสอบความรู้จากข้อสอบเข้ามหา’ลัยจริงด้านล่างกันด้วยนะคะ
ความหมาย และความสำคัญของกฎหมาย
กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับที่รัฐกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้ควบคุม หรือจัดระเบียบสังคม ให้คนในสังคมปฏิบัติตาม โดยกฎหมายมีส่วนสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างความเป็นธรรมให้กับประเทศ ซึ่งหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดและได้รับโทษตามที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้เป็นตัวกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติตามแค่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของประชาชน ด้วยการรับรองสิทธิและเสรีภาพของคนในสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกันอีกด้วย
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (Civil and Commercial Law)
เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของบุคคล ทรัพย์สิน นิติกรรม สัญญา ครอบครัว และมรดก ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างที่บอกไปว่ากฎหมายแพ่งฯ เป็นกฎหมายที่รับรองให้เรามีสภาพบุคคล คือ ให้เราเป็นผู้ที่สามารถใช้สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆ ตามกฎหมายได้ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
กฎหมายบุคคล
มีการจำแนกบุคคล เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.บุคคลธรรมดา - คนที่มีความสามารถทำนิติกรรมได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายจะเริ่มคุ้มครองเราตั้งแต่คลอดออกจากท้องแม่แล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย โดยการตายทางกฎหมาย มี 2 แบบ คือ
- ตายตามธรรมชาติ เช่น หยุดหายใจ โดนฆาตรกรรม ฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุ
- ตายตามกฎหมาย (การหายสาบสูญ) โดยมีข้อกำหนดว่า ถ้าหายไป 5 ปี คนสุดท้ายที่เห็นหน้า ครอบครัว หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในมรดก สามารถไปฟ้องศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลประกาศว่า ผู้ที่หายไปนั้นเสียชีวิตแล้ว บางกรณีไม่ต้องรอถึง 5 ปี แค่ 2 ปี ก็สามารถฟ้องสาบสูญได้ (ไปรบ, ยานพาหนะอับปาง และภัยพิบัติ)
2.นิติบุคคล - กลุ่มคน หรือสิ่งที่กฎหมายรับรองสภาพให้เหมือนบุคคลธรรมดา และมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบในนามของกิจการ โดยนิติบุคคลสามารถทำสัญญาต่างๆ ได้ เช่น สัญญาซื้อขาย จ้างแรงงาน หรือแม้กระทั่งถูกฟ้องร้องได้เหมือนกับบุคคลธรรมดา เริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่จดทะเบียน และสิ้นสุดเมื่อเลิกกิจการ หรือล้มละลาย นิติบุคคลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน คือ นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บริษัทจำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน, สมาคม และมูลนิธิ เป็นต้น
- นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน คือ นิติบุคคลที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมหาชนอื่นๆ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เช่น วัด, จังหวัด, กระทรวง, ทบวง, กรม, องค์การมหาชน ฯลฯ
การแบ่งกฎหมายออกเป็นประเภทต่างๆ นิยมทำกันในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร สามารถแบ่งออกเป็นกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน โดยยึดถือลักษณะของควมสัมพันธ์เป็นเกณฑ์ กล่าวคือ
"กฎหมายมหาชน" เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน
"กฎหมายเอกชน" เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง
กฎหมายทรัพย์สิน
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์ และทรัพย์สิน ว่าต่างกันอย่างไร คำว่า “ทรัพย์” หมายถึง วัตถุมีรูปร่างสามารถจับต้องได้ ส่วน “ทรัพย์สิน” หมายถึง ทุกสิ่งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องมี “ราคา” สามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเลข หรือมูลค่า โดยที่สิ่งนั้นต้องสามารถถือเอาเป็นเจ้าของได้ คือ สามารถครอบครอง หรือซื้อขายได้นั่นเอง
ทรัพย์สินจึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่าทรัพย์ แต่เมื่อพิจารณาทั้งสองคำด้วยกันแล้ว จะเห็นได้ว่าทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน ดังนั้นทรัพย์จึงหมายถึงวัตถุมีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้เหมือนกัน โดยสามารถแบ่งทรัพย์สินเป็น 2 ชนิด คือ
1.สังหาริมทรัพย์ - ทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ได้ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ
- สังหาริมทรัพย์แบบธรรมดา เช่น รถยนต์, ตู้เย็น, พัดลม, โทรทัศน์, อาหาร
- สังหาริมทรัพย์แบบพิเศษ เช่น อากาศยาน, เครื่องบิน, เฮลิคอปเตอร์, เรือกำปั่น, เรือกลไฟ, เรือยนต์ (หนัก 5 ตันขึ้นไป), แพ (ต้องเป็นบ้านเรือนแพ แพล่องแก่งถือเป็นแบบธรรมดา) และสัตว์พาหนะ (ช้าง ม้า วัว ควาย ลา ล่อ)
2.อสังหาริมทรัพย์ - ทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แบ่งเป็น 3 รูปแบบ
- ที่ดิน คือ พื้นดินทั่วไปที่มีอาณาเขต
- ทรัพย์สินติดกับที่ดิน ทั้งที่ธรรมชาติสร้าง (ไม้ยืนต้นต่างๆ ที่อายุมากกว่า 3 ปี เช่น ต้นพลู มะม่วง ) และมนุษย์สร้าง (ตึก อาคาร บ้าน เสาไฟ สนามบิน ฯลฯ)
- ทรัพย์สินที่ประกอบเป็นเนื้อเดียวกับดิน คือ ทรัพย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินบนพื้นโลกตามธรรมชาติ เช่น กรวด, หิน, ดิน, ทราย, แร่โลหะ, ทะเล, แม่น้ำ, น้ำตก, คลอง ฯลฯ *แต่ถ้าเกิดมีการเคลื่อนย้ายก็จะกลายเป็นสังหาริมทรัพย์ทันที
Note : ความสำคัญของการแบ่งประเภททรัพย์สิน เป็นพื้นฐานของการไปศึกษาเรื่องกฎหมายหรือสัญญา เพราะการทำสัญญาแต่ละแบบ ทรัพย์แต่ละชนิดจะใช้เงื่อนไขในการทำรูปแบบนิติกรรมต่างกัน สัญญาบางอย่างใช้แค่วาจาได้ แต่บางสัญญาต้องมีหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ซึ่งทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่นำไปทำสัญญา
กฎหมายนิติกรรม
นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งต่อผลในกฎหมาย ที่จะเกิดขึ้นเพื่อการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ สงวนสิทธิ และระงับสิทธิ โดยปกติแล้วเราทุกคนมีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา แต่มีคนบางประเภทที่เป็นผู้หย่อนความสามารถ กฎหมายจึงต้องเข้าดูแลคุ้มครองคนเหล่านี้ ไม่ให้ได้รับความเสียหายในการกำหนดเงื่อนไขเมื่อทำนิติกรรม ได้แก่ ผู้เยาว์, คนวิกลจริต, คนไร้ความสามารถ, คนเสมือนไร้ความสามารถ, ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย และสามีภรรยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน
การแสดงเจตนาของนิติกรรมอาจจะแสดงด้วยวาจา หรือลายลักษณ์ก็ได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นการทำด้วยความสมัครใจ ก็อาจมีข้อบกพร่องได้ ถ้ากฎหมายเข้าไปควบคุมและไม่อนุญาตให้ทำ ซึ่งมี 2 ลักษณะ ได้แก่
1.โมฆะกรรม คือ นิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย มี 4 สาเหตุที่ทำให้นิติกรรมโมฆะ
- นิติกรรมที่เกิดจากการหลอกลวง
- นิติกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น จ้างฆ่าคน
- นิติกรรมที่ผิดศีลธรรม เช่น จ้างลักทรัพย์
- นิติกรรมที่ผิดแบบหรือสาระสำคัญ เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ หากไม่ปฏิบัติตามก็ถือเป็นโมฆะ
2.โมฆียกรรม คือ นิติกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายตั้งแต่ทำนิติกรรมจนกว่าจะถูกบอกล้าง ซึ่งหากถูกบอกล้างก็จะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ สาเหตุของโมฆียกรรมอาจสรุปได้ว่ามาจากกรณีต่อไปนี้
- นิติกรรมที่เกิดจากการข่มขู่ ฉ้อฉล
- นิตกรรมที่เกิดจากการสำคัญผิดในบุคคลหรือทรัพย์สิน เช่น ซื้อเสื้อมาจากห้างแล้วใส่ไม่ได้ ก็คือการสำคัญผิดคิดว่าใส่ได้ แต่เราสามารถบอกล้างด้วยการนำไปคืนที่ห้างได้ เว้นแต่ว่ามีข้อกำนดว่าซื้อแล้วห้ามคืนนั่นเอง
- นิติกรรมที่เกิดจากบุคคลที่เป็นผู้หย่อนความสามารถ
สำหรับนิติกรรม สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.นิติกรรมฝ่ายเดียว เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ การรับสภาพหนี้ การทำพินัยกรรม การบอกกล่าวบังคับจำนอง การบอกเลิกสัญญา เป็นต้น
2.นิติกรรมสองฝ่าย/หลายฝ่าย เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป และทุกฝ่ายต้องตกลงยินยอมระหว่างกัน หมายความว่า ฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาคำเสนอ อีกฝ่ายต้องเป็นแสดงเจตนาคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน จึงเกิดเป็นนิติกรรมสองฝ่ายขึ้น หรือ ‘สัญญา’ นั่นเอง เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญากู้ยืม สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาขายฝาก จำนอง จำนำ เป็นต้น
กฎหมายสัญญา
สำหรับสัญญาที่เราต้องรู้จักมีประมาณ 7 สัญญา โดยสิ่งสำคัญที่เราจะต้องรู้เกี่ยวกับการทำสัญญาคือ ต้องรู้ว่าสัญญาแต่ละแบบมีวิธีการทำอย่างไร แล้วแบบไหนถึงจะถือว่าสมบูรณ์ตามกฎหมาย อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าการทำสัญญามีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ดังนั้น น้องๆ ต้องแยกให้ออกว่า สิ่งไหนเป็นทรัพย์สินแบบสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรพย์ เพราะชนิดของทรัพย์สินมีผลต่อรูปแบบการทำสัญญานั่นเองค่ะ
1.สัญญาซื้อขาย
เป็นสัญญาที่ผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์ หรือความเป็นเจ้าของของทรัพย์สินให้ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินเป็นการตอบแทนให้กับผู้ขาย โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่า กรณีที่เราซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดา เช่น ซื้อเสื้อผ้า สามารถทำได้ด้วยวาจาไม่ต้องมีหนังสือสัญญา และถือว่าสัญญาเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าเราซื้อสินค้าที่มีราคา 20,000 บาท ขึ้นไป อาจจะต้องมีการทำ มัดจำ ชำระบางส่วน หรือทำหนังสือ จึงจะสามารถฟ้องร้องได้เมื่อเกิดคดีความ ส่วนในกรณีของการซื้อขายสังหาริมทรัพย์พิเศษ และอสังหาริมทรัพย์ จะต้องมีการทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ ถึงจะถือว่าเป็นการซื้อขายตามกฎหมายโดยสมบูรณ์
2.สัญญาขายฝาก
เป็นสัญญาที่ผู้ขายสามารถไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน โดยที่ไม่สามารถขยายเวลาไถ่ทรัพย์คืนได้
เช่น เราขายโทรศัพท์ให้เพื่อน 20,000 บาท โดยที่ในสัญญาบอกว่าจะคืนเงินภายใน 1 เดือน ซึ่งถ้าเราสามารถคืนทันเวลาที่ตกลงไว้ แปลว่าเราสามารถไถ่โทรศัพท์คืนได้ แต่ถ้าหามาคืนไม่ทันโทรศัพท์ก็จะกลายเป็นของทันทีเพื่อน โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่า ถ้าทำสัญญาขายฝากสังหาริมทรัพย์ ห้ามเกิน 3 ปี ส่วนอสังหาริมทรัพย์ ห้ามเกิน 10 ปี
3.สัญญาเช่าทรัพย์
เป็นสัญญาที่เจ้าของตกลงให้ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินชั่วคราว หรือตามระยะเวลาที่กำหนด โดยผู้เช่าตกลงจ่ายค่าเช่าให้ เช่น เช่าบ้าน เช่าคอนโด เช่าโทรศัพท์ การเช่าสังหาริมทรัพย์สามารถทำได้ด้วยปากเปล่า แต่การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการทำหนังสือสัญญาชัดเจน ถ้ามีการเช่าเกิน 3 ปี ต้องมีการจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้เจ้าของต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้เช้าในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้ว ส่วนผู้เช่าเองก็ต้องดูแลให้ดี ห้ามดัดแปลงหรือต่อเติม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ โดยเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้วก็ต้องส่งคืนทรัพย์สินในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วเช่นกัน
4.สัญญาเช่าซื้อ
เป็นสัญญาที่เจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้เช่า โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินเป็นงวดตามที่ตกลงกันไว้
เช่น ซื้อสินค้าราคา 30,000 บาท โดยในสัญญาระบุว่าผู้เช่าต้องชำระเงินให้เจ้าของ 5 งวด งวดละ 6,000 บาท เมื่อถึงงวดที่ 5 ถ้าจ่ายเงินครบก็จะได้รับสินค้าทันที แต่ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระเงิน 2 งวดติดต่อกัน เจ้าของก็สามารถยึดทรัพย์ได้
5.สัญญากู้ยืม
เป็นสัญญาที่ผู้กู้ตกลงยืมเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ให้กู้ และตกลงจะคืนเงินตามระยะเวลาที่กำหนด โดยผู้กู้จะให้ดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทน แต่ดอกเบี้ยห้ามเกิน 15% ต่อปี ถ้าเกินผู้ให้กู้จะมีความผิด ยกเว้นการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงิน
ซึ่งการกู้ยืมถ้ากู้ด้วยวาจาไม่ว่าจะจำนวนเงินกี่บาทก็ถือว่าสัญญาเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้ากู้ยืมเกิน 2,000 บาทขึ้นไป แล้วเกิดการผิดสัญญาต้องการฟ้องร้อง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงว่ามีการกู้ยืมกันจริง พร้อมลงลายมือชื่อผู้กู้และผู้ให้กู้ จึงจะสามารถฟ้องร้องได้
รู้หรือไม่? แค่ยืมเงินผ่านแชตก็สามารถโดนฟ้องร้องได้!
การยืมเงินผ่านทาง Facebook หรือ LINE สามารถนำมาฟ้องร้องได้ โดยแชตที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
- ข้อความแชต (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน
- บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชตจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้
- หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุ วันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ
หากมีหลักฐานดังที่กล่าวมา ก็เพียงพอที่จะเป็นหลักฐานการกู้ยืม และถือเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้แล้ว ซึ่งทางกฎหมายให้ถือเอาชื่อ Facebook เป็นการลงลายมือชื่อของผู้ยืม โดยนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้บังคับประกอบด้วย
6.สัญญาจำนำ
เป็นสัญญาที่ผู้จำนำส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินให้ผู้รับจำนำ เพื่อประกันการชำระหนี้ และผู้รับจำนำก็มีสิทธิยึดทรัพย์สินนั้นไว้ จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ครบถ้วน โดยสัญญานี้ใช้ในกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น และสามารถทำได้ด้วยวาจาไม่ต้องมีหนังสือก็ถือว่าสัญญาเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ถ้าผู้จำนำสามารถหาเงินมาคืนได้ตามเวลาที่กำหนดก็สามารถไถ่ทรัพย์สินคืนไปได้ แต่ถ้าไม่ทันผู้รับจำนำจะต้องเอาทรัพย์สินนั้นไปขายทอดตลาด หลังจากมีการขายทอดตลาดแล้ว หากได้เงินต่ำกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ผู้จำนำต้องรับผิดชอบในเงินที่ยังขาดอยู่ ด้วยการชดใช้เงินส่วนที่ขาดให้ผู้รับจำนำ
เช่น นาย ก นำคอมพิวเตอร์ไปจำนำได้เงิน 20,000 บาท แต่หาเงินไปคืนไม่ทันตามเวลาที่กำหนด คอมพิวเตอร์นั้นจึงถูกผู้รับจำนำขายทอดตลาดไป โดยผู้รับจำนำขายได้ในราคาแค่ 15,000 บาท ดังนั้น ส่วนที่ยังขาดอีก 5,000 บาท นาย ก จะต้องชดใช้ให้กับผู้รับจำนำด้วย
7.สัญญาจำนอง
เป็นสัญญาที่ผู้จำนองเอาสังหาริมทรัพย์พิเศษ หรืออสังหาริมทรัพย์ไปตราไว้แก่ผู้รับจำนอง โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ผู้รับจำนอง การจำนองจะต้องมีการทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนจึงจะถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว โดยมีการกำหนดเวลาชำระหนี้เหมือนการจำนำ ทั้งนี้ถ้าผู้จำนองไม่สามารถหาเงินมาคืนได้ตามเวลาที่กำหนดทรัพย์สินจะถูกขายทอดตลาด หลังจากมีการขายทอดตลาดแล้ว หากได้เงินต่ำกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดชอบต่อในส่วนของเงินที่ยังขาด
จบไปแล้วกับ 4 กฎหมาย ที่ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถึงเวลาทดสอบความรู้ความเข้าใจแล้วค่ะ ข้อสอบที่จะให้น้องๆ ได้ทำในวันนี้ เป็นข้อสอบ O-Net วิชาสังคมศึกษา ปี 2558
ข้อใดไม่ใช่นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
1.บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส)
2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด
3.สมาคม
4.มูลนิธิ
5.บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่า คำตอบข้อไหนไม่ถูกต้องคะ มีคำตอบในบทความนี้ด้วย ถ้านึกออกแล้วลองคอมเมนต์คุยกันด้านล่างได้เลยค่ะ !
สำหรับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้มีแค่ 4 กฎหมายเท่านั้นนะคะ ยังมีกฎหมายครอบครัวและมรดกที่อยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งฯ ด้วย รวมถึงกฎหมายอาญาที่ถือเป็นอีกหนึ่งกฎหมายสำคัญในชีวิตของเราเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม น้องๆ ต้องติดตามคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ เอาไว้นะคะ เดี๋ยวพี่แป้งจะมาเล่าให้ฟังกันในบทความต่อไป!
ข้อมูลจากhttps://np.thai.ac/client-upload/np/uploads/files/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%207%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99.pdf https://www.nia.or.th/frontend/bookshelf/E634BIbMnq6Wr/62d3e42128356.pdf
0 ความคิดเห็น