บริจาคเลือด 1 ถุง ช่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต! เช็กความพร้อมแล้วมาบริจาคเลือดกันเถอะ

บริจาคเลือด 1 ถุง ช่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต!  มาบริจาคเลือดทุก 3 เดือนกันเถอะ

น้องๆ ชาว Dek-D เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมสภากาชาดไทยขาดเลือดบ่อยๆ ทั้งที่คนบริจาคกันตลอด เลือดที่เราบริจาคไป ถูกส่งต่อไปไหน หรือนำไปทำอะไรบ้างนะ วันนี้พี่จูนจะพาไปหาคำตอบ พร้อมกับชวนเช็กความพร้อมร่างกายก่อนไปบริจาคเลือดกันค่ะ

วันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันผู้บริจาคโลหิตโลก” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2547 เพื่อเป็นการระลึกถึง ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) แพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน ผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบเอบีโอเป็นครั้งแรก

การบริจาคเลือด (Blood Donation) หรือบริจาคโลหิต เป็นการบริจาคเลือดของตัวเองเพื่อนำไปเก็บไว้ในคลังเลือดสำรอง โดยเลือดที่ได้รับการบริจาคจะถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับเลือด รวมถึงแยกส่วนประกอบเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น

การบริจาคเลือดนอกจากจะได้ช่วยผู้อื่นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกของผู้บริจาค ทำให้เม็ดเลือดที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากไขกระดูกแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเม็ดเลือดที่บริจาคไป แต่การบริจาคเลือดแต่ละครั้งจะสูญเสียเลือดประมาณ 10% ของร่างกาย หรือประมาณ 350-450 ซีซี จึงควรทิ้งระยะห่างกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ได้

คุณสมบัติผู้บริจาคเลือด

  • มีอายุตั้งแต่ 17–70 ปี หากมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์จะต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง และหากเป็นผู้บริจาคครั้งแรกไม่ควรมีอายุเกิน 55 ปี และหากผู้บริจาคมีอายุตั้งแต่ 60–70 ปี จะต้องเป็นผู้ที่บริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอ และมีการตรวจความสมบูรณ์ของเลือดพิ่มเติมอีก
  • สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
  • มีน้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
  • นอนหลับอย่างเพียงพอประมาณ 6 ชั่วโมงในคืนก่อนมาบริจาคเลือด
  • ไม่มีอาการท้องเสียหรือเป็นไข้หวัด ในช่วง 7 วันก่อนการบริจาคเลือด
  • ไม่มีอาการน้ำหนักลดลงผิดปกติในช่วง 3 เดือนก่อนการบริจาคเลือด
  • ไม่เคยถูกเข็มที่เปื้อนเลือดตำในช่วง 1 ปีก่อนการบริจาคเลือด
  • ไม่มีประวัติการเสพยาเสพติด
  • ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือไม่มีคู่นอนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
  • ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรในช่วง 6 เดือนก่อนการบริจาคเลือด
  • หากมีการทำทันตกรรม เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟัน ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วัน
  • หากมีการเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 4 เดือน
  • หากมีการผ่าตัดใหญ่ ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนการผ่าตัดเล็ก ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 7 วัน
  • หากเคยเจ็บป่วยและเคยได้รับการให้เลือดจากผูู้อื่น ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ปี
  • หากเป็นผู้ที่เพิ่งพ้นโทษ ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 ปี
  • หากเคยป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรีย ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 ปี หากเคยเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ปี

ขั้นตอนการบริจาคเลือด

ผู้มีความประสงค์บริจาคเลือดจะต้องไปติดต่อกรอกแบบฟอร์มผู้บริจาคเลือดก่อน จากนั้นจึงรับการตรวจสุขภาพและซักประวัติ เช่น วัดความดันโลหิต ตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ในขั้นตอนการคัดกรองนี้ ผู้บริจาคต้องให้ข้อมูลตามความเป็นจริงเท่านั้น

การบริจาคเลือดจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที แต่หากเป็นการบริจาคส่วนประกอบอื่นๆ ของเลือด เช่น เกล็ดเลือด จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง  

หลังจากหน่วยบริจาคได้รับเลือดแล้ว เลือดบริจาคดังกล่าวจะถูกส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหมู่เลือด และตรวจความผิดปกติของเลือด เช่น การปนเปื้อนเชื้อโรคร้ายแรง ซึ่งเลือดถุงนั้นจะถูกยกเลิก พร้อมทั้งมีการแจ้งให้ผู้บริจาคทราบ

การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด

การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือดเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะการเตรียมตัวที่พร้อมจะช่วยให้คุณภาพของเลือดที่บริจาคเป็นไปตามที่กำหนดไว้ และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้บริจาคเลือด โดยในเบื้องต้นควรเตรียมตัวดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงในเวลานอนปกติก่อนวันบริจาค
  • รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนการบริจาคเลือด และควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้พลาสมามีมีสีขาวขุ่น และไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้
  • ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสารน้ำในร่างกายและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการบริจาคเลือด
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด
  • งดสูบบุหรี่ ทั้งก่อนและหลังบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดสามารถฟอกเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่รัดมากจนเกินไป และสามารถพับหรือดึงแขนเสื้อขึ้นมาเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
  • หยุดรับประทานยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ อย่างน้อย 3 วันก่อนบริจาคเลือด
  • หยุดรับประทานยาแก้อักเสบหรือยาอื่น ๆ อย่างน้อย 7 วันก่อนบริจาคเลือด

หลังบริจาคเลือด  

ควรนั่งพัก 10-15 นาที โดยรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่ม เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับสภาพก่อนเตรียมตัวกลับบ้าน โดยหากมีอาการคล้ายจะเป็นลมหรือรู้สึกผิดปกติ ควรนอนราบให้เท้าสูงกว่าศีรษะ หากมีเลือดออกหลังบริจาคใช้นิ้วมือกดแล้วไม่หยุดไหล ให้กลับไปปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่หน่วยรับบริจาคเลือด นอกจากนี้ ผู้บริจาคควรดูแลตัวเอง ดังนี้

  • ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย
  • รับประทานอาหารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และมีสารอาหารครบถ้วน
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อในปริมาณมาก เช่น การอบซาวน่า การออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงในแขนข้างที่ทำการเจาะเลือดในช่วง 24 ชั่วโมงหลังบริจาคเลือด เช่น การหิ้วของหนัก
  • ผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร งานที่ต้องปีนป่ายที่สูง หรืองานที่เสี่ยงอันตราย ควรหยุดพักอย่างน้อย 1 วัน
  • รับประทานธาตุเหล็กที่ได้รับจากหน่วยบริจาคเลือดวันละ 1 เม็ดเพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กติดต่อกัน โดยรับประทานจนกว่าจะหมด

บริจาคเลือด 1 ถุง ช่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต

เลือดบริจาค 1 ถุง จะถูกส่งตัวอย่างไปตรวจกรุ๊ปเลือดและความผิดปกติของเลือด จากนั้นจะถูกนำไปปั่นแยกเป็น 3 ส่วน คือ

เม็ดเลือดแดง (red blood cell)

สำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย, โรคโลหิตจาง, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว  และภาวะที่ทำให้เกิดการเสียเลือด เช่น อุบัติเหตุ และคลอดบุตร  

เกล็ดเลือด (blood platelet)

สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ  และโรคที่ทำให้มีการลดลงของเกล็ดเลือดชั่วคราว เช่น โรคไข้เลือดออก  

พลาสมา (plasma)

สำหรับผู้ป่วยที่เสียเลือดมาก และนำไปทำผลิตภัณฑ์พลาสมา 3 ชนิด คือ  อัลบูมิน ใช้รักษาภาวะขาดสารอัลบูมินในผู้ป่วยโรคต่างๆ  แฟคเตอร์ VIII ใช้รักษาโรคฮีโมฟีเลีย เอ  และ IVIG ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน  นอกจากนี้ยังนำไปทำภูมิคุ้มกันเฉพาะโรคได้อีกด้วย เช่น โรคพิษสุนัขบ้า  

การบริจาคเลือดมีประโยชน์อย่างมาก นอกจากจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกจำนวนมากแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดี ผิวพรรณสดใส และทำให้ได้รู้ข้อมูลสุขภาพตนเองด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติความถี่ในการบริจาคโลหิตทั่วประเทศของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พบว่ามีผู้บริจาคเลือดจำนานมากจริง แต่ไม่สม่ำเสมอ มีการบริจาคซ้ำน้อยลง ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้ผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี มาร่วมบริจาคเลือดเป็นประจำทุก 3 เดือน เพื่อให้มีเลือดสำรองไว้ใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอ  

สามารถบริจาคเลือดได้ที่  
 

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

  • ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง
  • หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ 7 แห่ง (Fixed Station)
  • โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิต 8 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ

หรือ คลิก https://redcross.to/45ggmdW เช็คสถานที่รับบริจาคโลหิตในโครงการฯ

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.facebook.com/nbctrchttps://www.facebook.com/watch/?v=679491356632548https://www.facebook.com/watch/?v=131833774609557poppad.comhttps://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/prepare-your-body-and-mind-before-donating-blood/https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/linech5/https://www.dek-d.com/teentrends/36645/

 

พี่จูน
พี่จูน - Columnist บ.ก.บันเทิง/ไลฟ์สไตล์ ใจดีกว่าหน้าตา รักสัตว์ รักเด็ก อยากเป็นนางเอกและนางงาม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น