‘วาสนาผู้ใดหนอ’ วลีฮิตสะท้อนความสัมพันธ์รักข้างเดียวในหมู่วัยรุ่น
รักข้างเดียวสำหรับเรา ๆ อาจไม่ได้หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อบุคคลในชีวิตจริงเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงการไปตกหลุมรักบุคคลที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่จินตนาการถึงไม่มีวันเกิดขึ้นจริง เพราะบุคคลนั้นไม่แม้แต่รับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของเรา เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคนดังกับแฟนคลับ
เมื่อเริ่มห่วงใยและเฝ้าฝันถึงบุคคลที่ไม่มีวันได้สัมผัส ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามวัยรุ่นอย่างเรา ๆ ก็ได้พาตัวเองก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่นักมานุษยวิทยา โดนัลด์ ฮอร์ตันและนักสังคมวิทยา ริชาร์ด วอห์ล เรียกว่า ‘Parasocial Relationship’ หรือ ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม
แนวคิด Parasocial Relationship เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ตกหลุมรักบุคคลในสื่อเพียงฝ่ายเดียว วัยรุ่นปัจจุบันเติบโตมาในยุคดิจิทัลที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวนำทาง เมื่อเทคโนโลยีย่นระยะทางจากห่างไกลให้รู้สึกอยู่ใกล้กันแค่เพียงปลายนิ้ว บุคคลในจอมือถือก็ค่อย ๆ เริ่มมีอิทธิพลกับชีวิตและก่อเกิดเป็นความผูกพันข้างเดียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ให้กับภาพศิลปิน คนดังหรือใครก็ตามที่พวกเราเฝ้าติดตามความเป็นไปผ่านโลกอินเทอร์เน็ต
แอบรักศิลปินข้างเดียวผิดหรือเปล่า ?
ในความเป็นจริงความสัมพันธ์แบบ Parasocial Relationship ก่อให้เกิดความโดดเดี่ยวแห่งยุคสมัยที่วัยรุ่นต้องเผชิญ เพราะความรู้สึกลึกซึ้งที่เกิดขึ้นแทบจะไม่แตกต่างจากความรู้สึกที่มีต่อบุคคลที่อยู่ในชีวิตจริงอย่างครอบครัวหรือเพื่อนฝูงแม้แต่น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเกิดเรื่องใดขึ้นกับศิลปินที่เรารัก เราจะรู้สึกว่าเรากำลังเผชิญเรื่องนั้นอยู่ด้วย เมื่อเขาทุกข์เราก็ทุกข์ไปด้วยหรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น ผลตอบแทนจากการผูกตัวตนและจิตวิญญาณไว้กับบุคคลที่ไม่รับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของเราอาจเป็นความผิดหวังมหาศาล ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยก็คงตอนที่แฟนคลับรู้ว่าศิลปินที่ตัวเองชอบมีแฟนหรือแต่งงาน
แม้ว่าความสัมพันธ์เช่นนี้จะล่อลวงให้ตกอยู่ภวังค์ของความรักในจอที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง แต่ก็มีวัยรุ่นอีกมากมายยินดีที่จะอยู่ในภวังค์นี้เพื่อแลกกับความสุขชั่วคราว แม้ปลายทางของความสัมพันธ์นี้อาจไม่ได้สมหวังตามที่เฝ้าฝันถึง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความสุขซ่อนระหว่างทางเลย
รักข้างเดียวแบบไหนที่ร้ายแรง?
หลายคนคงจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘ซาแซงแฟน’ ซึ่งมีที่มาจากคำในภาษาเกาหลี 사 (ซา) แปลว่า ส่วนตัว และ 생 (แซง) แปลว่า ชีวิต รวมกันเป็นคำว่า 사생 (ซาแซง) ซึ่งเป็นคำที่ใช้กลุ่มแฟนคลับที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของศิลปิน เช่น สะกดรอยตาม ซื้อ-ขายข้อมูลส่วนตัวอย่างที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือถึงขั้นยืนเฝ้าหน้าหอพักศิลปินทั้งวันทั้งคืน เหล่าซาแซงมักจะคาดหวังให้ศิลปินจดจำตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคลไม่ใช่ในฐานะแฟนคลับเหมือนคนทั่วไป พฤติกรรมเหล่านี้พัฒนามาจากความสัมพันธ์แบบ Social Relationship และพาบุคคลข้ามเส้นบาง ๆ ที่กั้นระหว่างแฟนคลับกับศิลปิน รู้แค่ว่าต้องได้เข้าถึงและใกล้ชิดศิลปินมากกว่าคนอื่น ๆ โดยไม่สนใจว่าความคลั่งไคล้ของตัวเองจะทำร้ายหรือทำให้ศิลปินอึดอัดใจมากแค่ไหน
การมีขอบเขตจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกับความสัมพันธ์แบบไหนก็ตาม วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการลองผิดลองถูกเพื่อค้นหาตัวเอง เป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องหาสิ่งเยียวยาจิตใจเพื่อให้สามารถฝ่าฟันความวุ่นวายไปได้ ถ้าเกิดความรักนั้นไม่ได้พัฒนาไปเป็นความคลั่งไคล้ที่ทำร้ายหรือทำให้ศิลปินอึดอัด การตกอยู่ในภวังค์ Parasocial Relationship ก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดมากมายนัก
การมีสิ่งให้ยึดเหนี่ยวเพื่อเป็นแรงใจในชีวิตหรือมีเพื่อเป็นตัวอย่างให้เราอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ตัวเราในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมย่อมดีกว่าไม่มี แม้ Parasocial Relationship จะไม่สามารถเยียวยาบาดแผลทางกายในช่วงวัยรุ่นได้ แต่ความสัมพันธ์นี้สามารถเยียวยาบาดแผลทางใจได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ
สุดท้ายนี้ Parasocial Relationship เป็นเพียงความสัมพันธ์ที่เราใช้หลบหลีกจากโลกความเป็นจริงได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิตทั้งเราและตัวบุคคลที่เราเฝ้ารักอยู่ข้างเดียวผ่านหน้าจอต่างก็ต้องไปมีชีวิตของตัวเอง
ดังนั้นสิ่งที่วัยรุ่นอย่างเรา ๆ สามารถทำได้โดยที่ไม่เดือดร้อนทั้งตัวเองและคนอื่น ๆ รอบตัว คือเก็บบุคคลเหล่านั้นไว้เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตและต้องไม่ปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในภวังค์จนลืมที่จะมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตจริง
ที่มาhttps://www.britannica.com/science/parasocial-interactionhttps://www.shesaid.so/blog/2023/8/15/thin-lines-the-parasocial-artist-fan-relationship
0 ความคิดเห็น