ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่าจะตอบอะไร เลือกข้อไหนมีโอกาสเป็นคำตอบที่ใช่มากที่สุด?
ช่วงนี้โรงเรียนไหนใกล้สอบกลางภาคแล้วบ้าง? น้องๆ หลายคนคงกำลังนั่งอ่านหนังสือสอบ เตรียมตัวติวกันอยู่ใช่ไหมคะ แน่นอนว่าการสอบเราก็จะต้องเจอทั้งวิชาที่ถนัด และ ไม่ถนัด สำหรับวิชาไหนที่ไม่เข้าใจ หรืออ่านหนังสือไม่ทัน เข้าไปเจอข้อสอบแล้วไม่รู้จะตอบอะไร พี่มีทริคเดาข้อสอบมาให้ สำหรับข้อสอบปรนัย หรือข้อสอบที่มีช้อยส์ให้เลือก เราจะมั่วยังไงให้มีมีสิทธิ์ถูกมากที่สุด!
ข้ามข้อที่ทำไม่ได้ไปก่อน
ปกติแล้วการสอบจะมีเวลาจำกัด เราไม่ควรใช้เวลากับข้อสอบ 1 ข้อนานเกินไป เดี๋ยวจะทำไม่ทัน เพราะฉะนั้นข้อไหนที่ทำไม่ได้ อ่านแล้วก็ข้ามไปก่อน เอาเวลาไปทำข้อที่ทำได้ให้หมด แล้วอย่าลืมย้อนกลับมาทำข้อที่ข้ามไปอีกครั้ง
ตัดช้อยส์
อ่านโจทย์แล้ว ดูตัวเลือกแล้ว คิดว่าน้องๆ น่าจะพอคุ้นๆ ว่าข้อไหนอาจจะถูก และข้อไหนน่าจะผิดก็ตัดทิ้งออกไปก่อน เพื่อลดความลังเล ถ้าเหลือสัก 2 ตัวเลือก ก็ค่อยมาค่อยๆ คิดทบทวนอีกครั้งว่าข้อไหนน่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้ามั่นใจว่าถูก 2 ข้อ ก็มีสิทธิ์ถูก 50-50
(ภาพจาก freepik.com)ตัดข้อที่มีความหมายเหมือนกัน
ถ้าไม่รู้ว่าจะตัดข้อไหนออก ลองพิจารณาในตัวเลือกดูว่า ในนั้นมีข้อที่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกันมั้ย ถ้ามี 2 ข้อที่เหมือนกันก็แสดงว่า ถ้าข้อนั้นถูกก็ต้องถูกทั้ง 2 ช้อยส์ (ซึ่งมันมีข้อถูก 2 ข้อไม่ได้) หรือถ้าผิดก็ต้องผิดทั้ง 2 ช้อยส์ เพราะฉะนั้นตัดทิ้งได้เลย
พิจารณาข้อที่มีความหมายขัดแย้งกัน
ตรงกันข้ามกับข้อข้างบนเลยค่ะ ถ้าในตัวเลือกมีข้อที่มีความหมายขัดแย้งกัน หรือตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง มักจะมีข้อใดข้อหนึ่งเป็นข้อถูก ถ้าไม่รู้จริงๆ แล้วเดาจาก 2 ช้อยส์นี้ก็มีลุ้นได้คะแนน 50% แล้วล่ะ
เลือกคำที่เห็นบ่อยๆ
ถ้ามีคำใดคำหนึ่งโผล่อยู่ในช้อยส์มากกว่า 1 ข้อ หรือถ้าเป็นคีย์เวิร์ดที่เราเจอในบทเรียนบ่อยๆ แสดงว่าคำนั้นมีความสำคัญ ซึ่งใจความสำคัญของบทเรียนก็มักจะถูกเอามาออกข้อสอบ ถ้าคุ้นคีย์เวิร์ดคำไหน เลือกข้อนั้นเลย!
(ภาพจาก freepik.com)“ถูกทุกข้อ” = เป็นไปได้
“ไม่มีข้อใดถูก” = ข้อหลอก
ถ้าเจอตัวเลือกแบบนี้น้องๆ สามารถตัดตัวเลือก “ไม่มีข้อใดถูก” ทิ้งได้เลยค่ะ เพราะมักจะออกมาเป็นข้อหลอกให้งง สำหรับอาจารย์การใส่ตัวเลือกที่มีแต่ข้อผิดทั้งหมดลงมาในข้อสอบ เป็นเรื่องยากมากกว่า
แต่ “ถูกทุกข้อ” มีสิทธิ์เป็นคำตอบที่ใช่ แต่ก่อนจะเลือกข้อนี้ ต้องดูตัวเลือกที่เหลือว่ามีข้อไหนที่คิดว่าผิดไหม ถ้ามีเพียงข้อเดียวที่ผิด ก็แสดงว่าคำตอบ “ถูกทุกข้อ” ก็ไม่ใช่แล้วล่ะ กลายเป็นว่าเราสามารถตัดช้อยส์ทิ้งได้ 2 ข้อ แล้วไปเดาสุ่มข้อที่ยังเหลือได้เลย
เลือกข้อที่ตอบน้อยที่สุด
สมมติว่าเราทำข้อที่ทำได้หมดแล้ว เหลือเอาไว้แต่ข้อที่ทำไม่ได้ ให้ลองมานับดูในกระดาษคำตอบว่า เราเลือกตอบ ก ข ค ง ไปอย่างละกี่ข้อ โดยปกติแล้วอาจารย์มักจะเฉลี่ยข้อถูกให้เท่าๆ กัน ดังนั้นถ้าตัวเลือกไหนยังน้อยอยู่ ก็มีโอกาสเป็นข้อที่ใช่ ถ้าคิดไม่ออก หรือเหลือเวลาน้อยมากจริงๆ ก็ทิ้งดิ่งข้อนั้นได้เลย!
ย้ำอีกครั้งว่า เทคนิคนี้เป็นการเดาข้อสอบเท่านั้นนะคะ ขอให้ใช้เป็นทางออกสำหรับข้อที่ไม่รู้จริงๆ จากที่ผิดทั้งหมด อาจจะช่วยให้เลือกถูกได้บ้าง สิ่งสำคัญจริงๆ คือการตั้งใจเรียน ขยันทำแบบฝึกหัด และอ่านทบทวนบ่อยๆ แต่ถ้าฉุกเฉินจริงๆ ก็ลองเอาทริคนี้ไปใช้ได้ไม่ว่ากัน น้องๆ ชาว Dek-D คนไหนเคยใช้เทคนิคเดาอะไรแล้วเวิร์คอีกบ้าง? มาแชร์กันค่ะ
0 ความคิดเห็น