พายุมีกี่ประเภท แตกต่างกันยังไง? ทำความรู้จักกับ 3 พายุ ออกสอบบ่อย

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่มาคู่กับฤดูฝนก็ต้องเป็น “พายุ” ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อพายุต่าง ๆ  เช่น พายุฝนฟ้าคะนอง พายุโซนร้อน พายุทอร์นาโด แต่บางครั้งก็ยังสับสนว่าแต่ละชนิดต่างกันยังไง ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพายุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และพายุแต่ละลูกมีความรุนแรง และจุดกำเนิดมาจากที่ไหนบ้าง? พร้อมกับตารางเทียบความแตกต่าง และแบบฝึกหัดจากข้อสอบจริงมาให้ได้ทดสอบความรู้ด้านล่างกันค่ะ

พายุมีกี่ประเภท แตกต่างกันยังไง? ทำความรู้จักกับ 3 พายุ ออกสอบบ่อย
พายุมีกี่ประเภท แตกต่างกันยังไง? ทำความรู้จักกับ 3 พายุ ออกสอบบ่อย  

พายุคืออะไร?  

พายุ (Storm) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศโลกถูกรบกวน จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติ สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งมีชีวิต ซึ่งตามที่เราคุ้นชินกันพายุมักเกิดขึ้นพร้อมกับลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ฝนตกหนัก ควบคู่กันไปด้วย รวมไปถึงบางครั้งก็มีการพัดพาสสารบางอย่างผ่านไปในชั้นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดพายุฝุ่น พายุหิมะ และพายุทราย เป็นต้น  

พายุเกิดขึ้นได้ยังไง?

พายุเกิดจากการเคลื่อนที่ของมวลอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง จากอากาศ 2 บริเวณที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก มักจะเกิดในพื้นที่ที่มีความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดกระแสลมพัดเข้าหาจุดศูนย์กลางของบริเวณดังกล่าว มวลอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง ส่งผลให้มวลอากาศในแนวราบที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ จนส่งผลให้เกิดเป็นพายุขึ้นมานั่นเอง

รู้หรือไม่? พายุไม่ได้มีแค่บนโลก

จริงๆ แล้ว พายุไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นแค่บนโลกของเราเท่านั้น บนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะจักรวาลก็มีพายุก่อตัวขึ้นเหมือนกัน เช่น ดวงอาทิตย์ ดาวเสาร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัส โดยเฉพาะจุดสีแดงขนาดใหญ่ (Great Red Spot) บนดาวพฤหัส จุดสีแดงดังกล่าว คือพายุหมุนที่มีอาณาเขตกว้างกว่า 25,000 กิโลเมตร และคงอยู่บนดาวพฤหัสมากกว่า 340 ปีแล้ว

ประเภทของพายุ

สำหรับประเภทของพายุจะแตกต่างกันไปตามความแรงของมวลอากาศในพายุ และสาเหตุของการเกิดพายุ โดยสามารถแบ่งพายุออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ  ได้แก่ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุหมุนเขตร้อน และพายุทอร์นาโด โดยแต่ละพายุมีจุดกำเนิดและความแตกต่างกัน ดังนี้

1. พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm)

เป็นพายุที่พบในเขตร้อนชื้น เกิดจากพื้นโลกได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก ทำให้มวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นสูงก่อนเย็นตัวลง และเกิดการควบแน่นกลั่นตัวเป็นไอน้ำ เกิดเป็นเมฆขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นในแนวดิ่ง เรียกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)” ขณะเดียวกันความร้อนแฝงจากการกลั่นตัวของไอน้ำก็มาช่วยเร่งการลอยตัวของอากาศในก้อนเมฆ ทำให้เมฆมีขนาดใหญ่ขึ้นและสูงขึ้น จนเคลื่อนที่ขึ้นถึงจุดอิ่มตัว เมื่อเวลาผ่านไปการลดลงของอุณหภูมิในก้อนเมฆ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่ลงของมวลอากาศอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งมักมาพร้อมกับลมแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง หรืออาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่  

โดยการก่อตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะเป็นไปตามฤดูกาล ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรมีโอกาสที่จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ตลอดปี เนื่องจากมีสภาพอากาศร้อน อบอ้าว ส่วนบริเวณขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ที่อยู่ในละติจูดที่สูงขึ้นไป มักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน  

สำหรับประเทศไทยพายุฝนฟ้าคะนองสามารถก่อตัวได้เกือบตลอดเวลา และในทุกพื้นที่ เพราะบ้านเรามีภูมิอากาศอยู่ในเขตร้อน ช่วงที่เจอพายุฝนฟ้าคะนองได้บ่อยๆ จะอยู่ในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม พายุฝนฟ้าคะนองสามารถพัฒนาจนมีความรุนแรงเกินกว่าระดับปกติในลักษณะที่เรียกว่า “พายุฤดูร้อน” และ “พายุทอร์นาโด” ได้

พายุฝนฟ้าคะนอง
พายุฝนฟ้าคะนอง

2. พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)

เป็นพายุที่ก่อตัวบริเวณผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรในเขตร้อน ที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส และอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยน้ำจะระเหยกลายเป็นไอน้ำปริมาณมาก และเคลื่อนที่สูงอย่างรวดเร็วเป็นบริเวณกว้าง ทำให้อากาศที่อยู่รอบๆ เคลื่อนมาแทนที่ โดยอากาศที่อยู่รอบๆ จะพัดเวียนเป็นเกลียวเข้าหาศูนย์กลางของพายุ ก่อตัวเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่กินวงกว้าง และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรง จะมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 120 – 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง  

ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ทิศทางการหมุนวนของพายุ หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตรจะหมุนวนทวนเข็มนาฬิกา แต่หากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรหรือซีกโลกใต้จะหมุนวนตามเข็มนาฬิกา โดยสามารถแบ่งประเภทของพายุหมุนเขตร้อนได้ตามความแรงของลมพายุเป็น 3 ประเภท ดังนี้  

พายุดีเปรสชัน (Tropical Depression)  

เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมต่ำที่สุด โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตร/ชั่วโมง (34 นอต)  มีลักษณะเป็นกลุ่มเมฆหนาทึบหมุนวนเป็นวงกลม แต่ไม่เป็นเกลียว และไม่มีตาพายุที่ชัดเจน กระแสลมไม่แรงมากพอที่จะพังบ้านเรือน แต่ก็อาจทำให้ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจนน้ำท่วมได้  

พายุดีเปรสชัน
พายุดีเปรสชัน

พายุโซนร้อน (Tropical Storm)  

เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมปานกลาง มักจะก่อตัวขึ้นในทะเลแถบเส้นศูนย์สูตร ก่อนที่จะเคลื่อนที่เข้าหาชายฝั่ง โดยมีความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางตั้งแต่ 63-118 กิโลเมตร/ชั่วโมง (64 นอต) มีลักษณะเป็นพายุหมุน แต่ยังไม่มีตาพายุที่ชัดเจน พายุนี้จะเกิดพร้อมกับลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก สามารถทำลายบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง ต้นไม้ใหญ่หักโค่น ถนนหนทางเสียหาย และแผ่นดินสไลด์ตัวได้  

ถ้าพายุโซนร้อนเคลื่อนที่เข้าฝั่งมักจะอ่อนกำลังลง จนกลายเป็นเพียงกลุ่มเมฆหมุนวนหรือพายุดีเปรสชันก่อนจะสลายตัวไป เนื่องจากเคลื่อนที่มาเจออุณหภูมิในอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้รับพลังงานจากความร้อนและความชื้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวร่องกดอากาศต่ำเหนือผิวน้ำในมหาสมุทรเหมือนเดิม ในทางกลับกันถ้าพายุโซนร้อนก่อตัวขึ้นในทะเลลึกห่างไกลชายฝั่งก็จะมีกำลังรุนแรงขึ้น จนพัฒนาไปเป็นพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคนได้เช่นกัน

พายุโซนร้อน
พายุโซนร้อน

พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) หรือเฮอริเคน (Hurricane)

เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมแรงที่สุด ความเร็วลมใกล้จุดศุนย์กลางสูงกว่า 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง (64 นอต) มีตาพายุชัดเจน ซึ่งบริเวณตาพายุจะมีสภาพอากาศโปร่งใส อาจมีฝนตกเพียงเล็กน้อยและกระแสลมสงบ ต่างกับสภาพรอบนอกของตาพายุที่มีความรุนแรงมาก จนสามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน อาจทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น เกิดไฟฟ้าช็อต หรือเพลิงไหม้ได้ เมื่ออยู่ในทะเลก็จะมีคลื่นลมรุนแรงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็ก  

พายุไต้ฝุ่น
พายุไต้ฝุ่น

ส่วนพายุเฮอริเคน (Hurricane) หรือพายุไซโคลน (Cyclone) ที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ นั้นเป็นพายุชนิดเดียวกันกับพายุไต้ฝุ่น แต่มีชื่อเรียกต่างกันไปตามถิ่นที่เกิดเท่านั้น โดยมีชื่อเรียกพายุตามแหล่งเกิด ดังนี้

  • เกิดที่มหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น  
  • เกิดที่มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล เรียกว่า พายุไซโคลน  
  • เกิดที่มหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก เรียกว่า พายุเฮอริเคน

Note : ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพายุหมุนเขตร้อนทั้งคู่ จึงมีโอกาสที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุทั้งสองแห่ง แต่มีโอกาสที่พายุจะเคลื่อนจากทางฝั่งตะวันออกหรือด้านมหาสมุทรแปซิฟิกมากกว่าฝั่งตะวันตก  

 

โดยพายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นแค่พายุหมุนเขตร้อนดีเปรสชัน เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ซึ่งมักจะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม  

3. พายุทอร์นาโด (Tornado) หรือพายุงวงช้าง  

เป็นพายุที่เกิดจากการปะทะกับระหว่างมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็น จนก่อตัวให้เกิดลมหมุน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางค่อนข้างเล็ก มีรัศมีราว 50-500 เมตร แต่หมุนด้วยความเร็วสูง โดยความเร็วลมที่จุดศูนย์กลางสูงตั้งแต่ 300-500 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถพบได้ทั้งบนบกและทะเล แต่ร้อยละ 90 มักจะเกิดขึ้นบนบก ด้วยความเร็วลมที่สูงมากทำให้พายุนี้มีลักษณะหมุนบิดเป็นเกลียวจากฐานเมฆลงสู่พื้นดิน หรือที่เรียกกันว่า “ลมงวง” สามารถพัดพาเอาสิ่งปลูกสร้างลอยขึ้นไปในอากาศได้ ถึงแม้พายุทอร์นาโดเป็นพายุที่คงตัวอยู่ได้ไม่นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ความรุนแรงของพายุ และความไม่แน่นอนของการก่อตัว ส่งผลให้พายุทอร์นาโดเป็นพายุที่อันตรายที่สุด

พายุทอร์นาโด
พายุทอร์นาโด

โดยปกติแล้วมักพบในทวีปอเมริกาเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติก เพราะว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความแตกต่างของสภาพอากาศค่อนข้างมาก ซึ่งประเทศที่พบได้บ่อยที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศของสหรัฐอเมริกาเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ จึงเอื้อต่อการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็นในบริเวณที่ราบ ทำให้พายุที่ก่อตัวส่วนมากมีขนาดใหญ่และเกิดได้บ่อยครั้งนั่นเอง  

Note : สำหรับประเทศไทยก็มีพายุลักษณะนี้เช่นกัน แต่จะมีกำลังลมอ่อนไม่รุนแรงเท่าพายุทอร์นาโดที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราจะเรียกว่า ‘พายุงวงช้าง’ ถ้าเกิดบนบกจะเรียกว่า ‘ลมบ้าหมู’ แต่ถ้าเกิดบนผิวน้ำเรียกว่า ‘นาคเล่นน้ำ (water spout)’

สรุป! พายุฝนฟ้าคะนอง พายุหมุนเขตร้อน พายุทอร์นาโด ต่างกันยังไง?

เพื่อให้น้องๆ เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าพายุแต่ละลูกมีลักษณะต่างกันยังไง พี่แป้งสรุปเป็นตารางเปรียบเทียบมาให้แล้วค่ะ  

มาทดสอบความรู้กัน!

หลังจากที่น้องๆ รู้จักพายุแต่ละประเภทกันไปแล้ว มาทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่องพายุกับข้อสอบ O-NET วิชาสังคมศึกษา ปี 2552 กันค่ะ

 

ข้อใดกล่าวถูกต้องเกี่ยวกับพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย

1. ไม่เคยก่อตัวในอ่าวไทย

2. หากก่อตัวในอ่าวเบงกอลจะมาไม่ถึงประเทศไทย

3. มีแหล่งกำเนิดในทะเลจีนใต้มากกว่าทะเลอันดามัน

4. ที่ก่อตัวในอ่าวตังเกี๋ยจะส่งผลต่อสภาพอากาศในประเทศไทยมากที่สุด

 

น้องๆ คิดว่าคำตอบข้อไหนถูกต้องคะ? เลือกคำตอบที่คิดว่าใช่แล้วคอมเมนต์ด้านล่างได้เลย  

 

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ถ้าน้อง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความรู้จากวิชาอะไร ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

ข้อมูลจากhttps://ngthai.com/science/24598/thunder-origin/https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/5468  https://www.greennet.or.th/%E0%B8%9E/  https://www.tmd.go.th/info/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2-5  https://tmd.go.th/info/%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9D%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87  

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น