Teen Coach EP.113 : รู้ทัน! 'Anxiety ความวิตกกังวล' ตัวว้าวุ่นที่วัยรุ่นทุกคนต้องเจอ

ไหน...ใครดูเรื่อง Inside Out 2 แล้วบ้าง?

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงที่ผ่านมาอย่าง Inside Out 2 ทำให้หลายๆ คนร้องไห้ ทัชใจ และนึกถึงเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมา อีกทั้งในภาคต่อนี้ ยังมีอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นมา อย่าง ว้าวุ่น เขิ๊นเขิน อ๊ายอาย อองวี(ที่หมายถึงความเบื่อหน่าย) และอิจฉา อีกทั้งยังมีป้าคนึงจิตต์ (ความคิดถึงและโหยหายอดีต) ที่โผล่มาแวบ ๆ เมื่อนึกถึงอดีตที่ผ่านมาของไรลีย์นั่นเอง

 

และเจ้าอารมณ์ตัวใหม่ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย 'ว้าวุ่น' เจ้าสีส้มตัวป่วน ว้าวุ่นสมชื่อ อย่าง Anxiety หรือที่หมายถึงความวิตกกังวลนั่นเอง ตั้งแต่ที่เจ้าว้าวุ่นเข้ามา ก็ทำให้ระบบการทำงานของสมองปั่นป่วนไปเลย จริง ๆ แล้ว ความวิตกกังวลคืออะไร มีแล้วดีหรือไม่ดีกันล่ะ

ทำความรู้จัก Anxiety ความวิตกกังวล

จากที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ ในสถานการณ์หนึ่งๆ เราสามารถรู้สึกได้หลากหลายอารมณ์ จะสุข จะเศร้า จะกังวล จะโกรธ ทุกอารมณ์ล้วนหล่อหลอมให้เราแสดงออกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านการสั่งการของสมองนั่นเอง

ความวิตกกังวล Anxiety ทำให้เรานึกถึง และระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายกับเรา โดยที่เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้น โดยจะแตกต่างจากความกลัว ที่เรารู้ว่าสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นให้เรากลัว หรือสิ่งเร้าที่เป็นอันตรายกับเรา แต่ความวิตกกังวลไม่ได้เป็นเพราะสถานการณ์ แต่เป็นการประเมินของสมองเราต่างหาก จะเห็นได้จากภาพยนตร์ เจ้าตัวว้าวุ่นจะมีทีมงานคอยคิดความน่าจะเป็นต่อเหตุการณ์ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล โดยที่เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ สภาพแวดล้อม บุคลิกภาพ นั่นเอง

โดยที่ส่วนใหญ่แล้ว ความวิตกกังวล จะพัฒนาขึ้นมาในช่วงเราเริ่มต้นเข้าสู่วัยรุ่น จากที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ ทุกอารมณ์ต่างกลัว สัญญาณเตือนในสมองดังว่าไรลีย์กำลังเข้าสู่วัยรุ่น และมีอารมณ์มากมายที่มีความซับซ้อนกว่าอารมณ์พื้นฐานทั้ง 5 อย่าง ลั้นล้า เศร้าซึม ฉุนเฉียว หยะแหยง กลั้วกลัว นั่นเอง สัญญาณการเตือนเข้าสู่วัยรุ่นทำให้เราเริ่มมีความคิด อารมณ์ การแสดงออกที่ซับซ้อนมากขึ้น

ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ พรุ่งนี้คุณครูให้เราพรีเซนท์งานหน้าห้องเรียน เรากังวลว่าเราจะทำไม่ได้ เราเตรียมตัวมาในระดับหนึ่ง กลัวที่จะพลาดแล้วอายเพื่อน อาจจะสะดุดติดขัด ลืมชั่วขณะ ตอบคำถามของครูไม่ได้

อันนี้เป็นตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในหัวของเรา เมื่อเรากำลังนึกถึง หรือประเมินสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ เราอาจจะแสดงออกโดยการนอนไม่หลับ เหมือนในภาพยนตร์ที่เจ้าว้าวุ่นปลุกไรลีย์ให้มาซ้อม หรือพยายามทำให้เธอตื่นตลอดเวลา ด้วยการฉายภาพความคิดในหัว ทำให้ไรลีย์นอนกระสับกระส่าย ตื่นกลางดึก 

นอกจากนี้ ความวิตกกังวล ยังส่งผลให้ในบางขณะ เรามีความคิดหรือตรรกกะที่ผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากความกังวลที่มากเกินไปทำให้เราตัดสินใจต่อสถานการณ์ผิดเพี้ยน จากภาพยนตร์เราจะเห็นได้ว่าไรลีย์เลือกที่จะหยิบสมุดจดของครู และในขณะเดียวกันนั้น ไรลีย์ขาดการมีอารมณ์อื่น ๆ ร่วม ไม่ว่าจะเป็น กลัว หรือ มีความสุข ทำให้ไรลีย์ลืมที่จะนึกถึงผลกระทบที่จะตามมาได้ รวมไปถึงการสร้างตัวตนในรูปแบบใหม่ที่เจ้าว้าวุ่นกำลังจะสร้าง โดยที่ไรลีย์ตัวตนนั้นมีแต่ความวิตกกังวล ทำให้ไรลีย์มองตัวเองไม่ดีพอ พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนอื่นประทับใจ ทำทุกอย่างโดยไม่สนผิดถูกเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการมีความวิตกกังวลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และว้าวุ่นก็ช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ตามความจริงได้ในบางครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม การมีความวิตกกังวลมากเกินไป ทำให้เรากลายเป็นคนอีกคน และส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิต รวมไปถึงความสัมพันธ์ได้อีกด้วย เห็นได้จากไรลีย์กับเพื่อนและครอบครัว เมื่อไรลีย์โดนความวิตกกังวลเข้ามาควบคุมมากเกินไป จนกดดันและทนไม่ไหว ในขณะเดียวกัน การมีอารมณ์เศร้า เสียใจ มีความสุข ก็เกิดขึ้นได้ ทุกอย่างประกอบให้ไรลีย์เป็นไรลีย์ รวมไปถึงการที่เราเป็นเราในทุกวันนี้นั่นเอง

การมีความวิตกกังวลจึงทำให้เราระมัดระวัง และตระหนักถึงการใช้ชีวิตและอนาคตได้มากขึ้น ยกตัวอย่างจากภาพยนตร์ ในขณธที่ลั้นลามัวแต่โฟกัสความสุขของไรลีย์จนลืมตระหนักถึงความเป็นจริง อนาคตการเข้าทีมฮอกกี้ หรือการวางตัวของไรลีย์นั่นเอง 

ดังนั้นแล้ว เราทุกคนต่างก็มีอารมณ์ความรู้สึกได้หลากหลาย ไม่จำเป็นจะต้องมีความสุข หรือวิตกกังวลไปตลอด อารมณ์ที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์หนึ่งๆ ในชีวิตของเรา ถูกรวบรวม เก็บมาเป็นความทรงจำของเรา และความทรงจำทั้งหลายที่ทั้งดี ไม่ดี มีความสุข เศร้า กลัว โกรธ ขยะแขยง เขินอาย ว้าวุ่น อิจฉา เบื่อหน่าย และอื่นๆ อีกมากมาย ก็ประกอบกันมาให้เรากลายเป็นเราในทุกวันนี้นั่นเองค่ะ

หากมีความวิตกกังวลมากเกินไป จะเกิดอะไรขึ้น

การแสดงออกเมื่อเราวิตกกังวลอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีกับสุขภาพเราในระยะยาว  เมื่อไหร่ล่ะ ที่ความวิตกกังวลจะเริ่มเป็นภัยต่อชีวิตเรา 

ตัวอย่าง การแสดงออกที่มากเกินไปในเชิงกายภาพ 

  • มีอารมณ์ฉุนเฉียวอย่างไม่สมเหตุสมผล หงุดหงิดง่าย ควบคุมไม่ได้
  • ใจสั่น มือสั่น ไม่มีสติ
  • คลื่นไส้ พะอืดพะอม
  • มือเท้าเย็น เหงื่อออก กล้ามเนื้อเกร็ง
  • นอนไม่หลับ
  • อ่อนล้า เหนื่อยง่าย

หากมีอาการเหล่านี้หลายเดือน จนเริ่มกระทบกับการใช้ชีวิต มีพฤติกรรมการกิน การนอนที่เปลี่ยนไป จนกระทบกับสุขภาพ ไม่มีสมาธิจนส่งผลต่อการเรียนและการทำงาน ปวดเมื่อยตัวบ่อย ไม่หายอ่อนล้า แม้จะพักผ่อนแล้วก็ตาม

4 จุดสังเกตตัวเองแบบชัดๆ 

  • นอนไม่หลับโดยไม่รู้สาเหตุ
  • กินเยอะหรือกินน้อยผิดปกติ
  • น้ำหนักเพิ่มหรือลดอย่างผิดปกติจากที่เคยเป็น
  • ปวดเมื่อยตัว และเหนื่อยล้าเป็นเวลานาน

ควรทำอย่างไรหากความวิตกกังวลส่งผลต่อการใช้ชีวิต

เราอาจจะต้องปรับมุมมองการใช้ชีวิต หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ เช่น ไปนวด สปา หรือดูหนัง ฟังเพลง พยายามอย่าใช้กิจกรรมที่ใช้พลังงานมากเกินไป แม้จะเป็นกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น การไปคอนเสิร์ต ออกกำลังกาย ไปเที่ยว หรือ ไปเวิร์คช็อป เราอาจจะลองหากิจกรรมสบาย ๆ ให้เราได้ นอนดูดอกไม้ นอนฟังเพลง อ่านหนังสือ พักจากโลกโซเชียล นอนแบบไม่ต้องมีเรื่องรบกวน หรือแม้แต่การนั่งสมาธิ ก็ช่วยได้นะคะ

หากอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบปกติ และกินเวลานาน 6 เดือนขึ้นไป มีโอกาสที่ความวิตกกังวลเหล่านี้จะกลายเป็น “โรควิตกกังวล” ซึ่งเราอาจจะต้องพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและหาทางรับมือต่อไป 

References https://www.nytimes.com/inside-out-2-anxiety-characterPsychologist: How 'Inside Out 2' shows us anxiety 'can be motivating' (cnbc.com)Anxiety - ความวิตกกังวล[:] - คณะจิตวิทยา
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น