สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ถ้าพูดถึงข้อสอบ A-Level ภาษาไทย อีกหนึ่งเรื่องที่เจอทุกปีเลยก็คือ ‘คำราชาศัพท์’ ถึงจะออกน้อยแต่ออกนะ สิ่งสำคัญในการทำข้อสอบเรื่องนี้ คือน้องๆ ต้องรู้ก่อนว่า ‘ลำดับอิสริยศักดิ์’ หรือฐานันดรศักดิ์ของบุคคลที่โจทย์ให้มานั้นเป็นใคร เพื่อที่จะได้เลือกใช้คำราชาศัพท์ให้เหมาะสมกับลำดับยศ
ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไวเผื่อออกสอบ’ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 7 ลำดับอิสริยศักดิ์ พร้อมสรุปหลักการใช้คำราชาศัพท์ที่ออกสอบบ่อย และทริคการจำ 10 รัชกาล ให้แม่นมาฝากทุกคนค่ะ
ความแตกต่างระหว่าง “สกุลยศ” และ “อิสริยยศ”
ก่อนอื่นอยากให้น้องๆ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “สกุลยศ” และ “อิสริยยศ” กันก่อนค่ะว่า ทั้งคู่คืออะไร และมีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับลำดับอิสริยศักดิ์รูปแบบต่างๆ
สกุลยศ คือ พระยศที่ได้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด สืบทอดมาจากพระชนก (พ่อ) และพระชนนี (แม่) โดยตรง โดยพระโอรสหรือพระธิดาจะมีสกุลยศได้ 3 แบบ ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าพระชนนีมีพระยศอะไร
อิสริยยศ คือ พระยศที่ได้รับการสถาปนาเพิ่มในภายหลัง ซึ่งมีเหตุผลในการปรับเปลี่ยนด้วยกันหลัก ๆ 2 ประการ ได้แก่
- ประการแรก เกิดจากสถานะที่เปลี่ยนแปลงไปในรัชกาลต่าง ๆ เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินพระยศของพระบรมวงศานุวงศ์จึงต้องมีการลำดับใหม่
- ประการที่สอง เกิดจากการได้รับการสถาปนาจากพระมหากษัตริย์ เนื่องจากได้ปฏิบัติราชการแผ่นดิน มีความดีความชอบที่ปรากฏ
สรุป! ลำดับอิสริยศักดิ์ 7 ขั้น
“ลำดับอิสริยศักดิ์” เป็นสิ่งที่ใช้แบ่งลำดับขั้นตามระดับสกุลยศ หรือพระอิสริยยศ ทำให้การใช้คำราชาศัพท์ก็จะแตกต่างกันตามลำดับขั้นนี้ด้วย โดยการแบ่งลำดับอิสริยศักดิ์ เป็นดังนี้
ลำดับที่ 1 พระบาทสมเด็จ
พระอิสริยยศในลำดับนี้มักจะใช้กับ ‘พระมหากษัตริย์’ หรือ ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ เช่น
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)
- พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)
ลำดับที่ 2 สมเด็จพระบรม
พระอิสริยยศในลำดับนี้จะรองลงมาจาก ‘พระบาทสมเด็จ’ ที่พบเห็นบ่อยๆ มักจะใช้กับ ‘พระราชินี’ หรือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ เช่น
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9)
- สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี (พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10)
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
พระบรมราชินี vs พระบรมราชินีนาถ ต่างกันยังไง?
พระบรมราชินี หรือพระราชินี หมายถึง พระมเหสีของกษัตริย์
พระบรมราชินีนาถ หมายถึง สมเด็จพระราชินีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ ซึ่งมีอีกความหมายคือ ‘พระเจ้าแผ่นดินที่เป็นผู้หญิง’
ในประเทศไทยมีสมเด็จพระราชินีนาถอยู่สองพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ( พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระมเหสีในรัชกาลที่ 9)
ลำดับที่ 3 สมเด็จเจ้าฟ้า
สกุลยศในลำดับนี้จะใช้กับ พระโอรสหรือพระธิดาที่กำเนิดมาจากพระมหากษัตริย์ และพระมารดาที่เป็นเจ้าเท่านั้น เช่น
- สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (พระธิดาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระมเหสี)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
ลำดับที่ 4 พระองค์เจ้า
สกุลยศในลำดับนี้จะใช้กับ พระโอรสหรือพระธิดาที่กำเนิดจากพระมหากษัตริย์ และพระสนม/เจ้าจอมมารดา/สามัญชน และอีกกรณีคือ พระโอรสหรือพระธิดาของลำดับชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า เช่น
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ (พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ)
Note : พระสนม/เจ้าจอม หมายถึง นางสนองพระโอษฐ์ของพระมหากษัตริย์ เรียกอย่างสามัญว่า ภรรยาน้อย ไม่เฉพาะสามัญชนที่สามารถเป็นได้ แต่รวมถึงธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
ลำดับที่ 5 หม่อมเจ้า
สกุลยศในลำดับนี้รองลงมาจากพระองค์เจ้า เป็นชั้นสกุลยศที่ต่ำที่สุดสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ โดยปกติแล้วจะใช้เรียก พระโอรสและพระธิดาในเจ้าฟ้ากับสามัญชน หรือพระโอรสและพระธิดาในพระองค์เจ้ากับสามัญชน เช่น
- หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และหม่อมเจ้าในสายราชสกุลอื่น ๆ
ลำดับที่ 6 หม่อมราชวงศ์
สกุลยศในลำดับนี้รองจากหม่อมเจ้า โดยจะเป็นบุตรและธิดาของหม่อมเจ้า มีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมราชวงศ์ อักษรย่อว่า ‘ม.ร.ว.’ คนทั่วไปเรียกว่า ‘คุณชาย หรือคุณหญิง’ เช่น
- หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล
- หม่อมราชวงศ์พุฒิภัทร จุฑาเทพ หรือคุณชายภัทร (จากละครเรื่อง สุภาพบุรุษจุฑาเทพ)
ลำดับที่ 7 หม่อมหลวง
สกุลยศลำดับนี้ถือเป็นลำดับสุดท้าย โดยจะเป็นบุตรและธิดาของหม่อมราชวงศ์ ได้รับฐานันดรศักดิ์เป็น หม่อมหลวง อักษรย่อว่า ‘ม.ล.’ คนทั่วไปเรียกว่า ‘คุณ’
- หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล
- พันตรีนายแพทย์ หม่อมหลวงฉัตรเกล้า จุฑาเทพ หรือคุณฉัตร (จากละครเรื่อง ดวงใจเทวพรหม)
Note :
- สำหรับสองลำดับท้าย ถึงแม้จะมีคำนำหน้าเป็น ‘หม่อมราชวงศ์’ หรือ ‘หม่อมหลวง’ แต่จะถือว่าเป็นเพียงสามัญชนเท่านั้น ไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์แต่อย่างใด
- ในกรณีที่ ‘หม่อมหลวง’ มีลูกจะไม่มียศนำหน้า แต่จะใช้นามสกุลที่ราชสกุลนั้นๆ สืบต่อมา โดยใช้คำว่า ณ อยุธยา ต่อท้าย (ที่ใช้ ณ อยุธยา เพราะเชื้อสายราชวงศ์จักรีสืบเชื้อมาจากยุคอยุธยา) เช่น เทวกุล ณ อยุธยา
หลักการใช้คำราชาศัพท์
ทำเข้าความใจเรื่องลำดับอิสริยศักดิ์กันไปแล้ว ต่อไปมาดูกันว่า เราสามารถใช้คำราชาศัพท์แต่ละประเภท ให้เหมาะสมกับพระอิสริยยศของแต่ละลำดับขั้นได้ยังไงบ้าง
ราชาศัพท์ คือ คำเฉพาะสำหรับพูดกับพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านาย ปัจจุบันหมายรวมถึงคำที่ใช้กับพระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ และสุภาพชนด้วย แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ ข้าราชการชั้นสูงหรือขุนนาง และสุภาพชนทั่วไป โดยแบ่งศัพท์ออกเป็น 6 หมวด คือ หมวดร่างกาย หมวดเครือญาติ หมวดเครื่องใช้ หมวดกริยา หมวดสรรพนาม และหมวดคำที่ใช้กับพระสงฆ์
1.คำนามราชาศัพท์
สำหรับการใช้คำนามราชาศัพท์ น้องๆ จะต้องเติมคำว่า “พระ” “พระราช” “พระบรม” และ “พระบรมราช” โดยจะเลือกเติมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลำดับอิสริยศักดิ์ ซึ่งมีหลักการเลือกใช้ ดังนี้
- พระบรม/พระบรมราช ใช้กับ พระบาทสมเด็จ เท่านั้น (มีแค่บางคำที่ใช้กับลำดับสมเด็จพระบรมได้)
- เช่น พระบรมราโชวาท พระบรมมหาราชวัง
- พระราช ใช้กับ พระบาทสมเด็จ, สมเด็จพระบรม
- เช่น พระราชวัง พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์
- พระ ใช้ได้กับ ทุกลำดับ (ส่วนใหญ่จะใช้นำหน้าเรียกอวัยวะ เครื่องใช้)
- เช่น พระกรรณ พระที่นั่ง พระเขนย พระสหาย เป็นต้น
*หมายเหตุ : ถ้าคำประสมที่เป็นคำราชาศัพท์ มีคำว่า "พระ" อยู่ในคำนั้นแล้ว จะไม่ใช้คำว่า "พระ" นำหน้าอีก เช่น ฉลองพระเนตร(แว่นตา) ธารพระกร(ไม้เท้า) ฯลฯ
2.คำกริยาราชาศัพท์
เป็นคำที่ใช้บอกอาการ จำแนกใช้ตามชั้นของบุคคลซึ่งถือกันว่ามีฐานันดรศักดิ์ต่างกันตามประเพณีนิยม จึงต้องบัญญัติคำให้เหมาะสมกับบุคคลชั้นต่าง ๆ โดยมีหลักการใช้คำกริยาราชาศัพท์ ดังนี้
1) การใช้คำว่า “ทรง” นำหน้า
- ทรง + คำกริยาสามัญ เช่น ทรงวิ่ง ทรงฟัง ทรงสร้าง ทรงเล่น
- ทรง + คำนามสามัญ เช่น ทรงม้า (ขี่ม้า) ทรงบาตร (ใส่บาตร) ทรงดนตรี (เล่นดนตรี)
- ทรง + คำนามราชาศัพท์ เช่น ทรงพระอักษร (เขียน เรียน) ทรงพระราชนิพนธ์ (แต่งหนังสือ) ทรงพระราชดำริ (คิด)
2) การใช้คำว่าทรงกับกริยา “มี” และ “เป็น”
- ถ้าคำนามข้างหลังเป็นคำสามัญ ต้องใช้ทรง เช่น ทรงมีทุกข์, ทรงเป็นประธาน
- ถ้าคำนามข้างหน้าเป็นราชาศัพท์ ไม่ต้องใช้ทรง เช่น มีพระบรมราชโองการ, เป็นพระราชโอรส
ข้อควรระวัง! คำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว สามารถใช้ได้ทันที ไม่ต้องมีคำว่าทรงนำหน้า เช่น ตรัส เสวย ประสูติ สวรรคต ถวายบังคมลา ประชวร ประทับ เป็นต้น
3) การใช้คำว่า “เสด็จ”
- เสด็จ + คำกริยาสามัญ เช่น เสด็จออก เสด็จกลับ เป็นต้น
- เสด็จ + คำนามราชาศัพท์ เช่น เสด็จพระราชดำเนิน เสด็จพระราชสมภพ เป็นต้น
4) การใช้คำว่า “ทูลเกล้าฯ ถวาย” และ “น้อมเกล้าฯ ถวาย”
- ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ใช้สำหรับของเล็กที่สามารถยกได้ เช่น ช่อดอกไม้ หนังสือ เป็นต้น
- น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ใช้สำหรับของใหญ่ที่ไม่สามารถยกได้ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น
คำราชาศัพท์ ออกสอบบ่อย!
สำหรับการทำโจทย์เรื่องคำราชาศัพท์ น้องๆ ต้องเช็กเรื่องลำดับอิสริยศักดิ์ให้ดี โดยเฉพาะเรื่องสรรพนามราชาศัพท์ และกริยาราชาศัพท์ เพราะแต่ละคำจะมีการใช้ที่แตกต่างกันตามลำดับขั้น ซึ่งพี่แป้งได้รวบรวมตัวอย่างคำราชาศัพท์ที่ออกสอบบ่อยมาให้แล้ว ตามตารางนี้เลย
รายพระนาม ‘พระมหากษัตริย์ไทย’ แห่งราชวงศ์จักรี
- รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
- รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- รัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทริคจำ! พระนามของพระมหากษัตริย์ 10 รัชกาล
ยอด เลิศ นั่ง จอม จุล มง ปก นัน พล วชิ
ท่องทุกวัน วันละ 5 รอบ จำได้แน่นอน!
มาทดสอบความรู้กัน!
เมื่อรู้หลักการใช้คำราชาศัพท์ในรูปแบบต่างๆ แล้ว ถึงเวลามาทดสอบความรู้ความเข้าใจจากข้อสอบจริงกันแล้วค่ะ สำหรับข้อสอบที่น้องๆ จะได้ฝึกทำกันในบทความนี้เป็นข้อสอบ A-Level วิชาภาษาไทย ปี 2566
วันนี้ เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ……………………. ณ วังสระปทุม………………………ให้คณะบุคคลต่าง ๆ ……………………………ตามลำดับ
จงเติมคำราชาศัพท์ในช่องว่างข้างต้นให้ถูกต้อง
1. เสด็จออก / พระราชทานพระราชวโรกาส / เฝ้าทูลละอองพระบาท
2. เสด็จฯ ออก / พระราชทานพระราชวโรกาส / เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
3. เสด็จฯ ไป / มีพระราชบัญชา / เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
4. เสด็จฯ ไป / มีพระราชดำรัสรับสั่ง / เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท
5. เสด็จออก / ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า / เฝ้าทูลละอองพระบาท
น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่าข้อไหนถูกต้อง อย่าลืมเช็กลำดับอิสริยศักดิ์ให้ดี ถ้ารู้แล้วว่าข้อไหนถูกก็คอมเมนต์ด้านล่างได้เลย!
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาภาษไทย บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
0 ความคิดเห็น