‘ฉันยังดีไม่พอ’
‘ฉันไม่ได้เก่งขนาดนั้น’
‘ฉันเหมาะสมที่จะได้รับคำชมจริง ๆ เหรอ?’
น้อง ๆ ชาว Dek-D เคยเกิดความรู้สึกสงสัยในความสามารถตัวเองกันบ้างหรือเปล่าคะ? บางครั้งที่ชีวิตประสบความสำเร็จแม้คนรอบตัวจะชื่นชมขนาดไหนแต่เราก็ยังรู้สึกไร้ซึ่งความภูมิใจในความสามารถของตัวเองอยู่ดี แถมยังแอบเถียงกลับในใจว่า “โชคช่วยเฉย ๆ หรอกหน่า”
อาการเช่นนี้ ทางจิตวิทยาเรียกว่าอาการ ‘Imposter Syndrome’ ซึ่งเป็นอาการที่ ‘วัดคุณค่าตัวเองจากสายตาตัวเอง’ ทำให้หลายต่อหลายครั้งเรามักจะคิดว่าตัวเองยังดีไม่พอ ยังไม่เหมาะกับความสำเร็จหรือคำชมและทำให้ความภาคภูมิใจต่อตัวเอง (Self- Pride) ลดลงไปเรื่อย ๆ
วันนี้เราเลยอยากพาชาว Dek-D ทุกคนมาทำความรู้จัก ‘อาการที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง’ หรืออาการ Imposter Syndrome พร้อมเรียนรู้วิธีรับมือในวันที่คิดว่าตัวเองยังดีไม่พอกันค่ะ
Imposter Syndrome คืออะไร ?
ในปีค.ศ. 1978 นักจิตวิทยา Pauline Rose Clance และ Suzanne Imes ได้บัญญัติ คำว่า ‘Imposter Phenomenon’ ขึ้น ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของ Imposter Syndrome โดยคำจำกัดความของคำนี้ หมายถึง ความรู้สึกที่บุคคลสงสัยในความสามารถของตัวเอง มองว่าตัวเองไม่ได้เก่งหรือรู้จริงและคิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโชคช่วยหรือมาจากปัจจัยภายนอกมากกว่าความสามารถของตัวเอง
งานวิจัยพบว่า 70% ของผู้คนมักเคยเผชิญกับอาการ Imposter Syndrome ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับบุคคลที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียนและวัยทำงาน โดยมักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับคำชมหรือความสำเร็จ เชื่อว่าตัวเองกำลังหลอกเพื่อนร่วมงานและคนรอบตัวให้เข้าใจว่าตนเองมีความสามารถ ฉลาด รอบรู้ ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขาไม่ได้มองว่าตนเองมีความสามารถขนาดนั้น อีกทั้งยังกลัวว่าวันหนึ่งความจริงจะถูกเปิดเผยว่าตัวเองไม่ได้เป็นเลิศทางความสามารถและสติปัญญาเหมือนที่คนอื่นเคยชื่นชม
หากไม่ได้มีการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม และปล่อยให้ความรู้สึกนี้กินพื้นที่ในจิตใจจนกลายมาเป็นความเชื่อลบ ๆ ที่เรามีต่อตนเอง อาจนำไปสู่โรคทางอารมณ์ที่รุนแรงกว่าเดิม เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังกล
เกร็ดความรู้
ในปีค.ศ. 1999 นักจิตวิทยา David Dunning และ Justin Kruger เคยศึกษาและนิยามอาการที่เป็นเหมือนขั้วตรงข้ามอาการ Imposter Syndrome ในชื่อ Dunning-Kruger Effect โดยหมายถึง อาการของบุคคลที่ ‘รู้มาน้อยแต่มั่นเกินล้าน’ กล่าวคือ บุคคลมั่นใจว่าตนเองฉลาดแต่จริง ๆ แล้วโง่มากนั่นเอง
Checklist อาการ Imposter Syndrome
- ไม่ยินดีกับความสำเร็จของตนเอง
- มักคิดว่าความสำเร็จของตัวเองมาจากปัจจัยอื่น
- เชื่อว่าสิ่งที่เราทำ คนอื่นก็ทำได้และอาจทำได้ดีกว่าเรา
- มองสิ่งที่ทำไปว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ แม้จะได้รับคำชมก็ตาม
5 กลุ่มเสี่ยง Imposter Syndrome
1.The Perfectionist
กลุ่มคนรักความสมบูรณ์แบบ เมื่อมีมาตราฐานและความคาดหวังที่สูง ต่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์เกือบ 100% ก็ยังมองข้ามภาพรวมว่าตนเองทำอะไรออกมาได้ดีและเลือกโฟกัสข้อผิดพลาดจุดเล็ก ๆ ของงานเพื่อมาตำหนิตัวเองว่า ‘ควรจะทำได้ดีกว่านี้’ หรือเมื่อประสบความสำเร็จก็ยังมองว่า สิ่งที่ตัวเองทำสำเร็จในตอนนี้ ‘ควรจะทำสำเร็จไปตั้งนานแล้ว’
2.The Superwoman / man
กลุ่มเดอะแบกของสังคม คิดว่าต้องทำให้ดีทุกด้าน ครอบครัว การงาน บทบาทพ่อแม่ คนรักหรือเพื่อนต้องไม่บกพร่อง เมื่อด้านใดด้านหนึ่งไม่เป็นไปตามภาพที่คิดไว้ก็จะเกิดความเครียดและกลายเป็นกดดันตัวเองมากกว่าเดิมว่า ‘ต้องพิสูจน์ความสามารถการเป็นเดอะแบกให้หนักขึ้น’
3.The Natural Genius
กลุ่มหัวกะทิโดยกำเนิด มักจะคุ้นชินกับการใช้สติปัญญาของตัวเองทำให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์ เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายความสามารถตัวเอง ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าที่เคยเป็นมามักจะมองว่า ‘ถ้าเก่งจริงต้องสำเร็จไปตั้งนานแล้ว’ ‘ที่ต้องพยายามขนาดนี้เพราะว่าไม่เก่งไง’
4.The Soloist
กลุ่มนักลุยเดี่ยว มักจะคุ้นชินกับการทำอะไรสำเร็จโดยใช้ความพยายามของตัวเองแค่คนเดียว เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องไปพึ่งพิงใคร พวกเขามักจะมองว่าตัวเอง ‘ไม่ได้เรื่องหรือด้อยความสามารถ’ ถึงต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
5.The Expert
กลุ่มผู้เขี่ยวชาญ มักจะวัดความสามารถจากสิ่งที่ตนเองรู้ ปัญหาหลัก ๆ ของคนกลุ่มนี้ คือ มักจะไม่กล้าออกจาก comfort zone ไปลองทำในสิ่งตนเองยังไม่เชี่ยวชาญ เช่น ไม่กล้าสมัครงานเพราะคุณสมบัติไม่ตรงทุกข้อ กลุ่มนี้จะเชื่อว่าตัวเองไม่วันรู้ดีพอ และต้องรู้ให้รอบทุกด้านก่อนถึงจะรู้สึกพร้อมที่จะทำอะไรสักอย่าง ซึ่งในบางครั้งคนกลุ่มนี้มักจะพลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิตไป
ผลกระทบจากอาการ Imposter Syndrome
พลาดโอกาส — อาการ imposter syndrome ทำให้เรากลัวการผิดพลาดหรือความล้มเหลว ไม่กล้าทำอะไรที่อยู่นอกกรอบความรู้หรือสิ่งที่เคยทำมาก่อน ซ้ำร้ายคือไม่กล้าที่จะรับโอกาสที่คนอื่นมอบให้เพราะหวั่นใจว่าจะทำได้ไม่ดีอย่างที่ตัวเองและคนอื่นคาดหวัง
ติดนิสัยตำหนิตัวเอง — การสงสัยในความสามารถตัวเองเป็นจุดเริ่มตนของการมองตัวเองในแง่ลบโดยใช้อารมณ์เป็นตัวนำทาง หากมองตัวเองในแง่ลบไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้มองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแยกกับทัศนคติที่เรามองความสามารถของตัวเองออกจากกัน ความคิดนี้จะกลายมาเป็นความเชื่อลบ ๆ ที่เรามีต่อตัวเองและจะทำให้เราหมดสนุกกับการลองผิดลองถูกในชีวิต
วิธีรับมือ Imposter Syndrome
‘ผิดพลาดบ้างไม่เป็นไร…ทำดีแล้ว’
อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติมากที่เราจะผิดพลาดแม้จะเป็นเรื่องที่เราคิดว่าเราถนัดกับสิ่งนี้มากที่สุดก็ตาม หากข้อผิดพลาดไม่ได้นักหนาสาหัสจนเกินไป ลองมองว่าเราพยายามอย่างถึงที่สุดเท่าที่ความสามารถของคนคนนึงจะทำได้ ก็ถือว่าเป็นการให้อภัยและยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเราเองนะ
‘ฉันทำได้แปลว่าฉันมีความสามารถ’
เมื่อมันเป็นจังหวะชีวิตของเราแล้วก็แค่ยอมรับว่ามันเป็นจังหวะของเรา การตั้งคำถามในสิ่งที่ไม่มีวันได้คำตอบจะทำให้ความสงสัยนั้นติดอยู่ในใจเราไปเรื่อย ๆ ลองเปลี่ยนความสงสัยในความสามารถตัวเองเมื่อประสบความสำเร็จเป็นความรู้สึกภูมิใจที่เราได้ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นและชื่นชมตัวเองที่ได้พยายาม
ถ้าหลักฐานมีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าเราได้ลงแรงลงใจ อดทนฝ่าฟันปัญหา ใช้สติปัญญาทั้งหมดที่มีทำอะไรสักอย่างจนสำเร็จ นั่นคือความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต่อให้เราสงสัยในความสามารถตัวเองขนาดไหน ความจริงข้อนี้ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนนะ
ที่มา https://www.verywellmind.com/imposter-syndrome-and-social-anxiety-disorder-4156469https://www.psychologytoday.com/us/basics/imposter-syndromehttps://www.healthline.com/health/mental-health/imposter-syndrome#types
0 ความคิดเห็น