สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ถ้าพูดถึงเรื่องการพัฒนาประเทศ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ระบบเศรษฐกิจ’ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้า ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจที่ต่างกัน เช่น ระบบทุนนิยม สังคมนิยม และแบบผสม หลายๆ คนก็ยังสับสนว่าแต่ละระบบต่างกันยังไง ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับระบบเศรษฐกิจกันว่ามีอะไรบ้าง แล้วแต่ละแบบมีกลไกการทำงานอย่างไร พร้อมกับตารางเทียบความแตกต่าง และแบบฝึกหัดจากข้อสอบจริงมาให้ได้ทดสอบความรู้ด้านล่างกันค่ะ
Note:
- ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ - เกิดขึ้นจากการที่ทรัพยากรเศรษฐกิจมีจำกัด เมื่อเทียบกับความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ทำให้ประสบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งจำแนกออกได้เป็น 3 ปัญหา คือ ผลิตอะไร, ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร
- ปัจจัยการผลิต - ทรัพยากรที่ใช้ผลิตเป็นสินค้าและบริการ ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน และการประกอบการ
- กลไกราคา - ภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงในระดับราคาสินค้าและบริการอันเกิดจากแรงผลักดันของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าจะผลิตสินค้าปริมาณเท่าใดและราคาเท่าใด
- อุปสงค์ (Demand) - ปริมาณความต้องการซื้อของลูกค้า ที่มีต่อสินค้าและบริการในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
- อุปทาน (Supply) - ปริมาณความต้องการขาย หรือปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง
กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และหน่วยเศรษฐกิจ คืออะไร?
ก่อนไปเจาะลึกระบบเศรษฐกิจว่ามีรูปแบบไหนบ้าง อยากให้น้องๆ ทำความเข้าใจเรื่องส่วนประกอบของระบบเศรษฐกิจกันก่อน เพราะทั้งสองมีส่วนสำคัญในการแบ่งระบบเศรษฐกิจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และหน่วยเศรษฐกิจ
กิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ การดำเนินกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ การบริโภค การผลิต และการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ส่วนหน่วยเศรษฐกิจ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยครัวเรือน หน่วยธุรกิจ และหน่วยรัฐบาล ซึ่งแต่ละหน่วยมีหน้าที่ดังนี้
1. หน่วยครัวเรือน - หน่วยเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป มีการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือปัจจัยด้านการเงิน เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ตนมากที่สุด ประกอบด้วย
- เจ้าของปัจจัยการผลิต คือ ผู้ที่มีปัจจัยการผลิต โดยเจ้าของจะนำปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ให้ผู้ผลิต เพื่อไปผลิตเป็นสินค้าและบริการ โดยได้รับค่าตอบแทนในรูปค่าเช่า ค่าจ้าง ดอกเบี้ย หรือกำไร เป้าหมาย ของเจ้าของปัจจัยการผลิต คือรายได้สุทธิสูงสุด
- ผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เป้าหมายของผู้บริโภค คือ ความพึงพอใจสูงสุด โดยสมาชิกของหน่วยครัวเรือนอาจทำหน้าที่เป็นทั้งเจ้าของปัจจัยการผลิต และเป็นผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน
2. หน่วยธุรกิจ - บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่เอาปัจจัยการผลิตมาผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ เพื่อนำไปขายผู้บริโภค เป้าหมายของผู้ผลิต คือ แสวงหากำไรสูงสุด, มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในธุรกิจนั้น, มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ หรือธุรกิจมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ในอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ
3. หน่วยรัฐบาล - บทบาทที่สำคัญที่สุดคือ เป็นตัวกลางในการควบคุมและรักษาสมดุลระหว่างหน่วยธุรกิจและหน่วยครัวเรือน ให้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ก็เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าของปัจจัยการผลิตในระบบเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ระบบเศรษฐกิจ คืออะไร?
เป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มของหน่วยเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหรือสถาบันที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่างในทางเศรษฐกิจ มีการปฏิบัติภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ นโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
อย่างที่เราทราบกันว่าทุกประเทศทั่วโลกเผชิญกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่แนวทางในการจัดการนั้นอาจแตกต่างกัน จึงเกิดเป็นที่มาของระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ นั่นเอง โดยเกณฑ์การจัดประเภทระบบเศรษฐกิจจะแบ่งตาม "ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจ" ดูหน้าที่การตัดสินใจทางเศรษฐกิจว่า อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับใคร ระหว่างรัฐกับเอกชน หรือผสมผสานระหว่างรัฐและเอกชน โดยทั่วไปนิยมแบ่งระบบเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระบบใหญ่ๆ ดังนี้
1.ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism)
มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ระบบเสรีนิยม หรือระบบตลาด (Market Economic) เป็นระบบเศรษฐกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง แต่จะทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย อำนวยความสะดวก และจัดสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ โดยที่จะยกอำนาจการตัดสินใจแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้กับเอกชน
เอกชนจะเป็นคนกำหนดทุกอย่างในระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสินค้าต่างๆ ออกมาจำหน่ายในราคาใดก็ตาม โดยใช้กลไกราคาหรือระบบตลาด เข้าไปช่วยในการตัดสินใจ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่า ควรผลิตสินค้าอะไร โดยใช้หลักถ้าสินค้าไหนที่มีคนต้องการมากที่สุด เมื่อผลิตแล้วขายได้ในราคาที่ดีที่สุด ผู้ผลิตก็จะเลือกผลิตสินค้านั้น โดยที่มีกำไรคือแรงจูงใจในการผลิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจนี้มีการแข่งขันทางราคาสูงมาก และเป็นไปอย่างเสรี ทั้งนี้ เพราะราคาถูกกำหนดขึ้นมาจากอุปสงค์และอุปทานของตลาด
จุดเด่นของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
- เอกชนเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเป็นเจ้าของทรัพย์สินและปัจจัยการผลิต
- กลไกราคามีบทบาทมาก เพราะเป็นตัวกำหนดราคาสินค้าและบริการ และมีกำไรเป็นแรงจูงใจในการผลิต
- รัฐไม่เข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจ มีบทบาทเพียงการรักษาความสงบเรียบร้อย ความยุติธรรม
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
- เอกชนมีเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
- กำไรและการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นแรงจูงใจในการผลิตและทำงาน เพราะยิ่งทำมากก็จะยิ่งมีรายได้มาก และมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ก่อให้เกิดแรงจุงใจทำงานเพิ่มขึ้น
- มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ หรือเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้เกิดการพัฒนาตลอดเวลา ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว
- มีการแข่งขันขายสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้มีการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพ และปริมาณของสินค้า
- ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกสินค้าและบริการในราคาและคุณภาพที่เหมาะสม
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
- เกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน ทำให้มีรายได้ไม่เท่ากัน นำไปสู่ปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม เกิดระบบกลุ่มนายทุนขึ้น
- นายทุนจะใช้กำไร หรือผลประโยชน์สูงสุดเป็นหลัก
- การผลิตในระบบทุนนิยมเป็นที่มาของการแข่งขันกันผลิต นำไปสู่การทำลายทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
- หากมีผู้ผลิตสินค้าและบริการน้อย อาจเกิดการรวมตัวกันผูกขาดการผลิตสินค้าชนิดนั้น ซึ่งทำให้ราคาสินค้าสูง ค่าแรงต่ำ เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค และผู้ใช้แรงงานโดนเอาเปรียบ
2. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)
เป็นระบบที่รัฐเข้าไปแทรกแซงและเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองของประเทศด้วย สามารถแบ่งได้เป็น ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งต่างกันดังนี้
2.1ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับทุนนิยม โดยระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์รัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรต่าง ๆ รวมทั้งปัจจัยการผลิตทุกชนิด เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ ตลอดจนเสรีภาพที่จะเลือกใช้ปัจจัยการผลิต
รัฐเป็นผู้ประกอบการ และทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งหน่วยธุรกิจและครัวเรือน จะผลิตและบริโภคตามคำสั่งของรัฐ อีกทั้งกลไกราคาไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจว่า ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ ควรจะนำมาผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร ซึ่งการตัดสินใจมักจะทำอยู่ในรูปของการวางแผนแบบบังคับจากส่วนกลาง (Central Planning) โดยจะเน้นการคำนึงถึงสวัสดิการของสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ
จุดเด่นของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
- การรวมอำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง รัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนแต่เพียงผู้เดียว เอกชนมีหน้าที่เพียงแต่ทำตามคำสั่งของทางการเท่านั้น
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
- ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้ของคนในสังคม
- เอกชนทำการผลิต และบริโภคตามคำสั่งของรัฐ ผลผลิตที่ผลิตขึ้นมาจะถูกนำส่งเข้าส่วนกลาง และรัฐจะจัดสรรหรือแบ่งปันสินค้าและบริการให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
- ประชาชนไม่มีเสรีภาพที่จะผลิตหรือบริโภคอะไรได้ตามใจ เพราะถูกบังคับหรือสั่งการจากรัฐ
- คุณภาพสินค้าไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ผลิตขาดแรงจูงใจเพราะไม่ว่าจะผลิตสินค้าได้มากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือก เพราะต้องบริโภคตามการปันส่วนที่รัฐจัดให้
- รัฐไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ทำให้ผลิตสินค้าไม่ตรงกับความต้องการ ส่งผลให้มีสินค้าเหลือ และสูญเสียทรัพยากรของประเทศโดยเปล่าประโยชน์
2.2 ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย
เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต วางแผน และควบคุมการผลิตบางประเภท โดยเฉพาะการผลิตที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่าง ด้านฐานะระหว่างคนรวยและคนจน เช่น สถาบันการเงิน ป่าไม้ สิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ การขนส่ง การคมนาคม การไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ โรงงานผลิตน้ำมัน
ส่วนเอกชนถูกจำกัดเสรีภาพในกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะส่วนที่เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม สามารถดำเนินการได้เพียงเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมขนาดย่อม
จุดเด่นของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย
- รัฐคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความยุติธรรมในการกระจายสินค้าและบริการแก่ประชาชน
- ไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่ยังคงให้เอกชนมีสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินส่วนตัวได้ เช่น ที่พักอาศัย
- มีการวางแผนจากส่วนกลาง รัฐสั่งการผลิตคนเดียว ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย
- ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้ของคนในสังคม
- ประชาชนได้รับสวัสดิการจากรัฐบาลกลางโดยเท่าเทียมกัน
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย
- ไม่มีระบบแข่งขันแบบทุนนิยมทำให้ไม่มีการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ
- ประชาชนขาดแรงจูงใจในการทำงาน เศรษฐกิจของประเทศอาจเผชิญวิกฤต หากรัฐกำหนดความต้องการผิดพลาด
สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ vs สังคมนิยมประชาธิปไตย
Note : สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รัฐไม่เปิดโอกาสใด ๆ ให้เอกชน รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมด ส่วนระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนได้มีส่วนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอยู่
3. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
เป็นระบบเศรษฐกินที่ผสมผสานข้อดีระหว่างระบบทุนนิยมกับสังคมนิยมเข้าด้วยกัน มีลักษณะคล้ายกับระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย จะต่างกันตรงที่ระบบเศรษฐกิจแบบผสมจะมีน้ำหนักค่อนไปทางทุนนิยมมากกว่า และบางครั้งก็มักถูกเรียกว่า ‘ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมใหม่’
สำหรับระบบนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการอย่างเสรี และมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมีบทบาทในการวางแผนกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่าง เช่น การรักษาความปลอดภัย การป้องกันประเทศ สาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่งและคมนาคม
ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้เอกชนดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ด้วย โดยที่รัฐจะคอยให้ความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในภาคเอกชน ด้วยการสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างถนน สะพาน สนามบิน ฯลฯ ไว้ให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์เพื่อดำเนินธุรกิจ
ส่วนกลไกราคาหรือระบบตลาดก็ยังเป็นสิ่งสําคัญในการกําหนดราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบผสมนี้ แต่รัฐก็ยังมีอํานาจในการเข้าไปแทรกแซงภาคเอกชน เพื่อกําหนดราคาสินค้าให้มีเสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมมีทั้งระบบราคา การแข่งขัน และการวางแผนจากส่วนกลาง รวมกันเป็นระบบเดียวกัน
ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในโลกล้วนแต่มีลักษณะของระบบเศรษฐกิจแบบผสมทั้งสิ้น ต่างกันตรงที่ประเทศไหนจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมที่ค่อนไปทางระบบทุนนิยม หรือระบบสังคมนิยมมากกว่า
จุดเด่นของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
- ทั้งรัฐและเอกชนมีส่วนร่วมวางแผนการผลิตอาจจะแบ่งหน้าที่ว่า เอกชนจะผลิตอะไร และรัฐบาลผลิตอะไร
- ราคาสินค้าและบริการเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทาน มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงตามกลไกราคา แต่รัฐบาลอาจเข้าแทรกแซงหรือควบคุมราคาบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นสูง
- เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและมีกรรมสิทธิ์ถือครองทรัพย์สินต่าง ๆ เหมือนในระบบทุนนิยม ได้แก่ ที่ดิน เครื่องจักร เงินทุน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นต้น
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
- มีความคล่องตัวในการดำเนินการ เพราะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของสภาพเศรษฐกิจได้ เช่น ถ้าเอกชนดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนสร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้ประชาชน รัฐบาลก็อาจเข้าไปควบคุมหรืออกกฎหมาย เพื่อไปกำกับได้ในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น
- รายได้ถูกนำมาเฉลี่ยให้ผู้ทำงานตามกำลัง ความสามารถที่กระทำได้ ไม่ใช่ตามความจำเป็น แรงจูงใจในการทำงานของประชาชนจึงดีกว่า
- เอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจ มีการแข่งขันกันผลิตสินค้า สินค้าที่ผลิตจึงมีคุณภาพ และประชาชนสามารถเลือกบริโภคได้
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
- การแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคม และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มักไม่มีประสิทธิภาพ
- การดำเนินการผลิตขนาดใหญ่โดยรัฐบาลนั้น มักขาดประสิทธิภาพ คุณภาพอาจจะไม่เท่าเทียมกับเอกชนผลิต
- การกำหนดนโยบายและการใช้อำนาจต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ทำให้นักธุรกิจขาดความมั่นใจในการลงทุน
- รัฐบาลไม่สามารถสั่งการแบบรีบด่วนได้ตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สรุป! ระบบเศรษฐกิจ 3 รูปแบบ
เพื่อให้น้องๆ เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าระบบเศรษฐกิจแต่ละรูปแบบมีลักษณะต่างกันยังไง พี่แป้งสรุปเป็นตารางเปรียบเทียบมาให้แล้วค่ะ
ระบบ เศรษฐกิจ | ทุนนิยม | สังคมนิยม | ผสม | |
คอมมิวนิสต์ | ประชาธิปไตย | |||
กรรมสิทธิ์ | เอกชนเป็นเจ้าของ (กฎหมายรับรอง) | รัฐเป็นเจ้าของทั้งหมด | เอกชนมีสิทธิ์แค่ ทรัพย์สินส่วนตัว เช่น ที่พักอาศัย | รัฐและเอกชน เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต |
กลไกการทำงาน | กลไกราคาและระบบตลาด | รัฐวางแผนจากส่วนกลางเป็นหลัก | นโยบายรัฐร่วมกับกลไกราคาและระบบตลาด | |
การแข่งขัน | การแข่งขันทางราคาสูง และเป็นไปอย่างเสรี | ไม่มีการแข่งขันต้องทำตามรัฐสั่งทุกอย่าง | ไม่สนับสนุนให้มีการแข่งขัน | การแข่งขันทางราคาสูง และเป็นไปอย่างเสรี |
บทบาทของรัฐบาล | ดูแลความสงบความปลอดภัยของประเทศ | ดูแลในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับสวัสดิการประชาชน | มีบทบาทมากที่สุดในด้านสาธารณูปโภค | วางแผนกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประการ |
ข้อดี | ผู้ผลิตมีอิสระในการผลิตสิ่งใหม่ๆ | ลดความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้ | ประชาชนได้รับสวัสดิการจากรัฐโดยเท่าเทียม | เกิดความสมดุลระหว่างรัฐและเอกชน |
ข้อเสีย | ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง | ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกบริโภคได้ตามใจ | ไม่มีการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ | นักธุรกิจไม่กล้าลงทุน เพราะนโยบายขึ้นอยู่กับรัฐ |
มาทดสอบความรู้กัน!
รู้จักระบบเศรษฐกิจทั้ง 3 รูปแบบกันไปแล้ว มาลองทดสอบความรู้ความเข้าใจกันค่ะ สำหรับข้อสอบที่นำมาให้น้องๆ ฝึกทำโจทย์ในวันนี้เป็นข้อสอบ A-Level วิชาสังคมศึกษาฯ จากโครงการ Dek-D Pre-Admission รอบพฤศจิกายน 2566
จงพิจารณาจากข้อมูลดังต่อไปนี้
ก.กลไกราคามีบทบาทน้อย
ข.ประชาชนสามารถถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้เต็มที่
ค.มีการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง
ง.มีเป้าหมายในการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม
ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้นมีความสอดคล้องในข้อใดมากที่สุด
1.ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย
2.ระบบเศรษฐกิจแบบผสม
3.ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
4.ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม
5.ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
จากข้อมูลที่โจทย์ให้น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบไหนกันคะ ถ้ารู้คำตอบแล้วคอมเมนต์ด้านล่างได้เลย!
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ถ้าน้อง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความรู้จากวิชาอะไร ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
0 ความคิดเห็น