Teen Coach EP.115 : ทักษะการยืนหยัดปกป้องสิทธิตัวเอง Assertive Skills ทักษะที่ทุกคนต้องมี!

เราพูดสิ่งที่ต้องการจริงๆ มากแค่ไหน? 

วันหนึ่งพี่หมอแมวน้ำรับเคสที่มาปรึกษาด้วยเรื่องเครียด คนที่มาปรึกษา ชื่อ “หน่อย” มากับคุณพ่อคุณแม่ เหตุผลที่มา คือ ต้องการปรับความเข้าใจกันในครอบครัว เพราะทะเลาะกันหนัก เคลียร์ไม่ได้

 

เรื่องมีอยู่ว่า…

 

“นิ้ง” “หน่อย” “นุ่น” เรียนอยู่ชั้นม.6 สามคนนี้เป็นเพื่อนที่สนิทกันมากตั้งแต่ประถม แต่ละคนมีความฝัน คือ การเรียนคณะบริหาร (BBA) เพราะอยากมีธุรกิจที่เป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ละคนพยายามปั้น Portfolio เช่น ลงแข่งเคสวางแผนธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ซึ่งการแข่งเคสจำเป็นต้องแบ่งเวลาในการเรียนและการอ่านหนังสือสอบให้กับงานนี้ เพียงแต่ว่าแต่ละคนติดเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถทำสิ่งที่เป็นความฝันได้อย่างเต็มที่

 

“นิ้ง” เรียนวิทย์-คณิต เธอเป็นเด็กเรียนดี ติดค่าย สอวน. ชีวะรอบ 2 ทั้งครูและคนที่บ้านพยายามสนับสนุนและกดดันให้นิ้งเรียนแพทย์ เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง มีหน้ามีตา เรียนจบแล้วชีวิตจะสบาย

 

“หน่อย” เรียนศิลป์-คำนวณ เก่งเลขมาก ใช้โปรแกรมที่เกี่ยวกับการเงินได้คล่องด้วยการศึกษาเองจาก YouTube วันหยุดช่วยงานที่บ้านได้ พ่อและแม่ที่เป็นนักบัญชีอยากให้นิ้งเจริญรอยตามด้วยการเรียน “บัญชี-บัญชี” ต่อด้วยการเป็น Auditor

 

“นุ่น” เป็นคนที่ทำงานด้านอาร์ตได้เก่งทุกอย่าง ส่งงานประกวดทีไรชนะทุกครั้ง ผลงานเข้าตาเอเจนซี่บริษัทโฆษณา มีงานป้อนมาให้เรื่อย ๆ บางบริษัทถึงกับจองตัวให้ไปทำงานเพราะคิดว่านุ่นจะเรียน Graphic Design ควบ Marketing

 

เดือนนี้มีโปรแกรมแข่งเคสรางวัลใหญ่เข้ามา ทั้งสามคนอยากลงแข่งมาก หากชนะโปรแกรมนี้แทบจะเรียกได้ว่าเข้าคณะ BBA ไปเกินครึ่งตัว เพียงแต่ติดที่ต่างคนต่างมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำ นิ้งต้องเรียนพิเศษติวเข้มเข้าแพทย์ หน่อยต้องช่วยที่บ้านทำงานบัญชีปิดงบ ส่วนนุ่นรับงานมาล้นเกินต้องรีบเคลียร์งาน

 

หากเราเป็นคนที่ต้องอยู่ในสถานการณ์นี้เราจะตัดสินใจอย่างไร? ลงแข่งตามที่ใจต้องการ ถามพ่อแม่ดูก่อน หรืออีกหลากหลายคำตอบที่เกิดขึ้นได้

ทักษะการยืนหยัดปกป้องสิทธิตัวเอง หรือ Assertive Skills

เป็นทักษะที่ช่วยให้เราบอกคนอื่นถึงความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่เราต้องการต่อเรื่องนั้น ความสำคัญของทักษะนี้ คือ ช่วยให้สื่อสารกับคนอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ให้ความเคารพกับความเห็นต่าง ช่วยเพิ่ม self esteem และบอกปฏิเสธสิ่งที่เราไม่ต้องการได้

การยืนหยัดปกป้องสิทธิตัวเองเป็นการแสดงออกถึงความเคารพในตัวเอง (self-respect) ในขณะที่เราเองก็พยายามทำความเข้าใจมุมมองความเห็นของคนอื่นด้วย โดยที่เราไม่ได้แสดงความก้าวร้าวคุกคามคนอื่นหรือยอมจนตัวเองถูกเอาเปรียบ แต่ละคนมีทักษะนี้ต่างกันด้วยหลายเหตุปัจจัย เช่น พื้นอารมณ์ที่ติดตัวมาแต่เกิด (temperament), สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู, บริบทของสังคมที่อาศัยอยู่

วิธีการรับมือเมื่อเรามีความต้องการของตนเอง

ตอบโต้ด้วยการยอมคนอื่น (Passive) 

เดิมอาจเป็นคนขี้กังวล ขี้อาย ยอมรับทุกสิ่งอย่างที่คนอื่นพูดหรือโยนมาให้ เพราะไม่อยากจะมีปัญหากับใคร แม้จะไม่เต็มใจทำก็ตาม ผลที่ตามมา คือ คนอื่นจะไม่เข้าใจความคิด ความรู้สึกของเรา เปรียบเสมือนเราไม่ได้เคารพตัวเองด้วย เพราะยอมทำเพื่อให้คนอื่นสบายใจ จนละเลยความต้องการของตัวเอง

เช่น “นิ้ง” ไม่กล้าขอพ่อแม่เข้าร่วมประกวดเคสครั้งนี้ เธอพยายามจะพูด “แม่คะ…นิ้งอยาก” แม่พูดสวนกลับมาทันที “แม่จัดตารางเรียนพิเศษให้ลูกทุกวิชาแล้ว พยายามหน่อยนะจะได้เป็นหมอให้ครอบครัวเราภูมิใจ” นิ้งฟังแล้วไม่ได้พูดต่อ รู้สึกผิดที่จะทำตามความต้องการของตัวเอง เพราะเธอต้องรับผิดชอบความรู้สึกของคนรอบตัวให้พวกเขาสมหวัง 

ผลที่ตามมา คือ การยอมทำทั้งที่ใจไม่อยาก นำไปสู่การเกิดความเครียด ความไม่พอใจ ความโกรธ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเหยื่อที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สิ้นหวัง ขาดความมั่นใจในตัวเอง

ตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง (Aggressive)

การตอบโต้ด้วยรูปแบบนี้คนอื่นจะมองว่าเป็นคนก้าวร้าว ไม่มีมารยาท หรือรู้สึกว่าเราไปข่มขู่ ทำให้เขาเกิดความกังวลหวาดกลัว แม้คนอื่นจะยอมทำตามสิ่งที่เราต้องการ แต่เป็นการทำอย่างไม่เต็มใจ โกรธ เสียใจ รู้สึกลบ เจ็บใจ คิดแก้แค้นเอาคืน

เช่น “หน่อย” เดินไปบอกพ่อแม่ด้วยเสียงดังว่า “หนูจะลงแข่งการทำเคสโปรแกรมใหญ่นะ ต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้เลย” พ่อถามว่า “อ้าวแล้วงานบัญชีส่วนที่หน่อยรับปากว่าจะทำล่ะ” หน่อยหงุดหงิดที่พ่อเข้าใจยากเลยกลายเป็นตะคอกใส่ “นั่นเป็นเรื่องของพ่อที่ต้องจัดการ งานนี้สำคัญหนูต้องทำ หนูจะทำ!!! ไม่ต้องพูดเรื่องนี้กันอีกนะ รำคาญ”  แล้วเดินขึ้นห้องปิดประตูเสียงดัง พ่อกับแม่ตกใจมากกับท่าทีก้าวร้าวของหน่อย

ผลที่ตามมาจากการสื่อสารแบบก้าวร้าว ทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึก เสียสัมพันธภาพ เลยพยามหลีกเลี่ยงไม่อยากยุ่งด้วย หรือตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงเหมือนกัน

ตอบโต้กลับด้วยการดื้อเงียบ (Passive -  Aggressive)

หากเราเลือกวิธีนี้ เราจะพูดรับปากไปอย่างนั้น หรือนิ่งเงียบ เพื่อให้เรื่องจบไป จนอีกฝ่ายคิดว่าเราจะทำตามที่ตกลงกันไว้ แต่ที่จริงเราไม่ยอมทำตาม ทำให้ความเสียหาย เสียความรู้สึกในภายหลังได้

เช่น  หน่อยเดินไปบอกพ่อแม่ว่า “หนูจะลงแข่งการทำเคสโปรแกรมใหญ่นะ ต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้เลย” พ่อถามว่า “อ้าวแล้วงานบัญชีส่วนที่หน่อยรับปากว่าจะทำล่ะ” เธอชักสีหน้าเล็กน้อย เลือกที่จะไม่พูดเจรจาต่อรอง ตอบด้วยน้ำเสียงเย็นชา “อ๋อ ได้ค่ะ” สุดท้ายหน่อยเลือกที่จะทำงานแข่ง แต่ไม่ทำงานบัญชีของที่บ้าน ทำให้วันที่กำหนดส่งงาน พ่อถูกลูกค้าต่อว่าและบอกจะยกเลิกสัญญาการทำงานกับบริษัทของพ่อ

ตอบโต้กลับด้วยการยืนหยัดความต้องการของตัวเอง (Assertive)

หากเราได้บอกความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่เราต้องการออกไป สิ่งที่ได้กลับมานอกจากการได้ในสิ่งที่เราต้องการแล้ว เราจะเพิ่มความมั่นใจและ self-esteem ให้กับตัวเอง คิดว่าเรายังสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ มีความเข้าใจในความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ได้รับความเคารพจากคนอื่น สื่อสารออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ เคลียร์ความเห็นต่างด้วยการทำให้เกิดผลลัพธ์แบบ ชนะ-ชนะ (win-win situation)  ทำให้สัมพันธภาพดีขึ้น

เช่น “นุ่น” โทรคุยกับเอเจนซี่ที่ไปรับงานมา “พี่คะหนูขอโทษด้วยที่ไม่สามารถทำงานนี้ได้ หนูเสียใจเพราะมันเป็นงานที่น่าทำ แต่หนูติดธุระที่สำคัญมาก ถ้ายังไงหนูจะแนะนำเพื่อนอีกคนที่มีความสามารถ น่าจะทำงานนี้ได้เหมือนกัน หนูบรีฟงานให้เค้าแล้ว หนูขออนุญาตให้เพื่อนติดต่อพี่นะคะ”

วิธีการฝึกทักษะยืนหยัดปกป้องสิทธิตัวเอง (Assertive skills)

1. ใช้ “I-message” ในการสื่อสาร

การสื่อสารรูปแบบนี้เป็นการพูดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเรา ไม่ได้ไปตำหนิต่อว่าคนอื่น คนฟังจะได้ไม่รู้สึกแย่หรือต่อต้านเนื้อหาที่เรากำลังพูด เป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ฉัน+ความรู้สึก+ความคิด+สิ่งที่ต้องการ” 

เช่น

 

นิ้ง: “แม่คะ หนูเครียดที่ต้องเรียนพิเศษเยอะ หนูคิดว่ายังพออ่านเองได้ หนูอยากลงแข่ง xxx กับเพื่อนค่ะ”

 

หน่อย: “พ่อคะ หนูรู้สึกแย่ที่ไม่สามารถทำงานส่วนที่พ่อมอบหมายมาให้ได้ หนูขอโทษด้วย เพราะหนูอยากแข่ง xxx กับเพื่อนค่ะ ”

2. เรียนรู้และกล้าที่จะปฏิเสธ

คนเรามีความต้องการเป็นของตัวเอง เป็นไปไม่ได้ที่จะทำถูกใจใครได้หมด เราต้องทำความเข้าใจถึงความรู้สึกและความคิดความต้องการของตัวเอง เรามีสิทธิ์ที่จะบอกปฏิเสธเวลาที่คนอื่นต้องการอะไรบางอย่างจากเรา ส่วนอีกฝ่ายจะคิดอย่างไรเป็นเรื่องของเขาที่ต้องรับผิดชอบความรู้สึกตัวเอง เช่น 

นุ่น: “หนูขอโทษด้วยค่ะที่ไม่สามารถรับงานเพิ่มได้ ตอนนี้หนูติดธุระและยุ่งมาก”

การบอกปฏิเสธเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน เช่น คนที่ชอบเอาใจคนอื่น หากปฏิเสธไปเกิดความกังวลว่าอีกฝ่ายจะไม่พอใจขึ้นมา เช่น เรารับผิดชอบงานกลุ่มในปริมาณที่เยอะมากอยู่แล้ว วันศุกร์มีเพื่อนในกลุ่มโทรมาโยนงานให้เราทำ ด้วยเหตุผลว่าจะไปเที่ยวทะเล ทั้งที่งานต้องพรีเซนต์วันจันทร์ เรารับปากจะทำให้ไม่กล้าปฏิเสธ กลายเป็นว่าทั้งวันเสาร์และอาทิตย์เราทำงานหนัก ได้นอนวันละ 3 ชั่วโมง วงจรชีวิตพังและไม่ได้ไปเรียนพิเศษอีก ดังนั้น หากเราไม่เรียนรู้และฝึกทักษะการปฏิเสธและยืนหยัดสิทธิของเรา ชีวิตเราจะไม่ใช่ของเราแต่เป็นไปตามที่คนอื่นต้องการ ตัวเราเองจะรู้สึกแย่ที่ไม่สามารถควบคุมอะไรอะไรในชีวิตได้ (sense of mastery) ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (low self-esteem) อาจมีปัญหาอารมณ์ตามมา เช่น วิตกกังวล, ซึมเศร้า

ภาษากาย (body language) ที่ใช้เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการปฏิเสธ เช่น ยืดตัวตรง ใช้ระดับเสียงปกติแต่หนักแน่น พูดด้วยความมั่นใจ สบตาอีกฝ่าย เลี่ยงการกอดออกเพราะจะดูเป็นศัตรูจนเกินไป

วิธีการฝึกปฏิเสธคนอื่นอาจเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ เช่น ไม่รับงานเวรทำความสะอาดที่เพื่อนโยนมาให้ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ปฏิเสธไม่เรียนคณะที่ครอบครัวบังคับให้เรียน ก่อนที่จะพูดปฏิเสธ ลองเขียนสคริปต์ ฝึกพูดซ้ำ ๆ ทำท่าประกอบที่หน้ากระจก หรือฝึกกับเพื่อนให้ช่วยฟีดแบ็คให้

3. ควบคุมอารมณ์ให้สงบ

 เมื่อเราต้องเจอกับเรื่องความเห็นต่าง อารมณ์ที่เกิดร่วมมักเป็นลบ เช่น กลัว กังวล โกรธ หากเรายังท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ อย่าเพิ่งไปคุยเจรจา เพราะเราจะไม่สามารถยืนหยัดสิทธิความเห็นของเราได้มากพอ ดีไม่ดีเป็นการสาดอารมณ์ด่าทอใส่กัน เรื่องยิ่งพังหนักกว่าเดิม เป็นการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ รอให้ใจเย็น สงบก่อน แล้วค่อยไปคุย

4. เสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง

การที่เรากล้าบอกความต้องการของตัวเอง เราต้องมีความมั่นใจในตัวเอง (Self-Confidence) นำไปสู่การมีความภาคภูมิใจในตัวเองที่ดี (Healthy Self-Esteem) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ สร้าง เช่น การประสบความสำเร็จ (Sense of Achievement) เริ่มจากสิ่งที่ทำได้  อย่างการทำตาม To Do Lists ได้ครบ หรือทำการบ้านเสร็จครบส่งตามเวลาที่กำหนด ไปจนถึงการแข่งขันแล้วชนะ

5. ยอมรับคำวิจารณ์และความเห็นต่างได้

เมื่อเราบอกสิ่งที่เราคิดกับความต้องการออกไป อีกฝ่ายมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยและมีข้อโต้แย้งหรือเจรจาต่อรอง หากเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ (Constructive Criticism) เราต้องย้อนกลับมาคิดทบทวน หากยังยืนยันคำตอบเดิมในตอนแรกก็บอกไป แต่ถ้าเริ่มเปลี่ยนใจให้ให้คุยปรึกษากันอย่างไม่ใช้อารมณ์

ฝึกเรื่องการเห็นอกเห็นใจ (empathy) ลองคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อทำความเข้าใจอีกฝ่าย

ทักษะยืนหยัดความต้องการของตัวเอง (Assertive skills) มักใช้เวลาที่เรามีความคิดเห็นต่างกับอีกฝ่าย หากเราใช้ทักษะนี้ได้คล่อง แนวโน้มผลลัพธ์จะออกมาดี คือ ชนะ-ชนะ (win-win situation) เราได้ทั้งสิ่งที่เราต้องการอีกฝ่ายก็ได้เหมือนกัน และยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับอีกฝ่ายได้

สิ่งที่ทำในการรักษา คือ พี่หมอแมวน้ำเป็นตัวกลางในการทำความเข้าใจความต้องการของแต่ละฝ่าย รับฟังความคิดความรู้สึกต่อเรื่องที่เกิดขึ้น แนะนำทางแก้ปัญหาเรื่องการแข่งขัน ปรับวิธีการสื่อสารทั้งฝั่งหน่อยเองและพ่อแม่ ในการนัดติดตามอาการครั้งต่อมา หน่อยขอโทษพ่อแม่และบอกว่าต้องการเข้าคณะ BBA แม้พ่อแม่จะยังอยากให้เรียนบัญชี การปฏิเสธครั้งนี้นุ่มนวล จนพ่อแม่ยอม เพียงแต่ขอให้หน่อยช่วยงานบัญชีที่บ้านบ้าง ส่วนการแข่งขันนั้นนิ้งไม่ได้แข่งเพราะต้องติวสอบ ส่วนหน่อยกับนุ่นยังจับมือกันแน่น และกำลังเจรจาหาเพื่อนมาร่วมทีมเพิ่ม

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ…หลังจากที่ได้อ่านเรื่องการยืนหยัดปกป้องสิทธิตัวเอง (Assertiveness) กันไปแล้ว ในวัฒนธรรมตะวันตก การทำสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ในสังคมไทยคนบางส่วนยังมีความคิดเรื่องลำดับชั้น (Seniority) เช่น ลูกต้องฟังพ่อแม่ คนอายุน้อยต้องฟังรุ่นพี่ ให้ตอบรับห้ามปฏิเสธ เรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยากหน่อย เพราะอาจถูกตีความว่าการที่เราบอกความคิดเห็นของเราแสดงถึงความไม่มีมารยาท ก้าวร้าว และอื่น ๆ แต่หากเรายืนหยัดที่จะทำด้วยความอ่อนน้อม ทำตัวให้น่าเอ็นดู โอกาสที่เราจะใช้ทักษะนี้แล้วเจรจาสำเร็จน่าจะเพิ่มขึ้นนะคะ

ถ้าใครลองฝึกแล้วเจอปัญหา หรือมีข้องใจ มีเรื่องราวอยากแชร์ คอมเมนต์กันได้เลย พี่หมอแมวน้ำยินดีรับฟังค่าาา

Referencehttps://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/assertive/art-20044644https://www.theknowledgeacademy.com/blog/how-to-improve-assertiveness-skills/https://www.mindtools.com/amjhdie/assertiveness

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”
 

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น