. . . . . . . . .
ไม่มีใครไม่รู้จักผลงานของ ‘พี่บอส-นฤเบศ กูโน’ ผู้กำกับมากความสามารถที่สร้างสรรค์ซีรีส์คุณภาพประดับวงการสื่อบันเทิงมาแล้วหลายเรื่อง นับตั้งแต่ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซัน 3, Side by Side พี่น้องลูกขนไก่, รักฉุดใจนายฉุกเฉิน My Ambulance’ และแปลรักฉันด้วยใจเธอ จนตอนนี้พี่บอสก้าวมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องแรกอย่าง ‘วิมานหนาม’ ซึ่งนำเสนอประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย และปัญหาต่าง ๆ ที่คู่รัก LGBTQ+ จำต้องเผชิญ ก่อนที่สมรสเท่าเทียมจะผ่านการรับรองทางกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้
Dek-D Podcast จะพาทุกคนไปย้อนรอยเส้นทางชีวิตสุดเข้มข้นที่เต็มไปด้วยแพชชันของพี่บอส พร้อมทั้งถอดรหัสเบื้องหลัง ‘วิมานหนาม’ ภาพยนตร์ดราม่า-ทริลเลอร์จากค่าย GDH ที่กระแสแรงตั้งแต่ยังไม่เริ่มฉาย
‘ร้านเช่าวิดีโอ’ บ้านที่หล่อหลอมให้อยากเป็นผู้กำกับ
พี่บอส: เริ่มต้นจากการที่ครอบครัวทำธุรกิจ ‘ร้านเช่าวิดีโอ’ ทำให้เราเติบโตท่ามกลางบรรดาหนังหลากหลายประเภท ขณะที่เด็กคนอื่นเล่นของเล่น แต่เรานั่งดูการ์ตูนและหนังไปเรื่อย ๆ จนเริ่มซึมซับไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่ ซึ่งหล่อหลอมให้เราชื่นชอบในงานศิลปะและความสวยงาม รวมถึงถูกปลูกฝังเกี่ยวกับละครและภาพยนตร์โดยไม่รู้ตัว เราสนุกกับการพูดคุยเรื่องหนังกับพ่อแม่บนโต๊ะอาหาร ตอนไปโรงเรียนก็ชอบชวนเพื่อนเล่นละครด้วยกัน นอกจากนี้ เรายังชอบวาดรูปด้วย ทําให้มองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นภาพ เรารู้ว่าตัวเองชอบเกี่ยวกับศิลปะ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามันคืออาชีพอะไร
จากการวาดรูป สู่การวาดเส้นเรื่อง
พี่บอส: เราสอบเข้า ม.1 ด้วยความสามารถด้านศิลปะ ทำให้เรารู้ว่า ‘การวาดรูป’ คือสิ่งที่เราทำได้ดี เราต้องฝึกซ้อมในตอนเย็นของทุกวัน จึงเหลาดินสอวาดรูปไปด้วยความรู้สึกว่า มันคือหน้าที่ที่ต้องทำ ในขณะเดียวกันก็สนุกกับการประกวดต่าง ๆ แต่เมื่อวาดรูปไปถึงจุดหนึ่งกลับเกิดคำถามว่า เราชอบการวาดรูปจริง ๆ เหรอ ทำไมเราจึงรู้สึกสนุกกับมันมากพอแล้ว ทำไมไม่อยากทำสิ่งนี้ไปเรื่อย ๆ ? อาจเป็นเพราะเรากระโจนลงไปทำงานด้านนี้อย่างเต็มที่แล้ว ทำให้ไม่ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ
ช่วงนั้นชอบดู Music Video และซีรีส์เกาหลีที่ออกอากาศทางช่องเจ็ด นำไปสู่การค้นพบความชอบใหม่ของตัวเอง เราชอบจินตนาการภาพในหัวว่า ตัวละครที่มีบุคคลิกแบบนี้ควรจะแต่งตัวแบบไหนในสถานที่นั้น แต่ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด ทำให้ทางเลือกต่าง ๆ ในการเรียนมหา’ลัยดูน่ากลัวไปเสียหมด เรากลัวสู้เด็กกรุงเทพฯ ไม่ได้ จึงลองเลือกทางที่ปลอดภัยกว่าอย่างการวาดรูป
จนกระทั่งสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รอบรับตรง เรากลับไม่ดีใจ และไม่เห็นตัวเองอยู่ตรงนั้น เพราะเราอยากสร้างสรรค์งานศิลปะที่เป็นภาพเคลื่อนไหวมากกว่าบนกระดาษ เราอยากทำสิ่งที่สนุก และทำให้มีความสุข จึงตัดสินใจยื่นสมัครคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อีกครั้ง ซึ่งพ่อแม่ก็ซัปพอร์ตเต็มที่ พื้นฐานครอบครัวที่ปล่อยให้ลูกเลือกทางเดินชีวิตเอง ทำให้เรารู้ตัวเร็วว่าอยากทำอะไร
ตกหลุมรัก ‘การแสดง’
พี่บอส: เราเลือกคณะนิเทศไปด้วยความรู้สึกอยากทำหนังหรือซีรีส์ แต่เมื่อได้ลองเรียนและทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว เราหลงรักการแสดงมาก ๆ ซึ่งไม่ใช่การแสดงด้วยตนเอง แต่คือการดูและวิเคราะห์การแสดงของคนอื่น จึงเลือกเรียนสาขาสื่อสารการแสดง (PA: Performing Arts) เพราะอยากทำการแสดงผ่านร่างกายคนให้ดี รวมถึงเรียนรู้เรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และตรรกะ (Logic) ของมนุษย์
“เรามองว่า ผู้กำกับที่ดีควรมีความรู้ด้านใดด้านหนึ่งที่รู้ดีจริง ๆ ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสได้ทำหนัง เราอยากมีเรื่องที่รู้จริง ไม่ต้องเก่งที่สุดก็ได้ แต่ขอรู้จริงและสนุกจริงในสักด้าน ซึ่งการแสดงตอบโจทย์ที่สุดสำหรับเรา”
บทเรียนจากการเป็น ‘ผู้กำกับละครนิเทศ จุฬาฯ’
พี่บอส: การเป็นผู้กำกับละครเวทีนิเทศ จุฬาฯ ในช่วงปี 4 ทำให้เข้าใจกระบวนการทำละครต่าง ๆ เช่น การทำฉาก เสื้อผ้า และการแสดงที่อยู่ตรงหน้าจริง ๆ รวมถึงงานนี้เป็นการทำงานร่วมกันทั้งคณะ ทำให้มีทีมงานจำนวนมาก การประสานและจัดการงานต่าง ๆ จึงยากขึ้น เนื่องจากผู้กำกับเปรียบเสมือนศูนย์กลางหรือหัวหน้างาน การตัดสินใจต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับผู้กำกับเป็นส่วนใหญ่ และทุกคนจะต้องการคำตอบจากเรา ถ้าผู้กำกับตัดสินใจถูกคือถูกเลย ถ้าตัดสินใจผิดก็ผิดเลยเช่นกัน
“สิ่งที่ได้เรียนรู้และนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้คือคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ บางครั้งเรากลัวว่าจะตอบหรือเลือกผิด แต่โชคดีที่ทีมงานทุกคนเป็นเพื่อนกัน ทำให้คำว่า ‘พลาด’ ในใจมันจางลง”
ผลงานที่เคยทำพลาด แต่มันไม่เป็นไร
พี่บอส: ‘รักฉุดใจนายฉุกเฉิน My Ambulance’ มีสิ่งที่ผิดพลาดเยอะมาก เช่น การแสดงไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากละครมีจำนวนตอนเยอะ และถ่ายทำสลับตอนไปมา ทำให้เราไม่แม่นยำมากพอ อีกทั้งยังเลือกท่ายากหลายอย่างเกินไปสำหรับตัวเองในตอนนั้น เพราะเราไม่มีประสบการณ์เรื่องเทคนิคการแพทย์ หรือ CG มาก่อน แต่ ‘พี่ย้ง-ทรงยศ’ ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่เป็นไร ถ้าออนแอร์ไปแล้ว ผู้ชมด่าเต็มทวิตเตอร์ว่า CG ไม่เนียน ตอนถัดไปต้องไม่เป็นแบบนี้อีก เราแก้ไข CG จนกว่าจะออกมาดี ถ้าไม่ดี เราไม่ปล่อย
เส้นทางการทำงานร่วมกับนาดาว และ GDH
พี่บอส: หลังจากเรียนจบ มีโอกาสได้มาเขียนบทซีรีส์ Hormones 3 The Final Season จากการชักชวนของ ‘พี่ปิง-เกรียงไกร’ รุ่นพี่นิเทศ จุฬาฯ ตอนนั้นฮอร์โมนดังทั่วบ้านทั่วเมือง ทุกคนในทีมเขียนบทมีประสบการณ์อยู่แล้ว เราจึงกลัวว่าการไปอยู่ตรงนั้นจะทำให้งานเสียหาย กลายเป็นว่าในช่วงเดือนแรก เรานั่งเงียบตลอดการประชุม เพราะไม่กล้าพูดในสิ่งที่คิด กลัวคนอื่นตัดสินว่าสิ่งที่เราพูดมันผิด แต่สภาพแวดล้อมในทีมปลดล็อคความกลัวของเรา พี่ ๆ จะคอยถามว่า เราคิดเห็นอย่างไร และตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูดจริง ๆ การทำงานกับทีมฮอร์โมนสอนให้เรารู้ว่า อย่าไปกลัวความคิดเห็น เพราะการทำงานในวงการนี้ต้องเผชิญกับความคิดเห็นจำนวนมากทั้งก่อนและหลังซีรีส์ออนแอร์ เมื่อเปลี่ยนมายเซ็ตตัวเองก็สนุกกับการทำงานเลย
“กลัวได้ แต่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างอยู่ดี เพราะไม่งั้นงานไม่เสร็จ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในตัวเรา”
ประจวบเหมาะกับที่พี่ย้งต้องการผู้กำกับร่วม (Co-Director) ในโปรเจกต์นี้เพิ่มพอดี เราจึงได้ทำหน้าที่นั้นด้วย เพราะจริง ๆ ‘การกำกับ’ คือความฝันที่เราอยากทำ แต่เรามีแค่ประสบการณ์กำกับละครเวที ไม่เคยกำกับหนังผ่านจอมอนิเตอร์มาก่อน การทำงานนี้จึงทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการถ่ายซีรีส์มีกระบวนการอย่างไร จนได้ก้าวขึ้นเป็นผู้กำกับเต็มตัวในซีรีย์เรื่องแรก Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ ซึ่งตอนนั้นพี่ ๆ ทีมงานจะช่วยแนะนำเรื่องการถ่ายทำ ส่วนเรามีหน้าที่ดูแลเรื่องบทซีรีส์และการแสดงให้ดี จากนั้นก็กำกับซีรีส์มาเรื่อย ๆ จนตอนนี้ผันตัวมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องแรกอย่าง ‘วิมานหนาม’
‘Connection’ เครื่องมือสำคัญที่ทำให้ความสามารถได้เฉิดฉาย
พี่บอส: สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘ความสามารถ’ ถ้าเรามีความสามารถจริง ๆ วันหนึ่งเราจะได้อยู่ในที่ที่เหมาะกับตัวเอง แต่ Connection เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คนอื่นมองเห็นความสามารถของเราได้ง่ายขึ้น สำหรับงานแรกในชีวิตมาจากความสามารถ 50% และ Connection อีก 50% เพราะพี่ปิงรู้จักเราจากการมาดูละครนิเทศ จุฬาฯ แต่ถ้าวันนั้น ผลงานของเราออกมาไม่ดี พี่ปิงก็คงไม่เห็นอะไรในตัวเรา Connection มันก็แค่นั้น แค่รู้จักกัน แต่คงไม่ชวนเราไปทำงานด้วย
ความท้าทายในการก้าวมาเป็น ‘ผู้กำกับหนัง’
พี่บอส: ความท้าทายสำหรับการทำหนังคือต้องเล่าทุกอย่างภายใน 2 ชั่วโมง เราจะทำอย่างไรให้ผู้ชมรู้สึกถึงหนึ่งอารมณ์ในหนึ่งภาพ แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการกำหนด ‘กลุ่มเป้าหมายหรือผู้ชม’ เพราะหนังในยุคนี้ งานนิช (Niche) ไปเลยก็อาจจะดัง งานแมส (Mass) ก็อาจจะดี หรือคนจะไม่เข้าโรงหนังก็ได้ ทำให้จับทางคนดูได้ยาก กลุ่มเป้าหมายไม่ชัดเจน ไม่มั่นใจว่าใครมาจะดูหนังของเรา ทำได้เพียงสร้างสรรค์ผลงานที่ตัวเองชอบให้ดีที่สุด เดี๋ยวผู้ชมก็จะมาดูงานของเราเอง
สารตั้งต้นในการริเริ่มโปรเจกต์ ‘วิมานหนาม’
พี่บอส: เมื่อมีโอกาสได้กำกับหนังจึงหยิบประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ ซึ่งเคยสนใจตั้งแต่ตอนกำกับซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ มาลองขยายเป็น Premise หรือไอเดียหลักของเรื่อง “จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีคู่รัก LGBTQ+ คู่หนึ่งทำสวนผลไม้ด้วยกัน แต่เพราะพวกเขาแต่งงานกันไม่ได้ เมื่อคนหนึ่งเสียชีวิต ครอบครัวจึงเอาทุกอย่างไป”
เหตุผลที่ต้องเป็นสวนทุเรียน เนื่องด้วยตัวหนังที่พูดถึงความเป็นวิมาน ความมีคุณค่า และสรวงสวรรค์ ซึ่งความพิเศษของ ‘ทุเรียน’ คือการปลูกต้องใช้ระยะเวลาถึง 5 ปี กว่าจะได้เก็บเกี่ยว แต่เมื่อนำไปขายก็สร้างรายได้หลักล้าน ถือเป็นผลไม้ที่แพงที่สุดในไทย ทั้งกระบวนการและราคาทำให้ ‘สวนทุเรียน’ กลายเป็นวิมานที่ทุกคนอยากครอบครอง นอกจากนี้ ทุเรียนยังเป็นตัวแทน ‘ความรัก’ ระหว่างทองคำและเสกสรร เพราะทั้งคู่ฟูมฟัก อดทน ฝ่าฝันทำสวนมาด้วยกัน วันหนึ่งที่พวกเขาอยากแต่งงาน และมีชีวิตที่ดี พร้อมกับลูกทุเรียนที่เตรียมขาย แต่ความฝันนั้นกลับพังทลายหายไป
เปลือกนอกของทุเรียนเป็นหนามแหลมคมที่น่ากลัว แต่ข้างในมีเนื้อนุ่มหอมหวาน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงตัวละครในหนังเรื่องนี้ แม้ภายนอกจะเป็นหนามทิ่งแทง แต่หากวิเคราะห์ไปถึงเนื้อในของตัวละครจะพบความต้องการที่แท้จริง และความบริสุทธิ์ของแต่ละคน ทุกตัวละครมีเหตุผลของตัวเองที่อยากเป็นเจ้าของที่นี่ ‘ทองคำ’ เสียสวนทุเรียนไปหลังแฟนหนุ่มเสียชีวิต เขาจึงกลับมาทวงคืนสิทธิ์ที่ควรเป็นของเขา ‘โหม๋’ ที่พยายามแย่งชิงสวนทุเรียน แต่จริง ๆ แล้ว เธอแค่ต้องการมีชีวิตที่ดี หรือ ‘แม่แสง’ ที่มองว่า ลูกชายที่เสียไปทิ้งสวนนี้ไว้ให้แม่อย่างเขา ตัวละครทั้งสามนี้ต่างใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมาโดยตลอด
“ความแตกต่างคือแปลรักฉันด้วยใจเธอเป็นซีรีส์ที่ใสซื่อบริสุทธิ์ เกี่ยวข้องกับวัยเยาว์ที่กำลังเรียนรู้กัน แต่วิมานหนามเป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องการต่อสู้เพื่อแย่งชิงสวนทุเรียน นำเสนอช่วงวัยผู้ใหญ่ที่พร้อมพร้อมหยุดนิ่งเสถียรแล้ว แต่ชีวิตกลับไม่มั่นคง และความรักที่เคยครอบครองก็ปลิวหายไป โดยกล่าวถึงเรื่องสิทธิและความเป็นเจ้าของ ทำให้การตั้งคำถามต่อสังคมนั้นเข้มข้นกว่า”
‘การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง’ นำไปสู่ ‘วัตถุดิบในการทำหนัง’
พี่บอส: ‘การ Research หรือสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง’ ทำให้มองเห็นภาพของหนังที่กว้างขึ้น ซึ่งเพิ่มเติมส่วนที่เราไม่มีประสบการณ์ร่วม เช่น คนเราอาจจินตนาการได้ว่า ถ้าสูญเสียบางอย่างไป แล้วจะทวงคืนเช่นไร แต่มันเป็นเพียงความคิดเบื้องต้น ถ้าไม่เคยสัมผัสเหตุการณ์จริง ก็ไม่มีวันเข้าใจว่ารู้สึกอย่างไร หรือจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
การทำงานส่วนนี้จึงสำคัญมาก เพราะทำให้พบเจอประเด็นที่น่าสนใจ เขียนบทได้ราบรื่น รวมถึงทำให้ออกแบบได้ว่า ตัวละครควรแต่งกายอย่างไร เพื่อให้การถกเถียงในฉากนั้นเข้มข้นขึ้น และสะท้อนถึงความยากจนของตัวละคร หรือการกำหนดสถานการณ์อย่าง ‘งานบวช’ ทำให้บทสนทนาของตัวละครมีมิติมากขึ้น นอกจากนี้ การดูหนังหรือซีรีส์เรื่องอื่น ๆ ก็ช่วยต่อเติมมุมมองการทำงานให้กว้างขึ้นได้เช่นกัน ทุกอย่างส่งเสริมให้งานครีเอทีฟนั้นครีเอทีฟได้มากกว่าเดิม
โดยทีมงานวิมานหนามสัมภาษณ์ LGBTQ+ ที่แฟนเสียชีวิต ซึ่งครอบครัวแฟนเอาทุกอย่างคืนไปจริง ๆ เขาเล่าว่า “ครอบครัวแฟนจะเอาอะไรไปก็ได้ แต่อย่าเอาผ้าขนหนูไป เพราะผ้าขนหนูผืนนั้นเป็นของขวัญที่แฟนซื้อให้” ทำให้เราเข้าใจความสูญเสีย และความรู้สึกใจสลายอย่างถ่องแท้ ด้านการทำสวนทุเรียนก็เป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก ตอนเขียนบทจะมีคำถามเกิดขึ้น เช่น หางแย้ทุเรียน หรือทุเรียนเล็ก-โตคืออะไร ? ทีมงานจึงต้องโทรหาชาวบ้านที่ทำสวนตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อขอคำตอบจากคนที่ทำงานจริง สุดท้ายคือการ Research เกี่ยวกับกฎหมายว่าในปัจจุบันสภาพสังคม และทัศนคติของผู้คนต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร
แนวทางการทำงานร่วมกับนักแสดง
พี่บอส: นักแสดงต้องคล้ายคลึง มีประสบการณ์ร่วม หรือเชื่อมโยงกับตัวละครได้ เพราะบทภาพยนตร์เรื่องนี้มันยากและต้องการความเข้าใจสูง ไม่ใช่การเล่าเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไป ดังนั้น ถ้านักแสดงมีวัตถุดิบอยู่แล้วก็จะเข้าใจตัวละครและบทได้ง่ายขึ้น ซึ่งนักแสดงที่แคสมาค่อนข้างตรงกับตัวละคร เช่น ‘อิงฟ้า วราหะ’ ชีวิตตอนเด็กลำบากมาก พยายามต่อสู้และฝันฝ่ากว่าจะมาเป็นอิงฟ้าในวันนี้ ทำให้อิงฟ้าสามารถเข้าใจและเทียบเคียงความรู้สึกของตัวละคร ‘โหม๋’ เช่น ความน้อยเนื้อต่ำใจ ส่วน ‘เก่ง-หฤษฎ์’ เป็นคนพะเยา พูดสำเนียงพื้นเมืองได้ เคยปีนต้นไม้ และอยู่ในป่าในเขา สิ่งที่เติบโตมาตั้งแต่เด็กตรงกับตัวละคร ‘จิ่งนะ’ ที่ต้องพูดสำเนียงภาคเหนือ และปีนต้นทุเรียน ทักษะเหล่านี้อาจฝึกฝนได้ แต่ถ้านักแสดงมีพื้นฐานอยู่แล้ว ทำให้เขาเข้าใจวิถีชีวิตนั้น ส่งผลให้หนังมีเสน่ห์ขึ้น
ส่วนที่นักแสดงแตกต่างจากตัวละครสามารถเติมเต็มด้วยการเวิร์กชอปเพิ่มเติม เพื่อให้เขากลายเป็นตัวละครที่สมบูรณ์ เนื่องจากหนังเรื่องนี้มีอารมณ์หลายระดับ นักแสดงทุกคนจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกาย ผ่านศาสตร์ที่มีชื่อว่า ‘จักระ’ เช่น การกำมือแสดงถึงความโกรธ การกระทืบเท้าคือความไม่พอใจ ทำให้นักแสดงได้พบเจออารมณ์ที่แปลกใหม่ เช่น อิงฟ้าไม่เคยกรี๊ด แต่ศาสตร์นี้พาอารมณ์อิงฟ้าไปถึงจุดที่กรี๊ดได้ หรือ ‘เจฟ ซาเตอร์’ ไม่เคยแสดงซีรีส์แล้วร้องไห้ แต่เมื่อร่างกายเซนซิทีฟมาก ทำให้เขาร้องไห้ออกมาเองทั้งที่ไม่มีในบท
มากไปกว่านั้น นักแสดงยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาตัวละคร เมื่อทำงานไปเรื่อย ๆ นักแสดงจะรู้จักตัวละครดีที่สุด เพราะนักแสดงต้องเข้าใจภูมิหลังต่าง ๆ ของตัวละคร เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกต่าง ๆ ออกมา บางครั้งเจฟจะเสนอว่า “ในสถานการณ์นี้ ทองคำน่าจะแสดงออกแบบอื่นมากกว่า” หรืออิงฟ้าก็เคยบอกว่า “โหม๋รู้สึกมากขนาดนี้แล้ว ไม่น่าจะพูดคำนี้” เราจึงต้องนำจุดเหล่านี้ไปคุยกับทีมงาน แล้วปรับเปลี่ยนบทให้เหมาะสม ทำให้หนังดูสมจริงมากขึ้น
สิ่งที่อยากให้ผู้ชมได้กลับไปมากที่สุดจากหนังเรื่องนี้
พี่บอส: ‘วิมานหนาม’ ไม่ได้พูดถึงเพียงเรื่องคู่รัก LGBTQ+ แต่งงานกันไม่ได้ แต่สอดแทรกความไม่เท่าเทียมในหลายประเด็น อยากให้เกิดการถกเถียงของผู้ชมหลังดูหนังจบ ส่วน ‘ทริลเลอร์’ ที่ผู้ชมจะได้สัมผัสนั้นแตกต่างจากหนังเรื่องอื่น โดยผสมผสานความดราม่า เชือดเฉือน และชั้นเชิงระหว่างตัวละคร จนกลายเป็นหนังชีวิตสุดระทึกขวัญ ซึ่งเป็นรสมือของเราจริง ๆ
“ลายเซ็นที่โดดเด่นในการกำกับน่าจะเป็นการแสดง พี่อยากทำงานที่มีการแสดงที่สนุก อย่างโจทย์ของวิมานหนามคือ การทำให้ ‘ตัวละคร’ เหมือนเป็น ‘คนที่มีอยู่จริง’ ในขณะที่หลายเหตุการณ์ก็อัศจรรย์ยิ่งกว่าละคร แต่กลับเป็นชีวิตจริงที่สมจริง เราจะพานักแสดงไต่อารมณ์ไปจนถึงจุดที่ต้องการได้อย่างไร รวมถึงทำให้ผู้ชมเชื่อเหมือนกับเรา”
เป้าหมายถัดไปในอนาคต
พี่บอส: เป้าหมายใหม่คืออยากเปิดบริษัทผลิตซีรีส์ของตัวเอง รวมถึงอยากลองถ่ายทำด้วยวิธีการหรือโจทย์ใหม่ที่ท้าทายขึ้น เช่น ถ่ายซีรีส์ด้วยโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้ไหม ส่วนประเด็นที่อยากถ่ายทอดในผลงานชิ้นถัดไปคือ ความรู้สึกนึกคิดระหว่างทางการเติบโตของคน หรือคอนเทนต์เกี่ยวกับวัยรุ่น
“เพดานความสำเร็จของเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับว่า งานปัจจุบันจะพาเราไปที่จุดไหนต่อไป ตอนทำฮอร์โมน อยากกำกับซีรีส์สักเรื่อง พี่น้องลูกขนไก่จึงเกิดขึ้น ผลงานชิ้นถัดไปคือ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน เพราะอยากทำละครโทรทัศน์ หลังจากนั้นอยากลองทำซีรีส์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็กำกับเรื่องแปลรักฉันด้วยใจเธอ ซึ่งทำให้อยากนำเสนอประเด็นสมรสเท่าเทียมบนจอภาพยนตร์ กลายเป็น ‘วิมานหนาม’ ในวันนี้”
ข้อความถึงน้อง ๆ ที่อยากเป็นผู้กำกับ หรือกำลังทำตามความฝัน
พี่บอส: ในคณะนิเทศ ทุกคนจะมีความเอนเตอร์เทนเมนต์หลากหลายรูปแบบ มีความสนใจต่างกัน และโดดเด่นในแบบของตัวเอง สิ่งที่ดีที่สุดคือการยึดมั่นในความเป็นตัวเอง ต่อให้เราเป็นคนกลาง ๆ ก็โดดเด่นแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบจับฉ่าย หรือถ้าเรามีทางของตัวเอง เราก็ทำทางนั้นให้ดีที่สุด แน่นอนว่าการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นนั้นหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ถ้าเปรียบเทียบแล้ว มันต้องเกิดการแก้ไขปัญหา
ณ วันนี้คนเก่งเยอะมาก เราต้องกล้าเลือกสักทาง ถ้าเลือกแล้วไม่ใช่ก็เปลี่ยนได้ คนเรามีโอกาสที่จะได้ลองทำในสิ่งที่ชอบ จะดีที่สุดไหมไม่สำคัญ ขอแค่ทำแล้วตัวเองมีความสุขจริง ๆ จุดเริ่มต้นคือลงมือทำไปเลย ยิ่งในตอนนี้ทุกคนมีโทรศัพท์อยู่ในมือ ความฝันเป็นจริงได้ง่ายขึ้น พยายามลงมือทำมากกว่าพูด ให้การกระทำผลักเราไปที่ใหม่ ๆ น้องจะค้นพบดินแดนใหม่ ประสบการใหม่ ทุกอย่างจะกล่อมเกลาให้เราเติบโตขึ้นเอง
ไม่ว่าน้อง ๆ จะอยากเรียนต่อคณะอะไร หรือทำชีพไหน หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยทลายกำแพงความกลัวให้หายไป และเพิ่มกำลังใจในการทำตามความฝันของน้อง ๆ นะ สำหรับใครที่ยังไม่มั่นใจในเป้าหมายของตัวเองก็ไม่เป็นไร เพียงแค่ลองทำสิ่งที่ชอบต่อไป แล้ววันหนึ่งน้อง ๆ จะค้นพบคำตอบเอง
สุดท้ายนี้ อยากชวนทุกคนไปเปิดประสบการณ์ใหม่จาก ‘วิมานหนาม’ หนังที่มีรสชาติเข้มข้นเหมือนทุเรียน ภายนอกอาจเต็มไปด้วยหนามแหลมคม แต่ข้างในกลับมีเนื้อที่หอมหวาน ซึ่งสามารถรับชมได้ที่โรงภาพยนตร์ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 พี่จา Dek-D Podcast และพี่บอสขอตัวลาไปก่อน แล้วเจอกันใหม่ EP. หน้านะ
. . . . . . . . .
เขียน/สัมภาษณ์ พี่จา Dek-D Podcast
กราฟิกดีไซน์ พี่มัดหมี่ Dek-D Podcast
บรรณาธิการ พี่ฟิวส์ Dek-D Podcast
ขอขอบคุณ GDH
0 ความคิดเห็น