ทำความรู้จัก! ภูมิศาสตร์ประเทศไทย ทั้ง 6 ภาค ออกสอบบ่อย

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ในวันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘ภูมิศาสตร์ประเทศไทย’ ซึ่งเป็นหัวข้อที่น้อง ๆ ต้องเจอในการสอบอยู่บ่อยครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของลักษณะภูมิประเทศ และภูมิอากาศของแต่ละภาค ดังนั้น เรามาดูไปพร้อมกันว่าทั้ง 6 ภาค มีลักษณะต่างกันอย่างไรบ้าง รวมถึงท้ายบทความมีความรู้จากข่าวน้ำท่วมภาคเหนือ และแบบทดสอบจากข้อสอบจริงมาให้น้องๆ ทดลองทำด้วยค่ะ  

ทำความรู้จัก! ภูมิศาสตร์ประเทศไทย ทั้ง 6 ภาค ออกสอบบ่อย
ทำความรู้จัก! ภูมิศาสตร์ประเทศไทย ทั้ง 6 ภาค ออกสอบบ่อย

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนแผ่นดินใหญ่ที่เรียกว่า “คาบสมุทรอินโดจีน (แหลมทอง)” ประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประทศอินโดนีเซีย และพม่า โดยประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย  

  • พรมแดนที่ติดกับพม่า เริ่มที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางตะวันตก ผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน สิ้นสุดที่ จ.ระนอง มีทิวเขา 3 แนว และแม่น้ำ 2 สาย เพื่อกั้นพรมแดน ได้แก่ ทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาตะนาวศรี แม่เมย จ.ตาก และแม่น้ำกระบุรี จ.ระนอง
  • พรมแดนที่ติดกับลาว เริ่มที่ อ.เชียงแสน ไปทางทิศตะวันออก ผ่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย สิ้นสุดที่ จ.อุบลราชธานี มีแม่น้ำโขง และทิวเขาหลวงพระบางเป็นเส้นกั้นพรมแดนตอนบน ส่วนพรมแดนตอนล่างมีทิวเขาพนมดงรัก (บางส่วน) เป็นเส้นกั้นพรมแดน
  • พรมแดนที่ติดกับกัมพูชา เริ่มที่บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจอนล่าง จาก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี  ไปทางตะวันตกสิ้นสุดที่ จ.ตาก มีทิวเขาพนมดงรัก ทิวเขาบรรทัด เป็นเส้นกั้นพรมแดน
  • พรมแดนที่ติดกับมาเลเซีย คือพรมแดนทางใต้ของไทย จังหวัดชายแดนภาคนี้มีอยู่ 4 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส มีเทือกเขาสันกาลาคีรี และแม่น้ำโกลก จ.นราธิวาส เป็นเส้นกั้นพรมแดน
15 เทือกเขาสำคัญของไทย
15 เทือกเขาสำคัญของไทย

นี่ก็คือภาพรวมของประเทศไทยที่พี่แป้งสรุปมาให้น้องๆ ค่ะ ต่อไปเรามาทัวร์ทั่วไทยกันดีกว่าว่าในแต่ละภาคมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างไรบ้าง  โดยการแบ่งภูมิภาค ตามคณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ. 2522 จะแบ่งตามเกณฑ์ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ นอกจากนี้อาจจะมีเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรมด้านเชื้อชาติ ภาษา และความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยแบ่งออกเป็น 6 ภาค ได้แก่

ภาคเหนือ  

ภาคเหนือ ประกอบด้วย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์  

ลักษณะภูมิประเทศภาคเหนือ  

ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีเทือกเขาสูงทอดยาวขนานกัน และระหว่างเทือกเขามีหุบเขาสลับกันอีกด้วย ซึ่งเทือกเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาหลวงพระบาง เทือกเขาแดนลาว เทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาขุนตาล และเทือกเขาเพชรบูรณ์ ส่วนยอดเขาที่สูงที่สุดก็คือ ดอยเขาอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ สูงถึง 2,595 เมตร จากระดับน้ำทะเล นั่นเอง  

เทือกเขาในภาคเหนือเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน ที่เราคุ้นหูกัน ซึ่งแม่น้ำทั้ง 4 สายจะไหลผ่านเขตที่ราบหุบเขา พื้นที่ทั้งสองฝั่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เหมาะกับการเพาะปลูก ทำให้ผู้คนอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำจำนวนมาก

ลักษณะภูมิอากาศภาคเหนือ  

เนื่องจากภาคเหนือเป็นทิวเขาเกือบทั้งหมด ทำให้มีอากาศหนาวมากกว่าภาคอื่นๆ ถ้าเข้าสู่ฤดูหนาวอากาศจะค่อนข้างเย็นถึงหนาวจัด แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนอากาศก็จะร้อนถึงร้อนจัดเช่นกัน

ระบบน้ำในภาคเหนือส่งผลต่อภาคกลางและภาคตะวันตกอย่างไร?  

ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ภาคเหนือมีปริมาณน้ำมาก ภาคกลางและภาคตะวันตกก็จะได้รับปริมาณน้ำด้วย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันก็จะเกิดสูง แต่ถ้าเกิดภาคเหนือแห้งแล้ง แน่นอนว่าภาคกลางและภาคตะวันตกก็จะได้น้ำน้อยลง และเกิดภัยแล้งนั่นเอง  

ภาคกลาง

ภาคกลาง ประกอบด้วย 22 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม

ลักษณะภูมิประเทศภาคกลาง

ภาคกลาง มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำผืนใหญ่ที่สุดของประเทศ เกิดจากพื้นที่ยุบต่ำเป็นแอ่ง ทําให้เป็นที่รองรับโคลนตะกอนต่างๆ ที่แม่น้ำพัดพามาทับถม แบ่งพื้นที่ย่อยออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาคกลางตอนบน  มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบลูกฟูก (rolling plains) มีลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาสลับกับที่ราบ และมีภูเขาที่มีแนวต่อเนื่องจากภาคเหนือ เข้ามาถึงพื้นที่บางส่วนของ จ.พิษณุโลก และเพชรบูรณ์  

ส่วนภาคกลางตอนล่างเป็นพื้นที่ราบกว้างเกิดจากการทับถมของตะกอน หรือดินเหนียวที่น้ำพัดมาทับถมกัน และเกิดเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน  นอกจากแม่น้ำเจ้าพระยายังมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ตอนบนจะเหมาะกับทำไร่ เพราะเป็นดินร่วนปนดินทราย ส่วนตอนล่างจะเหมาะกับการทำนา เพราะเป็นดินร่วนปนดินเหนียว โดยภาคกลางถือว่าเป็นที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศอีกด้วย จึงทำให้ภาคกลางมีชื่อเรียกว่า อู่ข้าว อู่น้ำ ของไทย

ลักษณะภูมิอากาศภาคกลาง

ภาคกลางมีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน คือ มีฝนตกปานกลาง และสลับกับฤดูแล้ง บริเวณภาคกลางตอนล่างจะมีปริมาณฝนมากกว่าตอนบน เนื่องจากมีพื้นที่ติดทะเล ดังนั้น ความชื้นจากทะเลจึงพัดเข้ามา ทำให้ภาคกลางตอนล่างมีฝนมากกว่าตอนบนนั่นเอง

ทำไมภาคกลางจึงประสบปัญหาดินทรุดและน้ำท่วมขัง?

เนื่องภาคกลางมีลักษณะพื้นที่ยุบเป็นแอ่ง และเป็นภาคที่รับน้ำมาจาก 3 ภาค นั่นคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้ช่วงที่ฝนตกหนัก หรือฤดูน้ำหลากก็จะเกิดน้ำท่วมได้ง่ายๆ เลย  

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ภาคอีสาน  ประกอบด้วย 20 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู และบึงกาฬ  

ลักษณะภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งคล้ายกระทะ พื้นลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีขอบภูเขาสูงทางด้านตะวันตกและทางใต้ ขอบด้านตะวันตก ประกอบด้วย เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก ส่วนพื้นที่ด้านตะวันตกเป็นที่ราบสูง เรียกว่าที่ราบสูงโคราช โดยภูเขาบริเวณนี้จะเป็นภูเขาหินทราย และมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่หลายคนรู้จัก เช่น ภูกระดึง ภูหลวง จ.เลย  

ส่วนแม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล มีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาตะวันตกและทิศใต้ ไหลลงมาสู่แม่น้ำโขง ทำให้สองฝั่งแม่น้ำเกิดเป็นที่ราบและเกิดเป็นน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งพื้นที่ว่างมักจะมีทะเลสาบรูปแอ่งจำนวนมาก แต่ทะเลสาบเหล่านี้จะมีน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น เพราะเมื่อถึงฤดูร้อนน้ำในทะเลสาบก็จะเหือดแห้งไปหมดเลย เพราะดินส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ น้ำจึงซึมผ่านได้เร็วนั่นเอง

ลักษณะภูมิอากาศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนชื้นสลับกับฤดูแร้ง มีฝนตกปานกลาง ในฤดูร้อนจะร้อนจัดและแห้งแล้ง ฤดูฝนมักจะพบปัญหาฝนทิ้งช่วงอยู่เสมอ บางพื้นที่มีภูเขากั้นฝนไว้ทำให้ฝนตกน้อย  ในขณะเดียวกันเมื่อถึงฤดูหนาวอากาศก็จะค่อนข้างหนาว เพราะได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือไปเต็มๆ ฝนที่ตกส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาจากพายุดีเปรสชันทางทะเลจีนใต้ที่พัดเข้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนก็จะได้รับฝนไปเต็มๆ  ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนน้อยกว่านั่นเอง  

ทำไมน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานีถึงท่วมขังเป็นเวลานาน?

เนื่องจากภูมิประเทศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ที่ลาดเอียงไปทิศตะวันออกเฉียงใต้  จึงทำให้เวลาน้ำท่วมน้ำจะไหลเทมารวมกันที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นแอ่งสุดท้ายที่รวมเอาน้ำทั้งจากแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขงนั่นเอง ซึ่งถ้าหากบริเวณนั้นมีการสร้างบ้านขวางทางน้ำก็จะยิ่งทำให้น้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรง และทำให้ท่วมขังนานมากขึ้นไปอีก เพราะการระบายน้ำใช้เวลานาน  

ภาคตะวันตก

ภาคตะวันตก ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์  

ลักษณะภูมิประเทศภาคตะวันตก

ภาคตะวันตก จะคล้ายกับภาคเหนือ คือ มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง สลับกับหุบเขาแคบๆ แต่ไม่มีที่ราบระหว่างภูเขาเหมือนภาคเหนือ และที่ราบไม่กว้างขวางเหมือนภาคกลาง ประกอบด้วย เทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาตะนาวศรี ที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ ทั้งสองสายจะบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง ที่ไหลลงภาคกลาง และมีแม่น้ำสาละวินที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า  

นอกจากนี้ มีหุบเขาที่เป็นเหวลึก จึงไม่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐาน โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะตั้งถิ่นฐานกันแถวแม่น้ำแม่กลอง หรือแม่น้ำตรงชายฝั่งทะเล ตรงภาคตะวันตกตอนล่าง ทำให้ประชากรในตอนบนน้อยกว่าตอนล่างนั่นเอง  

ลักษณะภูมิอากาศภาคตะวันตก

ภาคตะวันตก มีอากาศร้อนชื้นสลับกับฤดูแล้ง มีฝนตกน้อยกว่าภาคอื่น เนื่องจากมีเทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งกําบังลมที่พัดจากอ่าวเบงกอล และจากทะเลอันดามันที่เข้ามาในภาคนี้ ภาคตะวันตกจึงเป็นเขตที่เรียกว่า พื้นที่อับฝน (rain shadow) โดย จ.ตาก เป็นจังหวัดที่มีปริมาณฝนน้อยที่สุดในภาคตะวันตก ในทางตรงข้ามถ้าเป็นภาคตะวันตกตอนล่างที่ติดทะเล จะมีความชื้นมากกว่าตอนบนนั่นเอง

ภาคตะวันตกเป็นเขตเงาฝน แต่ทำไมประสบปัญหาภัยแล้งน้อยกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ?

ภาคตะวันตกเป็นเขตเงาฝนก็จริง แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเขตเทือกเขาสูง จึงเหมาะกับการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำที่สุด เนื่องจากมีหุบเขาขนาดใหญ่ และแม่น้ำภาคนี้ต่างจากภาคเหนือที่เป็นแค่สายสั้นๆ แต่ภาคตะวันตกรับน้ำมาจากภาคเหนือทำให้แม่น้ำมีสายยาว และมีน้ำไหลตลอดปีจึงเหมาะกับการสร้างเขื่อน ในภาคนี้มีเขื่อนใหญ่ๆ เยอะมาก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนเขาแหลม และเขื่อนในภาคนี้ก็ไม่ได้ทำหน้าที่กักเก็บน้ำอย่างเดียว แต่ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นแหล่งพลังงานได้ด้วย จะเห็นได้ว่าภาคนี้มีเขื่อนเยอะ และทุกจังหวัดมีแม่น้ำไหลผ่าน ดังนั้น ถึงเป็นเขตเงาฝนแต่ก็มีน้ำสำรองที่กักเก็บเอาไว้นั่นเอง

ภาคตะวันออก

ภาคตะวันออก ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ลักษณะภูมิประเทศภาคตะวันออก

ภาคตะวันออก มีพื้นที่ตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ตอนกลางมีเทือกเขาจันทบุรี ทางตะวันออกมีเทือกเขาบรรทัด เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยและกัมพูชา และมีที่ราบชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ที่อยู่ระหว่างเทือกเขาจันทบุรีกับอ่าวไทย แต่ถึงแม้ว่าภาคตะวันออกจะเป็นพื้นที่ราบแคบๆ ก็ยังเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกผลไม้  

นอกจากนี้ ยังมีเทือกเขาสำคัญอยู่ 3 ลูก คือ เทือกเขาสันกำแพง (กั้นระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เทือกเขาจันทบุรี และเทือกเขาบรรทัด โดยทั้ง 3 ลูกนี้เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำ เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี โดยเทือกเขาบรรทัดจะคอยกั้นลมมรสุม เมื่อลมมรสุมพัดมาจึงทำให้เกิดฝนปะทะภูเขา ส่งผลให้จันทบุรีและตราดที่อยู่บริเวณหน้าภูเขานั้นมีปริมาณฝนเยอะมาก

ลักษณะภูมิอากาศภาคตะวันออก

ลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันออกคล้ายกับภาคใต้ ตอนกลางของภาคที่มีภูเขาสูง ลักษณะนี้จะมีอิทธิพลต่อภูมิอากาศทำให้ภาคตะวันออกได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ผ่านอ่าวไทย เข้าสู่ตอนในของภาคจึงทำให้ภูมิอากาศของภาคตะวันออกต่างกัน คือ บริเวณชายฝั่งจะมีฝนตกชุก ส่วนตอนในของภาคมีฝนตกน้อยนั่นเอง

ทำไมภาคตะวันออกและภาคใต้ มีแม่น้ำสายสั้นๆ และทำไมภาคใต้จึงไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนภาคตะวันออก ทั้งที่เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ เหมือนกัน?

เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นภาคที่มีเทือกเขาตั้งอยู่ตรงกลางของภาคเลย จึงทำให้แม่น้ำที่มีเป็นเพียงสายสั้นๆ ถึงแม้แม่น้ำในภาคตะวันออกและภาคใต้จะสั้นเหมือนกัน แต่ภาคใต้จะไม่เจอปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนภาคตะวันออก เพราะภาคตะวันออกเป็นแม่น้ำสายสั้น สร้างเขื่อนลำบาก ปริมาณฝนก็น้อยกว่าภาคใต้ ดังนั้นจึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำนั่นเอง  

ภาคใต้

ภาคใต้ ประกอบด้วย 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต พัทลุง ตรัง ปัตตานี สงขลา สตูล นราธิวาส และยะลา

ลักษณะภูมิประเทศภาคใต้

ภาคใต้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรแคบและยาวลงไปในทะเล ถูกขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน คือ อ่าวไทย (ด้านตะวันออก) และทะเลอันดามัน (ด้านตะวันตก) มีทิวเขาที่เป็นแกนของคาบสมุทรและที่ราบชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน โดยที่ราบด้านชายฝั่งตะวันออกกว้างกว่าตะวันตก ชายฝั่งด้านตะวันออกเป็นชายฝั่งที่ราบเรียบและยกตัวสูง เกิดการทับถมง่าย น้ำตื้น ส่วนชายฝั่งด้านตะวันตกเป็นชายฝั่งทะเลจมตัว ทำให้ฝั่งทะเลขรุขระเว้าแหว่ง เกิดการกัดเซาะง่าย น้ำจะลึกกว่า และมีเกาะน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก  

แม่น้ำของภาคใต้เป็นสายสั้นๆ คล้ายกับภาคตะวันออก แต่เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ที่ไม่ขาดแคลนน้ำ เพราะภาคใต้ติดทะเล ดังนั้นก็จะได้รับความชื้นจากลมทะเลทั้งสองฝั่งเลย ทำให้มีน้ำตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาสำคัญอย่าง เทือกเขาภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราช และมีเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียอีกด้วย

ลักษณะภูมิอากาศภาคใต้

ภาคใต้ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ได้รับแสงอาทิตย์น้อยกว่าภาคอื่น และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกชุกตลอดทั้งปี ส่งผลให้ภาคใต้มีเพียงฤดูร้อนและฤดูฝน จนถูกเรียกว่า “ดินแดน ฝน 8 แดด 4”  

ภาคใต้เป็นภาคที่ได้รับอิทธิพลทางพายุหนักมาก พายุที่ก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้และพัดเข้ามาในภาคใต้จะต่างจากพายุที่พัดเข้าสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เพราะทั้ง 3 ภาคนี้ มีประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชากั้นอยู่ ทำให้พายุใต้ฝุ่นถูกลดกำลังลงไป กลายเป็นฝนตกธรรมดา แต่ภาคใต้ไม่มีอะไรกั้นเลย ดังนั้นเมื่อพายุไต้ฝุ่นพัดเข้ามา ปริมาณความแรงก็ไม่ได้ถูกลดลง ทำให้ภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ฝนตกหนักมากจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้

 ทำไมประชากรในภาคใต้ตั้งถิ่นฐานฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามัน ยกเว้นภูเก็ต

ภูเก็ตมีการตั้งถิ่นฐานเยอะอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเขตท่องเที่ยว ทำให้คนอพยพมากันมากขึ้น แต่เหตุผลที่คนนิยมตั้งถิ่นฐานฝั่งอ่าวไทยมากกว่าอันดามัน เพราะคนส่วนใหญ่นิยมตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบ ซึ่งฝั่งอ่าวไทยมีที่ราบมากกว่าฝั่งอันดามันทำให้ตั้งถิ่นฐานได้ง่ายยกว่า เนื่องจากฝั่งอันดามันมีชายหาดเสียส่วนใหญ่

สรุปลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทย ครบ 6 ภาค

ภูมิศาสตร์ไทย 6 ภาค ออกสอบบ่อย
ภูมิศาสตร์ไทย 6 ภาค ออกสอบบ่อย

ความรู้จากข่าว น้ำท่วมภาคเหนือ ปี 2567

ตามลักษณะภูมิประเทศภาคเหนือเป็นภาคที่มีภูเขาจำนวนมาก ซึ่งภูเขาถือเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำ เนื่องจากมีเขตต้นน้ำอยู่ในที่สูงและมีป่าไม้คอยซับน้ำด้วย ดังนั้น ต้นน้ำในภาคเหนือก็จะมีมาก ทำให้มีแม่น้ำหลายสายแต่จะเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ เนื่องจากเป็นเพียงต้นน้ำ เพราะฉะนั้นปริมาณน้ำจึงมีไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง แม้จะมีแม่น้ำปิงวังยมน่านที่เป็นแม่น้ำสายใหญ่รวมกันก็ยังไม่เพียงพอ  

 

ในทางตรงกันข้ามเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนหากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับที่ จ.เชียงราย กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็จะก่อให้เกิดการชะล้างหน้าดินในที่สูง ทำให้น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันนั่นเอง โดยทั่วไปเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ทั้งน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง มีโอกาสเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกันในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พายุหมุนเขตร้อน และร่องความกดอากาศต่ำที่พัดผ่านภูมิภาคนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ได้ให้ข้อมูลว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้  ไม่ได้เกิดจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นจากอิทธิพล ‘พายุยางิ’ เท่านั้น แต่ปัจจัยหลักเป็นเพราะฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2567 ซึ่งพบว่ามีปริมาณฝนมากกว่าปกติถึง 50-60% ทำให้ดินไม่มีความสามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลาก และเกิดน้ำท่วม

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝนที่ตกในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นน้ำท่าที่มีปริมาณมหาศาลไหลลงสู่ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาต่างๆ อย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าปริมาณน้ำในภาคเหนือก็จะส่งผลกระทบต่อภาคภาคกลางและภาคตะวันตกด้วยเช่นกัน เพราะแม่นํ้าจากภาคเหนือจะไหลต่อเนื่องสู่ภาคกลางและภาคตะวันตก  

ควิซจำจังหวัด  

นอกจากความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ที่คัดสรรมาให้น้องๆ แล้ว วันนี้พี่แป้งก็มีควิซสนุกๆ มาให้น้องๆ ได้ทดลองความจำกันค่ะ ทุกคนพอจะแยกออกไหมว่าแต่ละจังหวัดอยู่ส่วนไหนในแผนที่ประเทศไทยบ้าง มาลองเล่นกันได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย!

ควิซจำจังหวัด

มาทดสอบความรู้กัน!

ทำความเข้าใจเรื่องลักษณะภูมิศาสตร์ของแต่ละภาคในไทยกันไปแล้ว ถึงเวลามาทดสอบความรู้กันแล้วค่ะ สำหรับข้อสอบที่นำมาให้น้องๆ ฝึกทำโจทย์ เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจกันในวันนี้มี 2 ข้อด้วยกัน เป็นข้อสอบ  A-Level วิชาสังคมศึกษา จากโครงการ Dek-D’s Pre Admission รอบพฤศจิกายน 2566 และข้อสอบ O-NET วิชาสังคมศึกษา ปี 2560 ถ้าพร้อมแล้วเริ่มทำได้เลย!

 

1) ภาคกลางของประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่ม่ความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด แต่เพราะเหตุใด จ.อุทัยธานี จึงมีความหนาแน่นประชากรน้อยที่สุด (โครงการ Dek-D’s Pre-Admission รอบพฤศจิกายน 2566)  

1. เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรม

2. เนื่องจากเป็นบริเวณที่ราบชายฝั่ง

3. เนื่องจากเป็นป่าและภูเขาสูงสลับซับซ้อนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลาง

4. เนื่องจากมีภูมิอากาศร้อนและแห้งแล้ง  

5. เนื่องจากเป็นที่ราบหรือแอ่งแผ่นดินและมีน้ำไหลผ่าน

___________________________________________________________________

 

2) บริเวณชายขอบที่ราบภาคกลางที่มีลักษณะเป็นเนินตะกอนรูปพัด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรตามข้อใดได้เหมาะสมที่สุด (O-NET สังคมศึกษาฯ ปี 2560)  

1. การทำนาปี - นาปรัง

2. สวนผักและผลไม้

3. การเพาะปลูกพืชไร่

4. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

5. การปลูกสนสองใบ

 

น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่าข้อไหนถูกต้อง ถ้ารู้แล้วว่าก็คอมเมนต์ด้านล่างได้เลย!  

 

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาสังคมศึกษาฯ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

 

ข้อมูลจากhttps://www.youtube.com/watch?v=QlBD-tnofP8  https://www.bbc.com/thai/articles/clynlpz097yo  

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น