เรื่องนี้โรงเรียนไม่ได้สอน : รู้ทัน 'สมัครงานมิจฉาชีพ' เอะใจไว้ก่อน ถ้าเจองานแบบนี้!

งานสบาย รายได้ดี ทำวันละ 2-3 ชั่วโมง มีอยู่จริงๆ มั้ยนะ?

ช่วงปิดเทอมแบบนี้น้องๆ หลายคนอาจจะกำลังหางาน part time  ทำ หารายได้เสริม หรือน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ก็อาจจะกำลังมองหางานทำ ซึ่งในโซเชียลมีเดียก็จะมีแฟนเพจ มีกรุ๊ปต่างๆ  ที่มีประกาศรับสมัครงานเอาไว้มากมาย ซึ่งงานที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุดก็จะเป็น "งานด่วน ทำง่าย รายได้ดี มี Work From Home"  ดูดีขนาดนี้ แต่อย่าเพิ่งยื่นใบสมัครนะคะ เพราะอาจจะเป็นการหลอกสมัครงาน แทนที่จะได้เงิน อาจทำให้เราเป็นคนเสียเงินได้! 

ลักษณะของมิจฉาชีพหลอกสมัครงานเป็นแบบไหน? คอลัมน์เรื่องนี้โรงเรียนไม่ได้สอน รวบรวมมาให้แล้วค่ะ 

 

15 จุดสังเกต 'งานมิจฉาชีพ'

  • เสียเงินเพื่อสมัครงาน, อบรม  :  งานที่ให้ผู้สมัครจ่ายเงิน หรือโอนเงินเป็นค่าสมัคร มักจะให้เหตุผลว่า มีคนสมัครงานเป็นจำนวนมาก และต้องการรับคนที่อยากทำงานจริงๆ จึงต้องจ่ายเงินค่าสมัครไว้ก่อน 
     
  • มีค่าประกันงาน, ประกันอุปกรณ์ :  อาจมาในรูปแบบค่าเครื่องแบบ ค่าเครื่องมือ หรือค่าอื่นๆ ที่เรียกเก็บก่อนได้ทำงานจริง
     
  • โอนเงินเพื่อทำภารกิจ ก่อนได้รับค่าตอบแทน : วางมัดจำหลักร้อย แล้วจะส่งงานมาให้ทำ ซึ่ง ครั้งแรกๆ อาจจะได้ทำงานจริงๆ  ได้เงินตอบแทนจริงๆ เพื่อเป็นการหลอกล่อให้ลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งถัดไป เป็นหลักพัน - หลักหมื่น
     
  • แค่กดไลก์ กดแชร์ก็ได้เงิน : มักเป็นงานง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้ทักษะ ความสามารถอะไรมากมาย เช่น รับจ้างกดไลก์ รับจ้างแชร์ข้อมูล  
     
  • เน้นการระดมทุน การสมัครสมาชิก : อาจเป็นงานธุรกิจแชร์ลูกโซ่  อาจจะมีสินค้าหรือไม่มี แต่อ้างว่ามีผลตอบแทน มีปันผล มีเงินตอบแทน แต่ต้องร่วมลงทุน และหาสมาชิกมาเข้าร่วม
     
  • ลงทุนสต็อคสินค้าลม : ต่อเนื่องจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ คือลงทุนซื้อซื้อสินค้าเป็นสต็อคไว้ ต้องขายผ่านการหาลูกข่ายถึงจะได้ส่วนแบ่ง ซึ่งอาจจะไม่มีสินค้าอยู่จริงก็เป็นได้
     
  • ชื่ออีเมล ไอดีไลน์ไม่เป็นทางการ ไม่น่าเชื่อถือ : งานที่เชื่อถือมักจะให้สมัครผ่านอีเมล หรือเว็บไซต์ของบริษัทอย่างเป็นทางการ 
     
  • ให้กรอกข้อมูลผ่านลิงก์ หรือเว็บไซต์แปลกๆ   : อาจเป็นการล้วงข้อมูลส่วนตัว  เช่น หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด บัญชีธนาคาร เพื่อเอาไปทำเรื่องไม่ดีๆ ต่อ เช่น เปิดบัญชีม้า หลอกให้โอนเงิน หรือเอาข้อมูลไปขายในตลาดมืด
     
  • ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่น่าไว้ใจ  : อาจเป็นการล้วงข้อมูลส่วนตัว หรือแฮ็คบัญชีธนาคาร
     
  • ขั้นตอนผิดปกติ เช่น ไม่ขอดูเรซูเม่ ไม่สัมภาษณ์งาน : โดยปกติแล้วงานทั่วไปที่น่าเชื่อถือ มักมีการรับสมัครงานเป็นขั้นเป็นตอน ส่งเรซูเม่/ใบสมัคร - สัมภาษณ์งาน - ทำแบบทดสอบ - ทำสัญญาจ้าง 
     
  • ถาม หรือ ให้กรอกข้อมูลลึกเกินไป  : เช่น หมายเลขหลังบัตรประชาชน   อาจเป็นการล้วงข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปทำเรื่องที่ไม่ดีๆ ต่อไป
     
  • รายละเอียดงาน ตำแหน่ง หน้าที่ไม่ชัดเจน :  ถ้าบอกรายละเอียดงานไม่ได้ ตำแหน่งงานนั้นอาจไม่มีอยู่จริง
     
  • คุยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน : เช่น ชักชวนหารายได้เสริม  เสนองานพิเศษ  อาจชวนไปเป็นลูกข่ายของธุรกิจลูกโซ่ หรือหลอกลงทุนทำงานออนไลน์
     
  • ค่าตอบแทนสูง สวัสดิการดีเกินความเป็นจริง : เพื่อเป็นการหลอกล่อให้คนหลงกลเข้ามาสมัครงาน
     
  • ชื่อบริษัท ที่ตั้งบริษัท ไม่มีอยู่จริง ตรวจสอบไม่ได้ : ก่อนจะยื่นใบสมัคร หรือตกลงทำงานกับใคร ควรนำชื่อบริษัท ที่ตั้ง หรือ เลขทะเบียนพาณิชย์ ไปค้นหาว่าธุรกิจนั้นๆ มีอยู่จริงหรือไม่ สามารถไว้ใจได้หรือเปล่า  

ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อของการประกาศรับสมัครงานมิจฉาชีพ ควรสังเกตหาความผิดปกติ และตรวจสอบความน่าเชื่อถือให้ดี  งานไหนที่มีลักษณะเหมือนกับ 15 ข้อนี้ ต้องตั้งสติให้รอบคอบและอย่าหลงเชื่อง่ายๆ เด็ดขาด! ใครเคยเจอมิจฉาชีพมาในรูปแบบไหนบ้าง? มาคอมเมนต์คุยกันค่ะ 

 

ข้อมูลจากfacebook : สำนักงานตำรวจแห่งชาติfacebook : ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท.รายการ ชัวร์ก่อนแชร์ ภัยไซเบอร์ : หลอกสมัครงานออนไลน์ ได้งาน-แต่เสียเงิน
พี่แพม
พี่แพม - Columnist คอลัมนิสต์สายติ่งเกาหลี นอนน้อยเพราะดูซีรีส์ สาระไม่ค่อยมี หน้าตาดีไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น