สำรวจเส้นทางการวิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของหนึ่งผู้กำกับหนังกับหนึ่งสถาปนิก

เรื่องราวของชายสองคนต่อไปนี้มีจุดเริ่มต้นต่างกัน 
คนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากแผ่นฟิล์ม   กับอีกคนได้รับแรงเตือนจากร่างกาย 
แต่สุดท้าย ทำไมต่างมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ สนามวิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา

เมื่อแรงบันดาลใจสร้างแรงบันดาลกาย

“ถ้าคุณอยากวิ่ง คุณวิ่งกิโลเดียวก็พอ แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตใหม่ คุณค่อยมาวิ่งมาราธอน” เชื่อว่าประโยคนี้จากภาพยนตร์เรื่องรัก 7 ปี ดี 7 หน ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน แต่สำหรับ บอล-วิทยา ทองอยู่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ดังอย่าง แฟนฉัน , เก๋า..เก๋า , บ้านฉัน...ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) , น้อง พี่ ที่รัก ประโยคนี้เป็นมากกว่าความทรงจำ แต่เป็นแรงผลักให้เขาเริ่มต้นวิ่งจนทุกวันนี้

“เริ่มวิ่งครั้งแรกช่วงที่บริษัททำภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปี ดี 7หน แล้วเกิดกระแสภายในบริษัท หลังเลิกงานจะชวนกันไปวิ่ง แรกๆ เหนื่อยมาก เพราะตั้งแต่สมัยเรียน การออกกำลังกาย อย่างมากก็เตะบอลกับเพื่อน แต่พอโตขึ้นก็ไม่ค่อยได้ออกกำลัง เพราะนัดรวมเพื่อนยาก”

อย่างไรก็ตามพอภาพยนตร์ลาโรง กระแสการวิ่งภายในบริษัทก็จางลง เขาก็เริ่มวิ่งบ้างไม่วิ่งบ้าง จนกระทั่งมาเจอจุดเปลี่ยนสำคัญ

จู่ ๆ ปวดหลังมาก แทบนั่งไม่ได้ ต้องยืน คิดว่าเกิดจากนั่งทำงานท่าเดียวนานๆ  เลยลองกลับมาวิ่ง พอวิ่งก็หายปวดหลัง ตั้งแต่นั้นก็วิ่งอย่างสม่ำเสมอ แต่คราวนี้จริงจังขึ้น มีเป้าหมาย ลงสมัครแข่งสนามแรก 21 กิโลเมตร ตอนนั้นคิดว่า ถ้าไม่ไหวก็จะเดิน จำได้ว่า ตอนเข้าเส้นชัยสำเร็จรู้สึกฟินมาก แต่วันต่อมาก็แทบเดินไม่ได้ เพราะตอนนั้นยังไม่ได้ซ้อมอย่างมีระบบ”

ตั้งเป้าไว้ แล้วไปให้ถึง 

ไม่ว่าใครก็ตาม ก่อนจะเข้าเส้นชัยได้ ทุกคนต้องเคยเป็นนักวิ่งหน้าใหม่มาก่อน และปัญหาสากลของนักวิ่งหน้าใหม่ก็คือ การผลักตัวเองให้หลุดออกจากความเบื่อ ความท้อจากการเริ่มวิ่งช่วงแรก ซึ่งต่อไปนี้คือเทคนิคส่วนตัวที่เอามาแชร์ให้ฟัง

“ให้ท้าทายตัวเอง เช่น ในหนึ่งปีวิ่งสะสมให้ครบ 500 กิโลเมตร แล้วก็ลองท้าทายคนอื่นด้วย อย่างใช้แอปพลิเคชั่นบันทึกสถิติวิ่งของเรา เอาไปเทียบแข่งกับเพื่อน จะรู้สึกสนุกมีแรงฮึด ถึงขั้นพกกางเกงวิ่งติดกระเป๋า เอาไว้ที่ออฟฟิศ จะได้พร้อมวิ่งทุกเมื่อ”

       พบชีวิตใหม่

         แม้ภาพยนตร์จะจบไปนานแล้ว แต่การวิ่งยังคงดำเนินต่อ และทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป
“วิ่งทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง วันไหนวิ่งเช้าจะรู้สึกสดชื่นขึ้น สมองแล่น มีพลังในการคิดงาน หรือประชุม ถ้าวิ่งเย็นจะหลับสบาย แต่ที่สำคัญรู้สึกว่า วิ่งทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราชอบต่อไปได้นานๆ ดังนั้นถ้าใครที่วิ่งแล้วท้อ ขอให้ลองสังเกตร่างกายตัวเองที่แข็งแรงขึ้น  จะรู้สึกภูมิใจมีแรงก้าวต่อ”

แรงกระตุกให้ลุกวิ่ง เรื่องของชายอีกคนที่วิ่งเพราะร่างกายส่งสัญญาณเตือน

บอน-วีรภัฎ โชคดีทวีอนันต์ ผู้ก่อตั้ง Tofu co.,ltd. บริษัทสถาปนิกที่มีผลงานมากมาย เช่น โรงแรมทวารวดี รีสอร์ท ปราจีนบุรี , โรมแรมหรรษา เขาใหญ่ นครราชสีมา รวมถึงเป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านขนาดอบอุ่นกำลังดีอย่าง เดอะ บาวด์เฮาส์ นครปฐม

เขาเปิดบทสนทนาด้วยการออกตัวว่า แม้มีประสบการณ์การวิ่งมาแล้วกว่า 10 ปี แต่เป็น 10 ปีที่ไม่ได้มาได้ง่ายๆ

“ย้อนไปสมัยเด็กเป็นคนไม่ค่อยออกกำลังกาย เพราะใส่แว่น เล่นอะไรก็ไม่สะดวก พอเข้ามหาลัยก็เน้นสังสรรค์กับเพื่อน เรียนจบจากต่างประเทศ กลับมาเริ่มทำงาน เป็นมาแบบนี้ตลอด จนอายุ 35 ไปตรวจสุขภาพครั้งใหญ่เพื่อทำประกัน เห็นค่าความดันสูงเล็กน้อย ก็ยังคิดว่า โชคดีที่อย่างอื่นยังโอเค แต่พอวันนึงไปเตะบอลแล้วตะคริวกินทั้งตัว ทำให้เริ่มมองตัวเองเปรียบเทียบกับคนรอบข้างที่ออกกำลังกาย สงสัยว่าทำไมบางคนไปวิ่งมาราธอนได้ ทำได้ยังไง เลยไปลองวิ่งดู อีกอย่างที่สนใจวิ่ง เพราะเป็นกีฬาที่ไม่ต้องนัดใคร ทำได้ด้วยตัวเอง ทำเป็นประจำได้ง่าย เพราะที่ทำงานก็อยู่ใกล้สวนสาธารณะด้วย”

วิ่งเป็นหน้าที่?  

“แรก ๆ แค่วิ่ง 200 เมตรก็เหนื่อยแทบตาย ทำให้รู้ว่า ร่างกายเราแย่ขนาดไหน เลยทำให้ใจนึกไปถึงครอบครัวด้วยว่า การดูแลสุขภาพคือหนึ่งในหน้าที่ของเราเหมือนกัน พอคิดได้แบบนั้น ก็ฮึดขึ้น จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับจากวิ่งได้ไม่กี่ร้อยเมตร มาเป็น 3 กิโล 5 กิโล 10 กิโลเมตร... จนวิ่งได้ประมาณ 3 ปี ก็ลองลงมาราธอนครั้งแรกที่ภูเก็ต และภายหลังก็มาวิ่งอัลตรามาราธอนด้วย”

ปรับเพซวิ่งให้เข้ากับชีวิตและงาน

Pace (เพซ) คือ เวลาที่เราใช้ในการวิ่งต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นสิ่งที่นักวิ่งจำนวนหนึ่งให้ความสำคัญ เพราะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า สถิติการวิ่งดีขึ้นหรือไม่ เพียงแต่ว่า เขาคนนี้พบว่า เพซที่ดีจะต้องมีความเร็วเข้ากับจังหวะชีวิตอีกด้วย  

“พอมาถึงช่วงเวลานึง งานของเราก็เริ่มเยอะขึ้น เลยมองหาวิธีวิ่งที่เหมาะกับตัวเอง กลายเป็นส่วนนึงของชีวิตประจำวันมากขึ้น เลยเปลี่ยนมาเป็นการวิ่งเร็ว ระยะสั้น เพื่อให้แบ่งการฝึกซ้อม กับการทำงาน และเวลาให้ครอบครัวได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ก็จะคอยเลือกลงงานวิ่งที่ใกล้กับไซต์งาน แล้วก็ตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งให้ได้รางวัล เพราะอยากให้ตอนประกาศรางวัล คนอื่นจะได้ยินชื่อทีมที่เป็นชื่อโปรเจกต์ของเรา ถือเป็นการโฆษณาไปในตัว หรือมีถ้วยรางวัลมาวางไว้ บางทีก็กลายเป็นตัวเชื่อมบทสนทนากับลูกค้าได้”

วิ่งเปลี่ยนชีวิต

“ช่วงสองปีหลังความสนุกของการวิ่งคือการได้เพื่อนใหม่ ได้เจอเพื่อนเก่า วิ่งยังทำให้เราไม่เหนื่อยง่าย ไม่ใช่แค่ทางกาย แต่ไม่ว่าเจองานหนักแค่ไหน ก็ไม่ท้อ เพราะรู้สึกว่า ตอนวิ่ง เวลาเหนื่อย เวลาร้อน ก็ไม่รู้จะบ่นไปทำไม ในเมื่อเราสมัครใจมาเอง นอกจากนี้วิ่งก็กลายเป็นเวลาที่ได้ทบทวนเรื่องงาน ได้ไตร่ตรองปัญหาอีกด้วย ทุกวันนี้วันไหนไม่ได้วิ่ง จะรู้สึกว่า วันนั้นไม่สดชื่นเลย...”

“วิ่ง” อาจมีความหมายแตกต่างกันสำหรับแต่ละคน บางคนวิ่งคือ การออกกำลัง เป็นการแข่ง เป็นการเยียวยา หรือเป็นเวลาพบปะเพื่อนฝูง แต่ไม่ว่าในความหมายใด การวิ่งช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพดี เหมือนมีชีวิตใหม่ที่ต่างจากเดิม สำหรับใครก็ตามที่อยากลองลุกขึ้นมาวิ่ง เราขอให้กำลังใจให้คุณลุกขึ้นมาเลย ลองเริ่มวิ่งจากสนามใกล้บ้าน ก่อนจะขยับลงสนามที่ใหญ่ขึ้น โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ที่สะพานพระราม 8 ขอแนะนำงานวิ่ง Thai Health day run 2023 ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อาสาเป็นสนามวิ่งสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งนักวิ่งหน้าใหม่และหน้าเก่า ให้มาวิ่งเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีไปด้วยกัน

หากคุณสนใจข้อมูลเกี่ยวกับการวิ่ง รวมทั้งข้อมูลสุขภาพดีๆ ด้านอื่น สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://web.facebook.com/thaihealthdayrun

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส  เพิ่มเติมได้ที่ :

Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.

Line : @thaihealththailand

Tiktok: @thaihealth

Youtube: SocialMarketingTH

Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น