พ่อแม่มักไม่เอะใจถึงความไม่สมดุลของลูก กว่าจะเอะใจอาจแก้ไขไม่ทัน

พ่อแม่มักไม่เอะใจถึงความไม่สมดุลของลูก กว่าจะเอะใจอาจแก้ไขไม่ทัน 

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน การนอน และการออกกำลังกาย หลายคนยอมให้ลูกไม่กินผักผลไม้เพราะลูกไม่ชอบ ยอมให้กินขนมกรุบกรอบ น้ำหวานน้ำอัดลมเป็นประจำ บางคนปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอจนขาดการออกกำลังกาย หรือยอมให้ลูกเล่นเกมจนนอนดึกแทบทุกวัน พฤติกรรมขาดๆ เกินๆ เหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าปล่อยไว้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมายทั้งในระยะสั้นระยะยาว โดยเฉพาะโรคอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน และเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด

ปัญหาในระยะสั้นของโรคอ้วนในเด็ก อาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในร่างกายของเด็ก  แทบจะทุกระบบเลยก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น  

  • ระบบทางเดินหายใจ – ความอ้วนทำให้เด็กนอนกรน ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นในขณะหลับทำให้มีภาวะหยุดหายใจ ส่งผลให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม เกิดอาการง่วงนอนอ่อนเพลียตอนกลางวัน กระทบต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน
  • ระบบทางเดินอาหาร – ความอ้วนทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ส่งผลให้ตับอักเสบเรื้อรัง นำไปสู่ภาวะตับแข็ง มีพังผืดในตับ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ หรือเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด – ความอ้วนทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดแข็งกว่าปกติ เกิดภาวะเมตาบอลิกซินโดรม กลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ระบบต่อมไร้ท่อ – เด็กอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และอาจจะเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ระบบสืบพันธุ์ – โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงอาจมีภาวะประจำเดือนผิดปกติ มีถุงน้ำในรังไข่ และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

ปัญหาในระยะยาวของโรคอ้วนในเด็ก อาจทำให้พัฒนาการของเด็กลดลง ส่งผลกระทบต่อสมองและจิตใจ และยังมีผลต่อเนื่องไปจนถึงตอนโต ตัวอย่างเช่น ภาวะปวดหัวเรื้อรังที่มาจากการมีความดันโลหิตสูงในกะโหลกศีรษะ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนหนังสือ การมีความภูมิใจในตนเองต่ำหรือการถูกล้อเลียนเรื่องรูปร่างอาจนำไปสู่ปัญหาด้านจิตใจและภาวะซึมเศร้า

ผู้ใหญ่หลายคนยังเข้าใจว่า “อ้วนตอนเด็กไม่เป็นไร เดี๋ยวโตไปก็ยืด” ข้อเท็จจริงก็คือ แม้ตัวจะยืด แต่ถุงเก็บไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ตั้งแต่เด็กนั้นยังคงมีเพียบ และเฝ้ารอวันพองขึ้นมาแบบเงียบๆ จากสถิติพบว่า เด็กน้ำหนักเกิน 55% จะโตไปเป็นวัยรุ่นที่น้ำหนักเกิน และถึงแม้ว่าบางคนอาจจะโตไปแล้วผอมลง แต่ก็อาจจะกลับมาอ้วนได้ง่ายมากกว่าคนทั่วไปเพราะถุงไขมันที่สะสมไว้นั่นเอง

สาเหตุของเด็กอ้วนไม่ได้มีแค่เรื่องการกิน เมื่อพูดถึงต้นเหตุของความอ้วน ผู้ต้องสงสัยรายแรกที่คือเรื่องการกินอาหารที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการกินอาหารสำเร็จรูปที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ การกินอาหารหวาน มัน เค็ม มากไป และไม่ค่อยกินผักผลไม้  

นอกจากนี้ภาวะอ้วนยังเกิดจากการขาดสมดุลด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย มีพฤติกรรมเนือยนิ่งจนไม่ได้เผาผลาญพลังงานอย่างเพียงพอ กลายเป็นไขมันสะสม โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีพฤติกรรมติดหน้าจอ ชอบนั่งดูทีวี เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นเกม นอกจากจะมีผลทำให้สมาธิสั้นแล้วยังมีผลกระทบต่อตัวบ่งชี้ทางสุขภาพ เช่น น้ำหนัก รอบเอว ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือดด้วย  

และตัวการสุดท้ายที่หลายคนคาดไม่ถึงคือเรื่องของการนอน การนอนไม่พอนั้นส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เพิ่มความอยากอาหาร และปั่นป่วนระบบเผาผลาญ และยังทำให้ขาดความสมดุลของฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว คือ เกรลินฮอร์โมน ที่จะหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหารเพื่อส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อกระตุ้นความหิว และ ฮอร์โมนอิ่ม หรือเลปตินฮอร์โมน ที่จะหลั่งลดลงจนส่งผลให้กินอาหารแล้วไม่ค่อยอิ่ม ทำให้ยิ่งกินเยอะกว่าเดิม  

จะเห็นได้ว่า ทั้งการกิน การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อน แม้จะเป็นเรื่องที่พ่อแม่รู้กันดี แต่มักจะไม่เอะใจว่ามันสำคัญ ทำให้ปล่อยปละละเลยไป จนลูกเคยชินกับพฤติกรรมที่ไม่สมดุล และส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  

เพราะเด็กสมดุลได้ด้วยสามเหลี่ยมสมดุล คือ วิ่งเล่น กินดี นอนพอ  

ถ้าสงสัยว่าลูกของเรามีพฤติกรรมการกิน นอน เล่นที่สมดุลหรือไม่? สสส. ขอชวนมาตรวจเช็กกันได้ที่เว็บไซต์ activekidsthailand.com  กับแบบประเมินออนไลน์ที่เข้าใจง่ายและใช้เวลาไม่นาน เป็นตัวช่วยให้พ่อแม่ได้ประเมินน้ำหนัก ส่วนสูง และพฤติกรรมการกิน นอน เล่น ของเด็กๆ ซึ่งจะช่วยให้รู้ได้ทันทีว่ายังขาดหรือเกินด้านไหน และควรปรับปรุงเรื่องไหนเป็นพิเศษ  

มาร่วมช่วยให้ลูกมีสามเหลี่ยมสมดุล วิ่งเล่น กินดี นอนพอ ก่อนที่จะสายเกินไปจนแก้ไขไม่ทัน  

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส  เพิ่มเติมได้ที่ :

Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.

Line : @thaihealththailand

Tiktok: @thaihealth

Youtube: SocialMarketingTH

Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม

 

 

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น