8 เทคนิคลับ ช่วยกระชับความสัมพันธ์ตัวละคร


 

8 เทคนิคลับ
ช่วยกระชับความสัมพันธ์ตัวละคร


 

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน การเขียนนิยายสักเล่มจะไม่สมบูรณ์ได้เลยถ้าขาด “ตัวละคร” ยิ่งไปกว่านั้นนิยายของเราจะสมจริงมากขึ้นถ้าตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย ท่าทางการแสดงออก หรือแม้กระทั่งความคิดของตัวละครที่มีต่อกัน ทั้งหมดนี้ช่วยให้เราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องได้ 

แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ วันนี้พี่น้ำผึ้งมี เทคนิคลับที่ช่วยให้ตัวละครของเราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นค่ะ อาจจะกระชับความสัมพันธ์ให้สนิทกันยิ่งขึ้น หรือจะเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ร้าวฉานก็ใช้ได้หมดเลย รับรองว่าถ้าน้องๆ นำไปใช้ นักอ่านจะต้องอินไปกับนิยายของเราแน่ๆ เลย อยากรู้เทคนิคลับที่พี่น้ำผึ้งนำมาฝากกันแล้วล่ะสิ ถ้าอย่างนั้นตามลงมาดูเลยจ้า


 



 

ลักษณะเฉพาะของตัวละคร (Characterization)


น่าจะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีสำหรับสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างตัวละครอย่าง “รูปลักษณ์ภายนอก” และ “บุคลิกของเขา” ลองจินตนาการภาพในหัวว่าตัวละครที่เรากำลังเขียนอยู่นั้นเป็นอย่างไร อาจจะเป็นภาพคร่าวๆ ก่อนก็ได้ จากนั้นจึงค่อยทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ใส่รายละเอียดลงไปในหัวเยอะๆ ว่าเขาเป็นยังไง

ถ้าใครนึกไม่ออกว่าควรละเอียดขนาดไหน พี่น้ำผึ้งขอแนะนำให้น้องๆ คิดว่าเราต้องพูดถึงตัวละครในหนังเรื่องหนึ่งให้คนตาบอดฟัง เราจะทำยังไงให้เขาจิ้นต่อเองได้ เราจะทำยังไงให้เขารู้สึกว่าตัวละครเหล่านั้นสวย หล่อ หรืออัปลักษณ์ เพราะถ้าเราพูดแค่ว่า “หน้าตาสะสวย” อ้าว แล้วมันสวยยังไงล่ะ? อาจจะเป็นปากนิด จมูกหน่อยก็ได้ แบบนี้เห็นภาพกว่าเยอะ

หลังจากได้ตัวละครสักตัวสองตัวแล้ว เรามาเริ่มใช้เทคนิค “Characterization เพื่อสานสัมพันธ์ตัวละครกันเถอะ วิธีการง่ายๆ ก็คือ สมมติว่าเรามีตัวละคร และ B เราก็แค่ให้ตัวละคร A บรรยายรูปลักษณ์ภายนอกหรือบุคลิกภาพที่แสดงออกของตัวละคร ออกมา หรือถ้าน้องๆ มีตัวละคร C D E ก็ทำมันเหมือนกันค่ะ โดยเทคนิคนี้จะเป็นประโยชน์มากๆ เลยเมื่อนิยายของเราใช้การบรรยายสรรพนามบุรุษที่ หรือ 3

ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะบอกว่าอารีอานนาสูง 152 cm. หรือเตี้ย เราก็แค่บอกว่าเธอสูงเท่ากับไหล่ของพระเอก แม้ว่าเธอจะสวมรองเท้าส้นสูงหรือเขาจะต้องเอียงศีรษะลงมาเพื่อสบตากับเธอก็ตาม อะไรประมาณนี้แหละค่ะ

น้องๆ คะ วิธีนี้แหละที่จะทำให้ภาพของตัวละครเราชัดเจนยิ่งขึ้น พยายามใช้หลักการเขียนนิยายที่ว่า Show, don’t tell” นะคะ

 

ฉาก (Setting)


ฉากคือหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครสตรองมากขึ้น มันช่วยบิ้วท์อารมณ์ตัวละครให้เกิดการกระทำต่างๆ รวมทั้งยังทำให้นักอ่านสามารถมโนต่อได้ว่าถ้ามีฉากแบบนี้ เหตุการณ์แบบนี้น่าจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น สมมติว่าฉากของเราเป็นหอไอเฟลยามค่ำคืนสุดโรแมนติก ตัวละครในฉากมีเพื่อนสนิทชายหญิงยืนดูดาวด้วยกัน ถ้านิยายเราเป็นแนวเพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ ฉากนี้แหละที่อาจทำให้ตัวละครชายสารภาพรักกับตัวละครหญิงผู้เป็นเพื่อนสนิทก็ได้ หรือในทางตรงกันข้าม หากนี่คือนิยายแนวแวมไพร์ มีตัวละครชายหญิงเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือไม่รู้จักกัน ตัวละครชายอาจจะเป็นแวมไพร์แล้วมาดูดเลือดตัวละครหญิงก็ได้ เห็นมั้ยคะว่าฉากก็เป็นส่วนสำคัญในการบิ้วท์อารมณ์ตัวละคร น้องๆ อย่าลืมฝึกฝนการเขียนฉากไว้เยอะๆ นะคะ รับรองว่ามันจะช่วยให้ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นค่ะ

 


หอไอเฟลเป็นหนึ่งในฉากสุดโรแมนติกที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของตัวละครให้ดียิ่งขึ้น
(via : pixabay)


 

บทสนทนา (Dialogue)


จริงๆ แล้วบทสนทนาเองก็เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ช่วยให้นักอ่านรู้นิสัยใจคอและความรู้สึกของตัวละครที่มีต่อตัวละคนอื่นได้ อย่างที่สตีเฟ่น คิงเคยกล่าวไว้ว่า “จงทำให้นักอ่านรู้นิสัยตัวละครผ่านทางคำพูด”  ยิ่งไปกว่านั้นวิธีนี้ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของตัวละครมากขึ้นค่ะ

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ แม้พี่จะบอกว่าให้น้องทำให้คนอ่านรู้นิสัยตัวละครผ่านบทสนทนา แต่น้องๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้บทสนทนาที่มากเกินไป นักเขียนบางคนพยายามทำให้บทสนทนาสมจริงที่สุดด้วยการเขียนทุกอย่างลงไปทั้งที่ไม่ได้ทำให้เรื่องดำเนินไปมากขึ้น หรือไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ของตัวละครพัฒนา การใส่ทุกอย่างมากเกินความจำเป็นไม่เพียงแค่ทำให้นิยายของเรายืดเยื้อ แต่ยังทำให้นักอ่านเบื่อได้ง่ายๆ ค่ะ

อย่าลืมนะคะ แม้นักอ่านจะต้องการความสมจริง แต่บทสนทนาที่ดีก็ควรจะเป็นบทสนทนาที่ทำให้เนื้อเรื่องหรือความสัมพันธ์ของตัวละครพัฒนาขึ้นค่ะ น้องๆ อาจจะต้องตั้งเป้าไว้ก่อนว่าบทสนทนาที่กำลังเกิดขึ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่ออะไร คิดถึงบทสนทนาเหล่านั้นพร้อมท่าทางประกอบ (ซึ่งน้องๆ สามารถปรับแต่งได้ทีหลัง) หรือน้องๆ อาจสร้างบทสนทนาที่มีแฝงนัยยะเพื่อให้นักอ่านตั้งคำถาม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเขียนให้ตัวละครผู้ชายที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นของนางเอกมีท่าทีหมางเมินและชอบพูดจาร้ายๆ ใส่นางเอกให้เจ็บช้ำหัวใจอยู่เป็นประจำ เราก็เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเดาคำถามกับตัวเองว่านักอ่านน่าจะคิดแบบไหนกับบทสนทนานี้นะ เช่น

  • เอ๊ะ จริงๆ แล้วหมอนี่แอบชอบนางเอกหรือรังเกียจเธอกันแน่นะ ทำไมถึงได้ทำตัวเย็นชาใส่แบบนี้?
  • ที่เขาพูดเป็นเรื่องจริงหรือโกหกนะ?
  • เขามีอะไรปิดบังเธอหรือเปล่า?
  • เขาพูดแบบนี้กับทุกคนไหม?
  • เขาทำตัวแบบนี้กับทุกคนหรือทำแบบนี้กับแค่เฉพาะเธอ?
  • แล้วทั้งหมดนี้ เขาทำมันไปเพื่ออะไร?
     

เชื่อเถอะค่ะว่าคำถามเหล่านี้ รวมถึงบทสนทนาจะทำให้น้องๆ เข้าใจมุมมองของตัวละครมากขึ้น และทำให้ตัวละครนั้นๆ มีพัฒนาการกับตัวละครรอบข้างค่ะ

 

ให้ตัวละครพูดคนเดียวบ้าง (Internal Monologues)


ใครว่าการให้ตัวละครพูดคนเดียวนั้นไม่ดีอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ซะแล้ว เพราะจริงๆ แล้วการพูดคนเดียวของตัวละครมีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ โดยเฉพาะเมื่อตอนที่เราไม่ได้ใส่นิสัยใจคอ คำพูด หรือความคิดบางอย่างของตัวละครเราลงไปในบทสนทนา การพูดกับตัวเองของตัวละครนี่แหละที่ช่วยเปิดเผยนิสัยส่วนนั้นได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้การพูดกับตัวเองยังช่วยให้นักอ่านเข้าใจตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง รู้ว่าเขาต้องการอะไร คิดยังไง รู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นี้ มันทำให้เราสนิทกับตัวละครมากขึ้นค่ะ ที่สำคัญ ถ้าเราใช้มันในการแสดงความรู้สึกกับตัวละคนอื่นๆ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครสตรองมากขึ้นด้วย จะเกลียดหรือรักกันมากขึ้นก็อยู่ที่นี่แหละ! นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากจริงๆ 

 


จูเลียตและโรมิโอเวอร์ชั่น MV เพลง Love Story ของ Taylor Swift
(via : youtube)


 

ภูมิหลังตัวละคร (Backstories)


ภูมิหลังของตัวละครเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆๆๆ เลยนะคะในการสร้างตัวละครสักตัวขึ้นมา การที่ตัวละครของเรามีภูมิหลังจะช่วยให้นิยายของเราสมจริงมากยิ่งขึ้น แถมยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสานสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ ได้ด้วยค่ะ

ลองนึกถึงโรมิโอกับจูเลียตสิ จะเห็นได้ว่าตอนที่โรมิโอกับจูเลียตพบกันครั้งแรก พวกเขาไม่ได้บอกเราโต้งๆ ว่าตระกูลของทั้งคู่ไม่ถูกกันกัน แต่ตัวครอบครัวต่างหากที่ทำให้เรารู้ แล้วจากนั้นรักต้องห้ามก็เกิดขึ้น เช็คสเปียร์ใช้ภูมิหลังตัวละครที่ไม่ลงรอยกันของสองตระกูลนี่แหละในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรมิโอกับจูเลียต

จากตัวอย่างนี้ทำให้เราเห็นว่า แบ็คกราวน์ของตัวละครไม่เพียงแค่ช่วยให้ความสัมพันธ์ของตัวละครสตรองขึ้น แต่ยังมีผลต่อพล็อตเรื่องและตอนจบของนิยายด้วยค่ะ ดังนั้นการสร้างภูมิหลังตัวละครให้น่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญมากเลยนะคะน้องๆ 

 

แรงจูงใจของตัวละคร (Character Motivations)


โดยส่วนมากแล้วเมื่อตัวละครลงมือทำอะไรสักอย่าง มักต้องมีแรงจูงใจให้ทำสิ่งนั้น ซึ่งมันอาจจะเป็นปัจจัยภายใน เช่นความนึกคิดและความรู้สึกของตัวละครก็ได้ หรืออาจจะเป็นปัจจัยภายนอก เช่นภูมิหลังของตัวละครหรือบุคคลที่มีอิทธิพลต่อพวกเขา แน่นอนว่าเมื่อเราสร้างตัวละครหลายๆ ตัว เราต้องหาความแตกต่างให้ตัวละครเหล่านั้น เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการถามตัวเองว่าอะไรคือแรงจูงใจของตัวละครนั้นๆ ทำไมเขาถึงต้องทำแบบนี้? เขามีความเชื่ออะไร?

ดังนั้นสิ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ของตัวละครสตรองขึ้นก็คือ ถ้าตัวละครใดตัวละครหนึ่งลงมือกระทำบางอย่าง เช่น เขาอาจจะเริ่มจีบนางเอกหรืออาจจะเริ่มไม่ชอบขี้หน้าพระเอก ให้รีบหาแรงจูงใจของมาพัฒนาหรือทำลายความสัมพันธ์กับตัวละครนั้นๆ ค่ะ

 

วิวัฒนาการของตัวละคร (Character Arcs)


น้องๆ คะ วิวัฒนาการตัวละครเป็นส่วนสำคัญของการสร้างตัวละครค่ะ นิยายที่ดีจะต้องมีตัวละครที่มีพัฒนาการและมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอก หรือการที่ตัวเอกเปลี่ยนสังคมคนรอบข้างของเขา และวิวัฒนาการของตัวละครนี่แหละที่ช่วยให้ตัวละครของเรามีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง

น้องๆ อาจจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการพิจารณาว่า ถ้าตัวละครตัวหนึ่งมีความคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะกลายเป็นคนที่มองโลกบวกหรือลบมากขึ้น เพราะนั่นไม่ใช่ปัญหา แต่พี่อยากให้เราพิจารณาดูว่าความคิดที่เปลี่ยนไปของเขามันส่งผลต่อตัวละครรอบข้างอย่างไร? ตัวละครอื่นๆ ชอบเขามากขึ้นมั้ย? เป็นต้นค่ะ บางทีคู่กัดอาจกลายเป็นคู่ซี้เมื่อใครคนหนึ่งเปลี่ยนไป หรือบางทีเพื่อนรักอาจกลายเป็นศัตรูกันก็ได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมถามตัวเองเสมอว่า เราได้บทเรียนอะไรจากการที่ตัวละครได้เจอกัน? การเผชิญหน้ากันในครั้งนี้มันทำให้ตัวละครแต่ละตัวเปลี่ยนไปในทิศทางไหน? ถ้าทำตามนี้ รับรองว่าช่วยกระชับความสัมพันธ์ของตัวละครมากขึ้นแน่นอน

 

ตัวละครรอง (Minor Characters)


แม้ว่าตัวละครรองของเราจะโดดเด่นน้อยกว่าตัวละครหลัก แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญนะคะ เหนือสิ่งอื่นใด ตัวละครรองนี่แหละที่ทำให้นิยายของเราสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดูเผินๆ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครรองกับตัวละครหลักอาจมีการพูดคุยกันบ้างเล็กน้อย แต่น้องๆ เชื่อมั้ยคะว่ามันจะกลายเป็นสิ่งสำคัญในนิยาย

สำหรับนักอ่านแล้ว จุดประสงค์หลักๆ ของการมีตัวละครรองไม่ได้มีไว้เพื่อให้นักอ่านรู้เรื่องราวของพวกเขา แต่มีไว้เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาเองก็มีอิทธิพลต่อตัวละครหลักของเราเช่นกัน แถมอิทธิพลนั้นอาจจจะยิ่งใหญ่และส่งผลต่อการตัดสินใจบางอย่างของตัวละครก็ได้ค่ะ

เพื่อให้น้องๆ เห็นภาพได้ง่ายขึ้น พี่ขอยกตัวอย่าง "โช แชง" เด็กสาวจากบ้านเรเวนคอล เธอคนนี้จัดว่าเป็นตัวละครรอง มีบทในวรรณกรรมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์แทบนับบรรทัดได้ แต่โช แชงกลับมีอิทธิพลต่อหัวใจ "แฮร์รี่ พอตเตอร์" มากเหลือเกิน ความสัมพันธ์ของสองคนนี้ก็ไม่มีอะไรมาก แค่พูดคุยกันนิดหน่อยแล้วก็มีสอนการเสกคาถาก็แค่นั้น แต่โช แชงก็ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วแฮร์รี่ก็อินเลิฟเป็นเหมือนกันนะ


 

เอาล่ะค่ะน้องๆ จบไปแล้วนะคะกับ 8 เทคนิคลับที่จะช่วยให้เรากระชับความสัมพันธ์ของตัวละครได้ง่ายขึ้น (หรืออาจจะช่วยทำลายความสัมพันธ์ของตัวละครก็ได้) ซึ่งแต่ละข้อนั้นก็มีประโยชน์มากๆ และจะช่วยให้นิยายของเราสมจริงมากขึ้นค่ะ อย่าลืมนำไปใช้กันนะคะน้องๆ ส่วนครั้งหน้าพี่จะมาพร้อมกับเคล็ดลับแบบไหนบ้างนั้น รอติดตามเลยค่า ^________^




พี่น้ำผึ้ง :)

 

ขอบคุณข้อมูล
writing-world.com
writersedit.com
fiction-writers-mentor.com
creativewritingsoftware101.com


 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด