นักเขียนต้องอ่าน! 9 ข้อสำคัญของบทสนทนาที่นักอ่านโหวตว่าชอบ


นักเขียนต้องอ่าน! 9 ข้อสำคัญของบทสนทนาที่นักอ่านโหวตว่าชอบ 
 
บทสนทนาเป็นหัวใจหลักสำคัญของนิยาย การเขียนบทสนทนาที่ดีจะทำให้คนอ่านชอบและพอใจ คำแนะนำเบื้องต้นคือ เขียนบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเอง ได้ยินเป็นประจำในชีวิตประจำวัน บทสนทนาที่ดีไม่ได้อยู่ที่แค่การให้ข้อมูล แต่อยู่ที่การใส่ความรู้สึกต่างๆ ความกลัว ความต้องการ ความไม่แน่ใจ อารมณ์ต่างๆ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ สิ่งละอันพันละน้อย แต่เป็นองค์ประกอบไปสู่เหตุการณ์สำคัญๆ มาค่ะ มาดูกันว่าบทสนทนาที่ดีควรต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
 

 
1 ชัดเจนว่าใครพูด 
เวลาเขียนบทสนทนาโต้ตอบกันไปเรื่อยๆ แล้วเผลอลืมใส่ชื่อหรือคำบรรยาย บางทีอาจทำให้คนอ่านสับสนว่าใครพูดประโยคไหน ยิ่งถ้าคุยกันหลายๆ คน แล้วคุณลืมใส่ตอนท้ายว่าใครพูด นักอ่านอาจงงไปเลยว่า เอ๊ะ ประโยคนี้ยังไงนะ การจะเขียนบทสนทนาที่ดี คนอ่านต้องไม่สงสัยว่าใครเป็นคนพูด ต้องเขียนให้ชัดเจนไปเลย เช่น “สวัสดี” เอพูด “อ้าวเป็นไง” บีตอบ “ลืมทักฉันหรือเปล่า” ซีท้วง เป็นต้น แต่บางที การจะเขียนบรรยายด้านหลังไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและรำคาญได้ หลักการเขียนที่ดีคือ เขียน 3 ประโยค ใส่ชื่อตัวละคร 1 ครั้ง และควรใส่ชื่อสลับกันไป 
 
2 ขึ้นบรรทัดใหม่ ทุกครั้งที่เปลี่ยนคนพูด 
หนึ่งในกฎสำคัญคือ เวลาจะเปลี่ยนคนพูด ต้องขึ้นบรรทัดใหม่ ไม่อย่างนั้นอาจทำให้คนอ่านงง ว่าอ้าว คนนี้พูดอยู่ดีๆ เปลี่ยนไปเป็นอีกคนแล้วหรือ เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด พอตัวละครหนึ่งพูดจบ ก็เคาะเว้นบรรทัดลงมา แล้วเปลี่ยนเป็นอีกตัวละครพูด ถ้าเขียนแบบนี้นอกจากคนอ่านเข้าใจง่ายแล้ว เราเองก็เข้าใจง่ายด้วยเช่นกัน 
 
3 ใส่การกระทำสลับบ้างที่ด้านหลังบทสนทนา  
การจะบรรยายแค่คำว่า ตัวละครตัวนี้พูด คุย เม้า บอก สรุป จะดูน่าเบื่อเกินไป คุณอาจบรรยายการกระทำเพิ่ม เช่น ยกมือขึ้นชี้หน้า สั่นหัวไปมา มองไปทางอื่น เป็นต้น การใส่การกระทำลงในด้านหลังประโยค โดยให้การกระทำนั้นตรงกับบทพูด จะช่วยให้คนอ่านมีเวลาคิดภาพตาม นอกจากจะมัวคิดตามความหมายของคำพูดที่เราใส่ เวลาเขียนให้พยายามมองเป็นภาพ เห็นเป็นภาพไปด้วย จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น  
 
4 ใช้คำพูดของตัวละครให้เป็นคลื่นใต้น้ำ นำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตได้ 
เวลาเขียนบทสนทนา อย่าเขียนแบบไร้จุดมุ่งหมายหรือเขียนให้ได้พูดคุยไปตามมารยาท แต่บทสนทนานั้นๆ ควรจะมีความหมาย และทำให้ส่งผลสำคัญต่อเนื้อเรื่อง เช่น ตัวละครตัวนี้พูดประชด หรือพูดแบบนี้เพราะต้องการสื่อบางอย่าง เมื่อบทสนทนานำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่อง ก็จะทำให้คุณหาจุดเปลี่ยนในเรื่องได้ง่ายเข้า และทำให้บทสนทนานั้นมีความหมายมากกว่าแค่การพูดคุยกัน
 
5 หาทางใส่การกระทำหลังจากบทสนทนาจบลงทุกครั้งที่ทำได้
เวลาคุยกันไปเรื่อยๆ หาบทตัดจบไม่ได้ มันอาจจะ่าเบื่อและดูพูดไม่หยุด เคยได้ยินไหมเขาบอกว่าการกระทำพูดได้ดีกว่าคำพูด บางทีคุณอาจให้ตัวละครพูดไปจนถึงจุดหนึ่ง แล้วก็ลองให้คำพูดนั้นส่งผลให้เกิดการกระทำบางอย่าง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การกระทำเกิดจากคำพูด เป็นต้น
 
6 ประโยคสนทนาไม่ควรยืดยาวเกินไปจนน่าเบื่อ
ดูเวลาเราพูดคุยในชีวิตประจำวันสิ เราก็จะพูดสั้นๆ มีการย่อคำย่อความ ไม่มีใครพูดเต็มๆ ประโยค ประธานกิริยากรรมอย่างจริงจังสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เวลาเขียนเราก็ควรนึกถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเขียนอย่างเป็นธรรมชาติ ถ้าไม่แน่ใจว่าเขียนแล้วยาวเกินไปหรือไม่ ก็ให้ลองพูดออกมาเป็นประโยคดู น่าจะช่วยได้
 
7 ระวังเรื่องมุมมองตัวละครด้วย
การเขียนบทสนทนา คุณต้องดูด้วยว่ากำลังอยู่ในมุมมองของตัวละครตัวไหน มันจะส่งผลต่อการบรรยายด้วย เช่น ถ้าคุณเขียนว่าตัวละคร 1 กำลังพูดและกำลังคิด ก็สามารถบรรยายได้ว่าตัวละคร 1 คิดกับตัวละคร 2 อย่างไร ถ้าอยู่ในมุมมองของตัวละคร 1 ควรเป็นตัวละคร 1 ที่คิด ไม่ใช่ให้ตัวละคร 2 มาคิด มันอาจทำให้คนอ่านงง แนะนำง่ายๆ คือ ในฉากหนึงๆ ควรเขียนมุมมองของตัวละครเพียงตัวเดียว จะได้ใส่ความคิดและความรู้สึกได้เต็มที่ ไม่อย่างนั้นจะทำให้คนอ่านสับสนกับเนื้อเรื่องได้ 
 
8 ตัดส่วนไม่จำเป็นให้หมด
บทสนทนาที่ดีควรกระชับชัดเจน ไม่ใช่เยิ่นเย้อหรือย้วยจนเกินไป ใช้วิธีเขียนๆ ไปก่อนแล้วค่อยมาตัด มาเคลียร์ให้หมด ตรงไหนไม่สำคัญหรือจำเป็นต่อเนื้อเรื่อง ก็ตัดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ออกให้หมด 
 
9 ระวังจะเขียนฉากซ้ำ บทสนทนาซ้ำ 
สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าเขียนฉากซ้ำหรือบทสนทนาซ้ำซาก ในชีวิตประจำวันคนเราอาจหมกมุ่นหรือพูดซ้ำได้ แต่ในนิยายที่จำนวนหน้าไม่เยอะมาก ถ้าเราเขียนซ้ำๆ คนอ่านจะเกิดความเบื่อหน่าย และรำคาญนิยายของเราได้ 
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด